การเมืองของความปรารถนากับคนมลายูปาตานี
ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ณ ปาตานีในรอบ 11 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มเหตุการณ์ในปี 2547-ปัจจุบัน ถือเป็นความรุนแรงระลอกใหม่ที่มีผลต่อนัยทางการเมือง ระหว่างปาตานีกับรัฐไทยอย่างน่าสังเกต ซึ่งหากการแสดงออกที่ผ่านมาของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐไทย ที่ต้องการนำเสนอความต้องการของคนมลายูปาตานี และสร้างการต่อรองทางอำนาจต่อรัฐไทย ให้ยอมเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กลุ่มที่มีความแตกต่างทางอัตลักษณ์ เพื่อสามารถนำเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ ซึ่งมีตั้งแต่สันติวิธีจนถึงการใช้ความรุนแรงเข้าปะทะ จนถึงปัจจุบันเหตุการณ์ก็ยังส่อให้เห็นว่ามีความยืดเยื้อ และสร้างผลกระทบที่ต่อเนื่องกับทุกฝ่าย การปรากฏตัวของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐไทย ที่ได้เลือกใช้วิธีการต่อสู้ด้วยอาวุธในลักษณะแบบกองโจรนั้น สะท้อนให้เห็นถึงการก่อสงครามแบบอสมมาตร ที่รัฐมีอำนาจและกำลังที่เหนือกว่ากลุ่มผู้เห็นต่างหรือขบวนการ
ด้วยระยะเวลาที่เหตุการณ์ความรุนแรงยังเกิดอยู่อย่างต่อเนื่องคนให้พื้นที่ทั้งไทยพุทธและมุสลิม เริ่มมีการตื่นตัวที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาและร่วมกันเสนอทางออก โดยแสดงออกผ่านการรวมกลุ่ม เช่น เครือข่ายชาวไทยพุทธสนับสนุนสันติภาพชายแดนใต้ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ เป็นต้น ในอีกด้านหนึ่งกลุ่มนักวิชาการและผู้สังเกตการณ์ ก็ได้สร้างคำอธิบายต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในรูปแบบแนวคิดและทฤษฎีเป็นจำนวนมาก เพื่อนำเสนอความจริงของความรุนแรงที่เกิดขึ้นให้สาธารณชนและสังคมได้รับรู้ เช่น ปัญหาเกิดขึ้นมาจากการกดทับอัตลักษณ์ด้วยโครงสร้างทางการเมือง, แนวคิดการแบ่งแยกดินแดน, ความรุนแรงเกิดจากกลุ่มผลประโยชน์ในพื้นที่, แนวคิดกบฏชาวนา(ซึ่งตอนหลังได้รับการยอมรับว่าไม่สามารถอธิบายได้จริงจากผู้เสนอ) และ การปะทะกันทางอารยธรรมเป็นต้น[1] ในแต่ละคำอธิบายมีทั้งแนวคิดที่ถูกและมีทั้งแนวคิดที่ผิด จนเป็นที่ถกเถียงกัน และนำไปสู่ข้อสรุปต่างๆที่ขึ้นอยู่กับบริบทความเป็นจริงของความขัดแย้งที่รุนแรงในปาตานี
ขณะที่บทความชิ้นนี้ผู้เขียนต้องการนำเสนอการมองความขัดแย้ง ความรุนแรงและการปรากฏตัวของกลุ่มต่างๆในพื้นที่ปาตานี ที่แตกต่างจากกรอบเดิมด้วยการสะท้อนผ่านแนวคิดการเมืองของความปรารถนา[2] ของชีลล์ เดอเลิซกับเฟลิกส์ กัตตารี[3] โดยความหมายแล้วการเมืองของความปรารถนาคือ การปลดปล่อยความปรารถนาให้เป็นอิสระจากการเก็บกดปิดกั้น ด้วยการสร้างพื้นที่ราบผืนใหม่ที่ไม่มีการจัดชั้นสูงต่ำทางสังคม[4] การแสดงออกผ่านการกระทำที่ความรุนแรงและสันติวิธีที่เกิดขึ้นในปาตานี หากมองในอีกมิติหนึ่งเป็นเสมือนการนำเสนอความปรารถนาทางการเมือง เพื่อเป้าหมายบางอย่างไม่ว่าจะมาจากกลุ่มขบวนการ และประชาชนบางส่วน เพื่อนำเสนอตัวตนที่ถูกทำให้ลืมในสังคม เช่น การปรากฏตัวขบวนการ PULO, BRN หรือภาคประชาสังคมต่างๆในพื้นที่ ซึ่งเป็นผลมาจากการเลือกวิธีการปลดปล่อยความปรารถนาของกลุ่มอัตลักษณ์มลายูปาตานีในรูปแบบต่างๆ เช่น การเสนอข้อเรียกร้องของหะยี สุหลง, เหตุการณ์ตากใบ, การชุมนุมหน้ามัสยิดกลางปัตตานีในปี 2518
ความปรารถนาสำหรับเดอลิซกับกัตตารี เปรียบเสมือนจักรกลสงครามที่พร้อมจะสร้างพลัง การตัดข้าม การสลายเส้นแบ่ง และการปลดปล่อยความปรารถนา[5] เพื่อกำหนดและสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ระหว่างกัน เช่น การสร้างให้อัตลักษณ์มลายูมีความเท่าเทียมกับอัตลักษณ์ความเป็นไทย ซึ่งจากวิธีการหรือการแสดงออกที่คนมลายูปาตานีมีการเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ เป็นผลให้เกิดการสลายเส้นแบ่ง/เกิดการลากเส้นแบ่งใหม่ระหว่างคนกลุ่มใหญ่ของสังคมกับคนกลุ่มน้อยของสังคม เช่น สาธารณชนเริ่มสนใจสังคมปาตานี หรือแม้แต่เสนอข่าวเป็นภาษาถิ่นมากขึ้น การแสดงออกข้างต้นเป็นไปเพื่อให้ลดความเข้มข้นจากการครอบงำของ “ความเป็นไทย” ที่ปรารถนาและต้องการสร้างให้ “ความเป็นมลายู” เป็นสิ่งที่กำลังจะเกิด/กำลังจะเป็นในสังคมไทยอย่างเสมอภาคกัน
ลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ปาตานีในรอบ 11 ปี ที่ผ่านมา มีการแสดงออกของความปรารถนาทางการเมือง ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไปตั้งแต่สันติวิธีจนถึงความรุนแรง ในอีกด้านหนึ่งด้วยการที่รัฐไทยเป็นรัฐราชการแบบรวมศูนย์อำนาจ ใช้วิธีการกดทับความปรารถนาเหล่านั้นด้วยความรุนแรงหรืออำนาจแข็งมาโดยตลอด เช่น ใช้กำลังทหารปราบปรามการชุมนุมกรือเซะ ตากใบ แต่ก็มีบ้างในบางครั้งที่รัฐไทยใช้อำนาจอ่อน เช่น การเปิดเจราจาสันติภาพในต้นปี 2556 ที่ผ่านมา จากประวัติศาสตร์ข้างต้น จึงทำให้เกิดกระบวนการในการปฏิวัติความปรารถนาที่มีสาเหตุมาจากการกระทำของอีกฝ่าย(รัฐไทย) ที่มีต่อสังคมปาตานีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความปรารถนาจะกลายเป็นพลังตอบโต้ และเป็นพลังที่เชื่อมประสานที่มีความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนวาทกรรมให้เกิดการยอมรับจากสังคม เช่น ในอดีตคนมลายูปาตานีเคยเรียกร้องอย่างสันติ แต่มิได้ผลจึงต้องใช้กำลังเป็นพลังในการเรียกร้องในปัจจุบันเพื่อสร้างความสนใจจากคนกลุ่มใหญ่เป็นต้น
การปฏิวัติความปรารถนาต้องการบรรจุหรือสร้างพื้นที่ให้แก่อัตลักษณ์มลายู ในการเข้าไปแทนที่การเก็บกดปิดกั้นทางอัตลักษณ์แบบไทย ที่มิได้เกิดมาจากความต้องการของคนปาตานี แต่ถูกยัดเยียดให้ความเป็นมลายูกลายเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทย จากความปรารถนาของรัฐและชนชั้นนำจากส่วนกลาง ความปรารถนานั้นเป็นอำนาจที่ไม่หยุดนิ่ง จึงเป็นผลให้เกิดความต้องการขยายพื้นที่ทางการเมือง และการเชื่อมประสานที่ไม่สิ้นสุด เช่น การนำเสนอที่ต้องการให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์มลายู ภาษามลายูอย่างเท่าเทียมกับภาษาไทยและประวัติศาสตร์ไทย เป็นต้น
ด้วยการสร้างชุมชนจินตกรรมทางเมืองผ่านเรื่องเล่าของคนมลายูปาตานี ที่สร้างการร้อยรัด/ผูกโยงความเป็นมลายู และวิธีการแสดงออกที่สร้างผลระทบกระเทือนต่อสังคมในวงกว้าง จึงกลายเป็นวิธีการจัดระเบียบการขับเคลื่อนด้วยพลัง ที่ต้องการสลายรหัสของวัฒนธรรมความเป็นไทยแบบผูกขาด และสร้างรหัสการบรรจุทางสังคมด้วยความเป็นมลายู ที่ต้องการผนวกรวมความเป็นชายขอบอื่นๆให้เข้ามีความสำคัญในสังคมใหญ่ เพื่อให้เกิดการยอมรับความแตกต่างและสร้างความเข้าใจที่หลากหลายในวัฒนธรรม ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความชอบธรรมของรัฐ และสั่นคลอนการครอบงำทางความคิด วาทกรรม ความจริง และประวัติศาสตร์ ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมเชิงเดี่ยว ในขณะที่สังคมประกอบด้วยผู้คนที่มีความต่างทั้ง เชื้อชาติ ศาสนา จารีตประเพณี และวัฒนธรรม
สิ่งที่ความปรารถนาทำคือ การจัดเรียง/จัดวางอำนาจในสังคม[6] ที่เป็นการสร้างจุดตัดหรือจุดเชื่อมระหว่างความปรารถนาของความเป็นมลายูกับความเป็นไทย ให้สังคมเป็นที่จัดวางของความหลากหลาย เฉกเช่นเดียวกันเมื่อความเป็นไทยหลอมรวมกลุ่มต่างๆ ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งด้วยการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม วิธีการในการสร้างความเป็นอื่น(ของความเป็นมลายู)มาทดแทน/กดทับ(ความเป็นไทย)กลับ จำเป็นต้องอาศัยการกระทำผ่านการสร้างความหมายและการให้คุณค่าในรูปแบบต่างๆเช่น ประวัติศาสตร์ ประเพณี ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม[7] ที่มิใช่แค่การดำเนินการในรูปแบบของสถาบัน/กฎหมายเท่านั้น เช่น การเจรจากับรัฐไทยให้เป็นผลในทางปฏิบัติเป็นต้น แต่เพื่อสร้างความแตกหักจากการเก็บกดปิดกั้นที่มิให้มีพื้นที่ในสังคม ด้วยการสลายการจัดชั้นสูงต่ำในสังคมเพื่อให้ความปรารถนาสามารถเชื่อมต่อพร้อมๆ กับหนีห่างไปจากการผนึกรวมความปรารถนากระแสหลัก(ความเป็นไทย) เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์แบบใหม่ และการเชื่อมต่อแบบใหม่ในสังคม[8]
ความเป็นมลายูในปัจจุบันที่ถูกสร้างให้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของความเป็นไทย ได้กลายเป็นสิ่งที่การกำลังจะเกิด/กำลังจะเป็น ที่จะสร้างการท้าทายและสร้างการต่อรองทางสนามอำนาจในสังคมใหม่ เช่น การเปลี่ยนหมู่บ้านเป็นมลายูที่เขียนด้วยภาษาพื้นถิ่นอย่างถูกต้อง การกระทำดังกล่าวเป็นผลให้เกิดการตัดเส้นแบ่งและการเชื่อมเส้นแบ่งใหม่ปฏิเสธรูปแบบเดิม และต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ต่อการดำรงอยู่ของคนมลายูปาตานี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การเชิดชูความเป็นมลายู ที่ในอดีตถูกสร้างให้กลายเป็น “อื่น” จะทำให้ความปรารถนาทางการเมืองของคนมลายูกลายเป็นจริงและเกิดการยอมรับมากขึ้น ด้วยการสลายความเป็นชนชั้นทางอัตลักษณ์ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ในแนวระนาบ ที่สร้างความเสมอภาคแก่ทุกกลุ่มทุกอัตลักษณ์อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการยอมรับความหลากหลาย และปฏิเสธความเป็นใหญ่หรือการผูกขาดทางอัตลักษณ์มากขึ้น ความปรารถนามิใช่เป็นสิ่งที่หยุดนิ่ง หากเมื่อมันถูกปลดปล่อยจากการเก็บกดปิดกั้นแล้ว มันจะสร้างความเคลื่อนไหวที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ฉะนั้นการลดความสำคัญของคุณค่าเก่า และการผลิตคุณค่าใหม่ให้สังคม จึงเป็นสิ่งที่ราบรื่น และยิ่งเมื่ออาศัยกระบวนการโลกาภิวัตน์ จะสามารถสร้างการปลดปล่อยการเมืองของความปรารถนาของคนมลายูให้เกิดความสำเร็จในที่สุด
[1] ดูเพิ่มเติมของ นิธิ เอียวศรีวงษ์ บก, ใน มลายูศึกษา. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2550), หน้า 186-188.
[2] ดูเพิ่มเติมของ ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร ใน การเมืองของความปรารถนา. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บ้านพิทักษ์อักษร, 2555).
[3] นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส “แนวความคิดหลังโครงสร้างนิยม”
[4] เรื่องเดียวกัน, หน้า 167.
[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 108.
[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 107.
[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า 116.
[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 138-139.
หมายเหตุ: งานเขียนชิ้นนี้ เป็นมุมมอง ความเห็น ความรู้ ส่วนบุคคล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับองค์กรแต่อย่างใด ปาตานี ฟอรั่ม เป็นเพียง "พื้นที่สาธารณะ พื้นที่แห่งการตื่นรู้" เพื่อสร้างสรรค์สังคมแห่งความเข้าใจ