ความชอบธรรม และการครอบงำของรัฐ

ความชอบธรรม และการครอบงำของรัฐ

สิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงอยู่ของรัฐ คือรัฐจะต้องมีความชอบธรรมที่หมายถึงการได้รับการไว้วางใจ หรือการยินยอม(consent)จากผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง เพื่อให้รัฐธำรง รักษาไว้ซึ่งสิทธิ เสรีภาพและความปลอดภัยแก่ปัจเจกชนในสังคม ในขณะที่บางครั้งรัฐกลับเป็นผู้ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกเสียเอง ด้วยการกล่าวอ้างต่างๆหรือด้วยการสร้างกระบวนการครองงำประชาชนและปัจเจกในสังคม ให้คงสภาพไว้ซึ่งฐานของอำนาจและการสร้างความชอบธรรมแก่รัฐ จนในบางครั้งรัฐอาจจะถูกมองจากสังคมว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำเนินไปของสังคมการเมือง หรือแม้กระทั่งการเกิดวิกฤติความชอบธรรมของการมีอยู่ของรัฐ แต่ในขณะเดียวกันรัฐก็กระทำการที่เป็น “วิธีการแห่งรัฐ” ที่สร้างการครองงำสังคมให้กลายเป็นความชอบธรรมเพื่อความอยู่รอดด้วยเช่นกัน

ทำไมต้องมีรัฐ?

ยุคสังคมบรรพกาลรัฐเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็น ในการดำรงหรือดำเนินการตามแบบแผนของสังคมแบบกลุ่ม/ชนเผ่า ที่รัฐจะต้องเข้ามาจัดระเบียบแบบแผนและควบคุมสังคมให้เป็นไปตามความต้องการของรัฐ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของหัวหน้าเผ่าและการแบ่งลำดับชั้นในกลุ่ม/เผ่า แต่พัฒนาการของรัฐในเวลาต่อมากลับกลายเป็นว่ารัฐเป็นองค์การทางการเมืองที่มีความจำเป็น ในการแสดงออกถึงความมีอารยธรรมและการพัฒนาของสังคมที่มีรัฐ และยิ่งในศตวรรษที่ 20 รัฐกลายเป็นองค์การทางการเมืองที่จะเป็นหลักประกัน สวัสดิการ และระเบียบทางสังคมของมนุษย์  จนทำให้คำถามที่ว่า ทำไมต้องเป็นรัฐนั้น เลือนหายไปจากเกือบทุกสังคมมนุษย์ ซึ่งส่งผลให้รัฐต้องปรับตัวในความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองให้ดำเนินการอย่างสมเหตุสมผล ตามการใช้อำนาจที่ชอบธรรมที่สังคมหนึ่งๆให้แก่รัฐ

ความมีเหตุผล(rationality)ของปัจเจกกับความชอบธรรม

สภาวะสมัยใหม่/ยุคภูมิธรรม(enlightenment)ของมนุษย์นั้น ทำให้มนุษย์เกิดความตระหนักและสำนึกในตัวเอง ที่ต้องการความเป็นอิสระ มีสิทธิ เสรีภาพและการใช้เหตุผลไตร่ตรองต่อการกระทำต่างๆ ด้วยความมีเหตุผลและความต้องการเป็นอิสระชนของมนุษย์ สะท้อนว่าการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เช่นการเลือก การตอบสนองความต้องการ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐฯ ต้องเป็นไปด้วยลักษณะข้างต้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ซึ่งอาจถือว่าเป็นการกระบวนการของมนุษย์ที่จะสามารถปลดปล่อยจากการครอบงำ การกดทับหรือการควบคุมจากรัฐ รวมถึงการแสดงออกในเรื่องอื่นๆ ผลจากยุคภูมิธรรมสำหรับมนุษย์แล้ว การดำรงอยู่ การใช้อำนาจของรัฐ จะต้องเป็นไปด้วยความชอบธรรมของปัจเจกผ่านการตัดสินใจ จากความมีเหตุผลของมนุษย์ หากมิใช่เช่นนั้นแล้ว จะเป็นการทำลายความเป็นมนุษย์ด้วยการครอบงำของรัฐ และทำลายสภาวะสมัยใหม่/ยุคภูมิธรรมทางสังคมไปด้วย

การครอบงำที่ชอบธรรมของรัฐ

ในขณะที่ปัจเจกและประชาชนเป็นผู้ให้การรับรองความชอบธรรมแก่การปฏิบัติของรัฐ แต่ในทางตรงกันข้ามเมื่อรัฐสารมารถที่จะรักษาความสัมพันธ์ทางอำนาจอย่างคงที่แล้ว รัฐจะเป็นผู้สร้างความสมเหตุสมผลที่ทำให้เกิดความชอบธรรมต่อการดำรงอยู่ของรัฐ ผ่านการบวนการ/ “วิธีการแห่งรัฐ” เพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจและความชอบธรรมในการควบคุมสังคม เช่น รัฐเผด็จการมักอ้างอยู่เสมอว่า การใช้อำนาจเป็นไปเพื่อการรักษาความมั่นคง การพัฒนาที่ต่อเนื่อง หรือแม้การกระทั่งเพื่อ “ชาติ” เป็นต้น ด้วยวิธีการเหล่านี้เป็นการสะท้อนการดำรงอยู่และการปฏิบัติของรัฐตามแนวคิดสัจนิยมแห่งการครอบงำ ที่ต้องการปฏิเสธความมีเหตุผล/ความเป็นปัจเจก ละเมิดกฎหมาย ศีลธรรมของสังคม อาจกล่าวได้ว่ารัฐสร้างการครอบงำสังคมด้วยการสร้างความสมเหตุสมผลจากข้ออ้างบางอย่าง ให้เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและกลายเป็นระเบียบแบบแผนทางสังคมต่อไป

อำนาจอธิปไตยกับความชอบธรรม

หากยึดถือความเป็นมาของรัฐจากแนวคิดสัญญาประชาคม(social contract) นั้นถือว่ารัฐเกิดขึ้นมาจากการที่ปัจเจกชนเสียสละสิทธิ เสรีภาพบางอย่างให้แก่องค์กรทางการเมืองอย่างรัฐ เพื่อให้เข้ามาจัดระเบียบจากความป่าเถื่อนของมนุษย์ตามแนวคิดฮอบส์ และเพื่อเข้ามาปกป้องคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพที่อาจจะถูกละเมิดของปัจเจกในสังคมด้วยเหตุผลตามแนวคิดของล็อค ซึ่งแสดงว่าอำนาจที่รัฐใช้มาจากหรือกำเนิดมาจากปัจเจกในสังคม ที่มิใช่มาจากผู้แข้งแรง/พระผู้เป็นเจ้าตามกรอบคิดเก่า อำนาจสูงสูดกลายเป็นอำนาจของปัจเจกแต่ละคนในสังคมหรือเรียกว่าอำนาจอธิปไตย ความชอบธรรมหรือความไว้วางไว้ของปัจเจกที่มีต่อรัฐ จึงเป็นผลมาจากการพิจารณาด้วยความมีเหตุมีผล แต่เมื่อเกิดการพลวัตทางสังคมความเป็นปัจเจกโดยรวมจะถูกแทนที่ด้วยคำว่า “ชาติ” ดังนั้นหากรัฐกระทำ/ปฏิบัติการเพื่อชาติย่อมเป็นการกระทำเพื่อประชาชนหรือปัจเจกในสังคม จากลักษณะความย้อนแย้งดังกล่าว การกระทำของรัฐเพื่อชาติ/ประชาชน มิได้เกิดขึ้นมาจากความยินยอมของประชาชน แต่ถือเป็นการครอบงำของรัฐที่ทำเพื่อประชาชนมากกว่าการได้รับความชอบธรรมอย่างถูกต้องจากการตัดสินใจเลือกด้วยเหตุผลของประชาชนเอง

 

การครอบงำกับความชอบธรรม

แต่ละสังคม พื้นที่ รัฐจะสร้างวิธีการในการครอบงำที่แตกต่างกัน หรืออาจจะแบ่งเส้นความชอบธรรมกับการครอบงำให้กลายเป็นเส้นเดียวกัน ที่จะเป็นการยากแก่การเข้าใจและแยกแยะของปัจเจก ว่าการกระทำใดคือความชอบธรรม และการกระทำใดเป็นการครอบงำ ความชอบธรรมนั้นต้องเกิดจากความเป็นเอกเทศหรือความเป็นอิสระของปัจเจกและสังคม ด้วยการใช้ความมีเหตุผลในการตัดสินใจเลือก ปราศจากการควบคุม/กำกับจากสิ่งใดๆ และปัจเจกจะมีความยินยอมหรือไว้วางไว้ต่อการดำรงอยู่และการใช้อำนาจของรัฐ เสรีชนจะเป็นตัวกำหนดแบบแผน ความเชื่อ และการปฏิบัติในสังคม และต่อความสัมพันธ์ที่มีต่อรัฐ ในขณะที่การครอบงำจะเป็นการบังคับ ควบคุมหรือสั่งการให้ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนที่รัฐหรือผู้ใดกำหนด เพื่อเป็นบรรทัดฐานเดียวกันผ่านการครอบงำในความเชื่อ กฎหมาย อุดมการณ์ ที่อาจจะถูกสร้างโดยเจตนาที่ต้องการจัดระเบียบและควบคุมสังคม รูปแบบเหล่านั้นจะกลายเป็นการครอบงำที่ชอบธรรมของรัฐ ที่กระทำต่อสังคมและปัจเจก ที่ปราศจากการใช้เหตุผล และการตรวจสอบ

แต่ละรัฐจะมีรูปแบบการครอบอย่างชอบธรรม ที่ถูกสร้างให้เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล และก็มีความชอบธรรมที่เกิดจากปัจเจกและสังคม ที่มาจากเหตุผลและความเป็นเอกเทศ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจเจก ชุมชน สังคม ที่จะรู้เท่าทันต่อการใช้อำนาจของรัฐ และต้องไตร่ตรองด้วยเหตุผล ความเชื่อแบบสัมพัทธ์นิยม ที่มากกว่าจะใช้เหตุผล ความเชื่อในแบบสัมบูรณ์ ซึ่งจะกลายเป็นโจทย์ที่ว่าตกลงแล้วในสังคมหนึ่งๆจะให้รัฐเป็นผู้ควบคุมกำกับปัจเจก/สังคม หรือจะให้ปัจเจก/สังคมเป็นผู้กำกับและควบคุมรัฐ ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมให้มีความชอบธรรมที่จะเกิดขึ้นผ่านตรรกะทางความคิดของเหตุผลในตัวมนุษย์