จดหมายถึงปาตานีเมื่อช่วงยาม “เคียงกัน” (ฉบับที่ 1-2)

 

 

ปาตานี ฟอรั่ม ถึง จดหมายฉบับ “เคียงกัน”

     จดหมายถึงปาตานีเมื่อช่วงยาม “เคียงกัน” พึ่งส่งมาถึงเมื่อไม่นานมานี้ภายหลังจากกาลครั้งหนึ่งปาตานี ฟอรั่ม เชิญชวน นักกิจกรรม คนทำงานเพื่อสังคมจากต่างภูมิภาค มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสัมผัสบรรยากาศปาตานี/ชายแดนใต้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากต้นปี 47 จนมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะบรรยากาศการทำงานของนักกิจกรรมทำงานรังสรรค์สันติภาพในพื้นที่ ซึ่งเป็นแง่มุมที่อยู่ในความสนใจนักกิจกรรมต่างภูมิภาค อันเนื่องมาจากความคุ้นเคยและมีมุมมองต่อสังคมไทยในจินตนาการที่ “เคียงกัน”

     จดหมายถึงปาตานีเมื่อช่วงยาม “เคียงกัน” พึ่งส่งมาถึงโดย 2 นักกิจกรรมคนสำคัญ คือ อรรถพร  ขำมะโน พรรคสามัญชน และภัควดี  วีระภาสพงษ์ นักแปลวรรณกรรม ซึ่งทั้ง 2 ท่าน อาจจะเป็นบุคคลธรรมดา และไม่เป็นที่รู้จัก ใคร่รู้จากสาธารณะชนมากนักเท่าที่ทั้ง 2 ท่านอยากให้มองเห็น แต่ในทางกลับกัน เมื่อได้อ่านจดหมายฉบับนี้ อาจพบว่า ทั้ง 2 ท่านไม่ใช่ธรรมดาในแง่มุมมอง ความคิด ซึ่งสามารถสัมผัสได้โดยผ่านจดหมายฉบับนี้ จดหมายที่อาจชี้ชวนให้เกิดความรู้สึกอยากอ่านเป็นรอบที่ 2 จนบางทีคิดว่า จดหมายถึงปาตานีเมื่อช่วงยาม “เคียงกัน”ไม่สมควรอยู่ในสถานะแน่นิ่งเพียงแค่นี้ เท่านั้น

 

 

 

ฉบับที่ 1:  “ปาตานี” ไปแล้วก็อยากไปอีก สั้นๆ จาก ภัควดี วีระภาสพงษ์

     หลังจากที่ได้พบปะเสวนากับเพื่อน ๆ ปาตานีฟอรั่มที่มาจัดเสวนาที่เชียงใหม่แล้ว ข้าพเจ้าก็ได้รับการชวนเชิญให้ไปเยือนถิ่นปาตานีเพื่อร่วมงานปาตานีฟอรั่มเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2557  นี่เป็นการเดินทางไปปาตานีครั้งแรกของข้าพเจ้าหลังจากเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

     ระหว่างอยู่ในปาตานี ข้าพเจ้าได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากน้อง ๆ และพี่ ๆ นักกิจกรรม/นักวิชาการหลายท่าน  ทุกคนมีน้ำใจ รอยยิ้มและความอดทน  ทั้งยังพาข้าพเจ้าไปกินไปเที่ยวและเยี่ยมเยือนตามสถานที่ต่าง ๆ  ต้องขอขอบพระคุณทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วย

     ถึงแม้ปาตานีจะเป็นพื้นที่ภายใต้ความขัดแย้ง แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าความขัดแย้งมิใช่อยู่ในระดับบุคคล  ชาวปาตานีที่ข้าพเจ้าพบเจอมีน้ำใจเอื้ออารีและเปิดกว้างต่อความแตกต่างหลากหลาย  อีกทั้งมีความกล้าหาญ  แม้ดำเนินชีวิตท่ามกลางความไม่แน่นอน แต่พวกเขายังมีเสียงหัวเราะและความเข้าใจให้ผู้อื่น

     อาจเพราะชาวปาตานีดำรงชีวิตท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้เอง เยาวชนคนหนุ่มสาวที่นั่นจึงมีความกระตือรือร้นที่จะทำกิจกรรม ที่จะเรียนรู้ และแสวงหาทางออกต่อปัญหาต่าง ๆ

     ชาวปาตานีต้องมีชีวิตภายใต้กฎอัยการศึกมานับสิบปีแล้ว  สำหรับประชาชนส่วนที่เหลือของประเทศ แม้เพียงเรามีชีวิตภายใต้กฎอัยการศึกแค่วันเดียวสัปดาห์เดียว เราก็อึดอัดเหมือนหายใจไม่ออก  เราจะดำรงชีวิตอย่างไรหากต้องอยู่ใต้ปากกระบอกปืนเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด  หากวันใดที่เรารอดพ้นจากอำนาจบังคับของกฎอัยการศึก เราก็มุ่งหวังว่าทั้งพวกเราและชาวปาตานีจะได้หลุดพ้นพร้อมกัน  และการหลุดพ้นนั้นจะมาพร้อมอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตัวเราเองด้วย

 

 

ฉบับที่ 2 : เราต่างพ่ายแพ้ต่อสถานการณ์ เพราะเรื่องจริงก็คือ เสียงคนเล็กคนน้อย

โดย Usup Subcomandante

     15 ปี นับจากการเริ่มมาเรียนในมหาวิทยาลัยที่ปาตานี ผมได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับเรื่องราวของปาตานีในหลากหลายบริบท แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ได้มาร่วมในเวทีของคนทำงานประชาสังคม(สายสื่อ)อย่างเป็นทางการ การแลกเปลี่ยนกันในครั้งนี้กับคนทำงานประชาสังคมในหลายบทบาททั้งในและนอกเวทีเสวนา ซึ่งขยายตัวอย่างมากนับตั้งแต่ความรุนแรงในพื้นที่เริ่มส่งผลในวงกว้างมากขึ้น มันทำให้ผมรู้สึกเหนื่อยมากๆกับสิ่งที่ได้รับรู้จากเสียงคนทำงานในพื้นที่ แม้เสียงของเพื่อนพี่น้องคนทำงานมันชัดเจนในคำอธิบาย แต่มันแผ่วเบาเหลือเกินในการได้ยินของผม การประกาศถึงอำนาจรัฐไทยของชนชั้นนำ มันชั่งเสียงดังเสียจนกลบเสียงที่ผมอยากได้ยิน

     สิ่งนี้มันไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงแค่ปาตานี ในเชียงรายที่ผมอาศัยอยู่ปัจจุบันมันกลับเป็นเฉกเช่นเดียวกัน เราต่างพ่ายแพ้ทางการเมือง นี่คือสิ่งที่ผมอยากบอกเมื่อผมไปถึงปาตานี เราต่างมีคู่ตัวสู้ตัวฉกาจคือใครก็ตามที่ปล้นอำนาจของเราไปและสั่งเราให้เชื่อฟัง ในฐานะความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน สิ่งที่เราต้องการมันไม่ใช่การร้องขอแต่มันคือการต่อรองกันอย่างเท่าเทียม และเราต่างเหลือพื้นที่นี้อันน้อยนิดโดยเฉพาะในบริบทสังคม ณ วันนี้

     ในหลักการข้างต้น จึงถือเป็นการเรียกร้องของผมในฐานะสหายถึงเพื่อนพี่น้องที่ปาตานีและในที่อื่นๆ สู่แนวทางการก้าวเดินต่อไป แม้เป้าหมายรายทางเราจะต่างกัน หากเราเชื่อมั่นในเสียงของสามัญชนที่เท่ากัน เราก็ยังมีทางเดินร่วมกันอยู่ สำหรับผมแม้มันจะทำให้ต้องรู้สึกเหนื่อยมากๆกับสถานการณ์ความเป็นจริงที่เราต้องเผชิญการเคลื่อนไหวต่อสู้มาอย่างยาวนาน แต่มันก็ยังเป็นความหวังที่เราต้องรักษาไว้ให้มั่นเสมอ และมันจะไม่ใช่การพ่ายแพ้ตลอดกาล เราเหล่าสามัญชนจะต้องก้าวไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจรัฐอย่างเท่าเทียมเพื่อประกาศว่าพวกเราต้องการอะไร

     ในที่สุดไม่ว่าเรื่องราวปาตานีจะเดินไปสู่จุดใด บทบาทของประชาสังคมที่เติบโตขึ้นและพยายามรังสรรค์เสียงของคนเล็กคนน้อยสื่อสารให้สังคมได้ยิน และมีพื้นที่อำนาจอยู่จริงในสังคม ผมขอชื่นชมและสนับสนุนแนวทางในหลักการนี้ และหวังใจให้ประชาสังคมในปาตานียึดมันไว้ให้มั่น

     และในท้ายที่สุดความสำเร็จของเรา(ประชาสังคม)มันจะสะท้อนให้เราได้เห็นอย่างชัดเจนถึงบทบาทหน้าที่ของเราที่น้อยลงเรื่อยๆและลดลงตามลำดับ จนไม่มีเรา(ประชาสังคม)ในที่สุด นั่นหมายความว่า เสียงของสามัญชนได้ดังขึ้นในสังคมได้อย่างเท่าเทียมแล้ว

“แล้วเรา(ประชาสังคม)กำลังมุ่งสร้างภาระหน้าที่ของตนเองให้มากขึ้นหรือลดลง”

 

จบไปแล้ว จดหมายถึงปาตานี ดินแดนที่พร้อมรับฟังจดหมายฉบับต่อไป..