โหนกระแสปาตานี : การเจรจาที่เคว้งคว้างและสันติภาพ(สุข)ที่วังเวง

      

อีกไม่กี่สัปดาห์ ก็จะครบรอบ 2 ปี เหตุการณ์การพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างขบวนการบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทย ที่ได้อุบัติขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อต้นปี 2556 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ประเทศมาเลเซีย โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ซึ่งหากย้อนไปเมื่อ 2 ปีที่แล้วถือเป็นปรากฏการณ์ที่สังคมให้ความสนใจเป็นพิเศษ ทั้งจากคนในพื้นที่และต่างประเทศ

ถึงแม้การพยายามเพื่อให้ปรากฏซึ่งภาพเหล่านั้น จะไม่ค่อยเป็นไปตามธรรมชาติหรือมาจากความยินยอมของทั้งสองฝ่ายไม่แต่อย่างใด ที่ถูกบีบรัดทั้งทางตรงและทางอ้อม จนในที่สุดความพยายามต่างๆ ที่รัฐบาลไทยปรารถนาที่จะให้เกิดขึ้นนั้น ก็ได้ประจักษ์สู่สังคมจนได้

ความพยายามดังกล่าว หากจะกล่าวถึงความได้เปรียบหรือความเสียเปรียบของแต่ละฝ่าย ล้วนมีค่าเท่าๆ กัน ไม่มีฝ่ายใดที่มีแต่ได้และคงไม่มีฝ่ายใดอีกเช่นกันที่มีแต่เสียเปรียบ ถึงขั้นแพ้พ่ายในทางการเมืองไม่

ซึ่งการเริ่มต้นของกระบวนการสันติภาพในวันนั้น ได้มาซึ่งบทเรียนราคาแพงแกทั้งสองฟากเช่นกัน ถึงแม้เราจะมองและวิเคราะห์ในมุมใดก็ตาม เราจะพบว่าต่างฝ่ายต่างปรับจูนของกันและกันอย่างรวบรัดชนิดฉากต่อฉากวินาทีต่อวินาที

ปรากฏการณ์ของสังคมไทยหลังจากการลงนามดังกล่าว ดูเหมือนยังคงอยู่ในวงกะลาแคบๆ เช่นเดิม ที่ส่วนใหญ่มิค่อยเห็นด้วยกับการดำเนินการของรัฐบาลพลเรือนตระกูลชินวัตร กับการยกระดับกลุ่มคนที่คิดต่างจากรัฐเหล่านั้น ซึ่งในขณะเดียวกันทำให้พลวัตรทางการเมืองของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกมองในแง่ลบมากกว่าในด้านบวก

กล่าวคือการบริหารประเทศของรัฐบาลที่ผ่านมา ล้วนต่างหยิบยกปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาทะกรรม เพื่อโฆษณาชวนเชื่อถึงความตั้งใจและความสามารถของพรรค ในการได้มาซึ่งความสงบสุขร่มเย็นในพื้นที่กลับมาอีกครั้ง ด้วยการเสนอนโยบายเพื่อบรรเทาปัญหาปลายเหตุมิได้เป็นการมุ่งเน้นเพื่อที่จะแสวงหาทางออกด้วยแนวทางอันสันติไม่แต่อย่างใด

     "สิ่งที่รัฐบาลกำลังกังวลมากกว่าการควานหาตัวตนที่แท้ของผู้อยู่เบื้องหลังของความรุนแรงนั้น แทนที่จะเป็นชีวิตของพลเมืองที่อยู่ในพื้นที่ และลมหายใจของเจ้าหน้าที่ที่ต้องมาสิ้นลมหายใจไกลจากภูมิลำเนาตัวเองตลอดระยะเวลาของความรุนแรง ก็คือกลัวการเสียสมดุลในการควบคุมกลไกจากภายนอกที่อาจเข้ามามีบทบาทเหนือรัฐบาลไทย ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ต่อการแก้ไขปัญหาปาตานี ที่ยังคงปะทุและดำเนินอยู่มาหลายร้อยปี"

หากจะคาดการณ์ถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการแสวงหาทางออกให้กับสังคมปาตานีระดับมหภาคมากกว่าการเพ่งพร่ำแต่หมกมุ่นอยู่กับการวาดโครงการเพื่อทุ่มนโยบายเผางบประมาณอย่างมหาศาล ผ่านตำบล อำเภอ ผ่านหน่วยงานของรัฐที่เสมือนเป็นรูปทรงปิรามิดรูปแบบคว่ำ ที่การคอรัปชั่นเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของหน่วยงานรัฐ

ซึ่งการมุ่งเน้นแต่โฆษณาโครงการต่างๆ ที่ลงสู่ระดับรากหญ้า มิใช่เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นสายปลายเหตุอย่างถาวรไม่ หากระบบการปกครองแห่งรัฐไร้ซึ่งสวัสดิการและการขยายผลประโยชน์อย่างทั่วถึงและทั่วกัน

ในขณะที่ความมุ่งมั่นของขบวนการต่อสู้ปลดแอกปาตานีกลุ่มต่างๆ ยังคงเคลื่อนขับอุดมการณ์ของตนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย บางกลุ่มกลับนิ่งเงียบเชียบราวต้นไม้ไร้ซึ่งสายลมผ่านพัดใบเคลื่อนไหว บางกลุ่มยังคงกุมท่าทีไว้เพื่อรอจังหวะจะก้าวกระโดดตามแรงกระเพื่อมของปรากฏการณ์ในช่วงนั้น เพื่อยกระดับกลุ่มตนให้มีความโดดเด่นและเพื่อสื่อสารให้กับรัฐบาลไทยและสังคมได้รับรู้ว่า พวกเขายังคงอยู่และยังคงมีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนการต่อสู้ปาตานีทั้งในพื้นที่และระดับสากล

แต่ขบวนการที่อยู่ในการวิเคราะห์และวงถกของหน่วยงานความมั่นคงของไทย คงหนีไม่พ้นขบวนการปฎิวัตรแห่งชาติมลายูปาตานีหรือบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi National Melayu Patani) คือกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ ที่มีโครงสร้างขององค์กรอย่างชัดเจน

ทว่าท่าทีของกลุ่มต่อสู้ปาตานีหลังจากการลงนามในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 นั้น ค่อนข้างนิ่งเงียบ นอกจากการออกมาสื่อสารของผู้ที่อ้างและเชื่อว่า คือผู้ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการต่อกรกับรัฐไทยด้วยวิถีทางการเมือง ซึ่งได้รวบทุกกลุ่มขบวนการอยู่ภายใต้การนำพาของขบวนการบีอาร์เอ็นโดยปริยาย ในฐานะผู้แทนของนักต่อสู้ปาตานีบนโต๊ะเจรจาครั้งนั้น

แต่ถึงอย่างไรเมื่อการเจรจาได้ดำเนินและเกิดขึ้นอย่างเอิกเกริก ชนิดสังคมมิทันตั้งตัวมิมีข่าวคราวก่อนหน้านั้น ว่ารัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนเข็มทิศของตนเองในการปรับท่าทีที่แข็งกร้าวลง ด้วยการยอมเข้าสู่โต๊ะเจรจากับกลุ่มที่เชื่อว่ากำลังต่อสู้กับอำนาจรัฐไทย ในฐานะเจ้าอาณานิคมแห่งสยาม ที่เข้ามาปกครองปาตานีอย่างผิดวิธีและยังคงมีความพยายามที่จะเขมือบชนชาติมลายูปาตานีให้กลมกลืนและกลืนกลายไร้สิ้นตัวตนในที่สุด

แต่ในที่สุดด้วยเหตุผลทางการเมืองของไทยเอง ที่เป็นสาเหตุให้การเจรจาสันติภาพในครั้งนั้น เกิดล่มลงอย่างที่หลายฝ่ายต่างคาดหวังไว้ ด้วยเหตุผลและปัจจัยหลายประการ ที่กระบวนการพูดคุยที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในที่ต่างๆ ของโลก ยังไม่ปรากฏชัดในกระบวนการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็นในครั้งนี้

นั่นก็คือเป็นการจัดฉากเพื่อให้ปรากฏต่อสาธารณชนเป็นอันดับแรก แล้วค่อยประคับประคองสิ่งที่บกพร่องและข้อที่ชำรุด เพื่อที่ว่าการเจรจาเพื่อสันติภาพนี้ อย่างที่ได้ปรากฏริเริ่มในรัฐบาลตระกูลชินวัตร และเพื่อเป็นการล๊อบบี้ทั้งสองฝ่ายไปในตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายบีอาร์เอ็น

หลังการเผยตัวของอุสตาสฮาซัน ตอยิบผ่านยูทูป ทำให้สังคมต่างวิเคราะห์ต่างๆ นานาว่า เป็นตัวจริงหรือตัวปลอมกันแน่ และอีกสารพัด

เมื่อการแก้ไขปัญหาปาตานีของรัฐบาลไทย ที่มัวแต่อยู่ในกรอบเก่าครึเช่นวันวาน เชื่อว่าปัญหาปาตานีจะยังคงอยู่เช่นนี้อีกนานเท่านาน ถึงแม้ในระดับล่างจะยังคงบังคับใช้กฎหมายตามมติของรัฐบาลและการเร่งเร้าของนโยบาย มิอาจปราบปรามความคิดเหลานั้นตราบที่ความยุติธรรมมิอาจบังเกิดบนผืนดินและสังคมปาตานีได้

การเจรจาที่อยู่บนหลักการเพื่อหวังผลคะแนนทางการเมือง ก็มิอาจเป็นความหวังให้กับประชาชนผู้ใฝ่สันติเช่นกัน เพราะนั่นมิได้มาจากความมุ่งมั่นของพลังทางการเมืองของประเทศแต่อย่างใด ที่อยากจะเห็นพื้นที่แห่งนี้ปราศจากการเข่นฆ่า จับกุม ปราบปราม ต่อคนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง

จากวันนั้นถึงวันนี้ ดูเหมือนว่าความหวังของสันติภาพปาตานี ยิ่งไกลห่างออกไปจากบ่วงสำนึกของสังคมปาตานี เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้ทำการยึดอำนาจและสถาปนาตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความไม่สงบแบบงุนงงมิสอดรับกับความเป็นจริง เมื่อได้มีการเปลี่ยนวาทกรรมทางการเมือง จากกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ มาเป็นการพูดคุยเพื่อสันติสุข แล้วการปลดคำว่า "สันติภาพ" แทนด้วย "สันติสุข" ย่อมมีนัยยะบางอย่าง ซึ่งเกิดคำถาม และข้อสงสัย ว่ารัฐบาลทหาร กำลังคิดอะไรอยู่

 จะจริงใจในการการแก้ปัญหา หรือว่าจะเล่นเกมส์การเมือง เสมือนทุกๆครั้งที่ผ่านมา?

 

 

หมายเหตุ : งานเขียนนี้เป็นมุมมองและความเห็นส่วนบุคคล ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กร ปาตานีฟอรั่มเป็นเพียง "พื้นที่สาธารณะ พื้นที่แห่งการตื่นรู้" เพื่อนำไปสู่การขบคิด ถกเถียง เพื่อสรา้งสรรค์สังคมที่ดีงาม