องค์กรมุสลิม กับการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชอินโดนีเซียช่วงต้นศตวรรษที่ 20

องค์กรมุสลิม กับการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชอินโดนีเซียช่วงต้นศตวรรษที่ 20 

อัฎฮา โต๊ะสาน

 

สำหรับบทความนี้จะเล่าเรื่องราวนำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เรียกร้องเอกราชในอินโดนีเซีย ซึ่งจะเลือกศึกษาโดยเน้นกลุ่มองค์กรมุสลิมที่ความประสงค์ให้อินโดนีเซียเป็นรัฐปกครองด้วยหลักการของศาสนาอิสลามเป็นสำคัญ

อินโดนีเซีย 1 ในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนของเรา เป็นประเทศที่มีความสำคัญ และประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ รวมถึงเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากเป็นที่สุด โดยประมาณแล้วมีประชากรมุสลิมร้อยละ 80 จากประชากร 200 กว่าล้านคน สภาพทางภูมิศาสตร์เป็นหมู่เกาะน้อยใหญ่จำนวนมากมาย ตั้งอยู่ระหว่างคาบสมุทรอินโดจีนและทวีปออสเตรเลีย และระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก ประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย ผู้เขียนจะขอเล่าพอซักเล็กน้อย เกี่ยวกับภูมิหลังของประเทศนี้

อินโดนีเซียอยู่ภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งในช่วงเวลาภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์ อินโดนีเซียถูกเรียกว่า ดัตช์ อีส อินดีส์ หรือ อินเดียตะวันออกของดัตช์ ซึ่งอินโดนีเซียเป็นอาณานิคมที่ถูกปกครองโดยตรงอยู่กว่า 300 ปี

โดยในหมู่เกาะต่างๆ เหล่านี้ ในช่วงเวลาแรกเนเธอร์แลนด์ ได้เข้ามาปกครองโดยมีลักษณะการปกครองด้วยวิธีการที่ไม่เข้มงวด มีความต้องการเพียงแค่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเนเธอร์แลนด์ได้เข้ามาจัดการเรื่องเศรษฐกิจโดยผ่านการทำการค้าที่มีบริษัทอินเดียตะวันออก แต่ด้วยความล้มเหลวในการดำเนินกิจการของบริษัทอินเดียตะวันออก เนเธอร์แลนด์ต้องเข้ามาควบคุมอินโดนีเซียโดยตรง ซึ่งทางรัฐบาลเข้ามาควบคุมในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 หมู่เกาะอินโดนีเซียได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์โดยตรงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในช่วงเวลาภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์ ชนพื้นเมืองเดิมได้สูญเสียสิทธิในหลายๆ อย่าง ทั้งอำนาจการปกครอง และอำนาจในการประกอบธุรกิจ โดยในการประกอบธุรกิจนั้น กลุ่มที่ได้ประโยชน์อย่างมหาศาลกลับไม่ใช่กลุ่มคนพื้นเมือง แต่เป็นชาวตะวันตก คือ เนเธอร์แลนด์ และผู้ประกอบการชาวจีนชนชาวพื้นเมืองจึงเริ่มที่จะมีการเคลื่อนไหวเพื่อการเรียกร้องการปกครองตัวเอง

ชาวพื้นเมืองจึงมีการรวมตัวกันเพื่อก่อตั้ง ซาเรกัต อิสลาม หรือ สมาคมอิสลาม ก่อตั้งขึ้นในปี ค..1909 แต่ในภายหลังการเคลื่อนไหวมีท่าทีที่รุนแรงขึ้น จึงถูกยุบไปในปี ค..1912 ด้วยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ซาเรกัต ดากัง อิสลามต้องถูกยุบลงคือ จากการร่วมมือกันของพ่อค้าชาวพื้นเมือง ในการประกาศคว่ำบาตรสินค้าของต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าของชาวจีน ที่ได้ทำการค้าขายดี จนได้รับความมั่งคั่งมากกว่าชาวพื้นเมือง และได้รับการสนับสนุนที่เหนือกว่าจากเจ้าอาณานิคม

แต่อย่างไรก็ดี ในการถูกยุบนั้นไม่ได้สร้างความอ่อนแอ หรือท่าทีที่จะยุติบทบาทในเรื่องของการพิทักษ์สิทธิ์ของชาวพื้นเมือง อดีตสมาชิกการรวมตัวกัน ซาเรกัต ดากัง อิสลาม และจัดตั้งสมาคมขึ้นมาอีกครั้งก็เกิดอีกภายในเดือนกันยายน ปีเดียวกัน โดยมีนายอูมาร์ ซาอิด โจโกรอามิโนโต (Omar Said Tjokroaminoto ) เป็นหัวหน้า และได้นำซาเรกัต อิสลามเข้ามาเคลื่อนไหวทางด้านการเมืองอย่างเต็มตัว

ในการดำเนินกิจการขององค์กรนี้ ได้มีการนำศาสนาอิสลามเข้ามาเพื่อเป็นการรวมผู้คนเข้าไว้ด้วยกันเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ซาเรกัต อิสลามเป็นองค์กรที่ดำเนินงานทั้งทางด้านการเมืองและอิสลามไปพร้อมกัน สมาคมนี้ยังได้รับความนิยม และการสนับสนุนเป็นอย่างดีของชาวพื้น เมืองอย่างกว้างขวาง ทำให้องค์กรนี้สามารถขยายเครือข่ายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ในหมู่เกาะอินโดนีเซียอย่างรวดเร็ว

การเคลื่อนไหวในการรียกร้องเอกราชของ ซาเกรัต อิสลามเริ่มชัดเจนขึ้น ในช่วงเวลาระหว่างปี ค.. 1916-19 อาจเป็นเพราะการผ่อนปรนของเนเธอร์แลนด์ และภายในองค์กรได้ปรับเปลี่ยนนโยบายขึ้นมาใหม่ โดยสาระสำคัญก็คือ ต้องการให้ชาวพื้นเมืองมีสิทธิในการปกครองมากขึ้น เพื่อรองรับการประกาศเอกราชในเวลาต่อมา ทางสมาคมขอคัดค้านระบอบทุนนิยม และศาสนาต้องเป็นที่ศรัทธา และเป็นที่พัฒนาศีลธรรมของประชาชน และห้ามเจ้าอาณานิคมเข้ามาก้าวก่ายในกิจการของศาสนาอิสลาม

ด้วยความเป็นสมาคมที่มีความใหญ่โตพอควร จึงไร้ซึ่งประสิทธิภาพในการประสานงาน และมีความหละหลวม และรวบรวมผู้คนหลากหลายอุดมการณ์เข้าไว้ด้วยกัน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกันในภายหลัง และทำให้ในเวลาต่อมา กลุ่มผู้มีอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ได้ประกาศแยกตัวออกมาในเดือนพฤษภาคม ค.. 1920 โดยไปตั้งพรรคการเมือง คือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดนีเซีย (Patai Kommunis Indonesia-PKI) โดยมีซามาอูน (Semaun) เป็นหัวหน้า

แต่อย่างไรก็ตามการถอนตัวของกลุ่มแนวคิดสังคมนิยมได้ส่งผลต่อสมาคมไม่มากเท่าใดนักในซาเรกัต อิสลามได้ก้าวมาดำเนินการทางด้านการเมืองอย่างเต็มตัว ในปี ค..1923 มีการแปรสภาพมาเป็นพรรคการเมือง และต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น พรรคซาเรกัต อิสลามอินโดนีเซีย ในปี ค.. 1926 แต่ในการแปรสภาพมาเป็นพรรคการเมืองในครั้งนี้ก็ทำให้ทางสมาคมเกิดมีปัญหาภายในกับกลุ่มมุสลิม บางกลุ่มที่ปฏิเสธการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง และหลังจากนั้น ซาเรกัต อิสลามก็เกิดการแตกแยกอย่างหนัก ทั้งในกลุ่มของนักชาตินิยม และกลุ่มมุสลิม ทำให้ซาเรกัต อิสลามค่อย ๆ หมดบทบาทลงไป

ในช่วงเดียวกันนั้นเองได้มีองค์กรอิสลาม อีกหนึ่งองค์กรที่ในเวลาต่อมาได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองสูงมาก องค์กรที่ว่านั่นก็คือ นะฎอตุล อุลามาอ์ (Nahdlatul Ulama) ก่อตั้งขึ้นในปี ค..1926 โดยในระยะแรกนั้น พวกเขาต้องการตั้งองค์กรเพื่อเป็นคู่แข่งกันทางด้านศาสนาของกลุ่มมูฮัมมาดียะฮ์ กลุ่มที่ต้องการปฏิรูปทางศาสนาในชวา ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักการที่แท้จริงของศาสนาที่มาจากตะวันออกกลาง แต่ทาง นะฎอตุล อุลามาอ์เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมปฏิบัติทางศาสนาอิสลามในชวาให้ดำรงอยู่ต่อไป และองค์กรนี้ได้ปฏิบัติตามหลักศาสนาของสำนักคิดแบบชาฟีอี

นะฎอตุล อุลามาอฺ ก่อตั้งขึ้นในปี 1926 โดยมี ฮาซิม อัล อัชอารี (Hasim Al Ashari)เป็นหัวหน้าคนแรก ภายในองค์กรนี้ พร้อมกับมีผู้ร่วมก่อตั้งที่สำคัญอีกหลายท่านเช่น อับดุล วะฮาบ ฮัสบุลลอฮ์ (K.H. Abdul Wahab Hasbullah) กยาอี ฮัจญี บิซริ แซนซูริ (K.H.Bisri Syansuri) และ กยาอี ฮัจญี ริดฮ์วัน (K.H. Ridhwan) ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า องค์กรนี้รูปแบบของการเคลื่อนไหวโดยรวมแล้วจะอยู่ในการศึกษา และเผยแพร่อิสลามเป็นส่วนใหญ่

อุดมการณ์ชาตินิยม และการปลดแอกชาติตัวเองออกจากการยึดครองของอาณานิคมเริ่มมีความเข้มข้นในช่วงทศวรรษที่ 1920-30 และอุดมการณ์ชาตินิยมในอินโดนีเซียก็เช่นเดียวกันในปี 1927 ซูการ์โนศิษย์คนสำคัญของ อูมาร์ ซาอิด โจโกรอามิโนโต หัวหน้าซาเรกัต อิสลาม ได้ก่อตั้งขบวนการชาตินิยมขึ้นมาใหม่ โดยใช้ชื่อว่า พรรคชาตินิยมอินโดนีเซีย เป็นพรรคการเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกสูงมาก เพราะกลุ่มนี้ต้องการตั้งรัฐอินโดนีเซียให้เป็นไปตามรูปแบบของชาตินิยมแบบเขตแดนโดยการรวมคนหลากหลายชาติพันธ์เข้าไว้ในพื้นที่เดียวกัน มีเอกสิทธิ์เท่าเทียมกันและเป็นรัฐแบบเซคคิวลาร์ สำหรับการดำเนินงานของพรรคชาตินิยมประสบความสำเร็จในการรวมเอาผู้คนหลายชาติพันธุ์ และศาสนา เข้าไว้ด้วยกัน

ทางด้าน นะฎอตุล อุลามาอฺได้มีการผลัดเปลี่ยนผู้นำคนใหม่ มาเป็น วาฮิด ฮาซิม (Wahid Hasim) บุตรชายของ ฮาซิม อัล อัชอารี หัวหน้าคนแรก ในช่วงทศวรรษที่ 1930 และในการผลัดเปลี่ยนผู้นำนี้ได้เป็นส่วนสำคัญในการนำ นะฎอตุล อุลามาอฺ เข้าสู่เส้นทางในการเมืองครั้งแรกของกลุ่ม

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนเธอร์แลนด์ได้ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น จากการที่ญี่ปุ่นได้โจมตี กองเรือรบอเมริกาที่อ่าวเพิร์ล เดือนธันวาคม ค.. 1941 และต่อมาญี่ปุ่นได้ยกทัพมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเข้ายึดพื้นที่ต่าง ๆ จากนั้นในวันที่ 8 มีนาคม 1942 ญี่ปุ่นสามารถยึดเกาะชวาจากเนเธอร์แลนด์ได้เป็นผลสำเร็จ ความหวังในการได้รับเอกราชของชาวอินโดนีเซียเริ่มมีความเป็นไปได้สูงยิ่งขึ้น ญี่ปุ่นได้เข้ามาส่งเสริมกลุ่มชาตินิยมในอินโดนีเซีย และสำหรับกิจการของกลุ่มมุสลิม ญี่ปุ่นได้ก่อตั้งองค์กรมุสลิมชื่อว่า มัสยูมิ (Masyumi) ขึ้นในเดือนตุลาคมปี 1943 โดยทางญี่ปุ่นหวังว่าจะให้กลุ่มนี้ต่อต้านอำนาจตะวันตก

มัสยูมิ เป็นคำย่อมาจาก ภาษาอินโดนีเซีย คือ มัจจาลิส ชูรอ มุสลีมีน อินโดนีเซีย (Partai Majelis Syuro Muslimin Indonesia) มีความหมายว่า สภาที่ปรึกษามุสลิมแห่งอินโดนีเซีย องค์กรนี้เป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่น ให้เป็นองค์กรที่ดูแลเกี่ยวกับกิจการทางด้านอิสลามในขณะนั้น อย่างเช่น การเดินทางไปทำฮัจย์ การควบคุมดูแลองค์กรศาสนาองค์กรเล็ก ๆ เป็นต้น และมีการรวมเอาองค์กรอิสลามเข้าใว้ด้วยกัน เช่นนะฮฺฎาตุล อุลามาอ์ มูฮัมมาดียะฮ์ เป็นต้น

ภายในเดือนมีนาคม ปี 1945 ญี่ปุ่นได้ริเริ่มให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อเตรียมการสำหรับการเป็นเอกราชของอินโดนีเซีย (Balan Penyelidik Usaha Persiapan Kemerdekaan Indonesia) โดยมีผู้แทนจากขบวนการเรียกร้องเอกราชทุกองค์กร อย่างเช่น ซูการ์โน วาฮิด ฮัสซิม และราจิมัน เวดิโอดินนิงรัต เป็นประธาน โดยคณะกรรมการชุดนี้ได้มีการหารือเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองประเทศ ว่าจะให้อินโดนีเซียเป็นรัฐแบบใด แต่ความพยายามของกลุ่มมุสลิมที่มีการเสนอให้ อินโดนีเซียใช้กฎหมายของอิสลามเป็นกฎหมายพื้นฐานของประเทศ แต่ก็ถูกคัดค้านโดยซูการ์โน โดยใช้เหตุผลว่า ประเทศอินโดนีเซียมีความเหมาะสมกว่าที่จะใช้หลักของชาตินิยมให้เป็นทางสายกลางเพื่อจะต้องการลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น ญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนซูการ์โนเป็นผู้นำในการประกาศอิสรภาพจากเนเธอร์แลนด์

แต่อย่างไรก็ตามผู้แทนมุสลิม ได้มีความพยายามที่จะให้อินโดนีเซีย ให้เป็นรัฐอิสลามจากเหตุผลที่ว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ และในอิสลามก็มีระบอบการเมือง ดังนั้นก็ไม่จำเป็นอะไรที่จะใช้ระบอบการเมืองแบบตะวันตก อีกทั้งระบอบการเมืองแบบอิสลามเป็นสิ่งที่พระเจ้าได้ให้ใว้ ดังนั้นมุสลิมก็ควรที่จะนำไปปฏิบัติตาม แต่อย่างไรก็ตามซูการ์โน ได้การกล่าวต่อ คณะกรรมการตรวจสอบเพื่อเตรียมการสำหรับการเป็นเอกราชของอินโดนีเซีย ในวันที่ 1 มิถุนายน 1945 ว่าภายในอินโดนีเซียที่เป็นประเทศที่มีความเป็นพหุนิยม มีความแตกต่างหลากหลายและแตกต่างทางวัฒนธรรม และมุสลิมส่วนใหญ่ของประเทศก็เป็นมุสลิมแบบอาบังงัน ถ้าจะนำเอาประเทศอินโดนีเซียให้เป็นรัฐอิสลามปัญหาหลายอย่างคงตามมา พร้อมกันนั้นยังได้เสนอหลักการปัญจศีลา (Panjasila) มาเป็นปรัชญาพื้นฐานในการปกครองประเทศ และเพื่อลดปัญหาในด้านความหลากหลายที่จะตามมา

แม้ท้ายที่สุดแล้ว เป้าหมายสูงสุดขององค์กรมุสลิมเหล่านี้ไม่บรรลุผล ในความต้องการที่จะให้อินโดนีเซียเป็นรัฐอิสลาม อย่างไรก็ตาม ความพยายามของพวกเขาไม่ได้ยุติลงหลังจากที่ได้รับเอกราช กลุ่มองค์กรเหล่านี้มีพัฒนาการในด้านต่างๆ ทั้งอยู่ในรูปแบบของพรรคการเมือง, องค์กรสาธารณกุศล และมีประวัติศาสตร์ร่วมกันของอินโดนีเซีย แม้บางช่วง บางเวลา อาจถูกจำกัดบทบาท หรือบางช่วงได้รับสิทธิเสรีในการเคลื่อนไหว ซึ่งปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่า องค์มุสลิมเป็น กลุ่มสำคัญที่มีบทบาทในการพัฒนาประเทศอินโดนีเซียกระทั่งปัจจุบัน