เวทีนำเสนอรายงานพิเศษ เส้นทางหยุดเลือด การต่อรองสู่การ “ไม่ฆ่า” ณ ปาตานี
เริ่มแล้วสำหรับการนำเสนอและวิพากษ์ รายงานพิเศษของปาตานี ฟอรั่ม โดยใช้ชื่องานว่า เส้นทางหยุดเลือด: การต่อรองสู่การ “ไม่ฆ่า” ณ ปาตานี เมื่อ 21 เมษายน 2557 ณ โรงแรม ปาร์ควิว รีสอร์ท จังหวัดปัตตานี โดยในการจัดเวทีครั้งนี้ มุ่งหวังเพื่อให้เกิดบรรยากาศ การวิพากษ์ และถกเถียง เกี่ยวกับข้อมูล มุมมอง และบทวิเคราะห์ ต่อประเด็นการเจรจาระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มขบวนการ BRN ซึ่งเป็นรายงานฉบับต่อเนื่องจากรายงานพิเศษฉบับแรก “การเจรจาสันติภาพระหว่างมุสลิมมลายูและรัฐไทย” ที่เคยเผยแพร่ไปแล้วเมื่อช่วงปลายปี 55 ที่ผ่านมา
การนำเสนอและวิพากษ์รายงานพิเศษของปาตานีฟอรั่ม ฉบับนี้ที่ผ่านมาไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณะชนมาก่อน ก่อนจะมาเปิดเผยในเวทีครั้งนี้ ทั้งนี้ข้อมูลในรายงานพยายามจะชี้ให้เห็นแง่มุมของความเคลื่อนไหวการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มขบวนการที่ไม่ได้ปรากฎขึ้นบนหน้าสื่อกระแสหลัก หรือการถกเถียงในวงกว้าง อีกทั้งได้นำเสนอบทวิเคราะห์และทิศทางสู่สันติภาพ อันมีแนวโน้มให้เห็นอนาคต ของสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี
อย่างไรก็ตามก่อนจะไปถึงรายละเอียดของมุมมอง บทวิพากษ์ ปาตานี ฟอรั่ม ก็จะขอนำเสนอให้เห็นบรรยากาศ ภาพรวมของงานในเบื้องต้น ทั้งนี้ในส่วนของแง่มุมอื่นๆ จะนำเสนอในงานเขียนชิ้นต่อไป
เวทีนำเสนอรายงานปาตานี ฟอรั่มในชื่องาน ว่า เส้นทางหยุดเลือด:การต่อรองสู่การ “ไม่ฆ่า” ณ ปาตานี สำหรับบรรยายกาศโดยรวม งานเริ่มในช่วงบ่ายโมงกว่า มีผู้เข้าร่วมที่มาจากกลุ่มองค์กรหลากหลายทั้งตำรวจ ทหาร ข้าราชการ นักวิชาการ เยาวชน และภาคประชาสังคม และมีทยอยมาเรื่อยๆ ก่อนเข้าสู่บรรยากาศของงานที่มีวิทยากรวิพากษ์รายงานตอบรับการรับเชิญ คือ ผศ.ดร.ศรีสมภาพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณะบดีคณะวิทยาการสื่อสาร มอ.ปัตตานี และ สุไฮมี ดูละสะ ตัวแทนจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาและเยาวชนปาตานี (PerMAS) นำเสนอรายงานโดย ดอน ปาทาน ผู้อำนวยการฝ่ายการต่างประเทศ ปาตานี ฟอรั่ม
สำหรับประเด็นที่ถกเถียง และแลกเปลี่ยนกันมาในเวทีครั้งนี้ มีหลากหลายแง่มุม ผู้เข้าร่วมในเวทีมองว่า รายงานทั้งก่อนหน้านี้ และฉบับล่าสุด นับเป็นครั้งแรกที่เปิดเผยต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการที่พยายามชี้ให้เห็นการเปิดพื้นที่เจรจาโดยรัฐไทยกับกลุ่มขบวนการ BRN
ขณะที่ในเนื้อหาของรายงาน ก็จะกล่าวถึงความต่อเนื่องจากการนำเสนอรายงานพิเศษก่อนจะมีการพูดคุยสันติภาพ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 56 ซึ่งมีสิ่งที่น่าสงสัย ว่าทำไมมีความรีบเร่งในการเปิดโต๊ะเจรจา หากเมื่อเปรียบเทียบกับความขัดแย้งพื้นที่อื่นๆในโลก ซึ่งถือว่าเร็วมาก เมื่อไปค้นหาคำตอบ ก็พบว่าการเปิดโต๊ะเจรจาเป็นไปโดยความไม่พร้อมทั้งภาครัฐ และฝ่ายขบวนการ ขณะเดียวกันมีข้อเสนอให้มีการจัดตั้ง ให้มีพื้นที่เพื่อให้เกิดการแสดงความรับผิดชอบ หรือไกล่เกลี่ยของแต่ละฝ่าย ที่เรียกว่า “clearing house”
ขณะที่ ผศ.ดร.ศรีสมภพ วิพากษ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญว่า รายงานฉบับนี้ มองกระบวนการพูดคุยสันติภาพคนละด้านกับกลุ่มคนที่พาตัวเองไปผสมโรง กลุ่มคนที่เชื่อว่าเป็นความหวังที่จะทำให้กระบวนการสันติภาพที่เป็นจริงเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันรายงานไม่ได้ชี้ให้เห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่มีความพยายามขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ หรือมีความพยายามส่งสัญญาณทางการเมืองอะไรบางอย่างที่ผ่านพื้นที่สาธารณะ อันมุ่งหวังที่อยากให้มีการปรับเปลี่ยนจากภาครัฐ ซึ่งมองว่าเป็นพลังที่จะผลักให้การเจรจา การยอมรับระหว่าง 2 ฝ่าย เกิดขึ้นจริง โดยคำนึงถึงความก้าวหน้า 2 ส่วนคือ ส่วนแรกที่มีการเจรจากับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ขณะเดียวกันความก้าวหน้าส่วนที่สองคือ การเปิดพื้นที่สาธารณะขับเคลื่อนของภาคประชาชน การเปิดพื้นที่สาธารณะในสังคมไทย ซึ่งเป็น 2 ส่วนที่มีแนวโน้มผลักให้เห็นทางออกของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ชัดเจน แต่ในรายงานฉบับนี้ ไม่ได้นำเสนอแง่มุมตรงนี้ประกอบไปด้วย
ส่วนในแง่มุมของ สุไฮมี ดูละสะ ตัวแทนจาก PerMAS วิพากษ์ในส่วนการการเข้าสู่รายงาน ช่วงที่เกริ่นนำที่มองว่าการต่อต้านของประชาชนปาตานีเริ่มมาตั้งแต่ช่วง 1960 แต่อันที่จริงเริ่มตั้งแต่ 1786 หรือเมื่อ 200 ปีที่แล้ว ขณะที่เนื้อหาก่อนที่จะมีการเจรจา กล่าวถึงการปฏิบัติทางการทหารของกลุ่มคิดต่างจากรัฐ แต่ไม่ได้ระบุการปฏิบัติการทางการเมืองของฝ่ายขบวนการฯ ซึ่งหากไม่ระบุจะส่งผลกระทบต่อขบวนการนักศึกษาที่ถูกเหมารวมไปว่าเป็นกลุ่มการเมืองของฝ่ายขบวนการฯด้วยเช่นกัน
อีกประเด็นที่ สุไฮมี ได้ชี้ให้เห็นคือ การเกิดขึ้นของการเจรจาเมื่อ 28 กุมภา ภายหลังจากนั้นก็มีข้อเสนอจาก BRN 5 ข้อ ซึ่งในข้อเสนอตรงนั้น 3 ข้อมาจากการเปิดเวทีฟังเสียงประชาชน บีจารอ ปาตานี แต่ในรายงานฉบับนี้ยังไม่ได้ระบุ จึงอยากให้ระบุด้วยว่า ความเป็นมาของการปรับท่าทีของทั้งฝ่ายรัฐ และฝ่าย BRN มาจากการขับเคลื่อนของขบวนการนักศึกษา ด้วยเนื้อหาเช่นนี้จึงมองว่า รายงานฉบับนี้ไม่ค่อยมีการนำเสนอการปฎิบัติการทางการเมืองของภาคประชาชน มุ่งเน้นนำเสนอการปฎิบัติการทางการทหารของทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการเท่านั้น
ขณะที่ ผศ.ดร.วลักษณ์มล ซึ่งให้มุมมองในฐานะผู้อ่านและผู้รับสาร ให้ความเห็นเกี่ยวกับการใช้สื่อสมัยใหม่เป็นเครื่องมือเพื่อเผยแพร่กรณีปรากฎการณ์การเจรจาพูดคุยสันติภาพครั้งนี้
ประเด็นแรก รายงานได้พยายามทำให้เห็นภาพอีกระดับหนึ่งของกระบวนการสันติภาพ ซึ่งในกระบวนสันติภาพที่เกิดจากพยายามของทุกฝ่าย ขณะเดียวกันก็พยายามจะเชื่อมโยงให้เห็นความเป็นมาของรายงานฉบับแรก ขณะเดียวกันรายงานฉบับนี้สามารถทำให้เกิดการตั้งคำถามถึง เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพที่รับรู้ผ่านกระแส สื่อกระแสหลัก ที่รับรู้ระดับสาธารณะ
ประเด็นที่สอง เนื้อหาของรายงานมองว่า กระบวนการสันติภาพล้มเหลว ซึ่งก็เป็นเรื่องเศร้าสำหรับคนในพื้นที่ แต่พอจะมีแง่มุมอื่นอีกหรือไม่ที่พอทำให้มีความหวัง และส่วนหนึ่งข้อมูลหลายส่วนที่ไม่ระบุแหล่งอ้างอิงอาจจะทำให้รายงานฉบับนี้ลดความน่าเชื่อถือ หรืออาจเป็นลักษณะเด่นของรายงานที่ค่อนข้างเป็นความลับ แต่อย่างไรก็ตามรายงานฉบับนี้ทำให้ผู้อ่านเปิดโลกทัศน์ มองเห็นแง่มุมใหม่ๆในกระบวนการสันติภาพ
ขณะที่แง่มุมอื่นๆจากผู้เข้าร่วมมองรายงานฉบับนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงสถานภาพทางการเมืองของรัฐไทยค่อนข้างจะนิ่งยากทำให้การเจรจาสันติภาพไม่ต่อเนื่องอาจเกิดขึ้นยากในอนาคต แต่ในแง่มุมของการหยุดความรุนแรงทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งควรจะมีการถอดบทเรียนซึ่งถูกระบุไว้ในรายงานฉบับนี้ก่อนจะมีการพูดคุยกันต่อ หากไม่อย่างนั้น การเจรจาพูดคุยก็คงจะล้มเหลวเหมือนเดิม อีกประเด็นคือสถานะทางการเมืองตัวแทนเจรจาของรัฐไทยตัวจริงคือใคร ตรงนี้เข้าใจยากทำให้การเจรจาทีผ่านมาเลย ไม่น่าเชื่อถือ ดังนั้นจึงมีแนวทางที่ยั่งยืนคือ การทำงานฐานล่าง มีความเชื่อมั่นที่จะทำให้กระบวนการสันติภาพเดินไปได้ต่อ ขณะเดียวกัน การจะระบุการเจรจาช้า หรือเร็ว ใช้เกณฑ์อะไรในการวัด ตรงนี้เป็นคำถาม ที่จำเป็นต้องอาศัยการวิเคราะห์และทำความเข้าใจกันต่อไป...
ติดตามรายละเอียดการนำเสนอและวิพากษ์รายงานพิเศษฉบับเต็มๆอีกครั้ง ในวันอังคารที่ 29 เมษายน 2557 ที่โรงแรมเดอะเอตาส บางกอก ลุมพินี กรุงเทพมหานคร