เกร็ดผลึก สยาม-ปาตานี จากมุมลึก

สิ่งที่ผู้เขียนกำลังจะกล่าวถึง ณ ที่นี้ เป็นองค์ความรู้ที่เกิดจากความบังเอิญของผู้เขียนเอง ที่ได้มีโอกาสข้ามแดนไปสัมผัสกับบรรยากาศของวงเสวนาวิชาการสังคมมลายูแบบเต็มตัว เป็นวงเสวนาที่เปี่ยมไปด้วยภาษามลายูแต่ยังผสมผสานด้วยภาษาอังกฤษศัพท์วิชาการ ซึ่งคงจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับเวทีเสวนาที่ผู้เขียนเคยสัมผัสถึงในวงเสวนาที่จัดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปาตานี ตลอดระยะเวลาที่มีโอกาสเข้าร่วม

ทั้งนี้ละแวกพื้นที่ปาตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่เคยสัมผัสคือการใช้ภาษาที่สละปะปนกันจนกลายเป็นภาษาอีกภาษาหนึ่งโดยปริยาย โดยที่เป็นการใช้มลายูคำ ไทยคำได้อย่างลงตัว ปรากฏการณ์ดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งสำหรับวิวัฒนาการที่อาจกระทบต่อภาษาของคนในพื้นที่ในภายภาคหน้า และแม้กระทั่งในวงเสวนาเกี่ยวกับอัติลักษณ์และภาษามลายูเอง ที่ยังต้องอาศัยการบรรยายและทำความกระจ่างด้วยภาษาไทยด้วยซ้ำ เพราะนี่คือความจริงที่กำลังปรากฏในทุกวันนี้

กลับไปยังสิ่งที่ได้ท้าวความมาข้างตน ถึงเหตุผลที่ว่าเหตุใดปัญหาปาตานีถึงได้ยืดเยื้อเรื้อรังมาอย่างยาวนานกว่าสองศตวรรษนั้น ยังไม่สามารถคลี่คลายได้ หนำซ้ำปัญหากลับมีความรุ่มร้อนควบคู่กับนโยบายของรัฐที่มีความยืดหยุ่นในบางเรื่องแต่ยังคงไว้ซึ่งความแข็งกร้าวในบางประเด็น

สิ่งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสรับฟังองค์ความรู้ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ คงเป็นองค์ความรู้ที่ทรงคุณค่ายิ่ง กล่าวคือผู้เขียนเองยังไม่เคยพบเห็นในตำราเล่มใดกล่าวถึงมาก่อน แม้กระทั่งตำราประวัติศาสตร์ที่นิพนธ์โดยบรรดาพวกนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศเอง อาจเป็นเพราะพวกเขาเหล่านั้นยังมองไม่ทะลุหรือส่องวิเคราะห์มิถึงแก่นในแง่ที่อาจแลดูนอกกรอบขององค์วิชาการก็เป็นได้

จากตำราหลายๆ เล่มที่ผู้เขียนเองได้อ่านและพบเห็น เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปาตานีในอดีต บางเล่มใช้เรียกลังกาสุกะ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการเล่าเรื่องวันเวลาของแต่ละยุคและสถานการณ์ของการเมืองในยุคนั้นๆ และเป็นการนำเสนอหลักฐานทางโบราณสถาน ที่ช่วยเพิ่มน้ำหนักขององค์ความประวัติศาสตร์ปาตานี ที่ยังคงเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าค้นหาและติดตามอยู่ตลอดต่อเนื่อง บางครั้งยิ่งมีการค้นคว้าทางโบราณคดีมากเท่าใดอาจสามารถปลดความเท็จเปล่งความจริงได้ในบางประเด็น

ตัวอย่างเช่นเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับมัสยิดกรือเซะ ที่ผู้เขียนเองเคยรับรู้สมัยเรียนในช่วงประถมเมื่อก่อน ล้วนกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งเมื่อเทียบกับความจริงที่ประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงสาเหตุที่การสร้างอาคารมัสยิดดังกล่าวมิแล้วเสร็จนั้น มีสาเหตุมาจากเพราะถูกสาป ซึ่งความจริงแล้วมันเป็นการลอบวางเผลิงอันเนื่องมาจากผลพลอยของสงคราม ณ ขณะนั้น ระหว่างสยามกับปาตานีนั่นเอง

และผู้เขียนเองก็เคยเชื่อเช่นนั้นจากการบอกกล่าวของคุณครูประจำชั้น จนกระทั่งได้ศึกษาประวัติศาสตร์จนกระจ่างไปส่วนหนึ่ง

ตามตำราวิชาการหลายเล่มยังคงมีความคลาดเคลื่อนในเรื่องของจำนวนครั้งที่ปาตานีถูกโจมตีจากสยาม แต่สามารถต้านทานได้เกือบทุกครั้ง จนกระทั่งถูกตีแตกในที่สุด ซึ่งนับจากวันที่ปาตานีได้สูญเสียอำนาจในปี 1786 ความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของทั้งสองฝ่าย เสมือนเป็นผลหมากรากไม้ที่ร่วงหล่นอยู่ใต้ต้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ที่กลายเป็นจุลินทรีย์บนผืนดินแห่งนี้ ที่เต็มไปด้วยความสมบูรณ์ของมาตุภูมิ ที่ยังคงถูกเล่าขานจากวันนั้นจวบวันนี้อย่างมิสิ้นสุด

หากใครก็ตามที่ได้อ่านประวัติศาสตร์ปาตานีกับสยาม ในช่วงของการสู้รบของแต่ละช่วงสมัยตลอดระยะเวลาที่มีความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่าย เสมือนหนึ่งกลายเป็นสงครามวัฒนธรรมไปแล้วก็มิปาน ซึ่งในยุคของความขัดแย้งที่อยู่ในความรุ่งโรจน์เผยแผ่อำนาจและบารมีของแต่ละรัฐ ที่ยังมีการขยับขยายอาณาราชอยู่ตลอดเวลา ต่างตกอยู่ในอาการหวาดผวาพร้อมๆ กับการเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน ชนิดที่ว่าอย่าได้แสดงความอ่อนแอทางการทหารให้อีกฝ่ายรับรู้อย่างเด็ดขาด เพราะนั่นคือความลับที่ฝ่ายตรงข้ามพยายามเสาะหาตลอดเวลาอยู่เช่นกัน

สงครามปาตานีกับสยามในอดีตหากจะเทียบความสูญเสียของทั้งสองฝ่ายมิมีใครน้อยหรือมากไปกว่ากัน ในเมื่อขึ้นชื่อว่าสงคราม ความสูญเสียคือเรื่องปกติสามัญที่มิอาจหลีกพ้น ทว่าสำหรับฝ่ายที่ได้รับชัยชนะคงจะรู้สาถึงความคุ้มค่าสาแกใจที่ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตกว่าจะได้ประกาศธำรงไว้ซึ่งอิทธิพลและอำนาจเหนืออธิปไตยของคนอื่น ด้วยวิถีวัฒนธรรมของสังคมแห่งรัฐ ณ สมัยนั้นๆ

ความสูญเสียที่ได้ประสพแกทั้งสองฝ่ายยังคงเป็นบทบันทึกอันเจ็บปวดรวดร้าวของอดีตระหว่างสยามพุทธและมลายูปาตานี ที่กว่าจะได้มาซึ่งวันนี้ ต้องสูญเสียทุ่มเทมากกี่น้อย นั่นคือเป็นส่วนหนึ่งของบาดแผลทางประวัติศาสตร์ ที่ยังคงบันทึกความสูญเสียด้วยตัวของมันเองนับแต่อดีตจนกระทั่งวันนี้

โจทย์คือ อะไรหรือคือสาเหตุที่รัฐไทยมิยอมปล่อย(คืน)ปาตานีให้เป็นอิสระ?

นี่คือคำถามของท่าน อะฮ์หมัดฟัตฮีย์ อัลฟาฏอนีย์ ผู้เชี่ยวชาญและนักประวัติศาสตร์ปาตานี ที่ได้ปลุกหัวใจของผู้ร่วมเสวนาให้ต่างจดจ่อกับถ้อยความดังกล่าว บางครั้งอาจเป็นความรู้ใหม่สำหรับบางคนที่ได้รับฟัง เกี่ยวกับคำถามที่นำชวนให้ฉุดคิดไปหลายชั่ววูบเช่นกัน

แต่สำหรับคำอธิบายคำตอบเหล่านั้นล้วนเสมือนเป็นการผูกยึดติดกับมโนธรรมทางความรู้สึกแห่งสายเลือดฉันใดฉันนั้น กล่าวคือ สาเหตุที่รัฐไทยไม่ปล่อย(คืน)ปาตานี(โดยง่าย)นั้นคือ

กว่ารัฐไทยจะได้มาซึ่งปาตานีนั้นคงสาหัสสากรรจ์พอควร ที่ต้องสังเวยชีวิตของกำลังพลจำนวนมิถ้วน ซึ่งต้องคง(กุม)ไว้ให้นานเท่านาน เท่าที่จะนานได้ ถึงแม้ในวันนี้และอนาคตอาจต้องประสพกับความขัดแย้งและการต่อสู้ก็ตามที่ยืดเยื้อเนิ่นนานก็ตาม

การยึดครองปาตานีถือเป็นการยึดครองหัวเมืองมลายูแห่งสุดท้ายในบรรดาดินแดนหัวเมืองมลายูทั้งหมดที่เคยไปกำราบก่อนหน้านั้น ทั้งทางตรงและด้วยเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศ

สิ่งหนึ่งที่เป็นเสมือนความขุ่นแค้นและแรงพลังที่พร่ำล่องลอยในโสดสำนึกของสยามประเทศที่มีต่อปาตานีก็คือ ด้วยสถานะของเมืองมลายูอย่างรัฐปาตานีที่เคยแผ่ขยายอาณาเขตอิทธิพลของตน ที่มีเหนือหัวเมืองมลายูต่างๆ ประกอบกับเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่เป็นที่รู้จักของเหล่าบรรดาพ่อค้าวานิช โดยเฉพาะจากยุโรป ที่ต่างหลงใหลความเสนห่าของปาตานี ทั้งจิตใจในการค้าขายของชาวมลายู ที่สำคัญเมืองท่าปาตานีเป็นจุดแวะพักของบรรดาเรือสินค้า อีกทั้งปาตานียังมีสินค้าส่งออกอย่างเครื่องเทศ และแม้กระทั่งเกลือ

ซึ่งสิ่งที่ผู้เขียนกำลังจะบอกกล่าวในที่นี่คือ ปาตานีถือเป็นเมืองสุดท้ายที่ยังอยู่ในอาณัติของรัฐไทยจากอดีตกว่าสองร้อยปีที่แล้ว จวบกระทั่งวันนี้ ซึ่งในความหมายแห่งสัญญะนั้นเป็นการกุมไว้และดำรงซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมหาอำนาจของรัฐไทยที่มีต่อหัวเมืองมลายูทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นกลันตัน ไทรบุรี และตรังกานู ด้วยการยึดปาตานีไว้ใต้อาณัติของตน

อีกนัยยะหนึ่งนั้นการรั้งไว้ซึ่งดินแดนปาตานีแห่งนี้ ถือเป็นการแยกพรากจากกันของเมืองพี่เมืองน้อง(ปาตานีและกลันตัน) ทำให้ความเข้มแข็งที่เคยมีอยู่ถูกบั่นทอนลงไป

และสุดท้ายอันเป็นเหตุและผลที่ซ่อนอยู่ภายใน ที่มิมีระบุไว้ในตำราของแวดวงวิชาการก็คือ กว่าจะได้มาซึ่งปาตานีบรรพชนจักต้องหลั่งเลือดสักกี่หยด ต้องพลีกายกี่มากน้อย ถึงอย่างไรจักต้องปกป้องรักษาไว้ซึ่งแผ่นดินที่ถูกครอบครองด้วยเลือดเนื้อและความสามารถอันหาญกล้าของบรรพบุรุษให้จนถึงที่สุด ซึ่งสิ่งสุดท้ายนี้เอง ยังไม่มีการนำเสนอและพูดถึงในวงเสวนาและอภิปรายเรื่องภาคใต้หรือสันติภาพปาตานีและ

แม้กระทั่งในแวดวงเสวนาของบรรดานักวิชาการเองก็มิเคยพร่ำถึง..

 

 

หมายเหตุ: งานเขียนชิ้นนี้ เป็นมุมมอง  ความเห็น ความรู้ ส่วนบุคคล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับองค์กรแต่อย่างใด ปาตานี ฟอรั่ม เป็นเพียง "พื้นที่สาธารณะ พื้นที่แห่งการตื่นรู้" เพื่อหวังสร้างสรรค์สังคมแห่งปัญญา