วันชาติที่ถูก(ทำให้)ลืม

 

รักชาติหรือไม่ ? รักเพราะอะไร? เพราะชาติทำให้เรามีทุกวันนี้ หากไม่ไม่มีชาติก็ไม่มีเรา หรือว่า..            

ผู้เขียนอยากชวนให้ผู้อ่านลองสำรวจตัวเองว่ารักชาติเพราะอะไร ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านย่อมมีเหตุผลของตนเอง แต่ในบรรดาเหตุผลเหล่านั้นมีเหตุผลที่ว่า“รักชาติเพราะชาติเป็นของเรา”  “รักชาติเพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน” หรือไม่? หากมี! เนื้อหาในบทความนี้อาจไม่จำเป็นสำหรับท่านเลย แต่ถ้าไม่มี! ผู้เขียนเห็นว่าบทความชิ้นนี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับท่านที่จะค้นหาว่าเหตุใดเหตุผลเหล่านี้จึงไม่ได้มีในความคิดท่าน

เหตุผลเหล่านี้เคยมีการพยายามสร้างขึ้นในความคิดของคนไทยเรามาแล้วในอดีต โดยการกำหนดวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน เป็นวันชาติของไทย ใน พ.ศ. 2481 โดยรัฐบาล พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา และถูกลบไปจากความคิดของคนไทยแล้วพร้อมกับการยกเลิกวันชาติดังกล่าวในสมัยที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี จะด้วยเหตุผลอะไรนั้นไม่ใช่ประเด็นสนใจหลักของงานชิ้นนี้

งานชิ้นนี้พยายามจะชี้ให้เห็นว่าการตั้งและยกเลิกวันชาติดังกล่าวส่งผลต่อจิตนากรรมชาติไทยและจินตภาพทางการเมืองของคนไทยอย่างไร ในกาศึกษาประเด็นนี้นั้นผู้เขียนเห็นว่าเราควรทำความเข้าใจประเด็นนี้ผ่านการเข้าใจ“ชาติ”ในฐานะ “ชุมชนประกอบสร้างเอกลักษณ์แห่งชาติ” ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจชาติที่อยู่ในวิธีคิด วิธีเข้าใจของคนในชาติที่ถูกปลูกฝังอย่างยาวนาน หรือหากใช้คำของ เกษียร เตชะพีระ คือ “การสร้างชาติที่สำคัญที่สุดคือสร้างขึ้นในหัว” โดยวิธีการเข้าใจดังนี้

1.การทำความเข้าใจความจริง ความจริงมี 2 ประเภท

                1.1.ความจริงแบบอกรรมอสภาวะ คือ ความจริงประเภทที่เป็นความจริงโดยตัวมันเอง โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตก เป็นต้น

                1.2.ความจริงแบบสกรรมสภาวะ คือ ความจริงประเภทที่ไม่ได้จริงโดยตัวมันเอง แต่จะจริงก็ต่อเมื่อ เราเชื่อ เราทำ แล้วสิ่งนั้นจึงกลายเป็นความจริง เช่น ความจริงที่ว่าหญิงไทยเป็นคนรักนวลสงวนตัว สิ่งนี้ไม่เป็นจริงโดยตัวมันเอง แต่มันจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อผู้หญิงไทยเชื่อและทำตาม (รักนวลสงวนตัว) แล้วสิ่งนี้จึงจะกลายเป็นความจริงขึ้นมา เป็นต้น

“ชาติ” เป็นความจริงแบบสกรรมสภาวะ กล่าวคือ เมื่อคุณเชื่อว่าคุณเป็นคนในชาติ คุณทำอย่างว่าเป็นคนในชาติ ความจริงคือคุณเป็นคนชาตินั้น

2.ชาติมาจากไหน?

“ชาติ” มาจาก “เอกลักษณ์แห่งชาติ” แล้วเอกลักษณ์แห่งชาติล่ะคืออะไร?การทำความเข้าใจเอกลักษณ์แห่งชาติ ประการแรกเราต้องทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า “เอกลักษณ์” เสียก่อน โดยทั่วไปมนุษย์แต่ละคนล้วนมีเอกลักษณ์หลายเอกลักษณ์ เช่น ฉันเป็นเป็นนักศึกษาเอกลักษณ์กำหนดโดยอาชีพ ฉันเป็นชาวพุทธเอกลักษณ์กำหนดโดยศาสนา ฯลฯ ซึ่งเอกลักษณ์แบ่งออกเป็น 3 แบบ 1) อัตลักษณ์ (Self-Identity) คือ เอกลักษณ์ของตนเอง เอกลักษณ์ของปัจเจกบุคคลแต่ล่ะคน 2) เอกลักษณ์ชุมชน (Community Identity) คือ เอกลักษณ์ร่วมของชุมชนที่คนในชุมชนที่มีร่วมกัน เช่น มีความเชื่อร่วมกัน มีวัฒนธรรมจารีตเดียวกัน เป็นต้น และ 3)เอกลักษณ์แห่งชาติ (National Identity) คือ เอกลักษณ์ของชาติที่คนในชาติมีร่วมกัน เช่น การมีสัญลักษณ์เดียวกัน การมีความทรงจำร่วมกัน เป็นต้น ซึ่งในที่นี้จะเน้นศึกษาที่เอกลักษณ์แห่งชาติ

เอกลักษณ์แห่งชาติ

สังคมสมัยใหม่เป็นที่รวมของคนที่มีเอกลักษณ์แตกต่างหลากหลาย ซึ่งอาจนำไปสู่การปะทะกันและความขัดแย้งของเอกลักษณ์เหล่านี้จนเกิดความวุ่นวายได้ตลอดเวลา เอกลักษณ์แห่งชาติเป็นจุดร่วมบางอย่างที่ยกลอยเหนือเอกลักษณ์เหล่านี้ทั้งหมด(ทั้งอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ชุมชน) ที่ทำให้คนที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันเหล่านี้ สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยมีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันภายใต้เอกลักษณ์แห่งชาติดังกล่าว แต่อย่างไรดีเอกลักษณ์แห่งชาติก็ยังคงมีปัญหาในตัวเอง เนื่องจากไม่มีพื้นที่ให้กับความต่างหรือเอกลักษณ์บางอย่างที่ขัดแย้ง หรือนัยหนึ่ง เอกลักษณ์แห่งชาติทำให้คนในชาติเห็นคนอื่นที่แตกต่างจากตนเป็นพวกเดียวกัน และเห็นบางคนที่(ตนมองว่า)เป็นอันตรายต่อชาติเป็นศัตรู ดังกรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ชนชั้นกลางบางกลุ่มมองว่า นักศึกษาที่ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นเอกลักษณ์แห่งชาติไทย จึงนำสู่การลุกฮือของคนกลุ่มนี้สังหารนักศึกษาอย่างโหดเหี้ยม เป็นต้น

เอกลักษณ์แห่งชาติมาจากไหน? ชาติไม่ใช่ความจริง(แบบอกรรมสภาวะ)แต่เกิดจากชุมชนในจินตนาการ 3 แห่งที่ประกอบสร้างเป็นเอกลักษณ์แห่งชาติจนก่อเกิดเป็นชาติขึ้นมาดังนี้

1.ชุมชนสถานที่ การมีจิตสำนึกเป็นพวกเดียวกันเพราะสังกัดสถานที่เดียวกัน เช่น การเป็นคนไทยเพราะเกิดและอยู่ในประเทศไทย ดังนั้นประเทศไทยจึงเป็น“ชุมชนสถานที่”ร่วมกันของคนไทย ซึ่งทำให้คนไทยเห็นคนที่เกิดและอยู่ในแผ่นดินไทยเหมือนตนเป็นพวกเดียวกัน คนไทยจิตนาการถึงประเทศไทยได้จากแผนที่ และแผ่นที่ก็เป็นสิ่งที่คนไทยและคนทั้งโลกจินตนาการขึ้นมา สิ่งเหล่านี้ไม่ได้จริงโดยตัวเอง(เขตแดนเป็นเส้นสมมติที่มนุษย์ขีดขึ้นมาเพื่อแบ่งเขตแดน โดยธรรมชาติพื้นที่เหล่านี้เป็นแผ่นดินเดียวกัน)

2.ชุมชนความทรงจำ การมีจิตสำนึกเป็นพวกเดียวกันเพราะมีความทรงจำเดียวกันหรือร่วมกัน เช่นประวัติศาสตร์ที่คนไทยมีร่วมกันเป็นประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม ที่ถูกปลูกฝังเข้าไปในความทรงจำของคนไทยผ่านกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม จนทำให้คนไทยมีจินตนาการร่วมกันว่านี่คือ “ประวัติศาสตร์ของเรา” ที่เรามีร่วมกันจนเกิดสำนึกเป็นพวกเดียวกัน

3.ชุมชนทางจิตใจ การมีสำนึกเป็นพวกเดียวกันเพราะมีสายใยสัมพันธ์ทางจิตใจร่วมกันผ่านสัญลักษณ์บางอย่าง ซึ่งสัญลักษณ์นี้อาจมีที่มาหลากหลาย เช่น เกิดจากกิจกรรมที่คนในชาติมีร่วมกันจนเกิดเป็นสัญลักษณ์ร่วมกันขึ้นมา เป็นต้น ที่สร้างความรู้สึกเป็นพวกพ้องเดียวกันภายใต้สัญลักษณ์ดังกล่าว

 

วันชาติที่เป็น วันที่ 24 มิถุนายน เคยเป็นเอกลักษณ์แห่งชาติไทย เป็นวันที่คนไทยทั้งประเทศมีกิจกรรมร่วมกัน จนก่อเกิดเป็นสัญลักษณ์และกลายเป็นชุมชนทางจิตใจร่วมกันของคนไทย ดังนั้นการยกเลิกวันชาติดังกล่าวจึงมีผลเป็นการลบสัญลักษณ์นี้จากเอกลักษณ์แห่งชาติซึ่งส่งผลต่อจินตนากรรม “ชาติไทย”ในหัวของคนไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ และในทางกลับกันการที่จะรื้อฟื้นสัญลักษณ์นี้กลับคืนมาก็เป็นเรื่องยาก หากมีคนบางกลุ่มมองว่ากระทำนั้นขัดแย้งกับเอกลักษณ์แห่งชาติที่มีอยู่เดิมก็อาจนำไปสู่ความรุนแรง ดังที่เคยเกิดขึ้นในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็เป็นได้ เพราะเอกลักษณ์แห่งชาติไทยนั้นคับแคบเกินจนไม่มีพื้นที่ให้กับความแตกต่าง

เอกลักษณ์แห่งชาติที่เกิดจากชุมชนทางจิตใจที่เป็นวันชาติ 24 มิถุนายน  แฝงด้วยอุดมการณ์อะไรที่พยายามสร้างความจริง(แบบสกรรมสภาวะ)บางอย่างสำหรับชาติไทยในหัวคนไทย?

สายชล สัตยานุรักษ์ ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจจากการอธิบายความคิดเกี่ยวกับการยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนาของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า

 

“ตราบใดที่วันชาติยังคงเป็นวันที่ 24 มิถุนายน การเฉลิมฉลองวันชาติก็ย่อมทำให้คนไทยระลึกถึงความสำคัญของระบอบการปกครองแบบมีรัฐธรรมนูญ และทำให้ตระหนักถึงความหมายของ “ชาติไทย” ในแง่ที่ประชาชนเป็นเจ้าของชาติ และเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยด้วย”[1]

จากที่กล่าวมาข้างต้น การยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน จึงเท่ากับเป็นการลบความจริงเกี่ยวกับวันชาติดังกล่าวออกจากหัวของคนไทย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนไทยบางส่วน(หรืออาจเป็นส่วนใหญ่)ไม่มีความคิดที่ว่า “รักชาติเพราะชาติเป็นของเรา”  “รักชาติเพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน” หรือแม้กระทั้งให้ความสำคัญกับ “ระบอบการปกครองแบบมีรัฐธรรมนูญ”

วันชาติ(และการยกเลิกวันชาติ) 24 มิถุนาชาติมีผลอย่างไรต่อจินตภาพ[2]ทางการเมืองขอคนไทย

นอกจากชาติจะทำให้คนในชาติมีจินตนาการเป็นพวกพ้องเดียวกันแล้ว ยังทำให้คนในชาติมีจินตนาการถึงความสัมพันธ์ภายในชุมชนเองระหว่างสมาชิกทั้งหมดในชาติว่ามีความสัมพันธ์ทางอำนาจกันอย่างไร ดังนั้นการตั้งและการยกเลิกวันชาติที่เป็นวันที่ 24 มิถุนายน ย่อมมีผลต่อการจินตนาการถึงความสัมพันธ์ภายในชาติของคนไทยทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือหากกล่าวโดยประยุกต์ใช้ แนวคิดเศรษฐศาสตร์สถาบันใหม่ (New Institution Economic)[3] ที่มองว่า สถาบัน[4]เป็นเสมือนกรอบที่กำหนด ความคิด วิธีคิด การตีความ ของคนในสังคมซึ่งมีผลต่อความเข้าใจและพฤติกรรมของคนในสังคมนั้นๆ

ดังเช่นกรณี มุมมองเกี่ยวกับหญิงงามในแต่ล่ะสังคมที่ต่างกันอันเกิดจากการมีสถาบันที่ต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อการเลือกคู่ครองของคนในสังคมนั้น จากแนวคิดนี้ เมื่อนำมาวิเคราะห์กรณีการตั้งและยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน ซึ่งจัดว่าเป็นสถาบันหนึ่งในสังคมไทย การกระทำเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อกรอบที่กำหนด ความคิด วิธีคิดและการตีความของคนไทยอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้การตีความหรือนิยามสิทธิ อำนาจ บทบาทของประชาชน ตัวแสดงและสถานบันการเมืองต่างๆ รวมถึงระบอบประชาธิปไตยฯลฯ ที่แตกต่างออกไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อการจินตนาการถึงความสัมพันธ์ภายในชุมชนระหว่าสมาชิกแต่ล่ะคน จินตภาพทางการเมืองตลอดจนพฤติกรรมทางการเมืองของคนไทยอย่างมีนัยสำคัญ

ความจริงของวันชาติ 24 มิถุนายน ที่เคยมีการพยายามสร้างขึ้นนั้นเป็นรากฐานประการสำคัญของการธำรงอยู่และเจริญรุ่งเรืองของประชาธิปไตยไทย เพราะไม่มีหลักประกันอันใดจะดีเท่ากับอุดมการณ์ของประชาชน ดังนั้นในทางกลับกัน การยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน จึงเท่ากับทำลายหลักประกันดังกล่าว และเป็นสาเหตุประการสำคัญให้เกิดผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม คือ การไม่สามารถธำรงอยู่ได้

หรือแม้จะอยู่ได้แต่ก็ขาดเสถียรภาพของประชาธิปไตยไทย...

 

หมายเหตุ: งานเขียนชิ้นนี้ เป็นมุมมอง  ความเห็น ความรู้ ส่วนบุคคล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับองค์กรแต่อย่างใด ปาตานี ฟอรั่ม เป็นเพียง "พื้นที่สาธารณะ พื้นที่แห่งการตื่นรู้" เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม

 

 

 

 

 

 

 



[1] สายชล  สัตยานุรักษ์.  (2550).  คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรม “ความเป็นไทย” เล่ม 2.  หน้า 108.

[2] จินตภาพ หมายถึง  ภาพที่เกิดจากความนึกคิดหรือที่คิดว่าควรจะเป็นเช่นนั้น

[3] เจษฎา ไหลภาภรณ์.(2557).สถาบันใหม่.เอกสารประกอบการสอนวิชาการเมืองเศรษฐกิจ การเมือง  อาเซียน ภาค 1/2557

[4] สถาบันเป็นกฎกติกา ที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งอาจเรียกว่าสถาบันที่เป็นทางการ หรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งอาจเรียกว่าสถาบันที่ไม่เป็นทางการ และยังมีความหมายรวมไปถึงความเชื่อ ค่านิยม และข้อจำกัดต่างๆ อีกด้วย