การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อทำลายเป้าหมายของประชาชน
สถานการณ์การเคลื่อนไหวฝ่ายประชาชนในช่วงก่อนและหลังการรัฐประหารทั้งสองครั้งที่ผ่านมา(ปี2549และปี2557) มีการหยิบยกเรื่องราวบางอย่างขึ้นมาวิจารณ์อย่างจริงจังและเข้มข้นมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานการเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคม ข้อถกเถียงการวิจารณ์ถึงหลักการเคลื่อนไหวบางประการของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาชน” ที่นำไปสู่การทำลายเป้าหมายการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาชนเอง
การมีโอกาสพบปะกัน ภายในขบวนการภาคประชาชนอันประกอบด้วยนักพัฒนาเอกชน คนทำงานประชาสังคม และพี่น้องชาวบ้านในประเด็นปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ในหลายวาระ ต่างกรรม ต่างเวลา ยิ่งตอกย้ำทำให้มองเห็นปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวบางประการที่เด่นชัด อันนำมาสู่การเรียกร้องตัวผู้เขียนให้มีการทบทวนอย่างลึกซึ้งและครุ่นคิด ถึงปรากฏการณ์ให้ละเอียดมากขึ้นเพื่อนำเสนอสู่การวิพากษ์ โดยคาดหวังมุมมองการสะท้อนและการแลกเปลี่ยนกลับมา ถ้าหากพลังความสนใจในการนำเสนอบทวิพาษณ์วิจารณ์มีมากพอ อาจนำพาก่อให้เกิดประเด็นการถกเถียงแลกเปลี่ยนไม่ว่าในเวทีสาธารณะหรือเวทีธรรมชาติภายในขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายประชาชน..อีกครั้ง
“การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อทำลายเป้าหมายของประชาชน” อาจเป็นประโยคที่พอจะสื่อสารเจตนาในการนำเสนอบทวิจารณ์นี้ โดยขอเริ่มจากปรากฏการณ์ที่ถูกสะท้อนออกมาเชิงสาธารณะหลายๆครั้งของขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายประชาชน และเมื่อปรากฏการณ์นี้ถูกฉายอีกครั้งบนหน้าfacebookของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)"
(https://www.facebook.com/NGOCODthailand?fref=ts )
“ทหารต้องแยกแยะให้ออกระหว่างการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนระหว่างการเดินทหารเรียกพบนำไปปรับทัศนคติ”
**กรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน (21/8/57)
จึงตัดสินใจหยิบยกการผลิตซ้ำวาทกรรมที่แยกการเมืองออกจากปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนนี้ขึ้นมา ด้วย กป.อพช. นั้นถือเป็นพื้นที่กลางขององค์กรพัฒนาเอกชนอันหลากหลายในประเทศไทย การแสดงทัศนคติทางการเมืองบนพื้นที่สาธารณะในนามกป.อพช.จึงมีน้ำหนักอยู่บ้าง ในการยกขึ้นมาสู่การวิจารณ์ แต่ในขณะเดียวกันชุดความคิดดังกล่าวนั้นมิได้จำกัดอยู่ในกลุ่มคนเพียงเท่านี้ มันยังคงแฝงตัวอยู่ในคนทำงานทางสังคมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือปฏิเสธบทบาทของกป.อพช.ด้วย บทวิจารณ์นี้จึงขอกล่าวถึงโดยรวมในนาม “คนทำงานทางสังคม”ด้วยสมมติฐานที่ย้อนกลับไปถึงชุดความคิดดังกล่าวนั้นจะนำไปสู่การทำลายเป้าหมายปลายทางในการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาชนเอง
หากลองมาทำความเข้าใจในการสื่อสารดังกล่าว เราสามารถพบความพยายามในการสื่อสารเพื่อบอกให้อำนาจรัฐและสาธารณะเห็นว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นมีความแตกต่างกับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน(ในกรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน)
คำถามที่ตามมาคือเราจะสามารถแยกแยะการเคลื่อนไหวทางการเมืองออกจากปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนได้อย่างไรในเมื่อปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเฉพาะกรณีปัญหาต่างๆในเครือข่ายของกป.อพช.มันนำไปสู่การเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ทางการเมืองทั้งสิ้น ไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อม
เมื่อทำการค้นหาความหมายของคำว่า“การเคลื่อนไหวทางการเมือง” ในความหมายโดยกว้างอยู่ในฐานะของคำอธิบายสากลทางด้านแวดวงวิชาการ นักเคลื่อนไหว เราจะได้คำตอบว่า “การเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมในด้านของการเมือง โดยมีการจัดภายใต้ประเด็นใดประเด็นหนึ่งหรือหลายประเด็นเพื่อรวมตัวกลุ่มคน โดยการเคลื่อนไหวทางการเมืองมีเป้าหมายในการผลักดันแนวคิดทางการเมืองให้กับประชาชนในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง”เมื่อนำคำตอบดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มขาหุ้นปฏิรูปพลังงานเราจะพบการจัดรูปภายใต้ประเด็นการปฏิรูปพลังงานเพื่อรวมตัวกลุ่มคนและมีเป้าหมายในการผลักดันแนวคิดการปฏิรูปพลังงานให้กับประชาชนในการดำเนินการเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจการจัดการทรัพยากรด้านพลังงานของสังคมไทยใหม่ มันเป็นความชัดเจนในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน
ถ้าเรามีโอกาสติดตามข่าวสารโดยทั่วไปบ้าง เราก็จะได้เห็นการเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองอันเนื่องมาจากปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ และหากทำการเทียบเคียงกับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในกรณีประเด็นปัญหาอื่นๆ ตัวอย่างเช่นประเด็นปัญหา ที่ดินในภาคเหนือ เหมืองแร่ในภาคอีสาน การจัดการน้ำในภาคกลาง แผนพัฒนาในภาคใต้ ความรุนแรงในชายแดนใต้ และในอีกหลายกรณียิ่งทำให้เราไม่สามารถแยกแยะการเคลื่อนไหวทางการเมืองออกจากปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนได้ การพยายามปฏิเสธการเคลื่อนไหวทางการเมืองออกจากปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จึงเป็นความย้อนแย้งที่ดำรงอยู่ในชุดความคิดของคนทำงานทางสังคม
ปัญหาที่ตามมาจากการปฏิเสธในเรื่องดังกล่าวของคนทำงานทางสังคมคือ การต่อยอดมายาคติความเลวร้ายในการเมืองแบบเหมารวมและได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญนำไปสู่การทำลายเป้าหมายปลายทางการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาชน
“เมื่อต่างพากันบ่มเพาะปีศาจการเมืองที่น่ากลัวมากมายในอาณาจักรของปีศาจ ขึ้นมาหลอกหลอนตนเองและผู้คนรอบข้างในการทำงาน จนเวลานั้นมาถึงการรุกโรมโจมตีได้เริ่มขึ้น ความหนักหน่วงเร่งเร้าเพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่ความขลาดกลัวของเรากลับสร้างให้เหล่าปีศาจมันแข็งแกร่งเกินไป เราต้องการผู้นำที่มีอำนาจมากกว่าเพื่อกำจัดพวกมัน ไม่สิ..เราต้องทำลายอาณาจักรทั้งหมดของพวกมันด้วยต่างหาก มันสายเกินไปเสียแล้ว เราทุกคนได้มาอยู่ร่วมกันภายใต้อาณาจักรใหม่ อาณาจักรที่ไม่ใช่ของทุกคนแต่มันเป็นอาณาจักรของปีศาจตนใหม่เท่านั้นเอง”
บทพรรณนาถึงเรื่องราวการรัฐประหารที่ผ่านมา ภาพของคนทำงานทางสังคมที่กระโจนเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมือง ด้วยความหวังในการสร้างพื้นที่ทางการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในประเด็นต่างๆที่ถูกละเลยไปจากสังคม ภาพของการโจมตีนักการเมือง พรรคการเมือง และระบบการเมือง ที่เข้มข้นขึ้นตามทิศทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม จึงมิใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อถึง ณ จุดหนึ่ง ที่คนทำงานทางสังคมเหล่านี้จะมีความสามารถพิเศษในการแยกแยะการเคลื่อนไหวทางการเมืองออกจากปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ เพราะคำว่า “การเมือง” มันเลวร้ายเกินกว่าที่พวกเขาจะยอมรับมันชัยชนะของประชาชนผู้มีปัญหาความเดือดร้อนคือการทำลายระบบการเมืองที่เลวร้ายนั้นทิ้งไป
ภาพของการปูทางอย่างมีขั้นตอนต้อนรับอำนาจนอกระบบ ให้ก้าวมาทำหน้าที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงตามเป้าหมายของกลุ่มผู้ชุมนุม ถูกตอบรับด้วยความนิ่งเงียบปราศจากการต่อต้านใดๆจากคนทำงานทางสังคมเหล่านั้นและแล้วพื้นที่แห่งการใช้อำนาจอันชอบธรรมของเราก็ถูกปล้นเอาไปอีกครั้ง ด้วยการรัฐประหาร
ในความเป็นจริง เราทุกคนต่างอยู่ในอาณาจักรอันแท้จริงที่คนทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของและมอบอำนาจสร้างพื้นที่ร่วมกันทางการเมืองของทุกคนขึ้นมา เจ้าปีศาจร้ายทั้งหลายมันก็เป็นเจ้าของอำนาจร่วมกันกับเรา ต่างมีสิทธิเหมือนเราทุกคน แต่เราเองที่ไม่เชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงอาณาจักรของเราด้วยอำนาจของเรา หากกลับมีความหวังและเรียกร้องจากปีศาจตนใหม่ที่มีอำนาจเหนือกว่ามาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างพื้นที่ทางการเมืองในอาณาจักรขึ้นมาใหม่ที่ไม่ใช่ของเรา
การแยกการเคลื่อนไหวทางการเมืองออกจากปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิเสธอำนาจประชาชนบนพื้นที่ทางการเมืองในระบอบรัฐสภาที่คนทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจแม้นความเลวร้ายของการเมืองในระบอบรัฐสภาจะมากมายเพียงใด สภาแห่งรัฐนี้ก็ยังคงเป็นพื้นที่ของการใช้อำนาจและรักษาผลประโยชน์ผ่านตัวแทนของประชาชนทุกคนในสังคม การรักษาพื้นที่ทางการเมืองนี้ไว้คือการปกป้องพื้นที่เป้าหมายของการเคลื่อนไหวในปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทุกคน
วันนี้คนทำงานทางสังคมเหล่านั้นได้ทำลายเป้าหมายปลายทางในการเคลื่อนไหวของประชาชน โดยการมอบอำนาจด้วยความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มคนชนชั้นนำในสังคมเข้ามาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากนี้ไปการเมืองจะเป็นเรื่องของคนไม่กี่คน และคนไม่กี่คนจะเป็นผู้กำหนดอนาคตของเราทุกคน โปรดอย่าแสดงความโง่เขลาว่าเรามีสภาปฏิรูปเลย เพราะเราทุกคนต่างทราบดีว่าเรามีสิทธิอย่างเต็มที่ภายใต้อำนาจคณะรัฐประหาร
นับจากนี้ หมุดหมายสำคัญของการเมืองไทยอยู่ที่เราทุกคนในสังคมจะเป็นผู้กำหนด หากคนทำงานทางสังคมทุกคนยังเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงสังคมโดย "สามัญชน" บนหลักการ “ประชาชนต้องกำหนดอนาคตของตนเอง” เราจะสามารถนำเสนอการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าได้เสมอเมื่อพื้นที่ทางการเมืองนั้นยังคงเป็นของเราทุกคน
“พอกันที การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อทำลายเป้าหมายของประชาชน”