Monitoring & Evolution สื่อกับประเด็นข่าวคุณภาพ “กฎเหล็กนักสื่อสารปาตานีรุ่นใหม่ (อีกข้อ)” ตอนจบ

 

 

        การเฝ้าติดตาม Monitoring ข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ปาตานี/ชายแดนใต้ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับนักสื่อสารเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ การตื่นตัวเฝ้าสังเกตกลับเป็นไปในทิศทางอย่างเกาะติด ทำให้ก่อเกิดการวิพากษ์สื่ออย่างมีคุณภาพ อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะไปสนับสนุน Evolution ประเด็นเนื้อหาข่าวสารที่ส่งเสริมบรรยากาศสันติภาพผ่านช่องทางที่เยาวชนนักสื่อสารจะเอื้อมถึงได้ เป็นประเด็นที่แหลมออกมาจากวงเสวนา ฟังเสียงพลเมือง สื่อสาร(น) สันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างปาตานีฟอรั่มและคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี โดยประเด็นเริ่มต้นด้วยการสะท้อนการทำข่าวของสื่อในห้วง 10 ปีที่ผ่านมานับจากเหตุการณ์ความรุนแรงปี 47 เป็นอย่างไร

        “การนำเสนอข่าวของสื่อกระแสหลังหากมองกันจริงๆ พบว่า มีพัฒนาการที่ดี เพราะย้อนไปเมื่อก่อนการรายงานข่าวทำให้คนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เข้าใจ 3 จังหวัดดีพอ  ไม่รู้จักแม้กระทั่งว่า 3 จังหวัดมีจังหวัดอะไรบ้าง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ คนก็เริ่มหันมาสนใจมากขึ้น คนนอกก็เริ่มสนใจ แต่สนใจเพียงแค่ประเด็นสถานการณ์ความรุนแรง มีการมองว่าเป็นพื้นที่สงคราม แต่คนในพื้นที่ก็เริ่ม ผลักประเด็นให้เรื่อง 3 จังหวัดเป็นประเด็นสาธารณะ คนในพื้นที่ก็เริ่มเชื่อมกับคนที่ขับเคลื่อนเรื่องประเด็นทรัพยากรซึ่งเป็นกลุ่มเอ็น จี โอ ใต้บน จนคนเหล่านั้นก็พยายามเชื่อมโยง 3 จังหวัดให้กลายเป็นประเด็นร่วม”

        อารีด้า สาเมาะ หนึ่งในนักสื่อสารคนรุ่นใหม่จากพื้นที่เกริ่นในวงเสวนาก่อนจะกล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีการขับเคลื่อนเรื่องสื่อทางเลือกในพื้นที่ แต่หลังๆ เริ่มมีการขับเคลื่อนโดยเหตุผลว่า 3 จังหวัดยังมีแง่มุมอื่นๆ อีกมากที่ยังไม่ได้นำเสนอ

        “ไม่ใช่มีเฉพาะแง่มุมที่ภาครัฐนำเสนอ จนมีคนขับเคลื่อน มีนักศึกษา นักกิจกรรม เป็นกลุ่มแรกๆ จนถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ ทำให้สื่อเริ่มที่จะมีแง่มุมใหม่ๆ ในการนำเสนอมากขึ้น  ทำให้กระแสเรื่องสิทธิมนุษยชนก็เริ่มเข้ามาในพื้นที่ และมีการขับเคลื่อนในแง่ความรู้ ความเข้าใจในแง่กฎหมาย ภาคประชาสังคมก็เริ่มก่อตัวกันมากขึ้น เริ่มมีสำนักข่าวเข้ามาเชื่อมกับคนทำงานในพื้นที่ เพื่อพัฒนาศักยภาพให้คนในพื้นที่รายงานข่าวที่มีคุณภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบอีกว่าการนำเสนอแง่มุมด้านบวก เพื่อคานกับเนื้อหาข่าวที่นำเสนอความรุนแรง

       อารีด้า ชี้เพิ่มเติมว่า ช่วงที่มีการทำความเข้าใจสามจังหวัดมากที่สุด คือช่วงที่มี คำว่า กระบวนการสันติภาพ สื่อกระแสหลักเริ่มมีการเกาะติด เจาะลึก แง่มุมที่แตกต่างมากขึ้น

      “สิ่งที่เห็นระหว่างนั้น คือ มีความพยายามจากคนในพื้นที่กับสื่อกระแสหลัก เพื่อเชื่อมโยงให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ทำให้มีเนื้อหาที่มีการวิเคราะห์กันมากขึ้น เริ่มมีการแข็งขันเพื่อดึงลูกค้าของสื่อกระแสหลัก ทำให้คนในพื้นที่เริ่มมีโอกาสในการนำเสนอเรื่องราวมากขึ้น มีประเด็นหลากหลาย สื่อกระแสหลักพยายามมาเชื่อมคนในพื้นที่ เพราะต้องแข่งขันในแง่ประเด็นมากยิ่งขึ้น”

        ขณะที่ ฮากีม พงตีกอ กลุ่มนักศึกษา PerMAS  ชี้ว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่มีอคติกับสื่อกระแสหลัก แต่ก็เห็นพัฒนาการของสื่อกระแสหลัก สืบเนื่องจากการขับเคลื่อนของสื่อทางเลือกในพื้นที่  

        “เหตุการณ์ยิงเด็ก อายุ 14 สื่อนำเสนอไม่ได้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ เพราะสื่อตัดสินเหตุการณ์ แต่เมื่อเรื่องเครียร์แล้ว สื่อก็ไม่ได้นำเสนอต่อ ทำให้ภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องจากหลายเหตุการณ์ ไม่ได้ถูกเครียร์ภาพ ส่งผลต่อชื่อเสียง และการดำเนินชีวิตของผู้ตกเป็นเหยื่อของสื่อ ชาวบ้านจึงมักเรียกสื่อกระแสหลักว่า สื่อซีแย เป็นภาพลักษณ์หนึ่งที่คนในพื้นที่มองว่า เป็นสื่อของฝ่ายตรงข้าม สื่อต้องเครียร์ภาพลักษณ์ตรงนี้ให้ได้ ซึ่งขณะนี้ภาพลักษณ์ สื่อซีแย อาจทำได้ดีแล้ว แต่ก็ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ”

        ฮากีม ยังมองเพิ่มเติมว่า สื่อกระแสหลัก ยังคงมีความเป็นตัวเองน้อยมาก เพราะกังวลกับภาครัฐมากจน ไม่กล้าแสดงความเป็นสื่อตามจรรยาบรรณได้เต็มที่  และขณะเดียวกันหลายๆ ครั้งที่การนำเสนอไม่ได้ให้เครดิตกับสื่อทางเลือก เมื่อมีการทำงานร่วมกัน หรือ นำผลงานออกไปนำเสนอ ปัญหาหนึ่งคือ เรื่องความเป็นสื่อที่กังวลต่อผลกระทบกับตนเอง ไม่เคยเห็นสื่อที่ไปกับภาคประชาสังคมแล้วได้รับผลกระทบ แต่จะเห็นสื่อที่ไปกับเจ้าหน้าที่ มีหลายกรณี

        ส่วนทางด้าน วีฟาอี  มอลอ ผู้สื่อข่าวมีเดียสลาตันมองในประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบของสื่อในพื้นที่จากเหตุการณ์ทางการเมือง โดยชี้ว่า เหตุการณ์ปิดกั้นสื่อวิทยุชุมชน ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ส่งผลกระทบต่อวิทยุมีเดียสลาตัน แต่ก็ทำให้มีเดียสลาตันต้องยกระดับตัวเองให้มากขึ้นผลักดันตัวเองให้มากขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่กลางของคนในพื้นที่ให้ได้ไม่ว่าบริบทเช่นไร

        “การแก้ปัญหา 3 จังหวัด สื่อเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถมีส่วนร่วมขับเคลื่อนในแง่สนับสนุน หนุนเสริม ไม่ใช่ตัวหลักในการขับเคลื่อน เหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อปี 47 เป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจของสื่อกระแสหลัก แต่หลังจากนั้นความสนใจแง่มุมใหม่ๆของสื่อกระแสหลัก ก็เริ่มหายไปในช่วง 2-3 ปีหลังจากนั้น อาจเป็นเพราะข้อกฎหมายพิเศษที่ประกาศใช้ในพื้นที่  ทำให้สื่อกระแสหลักปรับตัวยาก มีเงื่อนไขในการทำงานเยอะซึ่งสื่อกระแสหลักไม่ได้เปิดช่องให้คนในพื้นที่มีการแลกเปลี่ยนมุมมอง ความเห็นในประเด็น แต่สื่อทางเลือกมีพื้นที่ตรงนั้น"

        “วาทกรรม “ผู้คิดต่าง” ก็ถูกคิดโดยสื่อทางเลือก ก่อนสื่อกระแสหลักจะหยิบยกไปใช้ในภายหลัง ที่ผ่านมาสื่อกระแสหลักมักรับข้อมูลมาจากภาคส่วนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เป็นการรับข้อมูลที่ไม่ได้มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลที่มาจากส่วนอื่นๆด้วย อีกประเด็นการใช้คำของสื่อ อาจมีเหตุผลมาจาก  ต้องอิงกับอำนาจ ต้องอิงกับภาครัฐที่มีบทบาทในการแก้ปัญหา ไม่ได้อิงกับบริบทในพื้นที่

        วีฟาอี ชี้เพิ่มเติมว่า ด้วยสถานการณ์ของสื่อเป็นเช่นที่กล่าวไว้ ทำให้ที่ผ่านมา คนในพื้นที่ให้น้ำหนักกับคำบอกเล่าในพื้นที่มากกว่าการนำเสนอของสื่อกระแสหลัก

        “คำบอกเล่าในพื้นที่นั้น เราอย่าประเมินมุมมอง หรือการวิเคราะห์ของชาวบ้านในพื้นที่ ่ต่ำไป เพราะชาวบ้านด้วยกันเอง มีพื้นที่ในการ แลกเปลี่ยน วิเคราะห์กัน มีการติดตาม การเก็บข้อมูลตลอดเวลา ทำให้การวิเคราะห์ของชาวบ้านในพื้นที่ มีความสำคัญมาก ทำให้แนวทางของสื่อช่วงหลังๆ การให้น้ำหนักเกี่ยวกับแง่มุมด้านบวก เริ่มลดน้อยลงโดยการเริ่มของสื่อกระแสหลักเอง แต่เป็นการประสานที่มาจากสื่อทางเลือก”

        การแลกเปลี่ยนของผู้เข้าร่วมในวงเสวนาโดยรวมแล้ว ต่างก็ยอมรับว่า เกี่ยวกับข่าวสารเรื่องปาตานี/ชายแดนใต้บนหน้าสื่อกระแสหลักนั้น ชาวบ้านในพื้นที่ต่างก็มีความนิยมน้อยลง ไม่ค่อยได้รับความสำคัญเพราะมองว่าสื่อกระแสหลักไม่ได้ทำหน้าที่ให้มีความน่าเชื่อถือ แม้นจะมองเห็นพัฒนาการที่ดีในการใช้คำ แต่หลังช่วงการเมืองเปลี่ยนกลับเห็นว่าสถานการณ์ 3 จังหวัดไม่ค่อยถูกนำเสนอต่อสาธารณะ บรรดาสื่อกระแสหลักที่ติดตามพบว่าเป็นช่องใหม่ๆ ค่อนข้างมีความน่าสนใจที่มีการนำเสนอข่าวสารก้าวหน้า ซึ่งสื่ออื่นๆจะต้องมีการปรับตัวให้มากกว่านี้ ประสานกับสื่อทางเลือกในพื้นที่ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของตนเองยิ่งขึ้น

 

        อีกด้านหนึ่งผู้เข้าร่วมในวงเสวนา ก็ตระหนักดีว่า การสื่อสารสาธารณะต่อสังคมไทยมีความสำคัญ เพราะคน 3 จังหวัดจะต้องปฎิสัมพันธ์กับคนอื่นๆที่อยู่นอกพื้นที่ ดังนั้นสื่อกระแสหลักค่อนข้างจะมีอิทธิพลต่อคนนอกพื้นที่มากกว่าสื่อทางเลือกแต่ก็ดูเหมือนว่าผู้เข้าร่วมเสวนาจะไม่คาดหวังมากเท่ากับสื่อทางเลือกในพื้นที่ซึ่งควรจะมาขยับตัวเองให้เข้าถึงการเป็นสื่อด้วยตัวเอง ทำสื่อขึ้นมาเอง พัฒนาศักยภาพให้มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

        โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีสื่อโซเชียลมีเดียเข้ามา ทำให้ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ เพียงต้องเพิ่มศักยภาพตนเองยิ่งขึ้น อย่างเช่นกรณีตัวอย่าง ของการรายงานข่าวเกี่ยวกับอิสราเอล สื่อกระแสหลักไม่ได้นำเสนออะไรใหม่ๆ แต่คนนอกเหตุการณ์ได้รับแง่มุมใหม่ๆ จากโซเชียลมีเดีย จากสื่อทางเลือก ทำให้ผู้ติดตามข่าวสาร ได้รับข้อมูลหลายๆด้าน ก่อนจะสื่อสารออกไป หรือแม้นแต่บางประเทศที่มีเหตุการณ์ความขัดแย้ง มีแหล่งข่าวเองที่พยายามทำเนื้อหาข้อมูลด้วยตนเอง เพื่ออยากจะสื่อสารให้ผู้รับสารได้มีโอกาสเข้าถึงแง่มุม ประเด็น อื่นๆ ได้มากขึ้น

        อารีด้า ให้ความเห็นว่า บทเรียนของสื่อมินดานิวส์ พบว่า มีองค์กรสื่อทางเลือกที่ทำงานในสถานการณ์ความขัดแย้ง แต่มีการขับเคลื่อนประเด็นอย่างต่อเนื่อง มีศักยภาพความเป็นมืออาชีพ สร้างเครือข่าย นำเสนอทั้ง 2 ฝ่าย จนกลายเป็นสื่อกระแสหลัก และได้รับการยอมรับจากสาธารณะ

        อย่างไรก็ตามสำหรับในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้แล้ว อารีด้า คิดว่า สิ่งสำคัญคือต้องทำความเข้าใจกับสื่อกระแสหลักให้ชัด เพราะสื่อกระหลักเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่เป็นตัวกดดันได้ในระดับนโยบาย  จึงมีความจำเป็นที่ต้องทำงานกับสื่อกระแสหลัก เพื่อขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกับสื่อกระแสหลัก  ดังนั้นสื่อทางเลือกควรจะให้ชัดเรื่องสิ่งที่อยากสื่อ กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งทุกครั้งที่มีการทำกิจกรรมทางสังคม คือ วิธีการนำเสนอผ่านสื่ออย่างไร จึงชี้ให้เห็นว่า เรายังมีความหวังกับสื่อกระแสหลัก เพราะเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย และการทำความเข้าใจต่อสาธารณะ

        ผู้เข้าร่วมวงเสวนาตระหนักว่า สิ่งที่คนนอกเห็น ปาตานี คือ ไฟ คนหัวรุนแรง ดังนั้นสื่อในพื้นที่ต้องเอาภาพที่เป็นความรุนแรงออกไป เอาภาพที่เป็นบวกเข้ามา เป็นเรื่องเร่งด่วน ก่อนมิติอื่นๆ ซึ่งกระบวนการทำงานของสื่อกระแสหลักเอง ควรจะชวนสื่อทางเลือกเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อช่วยให้คนทำงานสื่อเปิดโลกทัศน์มากยิ่งขึ้น

        กล่าวโดยสรุป ในวงเสวนาแลกเปลี่ยนกันในเรื่องมุมมอง ทัศนะที่มีต่อสื่อกระแสหลัก และอยากเห็นมีการเปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งเป็นเป้าหมายที่นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ โดยมีโจทย์สำคัญ คือ การพัฒนาศักยภาพการเป็นสื่อในพื้นที่ นำมาเป็นเครื่องมือแปรสภาพการต่อสู้ด้วยความรุนแรงของคู่ขัดแย้งที่ไม่มีกติกา ให้มาสู่การมีกติกา ซึ่งกลไกตัวหนึ่ง คือ คนดู โดยที่ประชาชน คือคนดู ดังนั้นประชาชนเป็นผู้มีอำนาจเป็นผู้ควบคุมกติกา และการสื่อสารเป็นวิธีการที่ทำให้คู่ขัดแย้งรับรู้กติกา

        ผู้เข้าร่วมในวงเสวนามีการวิพากษ์เรื่องการรายงานข่าว หากมองระยะยาว มองว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น แต่หากมองระยะสั้นๆ ก็มีข้อวิพากษ์ในรายละเอียด อีกมากมาย โดยมองเห็นการขับเคลื่อนของนักกิจกรรม ภาคประชาสังคม สื่อภาคพลเมือง ที่ขับเคลื่อนประเด็น ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายต่อสู้ด้วยความจริงตัวเอง ดังนั้น ในฐานะของคนทำหน้าที่สื่อ ทางออกคือ การสร้างเกิดความหลากหลาย สามารถตรวจสอบได้ หาข้อสรุปความจริงได้ระดับหนึ่ง โดยยืนยันบนการยอมรับของสังคมได้ทั้งสองฝ่าย ดังนั้นอย่าผูกขาดความจริง ชุดความคิด และเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบ ซึ่งพลังประชาชนจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ และยืนยันความจริงได้เอง อันจะทำให้ความน่าเชื่อถือเกิดขึ้น

        ดังนั้นสื่อในพื้นที่สามารถทำได้ด้วยการป้องกัน ระมัดระวังในการนำเสนอ ไม่ได้อิงกับความถูกใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องต้องตอบปมปัญหา คลายปมปัญหาความขัดแย้งให้ได้ทีละปม ต้องรู้จักวิเคราะห์ความขัดแย้งให้ได้ เมื่อเจอปมแล้ว สื่อก็ทำหน้าที่โยนประเด็นเหล่านั้นสู่สาธารณะเพื่อให้สังคมจัดการปัญหากัน และยอมรับกันได้ทั้ง 2 ฝ่าย

        ทั้งนี้ทั้งนั้นแก่นสำคัญ คือ สื่อในพื้นที่จะต้องมีความน่าเชื่อถือ ด้วยการเครียร์ภาพให้ชัดว่าตัวเองเป็นใคร ไม่ได้เป็นเครื่องมือของคู่ขัดแย้ง มีวิธีการนำเสนอที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ภาษาที่เรียบง่าย ใกล้ชิดประชาชน ชาวบ้าน  จนทำให้ผู้รับสารเข้าใจ เพื่อที่จะขับเคลื่อนประเด็นปาตานี/ชายแดนใต้ให้ถูกยอมรับในระดับสาธารณะ

อันจะมีส่วนช่วยเพิ่มความหวังต่อประชาชนในพื้นที่ได้ในที่สุด