วิถีชุมชน สายใย ความหวัง ในชุมชนชายแดนใต้
สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ปลายด้ามขวานของไทยปะทุถี่ยิบ ณ ห้วงเวลานี้ มีผลยืดเยื้อ เรื้อรังมากว่า 8 ปี นับตั้งแต่ปี 47 เป็นต้นมา อาจมีลดบ้าง เพิ่มบ้าง ตามช่วงระยะเวลาต่างๆ โดยเกิดจากเหตุปัจจัยที่สับสน ซับซ้อน ยากที่จะสรุปได้ว่ามาจากเหตุปัจจัยใด ปัจจัยหนึ่ง แต่สิ่งที่ถูกอธิบายชัดจากบทวิเคราะห์ที่เคยได้ยินผ่านหู จากการที่ได้อ่านผ่านตา คือ ผลทีตามมาจากสถานการณ์ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเช่นนี้ พบว่า ส่งผลทำให้ระบบความสัมพันธ์ของคนในชุมชนห่างเหินกันมากขึ้น ไว้วางใจกันลดลง และมีข้อเสนอว่าควรมีการทำงานระดับชุมชนและแก้ปัญหาในระดับชุมชนหมู่บ้านควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ ที่หน่วยงานภาครัฐทำอยู่ เพราะการทำงานในชุมชนจะทำให้คนคุยกันมากขึ้น ฟังกันมากขึ้น และไว้วางใจกันมากขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มของสันติสุข
ทีผ่านมามีความพยายามจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคพลเมือง หรือองค์กรเอกชน เข้ามาทำงานรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาหรือการแก้ปัญหา เยียวยา ในระดับชุมชนหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดกระบวนการสื่อสารฟัง พูดกันมากขึ้น แต่บทสรุปโดยรวม ณ ตอนนี้ ยังคงชี้ไปที่ความรุนแรง ความหวาดระแวง แตกแยก และการสูญเสียอย่างต่อเนื่อง
ดูเหมือนว่าความหวังแห่งสันติสุขที่ดินแดนปลายด้ามขวานยังคงมืดสนิท ไร้ซึ่งทางออกเสียแล้ว แต่ความคิดของเราอาจเปลี่ยนไป เมื่อลงพื้นที่ เมื่อหยุดนิ่ง สงบสติอารมณ์ แล้วอ่านเรื่องราวที่จะนำเสนอ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เผยอีกด้านหนึ่งของบรรยากาศในชุมชนท้องถิ่น เป็นภาพที่บริสุทธิ์ปราศจากการเติมแต่ง เป็นภาพที่เปิดเผยให้เห็นการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจบริบทสถานการณ์ ภาพของการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดของวิถี ภาพของการปกปักษ์รักษาสายใยแห่งชุมชนและถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อๆรุ่น ภาพดังกล่าวพานพบได้ในหลายชุมชนท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดั่งเช่นชุมชนบ้านลุ่ม ต.ปะเสยาวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี หรือชุมชนโคกเคียนและโคกพะยอม ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส ที่กำลังจะมาเล่าให้ฟัง
เกี่ยวกับบ้านลุ่มหากดูจากข้อมูลชุมชนพบว่า บ้านลุ่มมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กำปงบอเวาะห์ เป็นส่วนหนึ่งของบ้านบน(หมู่ที่ 2) เนื่องด้วยการเพิ่มของจำนวนชาวบ้านมากขึ้นจึงได้แยกเป็น 2 หมู่บ้าน มีพื้นที่ทั้งสิ้น 430 ไร่ มี 2 โซน บ้านลุ่มโซนบนจะมีลักษณะเป็นที่ราบ โซนล่างเป็นบ้านลุ่มแท้ มีลักษณะเป็นที่ลุ่ม ติดฝั่งทะเลอ่าวไทยบางส่วน พื้นที่ทั้งหมดเป็นที่อยู่อาศัย มีสภาพแออัดปลูกสร้างบ้านเรือนติดๆกันและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาชีพและรายได้หลักของคนที่นี่ คือ การจ้างงานในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง แต่ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวเข้ามารับจ้างทำงานในพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ชาวบ้านได้รับการจ้างงานน้อยลง เพราะแรงงานต่างด้าวค่าจ้างค่าแรงต่ำ ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการ จึงเป็นสาเหตุที่คนในชุมชนบ้านลุ่มออกไปทำงานตามแหล่งที่มีการจ้างงาน (รับจ้างประมงที่มาเลเซีย) โดยเฉพาะแรงงานที่เป็นผู้ชายกว่า 70% ออกทำงานนอกพื้นที่ ส่วนผู้หญิงจะอยู่ในชุมชน เป็นแม่บ้าน และทำงานรับจ้างพวกแปรรูปอาหารทะเล
อย่างไรก็ดีก็มีโครงการพัฒนามากมายจากหน่วยงานต่างๆเข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนบ้านลุ่มแต่ด้วยเงื่อนไขของค่าครองชีพที่สูง ทำให้ชีวิตของคนบ้านลุ่มส่วนใหญ่จึงจมปลักอยู่กับการช่วยเหลือเลี้ยงดูตนเอง จนทำให้ดูเหมือนว่าสถานการณ์ความไม่สงบที่ประทุอยู่รายลอบชุมชนแทบจะหมดความสำคัญไปโดยปริยายในห้วงความคิดของคนที่นี่
ดังนั้นบรรยากาศภายในชุมชนบ้านลุ่มจึงเต็มไปด้วยเรื่องของการรวมตัว รวมกลุ่มเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเอง เพื่อสร้างความอยู่รอดของคนภายในชุมชน มีแกนนำธรรมชาติเยอะแยะมากมายอย่างเช่น กะฮาบีบะฮ์ แกนนำสตรีในชุมชนที่พร้อมจะทำงานเสียสละตนเองไม่ใช่แค่เพื่อชุมชน แต่หมายรวมถึงครอบครัวตนเองเช่นกัน
“คนที่นี่ส่วนใหญ่ยากจน เพราะมีงานให้ทำน้อย ทะเลก็ออกไม่ค่อยได้ ต้นทุนสูง ไม่คุ้ม แต่ดีหน่อยที่มีโครงการพัฒนาต่างๆลงมา ก็พอช่วยเหลือคนในชุมชนได้บ้าง แต่ก็ใช่ว่าจะทำให้ดีขึ้นเหมือนที่อื่นๆ เพราะค่าใช้จ่ายก็สูงอยู่” กะฮาบีบะฮ์ แกนนำสตรีชุมชนบ้านลุ่มกล่าว
กะฮาบีบะฮ์ ชี้ให้เห็นอีกว่า ด้วยโครงการพัฒนาต่างๆที่ลงมา ทำให้คนในชุมชนพยามยามจะใช้โอกาสนั้นเรียนรู้
“ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมกิจกรรมกลุ่มต่างๆเพื่อหวังจะสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเอง ทำให้ชาวบ้านตื่นตัวสามัคคีกันมากขึ้น มีปัญหาอะไรก็ถ่อยทีถ่อยอาศัยกัน เพราะหากไม่สามัคคีกันแตกแยกกัน กลุ่มอาชีพที่ก่อประโยชน์ต่อตนเองและชุมชน ก็ไม่เกิดเช่นกัน พอทำบ่อยๆ ก็พัฒนามาเป็นเรื่องจิตอาสา จนทำให้ชาวบ้านที่นี่ดูเหมือนมีศักยภาพเพิ่มขึ้น เข้มแข็งขึ้น หากให้เปอร์เซ็นต์คนที่ทำงานส่วนรวมของชุมชน กะคิดว่าอยู่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์”
ไม่ใช่แค่เสียงของแกนนำชาวบ้านเท่านั้นที่อธิบายให้เห็นการจัดการตัวเองเพื่อดำรงอยู่ การปรับมุมมอง ความรู้สึกนึกคิดของคนในชุมชนท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่เป็นปกติ แต่ยังพบว่าแง่มุมของผู้นำศาสนา มีการขัดเกลาจิตใจคนในชุมชนโดยใช้กระบวนการทางศาสนาอิสลาม มีการนำปรับเนื้อหาให้เท่าทันสถานการณ์ ดั่งที่เห็นชัดคือ เนื้อหาที่นำมากล่าวในคุตบะฮ์ (ตำแหน่งหนึ่งของแกนนำศาสนาอิสลาม)
เนื้อหาใจความคุตบะฮ์(คล้ายๆธรรมเทศนา)ก่อนหน้านี้จะอ่านตามหนังสือที่เขียนส่งต่อๆกันมา แต่ครั้งหนึ่งที่มัสยิดบ้านลุ่ม ตอนละหมาดวันศุกร์ โต๊ะคอเต็บ (ผู้อ่านธรรมเทศนา)พูดถึงคำว่า “อามานะฮ์” (สิ่งที่ต้องรับผิดชอบ)ทุกๆคนจะมีอามานะฮ์ เป็นอามานะฮ์ที่จะต้องถูกสอบสวนจากอัลเลาะฮ์ เป็นบทบาทหน้าที่ของผู้นำระดับต่างๆตั้งแต่ในครอบครัวจนถึงระดับประเทศ
“อามานะฮ์ ถือได้ว่าเป็นภาระที่หนักอึ้ง ที่จะต้องรับผิดชอบ และจะต้องถูกสอบสวนจาก “อัลเลาะฮ์” ในวันแห่งการสอบสวนคือหลังวันสิ้นโลก ดังนั้นจงอย่าละเลยในอามานะฮ์ ผู้นำที่ดีหรือไม่ดีก็อยู่ที่การดูแลอามานะฮ์ ไม่ใช่อยู่ที่คำพูดของตัวเอง แต่เราจะเห็นมากว่าทุกวันนี้ไม่ค่อยมีใครใส่ใจในอามานะฮ์ มีแต่จะแย่งชิงอำนาจ แย่งชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งหน้าตา ซึ่งเกรียรติยศ หารู้ไม่ว่าสิ่งที่ตัวเองแย่งชิงนั้นคือภาระที่หากเขาทำได้ดีก็จะมีผลบุญ หากเข้าทำไม่ได้ก็จะถูกลงโทษจากอัลเลาะฮ์ แต่การแย่งชิงกลับเป็นเพื่อผลประโยชน์ที่ไม่ยุติธรรม ซึ่งมัวแต่จะสร้างความเสียหายต่อสังคม”
แล้วสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นส่งผลอย่างไรต่อชุมชนนี้ กะฮาบีบะฮ์ คนเดิม บอกว่า ก็ไม่รู้เหมือนกัน อาจรู้สึกว่าต้องระมัดระวังในการเดินทางไปไหน มาไหน
“อาจมีเรื่องให้คุยกันในร้าน ในกลุ่มอาชีพต่างๆ แต่เราก็ไม่มีเวลาใส่ใจเรื่องนั้นมาก เพราะเกิดขึ้นมานาน ต้องใช้เวลานานในการแก้ เราสนใจแต่ว่าเราจะอยู่อย่างไร เราสนใจเรื่องว่าชุมชนของเรามีปัญหาอะไรเร่งด่วน เราคิดว่า ระดับชาวบ้านแล้ว เอาแค่ทำให้ตัวเองเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็งก่อนก็เป็นพอ”
“สถานการณ์ความไม่สงบอาจทำให้คนห่างเหินกันแต่ที่นี่ไม่นะ ไม่ใช่แค่ภายในชุมชน กับชุมชนพุทธรอบข้างๆ เราก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเหมือนปกติ มีการไปมาหาสู่อย่างพี่น้องกัน เมื่อมีงานอะไร ต่างคนก็ต่างชวนกันมา เช่นงานแต่งงานของคนพุทธ ทางเขาก็จะชวนกัน มีการจัดการเรื่องอาหาร เข้าใจหลักการ วัฒนธรรมคนมุสลิม เราเข้าใจซึ่งกันและกัน”แกนนำสตรีกล่าว
ผลของความรุนแรงที่เรื้อรัง อาจส่งผลในเรื่องความสัมพันธ์ของคนภายในชุมชนก็ดี ความสัมพันธ์พุทธ-มุสลิมในพื้นที่ก็ดี มีความเหินห่าง ขัดแย้ง แตกแยก หวาดระแวงซึ่งกันและกัน แต่ดูเหมือนว่าพื้นที่บ้านลุ่มไม่ได้เป็นอย่างที่เราเข้าใจเสมอไป เช่นเดียวกับสภาพในชุมชนโคกเคียนและโคกพะยอม ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส สองชุมชนที่มีเขตแดนติดกันแต่มีความต่างทั้งในเรื่องศาสนา ภาษา วัฒนธรรม
ชุมชนโคกพะยอมอาจเป็นชุมชนของคนมุสลิมมลายู ชุมชนโคกเคียนอาจเป็นชุมชนของคนพุทธดั้งเดิมในพื้นที่ แต่ไม่ว่าอย่างไร สองชุมชนนี้แทบไม่เคยให้ความต่างเป็นเงื่อนไขในการอยู่ร่วมกัน หากเงื่อนไขนั้นถูกจัดการโดยการเคารพ เข้าใจ ให้เกียรติ ซึ่งกันและกัน ส่งทอดความสัมพันธ์ไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน เนื้อหาใจความที่ชี้ให้เห็นนั้น แบดิง และครูหวอด น่าจะเป็นตัวแทนการอธิบายได้ดี
แบดิง เป็นแกนนำชุมชนบ้านโคกพะยอม เป็นบุคคลที่ค่อนข้างมีบทบาทในชุมชน เช่นเดียวกับครูหวอด ซึ่งลาออกจากราชการมาแล้วกว่า 6 ปีเพื่อกลับมาสู่ท้องถิ่นและทำงานเกษตรควบคู่ไปกับการทำงานส่วนรวมในชุมชน บ่อยครั้งมากที่แบดิงจะเข้าชุมชนเพื่อไปหาครูหวอดและแกนนำคนอื่นๆ เพื่อพูดคุยหารือเรื่องการทำงานพัฒนาหมู่บ้านตนเอง บางครั้งก็เป็นการชวนชาวบ้านมาช่วยเหลือสร้างสิ่งก่อสร้างที่เป็นสาธารณะประโยชน์ ส่วนครูหวอดชอบที่จะปรึกษาหารือเรื่องการทำงานกับเยาวชนในพื้นที่ และแบดิงก็เป็นที่ปรึกษามือดีไม่น้อย
ภาพการไปมาหาสู่เช่นนี้ เป็นมาตั้งแต่ดั้งเดิม ผ่านกาลเวลาและสถานการณ์ บริบทที่เปลี่ยนไปจนมาถึงปัจจุบัน ไม่เพียงเท่านี้การไปมาหาสื่อเช่นเครือญาติ ก็มีให้เห็นบ่อยครั้ง การเยี่ยมเยียนงานศพของคนพุทธ การร่วมงานแต่งของคนมุสลิม การดูแลกันยามป่วยไข้ เป็นเรื่องปกติ เป็นวิถีของสองชุมชนนี้
ถึงแม้จะมีสถานการณ์ความไม่สงบบริเวณรอบๆ แต่ก็ไม่เคยทำให้คนภายในชุมชนเกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน หากเราลงพื้นที่ เราก็จะเห็นภาพวัยรุ่นมุสลิมเล่นฟุตบอลในท้องนาร้างของชุมชนพุทธทุกยามเย็น เราจะเห็นภาพการไปมาของชาวบ้านทั้งสองชุมชน เราจะเห็นภาพการพูดคุยตามโต๊ะน้ำชาของคนสองศาสนา ทั้งที่เป็นภาษามลายูและภาษาใต้โดยไม่ต้องมีล่ามแปล
อะไรคือกระบวนการการจัดการที่ทำให้ สองชุมชนดังกล่าวสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติทั้งภายในและภาคนอก คำตอบที่ได้ยินมาจากพื้นที่ คือ ความผูกพันของคนเฒ่าคนแก่ และสั่งสอนต่อๆกันมาว่า สองชุมชนนี้เป็นพี้น้องกันถึงแม้จะต่างศาสนาก็ตาม มีลูกหลานคนพุทธมากมายจากบ้านโคกเคียนที่เข้ารับอิสลาม แล้วเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวมุสลิมบ้านโคกพะยอม ทุกคนจะรู้จักกันตั้งแต่ประตูชุมชนจนถึงท้ายชุมชน วิถีเช่นนี้ถูกถักทอเป็นความผูกพัน สายใย โดยวิถีของชาวบ้านเอง และด้วยสิ่งเหล่านี้กระมังจึงทำให้เราทราบจากชาวบ้านว่าพื้นที่บริเวณแถบนี้ แทบจะไม่เคยเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงใดๆเลย
เสียงจากชุมชน 2 แห่งนี้รู้ดีว่า ด้วยสิ่งถักทอดังกล่าว ด้วยความเข้าใจ การให้เกียรติ การเคารพซึ่งกันและกันจะทำให้ชาวบ้านที่นี่อยู่ร่วมกันได้ ถึงแม้จะมีความต่างแค่ไหนก็ตาม คงต้องขอบคุณการลงพื้นที่ครั้งนี้ไม่น้อย ดังนั้นคำตอบของการแก้ปัญหา จชต. ที่จะไปสู่สันติสุข คงหาไม่ได้เพียงแค่ห้องประชุม หรือโรงแรมเท่านั้น แต่อาจต้องไปสัมผัสวิถีชุมชน และเรียนรู้ด้วยหัวใจของการเป็นนักแสวงหา
เพราะบางทีคำตอบของเราที่มีอยู่แล้ว อาจไม่ใช่คำตอบของสันติสุขในชุมชนเสมอไป…