เรื่องชายแดนใต้ มุมมองจากคนอุบล
ท่ามกลางความขัดแย้ง ความอ่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ปาตานี/ชายแดนใต้ และอาจรวมหมายถึงสถานการณ์ทางการเมืองในสังคมไทยด้วยนั้น “สื่อ” มีความสำคัญในการเชื่อมโยงข้อมูล ข่าวสาร มายังพลเมืองในสังคม อย่างมีนัยยะ แม้นจะไม่สามารถรับรู้ได้ว่าพลเมืองส่วนใหญ่คิดเห็นอย่างไรต่อการนำเสนอข่าวสารนั้น แต่สิ่งที่การันตีได้คือ ข้อมูลข่าวสาร ย่อมมีผล อิทธิพลต่อความคิด และทัศนคติของผู้รับสารที่อาจจะทำให้เกิดปฏิบัติการบางอย่างทั้งที่สร้างสรรค์ หรือขยายความขัดแย้งความเกลียดชังต่อกัน ด้วยวิธีการต่างๆ แล้วแต่จะสรรหาปฎิบัติการได้ ดังนั้นการได้รับรู้มุมมอง ความคิดเห็นของผู้ติดตามข่าวสาร จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้มองเห็นแนวโน้ม แง่มุมวิเคราะห์ สถานการณ์ข้างหน้า เพื่อการรับมืออย่างรู้เท่าทัน
ปาตานี ฟอรั่ม ภายใต้กิจกรรมเสวนา หยั่งเสียงพลเมือง สื่อ-สาร(น) สันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้ ณ อิสาน จ.อุบลราชธานี ภายใต้ความร่วมมือกับมูลนิธิสื่อสร้างสุข เป็นหนึ่งกิจกรรมที่ต้องการสำรวจความเห็นของคนนอกพื้นที่ต่อสถานการณ์ปาตานี/ชายแดนใต้ ที่มาจากการนำเสนอของสื่อ โดยได้รับความสนใจจากชาวอุบลราชธานี จำนวนมาก ทั้งนี้ทราบภายหลังว่า คนที่มาส่วนหนึ่งได้ยินการประชาสัมพันธ์ทางวิทยุ และมีการบอก ชวนต่อๆกันมา
เสียงจากการแลกเปลี่ยนในเวทีฟอรั่มครั้งนี้ มี ดอน ปาทาน ผู้อำนวยการฝ่ายการต่างประเทศปาตานี ฟอรั่มและผู้สื่อข่าวอาวุโส อาจารย์เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานีในฐานะผู้อำนวยการปาตานีฟอรั่ม ได้นำเสนอภาพรวมของสถานการณ์ในพื้นที่ ก่อนที่คุณสุชัย เจริญมุขยนันท เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข จะชี้ให้เห็นความสำคัญของสื่อต่อการสร้างความเข้าใจของคนในสังคมไทย
เสียงในวงเสวนา ฟอรั่ม วิเคราะห์กันว่า สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ เป็นปัญหาที่มีความยืดเยื้อมา 10 ปี มีต้นเหตุมาจากหลายประการแต่ประเด็นหลักคือ เรื่องของความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยที่มีความพยายามสร้างความเป็นรัฐชาติให้กลมกลืนทุกพื้นที่ โดยการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพพอเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ขณะที่คู่ขัดแย้ง ซึ่งเป็นกลุ่มขบวนการติดอาวุธมลายูปาตานี เท่าที่สาธารณะชนรับรู้ เป็นกลุ่มที่ต้องการอำนาจในการจัดการตนเอง ซึ่งผู้เข้าร่วมวิเคราะห์กันต่อว่า ทางออก คือ การให้พื้นที่ให้ศักดิ์ศรี ให้อัตลักษณ์ความเป็นมลายูปาตานีเป็นที่ยอมรับในระดับสาธารณะ
ขณะที่ผ่านมาการทำหน้าที่ของสื่อ คนอุบลฯ รับรู้เพียงแค่เหตุการณ์ความรุนแรง ความสนใจมีอยู่เพียงมิติเดียว ทั้งนี้สืบเนื่องจากลูกหลานคนอิสานจำนวนไม่น้อยที่ไปเป็นทหาร และทำงานในพื้นที่ คนอิสานจึงสนใจว่าเหตุการณ์ความรุนแรงรายวัน จะมีลูกหลานได้รับผลกระทบหรือไม่ ทำให้คนอิสานส่วนใหญ่จึงมองว่าสถานการณ์ในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ เป็นเหมือนสถานการณ์สงคราม ทำลายแง่มุมอื่นๆในพื้นที่
วงเสวนาคุยกันอีกว่า ที่ผ่านมาสื่อกระแสหลักเน้นการขายข่าว ซึ่งข่าวที่ขายดี คือ ข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความตาย การสูญเสีย โดยระบุว่า “สิ่งที่ต้องเข้าใจ คือ การสะท้อนของสื่อ เมื่อสื่อเป็นอย่างไร ประชาชนก็จะเป็นอย่างนั้น ขณะเดียวกันในมุมของสื่อเชิงธุรกิจมองว่า ผู้รับสารส่วนใหญ่ชอบอะไร สื่อก็จะต้องขายสิ่งนั้น”
ทำให้พบปัญหาการเสนอเนื้อหาข่าวสารที่ไม่รอบด้าน ดังนั้น การจะเป็นสื่อเพื่อสันติภาพ จะต้องปรับปรุงตัวเอง และดูแลประชาชนไปด้วย สื่อจะต้องทำงานเพิ่มมุมมองเรื่องสันติภาพ และจะต้องสะท้อนเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อ
นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่น ที่เพิ่มมาในวงฟอรั่ม คือ มีการเรียกร้องให้สื่อนำเสนอความจริงที่ลึก หลากหลาย รอบด้าน สะท้อนมิติอื่นที่เกิดจากความสูญเสีย รัฐควรหนุนเสริม สื่อทางเลือกในการร่วมพัฒนาประเทศ ขณะที่ระดับประชาชน สื่อ รัฐ เอนจีโอ ครอบครัว สถาบันการศึกษา ควรมีวิสัยทัศน์ ในการสร้างความร่วมมือ พัฒนาศักยภาพคนไทย ให้เป็นพลเมืองรับมือกับสื่อได้อย่างมีคุณภาพ
สิ่งที่พลเมืองจะเข้าใจต่อสถานการณ์ในพื้นที่ ผ่านสื่อกระแสหลักนั้นมีความแตกต่างจากสิ่งที่ไปสัมผัสด้วยตัวเอง มีชาวบ้านอิสานชี้ว่า หากไม่ได้ไปสัมผัส ไปฟังจากคนในพื้นที่ก็ไม่ได้แง่มุมใหม่ๆ เพราะสมัยหนึ่งชาวบ้านคนดังกล่าวเคยลงไปช่วยเรื่องภาคใต้ตอนน้ำท่วม ซึ่งชาวบ้านใน 3 จังหวัดเคยถามว่ามาจากไหน ภาครัฐหรือไม่ แต่พอบอกว่ามาจากภาคประชาชน ชาวบ้านก็เข้าหา มาร่วมมือกัน
“หากถามว่าสื่อควรนำเสนอข่าวในประเด็นอะไร หนึ่งในข้อเสนอนั้นคือ ควรนำเสนอความต้องการที่มาจากประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่นำเสนอจนคนเข้าใจว่าสิ่งที่รัฐทำนั้นเป็นความต้องการจากพื้นที่”
ประเด็นที่เคยรับรู้ ที่พอให้เห็นแง่มุมใหม่ๆ วงฟอรั่มอิสาน พบว่า ความต้องการของคนในพื้นที่จะเกี่ยวข้องกับนโยบายหนึ่งที่ใช้ในการหาเสียงตอนเลือกตั้งที่ผ่านมา คือ เรื่องเขตปกครองพิเศษ แต่นั่นเป็นเรื่องการคิดเองของพรรคการเมือง ไม่ใช่สิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการอย่างแท้จริง แต่สิ่งที่มีความต้องการ คือ เรื่องอัตรลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับ ความเท่าเทียมของพลเมืองในสังคมไทย และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในระยะกลางและระยะยาว อัตรลักษณ์ของมลายูได้รับมาปฎิบัติอย่างเป็นทางการในพื้นที่ สามจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี
ประเด็นที่สำคัญอีกประการจากการสะท้อนผ่านวงฟอรั่ม คือ สื่อควรทำให้สังคมไทยต้องเข้าใจโครงสร้างของขบวนการต่อสู้ในพื้นที่ แม้นจะไม่น่าเชื่อถือมากนัก แต่ก็จะทำให้คนนอกพื้นที่เห็นแง่มุมใหม่ๆ เพิ่มขึ้นได้ ควรมีชุดวิเคราะห์ที่ทำให้เห็นแง่มุมการแก้ปัญหาที่นำไปสู่ชัยชนะทั้งสองฝ่าย มีการประนีประนอม หรือ นำเสนอประเด็นที่เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่ามาจากฝ่ายขบวนการฯ หรือเป็นฝ่ายอื่น ไม่นำเสนอประเด็นวิเคราะห์แบบเดิมๆ บางคนในวงเสวนาก็เกริ่นขึ้นมาว่า ประเด็นเกี่ยวกับ 3 จชต.ไม่มีความน่าสนใจ
“ขณะนี้คนนอกเริ่มชินชากับสถานการณ์ ซึ่งถ้าสื่อไม่ปรับ คิดหาประเด็นใหม่ๆ ก็ควรงดการนำเสนอข่าว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สัก 1 ปี คนจะได้รู้สึกอยากรู้ กลับมาสนใจอีกครั้ง”
ประเด็นหนึ่งที่ปาตานี ฟอรั่มชวนผู้เข้าร่วมฟอรั่มแลกเปลี่ยน คือ ข้อเสนอในเรื่องความยุติธรรมในมิติการสื่อสาร ซึ่งผู้เข้าร่วมมองว่า การมองไปข้างหน้าเพื่อเป็นสื่อสันติภาพนั้น ต้องสร้างความยุติธรรมไม่ใช่แค่ในระบบศาล แต่ความยุติธรรมที่ให้เห็นว่าคนมลายูเท่ากันกับคนอื่นๆในประเทศ หรือการปรับปรุงการสื่อสารด้วยการไม่สื่อสารในสิ่งที่ทำสิ่งที่ผิดพลาดไปแล้วซ้ำอีก และปรับปรุงสิ่งที่ผิดพลาดนั้น
คนอิสานที่เคยไปอยู่ปัตตานี สะท้อน ว่าปัญหาภาคใต้มีมานาน แต่สืบเนื่องจากไม่มีตัวแทนที่จะพูดมานาน เพราะคนไม่กล้า คนมลายูถูกปิดปากด้วยกระบอกปืน เริ่มมามีเสียงบ้างก็ยุคหลังๆ แต่ก็ไม่กล้าสื่อสารอย่างเสรีต่อสังคม ซึ่งยังมีเรื่องอีกเยอะมาก สื่อควรให้พื้นที่คนเหล่านี้
ยังมีแง่มุมมองมองอื่นๆที่ ถกเถียงแลกเปลี่ยนในวงฟอรั่มอิสาน ที่ชี้ให้เห็นความสนใจของคนนอกพื้นที่ ต่อประเด็น 3 จชต. อีกหลายความเห็น อาทิ
“สังคมไทยต้องเรียนรู้ เข้าใจความต้องการของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ความต้องการของตัวเราเอง หรือของรัฐบาลส่วนกลาง”
“คนอิสานมีความสนใจประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก เพราะลูกหลานที่ไปเป็นทหารในพื้นที่ ซึ่งข่าวสารที่ติดตามก็คือ ความสูญเสียที่เกิดกับลูกหลานตนเองขณะปฏิบัติงานในพื้นที่ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้ประชาชนเกลียดกัน ระแวงต่อกัน”
“ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง ควรนำหลักธรรมาภิบาลไปใช้กับชนกลุ่มน้อย ซึ่งคนสามจังหวัดก็เป็นคนกลุ่มน้อยในประเทศไทยเช่นเดียวกัน
“กฎกติกาที่นำไปใช้สามจังหวัดนั้น มีการยอมรับกฎกติกาหรือไม่ ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎกติกามากน้อยแค่ไหน”
“อยากให้สื่อการนำประเด็นเชิงบวก นำเสนอประเด็นความต้องการจากพื้นที่อย่างแท้จริง
“การแก้ปัญหา ควรมีการจัดการเรื่องละลายพฤติกรรม ละลายอคติ ซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีการเป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่”
“ภาครัฐ และคนสามจังหวัดหันมายอมรับเรื่องความหลากหลาย ภาษา อัตรลักษณ์ วัฒนธรรม ส่วนประเด็นประวัติศาสตร์ควรจะนำเสนอเพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้างความภาคภูมิใจ ไม่ใช่มองว่าเป็นประเด็นคุกคามความมั่นคง คนนอกพื้นที่ยังมองไม่เข้าใจสถานการณ์ อยากให้สื่อทำความเข้าใจเรื่องภาคใต้ต่อสาธารณชนให้มากกว่านี้”
“นักข่าวในพื้นที่ยังทำงานน้อยเกินไป ทำให้เกิดการสรุปข่าวเร็วเกินไป ซึ่งหลายเหตุการณ์ทำให้ข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนไป”
“ เรามีความเข้าใจพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้เราเข้าใจได้ว่าปัญหาในพื้นที่มีอะไรที่ซับซ้อนมาก จะทำความเข้าใจอะไรง่ายๆตามที่สื่อนำเสนอไม่ได้อีกต่อไป”
ทั้งหมด คือแง่มุมบางส่วนที่สำคัญ เพื่อชวนให้สื่อมวลชนได้ขบคิด เพื่อความเป็นสื่อสันติภาพ เป็นสื่อที่ได้รับความนิยม สอดรับกับความต้องการของผู้รับสารอย่างแท้จริง
ตอนท้ายของวงฟอรั่ม ทุกคนต่างก็เชื่อว่า ในอนาคตสื่อมวลชนทั้งสื่อกระแสหลัก และสื่อทางเลือก จะก้าวไปสู่การเป็นสื่อที่ตระหนักต่อการสร้างการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเป็นสื่อเพื่อสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้ ด้วยเช่นกัน