ก้าวผ่านความชังตามขนบแบบอินเดีย

                             ก้าวผ่านความชังตามขนบแบบอินเดีย (1)                 

 อับดุรเราะฮหมาน  มูเก็ม [1]

“การแก้แค้นคือความจริง                                                                                                                                                                              

ความสมานฉันท์คือเรื่องเพ้อฝัน                                                                                                                                                                                             

การให้อภัยคือคำเทศน์สั่งสอน                                                                                                                                                                                             

การล้างแค้นคือการปฏิบัติ                                                                                                                                                                                                  

การเยียวยาคือความคิดหวัง                                                                                                                                                                                                  

แต่การทำร้ายคือสิ่งที่กระทำกัน”                                                                                                                                                                                                                      

Rajmohan Gandhi , The Revenge And Reconciliation Understanding South Asian History, Toyota Foundation ,1999 , P 23

 

เมื่ออินเดียคือ “ภูมิประเทศแห่งการนองเลือด” เมื่อครั้งอดีต  ทุกซากชีวิตล้วนรดราดบนผืนดินและเส้นไหว้ให้กับความต่างที่มาจากมายาคติแห่งศาสนา การเมือง ความเชื่อ ลัทธิ ขนบ ประเพณี และวิถี จึงไม่แปลกที่วัฒนธรรมดังกล่าวได้กลายเป็นรากเหง้าที่หยั่งรากลึกในเส้นโลหิตของขนบแบบอินเดีย

เรื่องราวแห่งชนชั้นยังเป็นฝันร้ายของชนชั้นต่ำ การเหยียดหยามทางด้านชาติพันธุ์ยังพอปรากฏให้เห็นในสังคมแดนสาหรี่ สิ่งหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เมื่อข้าพเจ้าได้ชำเลืองอย่างไม่หลบตาผ่านการปกคลุมเรือนร่างของผู้คนผ่าน “เฉดสีของสาหรี่” บทเรียนอย่างหนึ่งพอที่จะสรุปได้ว่า

 “ทุกเทศกาลจะเห็นเฉดสีของชุดและการแต่งการที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ของคนพื้นเมือง มุมหนึ่งคือความงานในความเป็นภารตะ แต่อีกบางมุม มันคือ การบ่งถึงความเป็นคนชั้นต่ำ เฉดสีฉูดฉาดไม่ได้ปกปิดเรือนร่างผู้มีอันจะกินของเมือง เพราะ การยกระดับตัวเองของกลุ่มชนชั้นต่ำทำได้เพียงสร้างมายาคติและมโนทัศน์ เพราะสุดท้าย วิถีปฏิบัติเป็นไปได้ตามขนบแบบเดิม

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความเด่นชัดในการแยกเผ่าพันธุ์ภายใต้มิติแห่ง “การยุให้แตกและแยกข้าง” (Divine and Rule)ของวัฒนธรรมเดิมแห่งอาณานิคม มรดกที่ยังหลงเหลือพอมีให้เห็น กลายเป็นขนบเล็ก ๆ ที่แห้งกรังติดผืนผ้าสาหรี่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กระนั้นก็ดี สิ่งนี้กลายเป็นสัญญาณบางอย่างเพื่อให้ผู้คน “จดจำรากเหง้าของตนเองกับความระยำแห่งการเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิ” เพราะสิ่งนี้ มันคือ ขนบเดิมที่ติดรากเหง้าแห่งการล่าอาณานิคมแบบสมัยเก่า จึงไม่แปลกที่ ภารตะได้กล่าวไว้อย่างที่ หนังสือของ  Rajmohan Gandhi , The Revenge And Reconciliation Understanding South Asian History

การแก้แค้นคือความจริง ความสมานฉันท์คือเรื่องเพ้อฝัน การให้อภัยคือคำเทศน์สั่งสอน   การล้างแค้นคือการปฏิบัติ   การเยียวยาคือความคิดหวัง   แต่การทำร้ายคือสิ่งที่กระทำกัน”     

กระนั้นความเป็นอินเดียในสังคมที่เต็มไปด้วยอารยะธรรม พยายามหาทางออกในสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อให้แต่ละคนมีที่ยืนในสังคมอย่างเท่ากัน           ขนบแปลก ๆ เลยเกิดขึ้นผ่านมิติแห่งความแปลกแบบอินเดีย ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านมักหามาเปรียบเทียบได้น้อยเต็มที  จึงไม่แปลกที่ Dhammapada ได้กล่าวว่า 

ในทางโลก ไม่มีทางที่ความเกลียดชังจะดับลงได้ด้วยความเกลียดชัง ด้วยความรักเท่านั้นที่จะสงบความชังลงได้ นี่คือกฎอันเป็นนิรันดร์ ชัยชนะ (การพิชิตยึดครอง) บ่มเพาะความเกลียดชัง ด้วยผู้แพ้นั้นฝังจมอยู่ในห้วงแห้งความระทมทุกข์ อยู่เหนือชัยชนะหรือพ่ายแพ้ ผู้ที่มีความสงบสุขจะดำรงอยู่ในสันติ [2]                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                     

ข้าพเจ้าได้นั่งรถผ่านเมืองเล็ก ๆ ในย่านรัฐอุตารปราเดส(Utara  Pradesh) ซึ่งไม่ไกลจาก Aligarh Muslim University  ที่ข้าพเจ้าได้เรียนหนังสืออยู่ในขณะนั้น  รถที่ข้าพเจ้าโดยสารมานั้นมุ่งหน้าไปยังอักรา(Agra) เมืองหลวงเดิมของอินเดียเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว รถได้วิ่งผ่านย่านชุมชนในช่วงฤดูหนาวของประเทศอินเดีย (ปลายพฤศจิกายน – ปลายกุมภาพันธ์ของทุกปี)

หมอกแห่งความหนาวไล่พวกเราไปอย่างเฉื่อยชา ไม่นานล้อรถเบียดถนนลูกรังผ่านสถานที่ก่อสร้างซึ่งแรงงานเรือน ๕๐ คนกำลังยกเสาไฟที่เพิ่งนำมาวางใหม่ในหมู่บ้าน บางส่วนของพนักงานขุดหลุมเพื่อฝังเสาไฟดังกล่าว เมื่อหลุมได้ขุดเรียบร้อยแล้ว ผู้คนเกือบ ๕๐ คนยกเสาไฟลงในหลุดดังกล่าวแล้วค้ำยันให้ตั้งยืนตรงขึ้น และต่างคนก็รีบกลบหลุมเพื่อไม่ให้เสาไฟล้มและหลุดออกจากเบ้าที่ขุด

ไม่นาน เสาไฟท่อนใหญ่ราวห้าเมตรที่อัดด้วยปูนแน่น น้ำหนักค่อนข้างมากด้วยการหล่อด้วยปูนซีเมนต์อย่างดี สมาชิกในรถที่ข้าพเจ้าโดยสารไปซึ่งเป็นคนไทยล้วน ๆ ประมาณ ๘ ชีวิตได้เอ่ยปากพูดอย่างสนุกว่า

 “คนที่นี่เขาไม่ได้ใช้หัวทำงานน่ะ เขาดีแต่ใช้กำลัง”

เหมือนภาพก่อนหน้าที่ได้เห็นมา นั่นก็คือ “การขุดลอกคูคลองในพื้นที่ชุมชน”  ที่ผู้คนมากกว่า ๑๐๐ ชีวิตยืนถือจอบและแรงงานเกือบทั้งหมดนุ่งกางเกงขาสั้น หัวถูกปิดคลุมด้วยผ้าผืนเล็ก ๆ เหงื่อไคลไหลทะลักเสื้อกล้ามสีขาวโทรมกาย เสียงเพลงฮัมไปเรื่อย ๆ ผ่านทำนองแบบอินเดีย ระยะทางในการขุดลอกคูคลองมากกว่า ๓ กิโลเมตร รอบข้างคนเหล่านั้น แบคโฮจอดอยู่อย่างเงียบเหงา

อีกคนหนึ่งเสริมขึ้นมาว่า “รถแบกโฮก็มีทำไมไม่ใช้ ฉลาดจริง ๆ”  เสียงหัวเราะดังขึ้นอย่างสนุกสนานพร้อมผิวปากอย่างเผ็ดมันราวกับดูถูกเหยียดหยามแรงอินเดีย  กระทั่งมีคนหนึ่งได้เอ๋ยปากบอกว่า

“อินเดียมีทุกอย่างพร้อม แต่คนที่นี่เลือกที่จะใช้แรงงานคนมาเป็นอันดับหนึ่ง ไม่มีสาเหตุอื่นนอกจาก”

ชายอีกคนเริ่มเงียบและฟังคำอธิบายของชายคนก่อนหน้านี้

“แรงงานล้นโลก จนประเทศต้องหาทางเพื่อกระจายรายได้ให้แรงงานเหล่านี้อย่างทั่วถึง แบกโฮอาจง่ายในการจัดการสิ่งเหล่านี้ แต่แบคโฮก็ไม่สามารถตอบโจทย์  (ความหิวโหย) ของผู้คนได้

 กระทั่งทางออกที่พอจะช่วยเหลือคนทุกคนก็คือ “ให้งานและกระจายเงิน” อย่างทั่วถึง แม้มันจะตลก แต่มันคือ ส่วนแบ่งให้ตลาดแรงงานล้นโลกอย่างพลเมืองของอินเดีย”

คำตอบอย่างนี้ ทำเอาทุกคนอึ้งและเกิดสำนึกไปตาม ๆ กัน ไม่ต่างจาก ระบบการจัดการในมหาวิทยาลัย ใหญ่ ๆ ของอินเดีย โดยเฉพาะ Aligarh Muslim University ได้พยายามรื้อโครงสร้างเดิมผ่านระบบการรับสมัครนักศึกษาใหม่ การตรวจและจัดเก็บเอกสาร หลายคนที่เข้ามาบริหารและจัดการ พยายามพูดคุยกันถึงเรื่องการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาปรับกิจการบริหารของมหาวิทยาลัย

ด้วยการทำลายระบบเดิมที่มักจัดเก็บเป็นแฟ้มเอกสารและการเขียนด้วยลายมืออย่างเดียวเป็นหลัก ห้องจัดเก็บเอกสาร หากนับตั้งแต่ปีก่อตั้งมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี ๑๘๗๒ ก็ประมาณ ๑๓๐ กว่าปีมาแล้ว เอกสารทั้งหมดยังอยู่และรอวันบางคนกลับมารื้อ ห้องเก็บเอกสารเป็นอาคารที่ใหญ่มาก ข้อมูลทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น  Admission section, Controller Examination, Library , Student Hall , Faculty ทั้งหมดได้เก็บเอกสารและบรรจุสิ่งเหล่านั้นไว้เป็นอย่างดี

หลายคนพยายามหาทางออกด้วยการทำลายเอกสารดังกล่าวและปรับเป็นการใช้คอมพิวเตอร์แทนในการทำงานของสำนักงานต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย โดยไม่ต้องเน้นการส่งเอกสารแบบแนบกล่องท้ายรถจักรยานเหมือนเดิม แทนที่ด้วยการอาศัยระบบอินเตอร์เน็ตและระบบการจัดเก็บไฟล์แบบคอมพิวเตอร์

แต่เมื่อคิดที่จะปรับระบบแบบนี้ ไม่ใช่เป็นปัญหาสำหรับประเทศที่ก้าวหน้าในเรื่องของระบบซอร์ฟแวร์และระบบคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยอย่างอินเดีย แต่สิ่งหนึ่งที่ยังหาคำตอบไม่ได้คือ “เมื่อระบบดังกล่าวย่างกรายเข้ามา แรงงานไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ คน ต้องตกงานทันที และคนเหล่านี้จะไปอยู่ส่วนไหนของโลกที่ล้นไปด้วยตลาดแรงงาน”

ยังไม่รวมถึงระบบสวัสดิการต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยต้องหักลบ จากระบบเดิม ห้องสมุดที่ต้องลดพนักงาน ทั้งหมดเหล่านี้ คำถามเพียงข้อเดียว หากหาทางออกได้ระบบก็จะเปลี่ยนทันที นั่นก็คือ “ที่ไหนคือที่รองรับแรงงานเหล่านี้”

ขนบแบบอินเดียจึงกลายเป็นการสร้างแนวคิดแบบใหม่ใน “การให้พื้นที่และโอกาส” กับทุกคน ผู้ใช้วัตถุก็อยู่ภายใต้จิตสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์ เมื่อสิ่งเหล่านี้ถูกบรรจุลงในขนบชุมชน การดูแลกันและให้เกียรติกันจึงกลายเป็น “สำนึกสาธารณะ” ไปในที่สุด

จึงไม่แปลกใน Rajmohan Gandhi นักวิชาการจากสำนักศูนย์นโยบายศึกษาแห่งกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจในหนังสือ The Revenge And Reconciliation Understanding South Asian History ว่า

 “(อย่างหนึ่งที่เราได้เรียนรู้) ความขัดแย้ง ไม่ได้เกิดขึ้นจากการลบความแตกต่างหรือความขัดแย้งออกไป แต่เกิดจากการพยายามอยู่กับความต่าง ภาษา ชาติพันธุ์ ศาสนา ผลประโยชน์และจัดการกับเงื่อนไขนี้อย่างใจกว้าง" 



[1] M.A. Political science,  Aligarh Muslim University,India,2008-2010

[2] Dhammapada,pp.3-5, p.201  อ้างใน Ainslie  Embree (Ed.) Sources of Indian Tradition, New York ; Columbia,1988,1;120