เสียงจากความหวัง :โมเดล ชุมชนท้องถิ่น “จัดการกันเอง” (ตอนจบ)
มุมมอง ความเห็น ของการขับเคลื่อนงานสร้างชุมชนจัดการตนเองเมื่อตอนที่แล้ว สิ่งหนึ่งที่วิทยากรชวนสนทนาและชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ โดยความเป็นคนมุสลิมมลายูชายแดนใต้/ปาตานี ค่อนข้างจะมีโมเดลบางอย่างในการจัดการชุมชนที่มีการยึดโยงกับวิถี ความเชื่อในศาสนาอิสลาม อันจะเป็นจุดรวมศูนย์ในการขับเคลื่อนงานสร้างชุมชนจัดการตนเอง แต่ปัญหาอุปสรรและความท้าทายหลายประการทำให้โมเดลต่างๆในพื้นที่ยังคงเป็นได้เพียงแค่แนวคิด หรือเพียงหนึ่งในทางเลือกที่แอบซ่อนอยู่ ซึ่งในตอนนี้ จะคัดเพียงบทสรุปจากมุมมองของ อาจารย์ไพศาล ดะห์ลัน ที่ปรึกษาเครือข่ายชุมชนศรัทธา(กัมปงตักวา) และอดีตนายก อบต,มะนังดาลัม มานำเสนอ เพื่อสานต่อความความคิด ชวนติดตามต่อเนื่อง
มองแตกต่าง ท้าทายความคิด และการเปลี่ยนผ่าน
อาจารย์ไพศาล ดะห์ลัน มองต่อจากตอนที่แล้วว่า ปัญหาของคนที่นี่ คือคนที่นี้ติดกับดักกับความเป็นอัตลักษณ์มาลายูที่มีความเชื่อบางอย่างที่ผิดอยู่ มลายูเป็นวัฒนธรรมและ คนที่นี่ เรารู้สึกว่าเราเป็นเมืองขึ้นมาก่อนและก็ไม่กล้าพูดกับคนนอกเนื่องจากคิดว่าเป็นฝ่ายรัฐที่คนที่นี่กลัว สิ่งนี้เป็นปัญหาและเวลาที่ใครคิดแบบผมจะทำอะไรแบบผมเขาก็ไม่กล้าซึ่งก็เป็นอุปสรรคในการพัฒนา”
“ขณะเดียวกันเราจะทำอย่างไรให้กลไกลท้องถิ่น อบต. ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน มีเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม ที่ผ่านมาวิทยากรอีกท่าน ตอนที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายก อบต. ได้ทำอะไรบ้าง กิจกรรมอะไรที่น่าสนใจ และกิจกรรมเหล่านั้นมันก่อเกิดผลอย่างไรบ้างต่อชุมชน ณ ปัจจุบัน ตรงนี้น่าสนใจ”
“คือในส่วนของ อบต เป็นการปกครองส่วนท้องถิ่น Local Government ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาวบ้าน แต่ในทางปฏิบัติ โต๊ะอีหม่าม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. มักจะไม่ถูกกัน ไม่มีความสัมพันธ์กัน ดังนั้น 4 เสาหลัก ณ วันนี้ กลายเป็น 4 เสาแหลก เอาแต่แย่งกันในเรื่องของผลประโยชน์ นี่คือสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน แล้วเราจะเปลี่ยนชุมชนของเราอย่างไร มีตัวอย่างที่น่าสนใจ มัสยิดบ้านเหนือ เขาจัดการบริหารได้ดี แต่ทำไมเราถึงทำแบบเขาไม่ได้ เพราะอะไร คือคนในสังคมมันมีสองชนิด หนึ่งคือคนที่มีความเจริญ(Maju) สองคือคนที่ไม่เจริญ คนที่เจริญเวลาเขาอยู่คนเดียว เขาใช้ความคิด พออยู่สองคนเขาก็คุยแลกเปลี่ยนกัน พออยู่สามคนเขาก็นำความคิดเหล่านั้นไปปฏิบัติใช้ เขาอยู่สี่คนเขาก็ร่วมมือช่วยเหลือกัน
“ขณะที่คนที่ไม่เจริญ อยู่คนเดียวเขาก็เพ้อฝัน อยู่สองคนเขาก็ทะเลาะ อยู่สามคนเขาก็แตกแยก พอสี่คนก็แบ่งเป็นพรรคเป็นพวก พวกหนึ่งสีเหลือง พวกหนึ่งสีแดง แล้วกระบวนการทางความคิดเราจะมาแลกเปลี่ยนและนำไปใช้ได้อย่างไร เราดูที่ที่เจริญมันเต็มไปด้วยสิ่งดีๆ เหมือนที่ วิทยากรอีกท่านได้พูด คือเราต้องทำและต้องใช้ ปัจจุบันคนที่จะอยู่ข้างหน้า เป็นผู้นำ เขาต้องถูกทดสอบจากอัลลอฮฺ ผมว่าวันนี้เราเป็นโต๊ะอีหม่าม เรารู้สึกอย่างไร เราต้องการตำแหน่งหรือต้องการช่วยเหลือสังคม ถ้าเราต้องการตำแหน่งเราก็ไม่ต้องไปยุ่งกับสังคม”
“แต่ว่าวันหนึ่ง เหมือนที่บอก คือโลกนี้เป็นแค่ทางผ่าน มันชั่วคราวเอง มันเป็นบททดสอบ ซึ่งท้ายที่สุดเราก็จะต้องไปตอบคำถามกับอัลลอฮฺว่าเราได้ทำอะไร ผมมองว่านี่คือความดี แต่ตอนนี้ กว่าจะทำงาน ต้องให้เขาคอยจี้คอยตามถึงจะได้เริ่มทำ พอเขาว่านิดหน่อยก็โกรธ พอเขาทดสอบก็เริ่มจะไม่มีความสุข แล้วทิ้งมัสยิดให้เป็นแค่สถานที่ละหมาดอย่างเดียว” ทั้งที่จริงแล้วมัสยิดต้องเป็นสถานที่ ที่ทำประโยชน์อย่างอื่นได้มากกว่านั้น
ชี้…สี่เสาหลัก ต้องก้าวข้ามผลประโยชน์ส่วนตัว
ที่ปรึกษาแนวคิดกัมปงตักวา เล่าให้ฟังต่อว่า ก่อนที่ผมจะขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะได้เข้าไปพูดในมัสยิด 10 กว่าแห่ง
“ผมพูดมาโดยตลอด ผมจะทำมัสยิด ให้หนึ่งมัสยิดเป็นมัสยิดต้นแบบ มีแหล่งเรียนรู้ และตำบลสุขภาวะของมะนังดาลัม ผมไปพูดที่บ้านผมเอง หมู่ 2 บ้านกาแระตำบลมะนังดาลัม ผมพูด 7 เดือน เราคุยกันทุกๆวันศุกร์ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อที่จะระดมความคิด เพื่อที่จะหาปัญหาในสังคม วันนี้เราต้องดูกันด้วยว่าสังคมนั้นอยู่กันอย่างไร แต่เรานั้นชอบเอาปัญหาของเราไปยุ่งกับคนอื่น คือจะให้คนอื่นเขามาแก้ให้ ทั้งๆที่เป็นปัญหาของชุมชนเรา ถ้าไม่ใช่ของเรา เราไม่ทำ ผมทำอยู่ 7 เดือนจนกระทั่งผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 และโต๊ะอิหม่าม ลาออก ผมบอกเขาว่าถ้าไม่ทำเพื่อสังคมเราก็ช่วยๆกันออกเถอะ ถ้าไม่อยากทำก็ให้ลาออก เพราะว่าตอนนี้เราต้องช่วยกันทำโดยใช้กระบวนการ เราต้องหาคนมาอยู่ข้างหน้า คือ องค์กรสี่เสาหลัก อิหม่าม ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. แต่วันนี้เรากลับไปสนใจแต่ผลประโยชน์เล็กๆน้อยๆ ส่วนประชาชนได้อะไรบ้างได้เป็ด ไก่ ปลาดุก แพะ แค่นั้นหรือ จะเอาแค่นั้น เราไม่เคยคิดถึงภาพกว้างในเรื่องของสังคม”
“แต่ผมก็ได้ศึกษาค้นคว้า ได้ไปเจอคำสอนจากหะดีษ (คำสอนจากท่านนบีมูฮัมมัด) บทหนึ่งที่ท่านเคยถามซอฮาบะฮฺ (สหายใกล้ชิดกับท่านนบีมูฮัมมัด) ว่าท่านจะเอาบุญที่นอกเหนือจากการละหมาดและถือศีลอดหรือไม่ ซอฮาบะฮฺตอบ จะเอาสิ แล้วฉันจะต้องทำอย่างไรถึงจะได้บุญนั้น นบีมูฮัมมัดตอบว่า ท่านต้องช่วยเหลือสังคม เพราะการช่วยเหลือสังคมเป็นหนึ่งอีบาดะฮฺ (การงานเพื่อศาสนาอิสลาม) ในสมัยนบีมูฮัมมัด คนมักจะเข้ารับอิสลามด้วยตัรบียะฮฺ(ขัดเกลาจิตใจ)ของรอซูล(นบีฯ) วันนี้เราจะทำอย่างไร คนที่เป็นผู้นำ ต้องมีพลังเยอะ ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะอีหม่ามเอง ต้องสามารถมองปัญหาในชุมชนได้ แล้วก็เรียกคนในชุมชนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ช่วยกันแก้ปัญหา แต่วันนี้ พอพูดถึงเรื่องต่างๆ สิ่งที่สำคัญคือเงิน เงินต้องมาก่อน เรามักจะพูดว่า ไม่มีเงิน จะทำอย่างไร จะบอกว่านี่คือความมีอิทธิพลของกลุ่มทุนในหมู่บ้านของเรา ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้มีมาก ส่วนคนที่จะทำงานเพื่อสังคม พร้อมที่จะสู้กับกลุ่มทุนได้หรือไม่”
กุญแจความสำเร็จ ต้องคิด ทำ หารือ ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็อย่าสร้างความเสียหาย
ทางด้าน นายอาหามัติ มะจะ อดีตนายก อบต.มะนังดาลัม สะท้อนเพิ่มเติมว่า เวลานี้เราเริ่มคิดได้แล้ว ถ้าเราจะดูแลอุมมะฮ์ (ประชาชาติ)ของเรา ดูแลสังคมของเราได้อย่างไร แต่วันนี้เรากลับไปสนใจแต่ตำแหน่งหน้าที่ เชื่อเสียง เงินทอง คิดเอาเอง แล้วอาคีรัต(โลกหน้า)ก็ค่อยไปตอบกับอัลลอฮฺเอง
“สิ่งที่ผมได้บอก ทุกสิ่งที่ผมทำในวันนี้ ผมทำเพื่อชุมชน พระเจ้าจะตอบแทนอะไรอันนั้นคือหน้าที่ของพระเจ้า ไม่ใช่หน้าที่ผม 8 ปีที่ผมทำ จนได้ในเรื่องของชุมชนน่าอยู่ มีแหล่งเรียนรู้ ซึ่งวันนี้ชาวบ้านได้ทำเอง กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำ ชาวบ้านก็ทำเองดูแลเอง ผมบอกกับเขาว่าให้ดูแลน้ำให้เป็นกิจวัตร เป็นหน้าที่ มีการทำขนม ทำก๊าซชีวภาพ ให้ทำเป็นหน้าที่ คนที่ทำเรื่องของสวัสดิการ ก็ให้ทำเป็นหน้าที่เช่นกัน จนได้รางวัลตำบลสุขลักษณะ มี อบต. 15 แห่งมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เราก็ได้ให้กับเขาในสิ่งที่เราทำ ว่าทำอย่างไร ได้อะไร”
“ดังนั้นเราจะต้องช่วยกันทำงานเพื่อส่วนรวม แล้วกระบวนการนั้นเราจะทำอย่างไร เราก็มาประชุมหารือกัน แลกเปลี่ยนกัน วันนี้ผมทำในเรื่องของสวัสดิการชุมชน กลุ่มเยาวชน ปอเนาะต้นแบบ ซึ่งเป็นเรื่องของการจัดการชุมชน สิ่งที่จะมาทำลายสังคมเรา เป็นสิ่งที่ไม่ดี แล้วสิ่งที่ไม่ดีนั้น มันทำได้ง่ายมาก มันทำได้เร็ว เหมือนกับเราปลูกต้นยางกว่าจะได้กรีดก็ 7-8 ปี ต้องใส่ปุ๋ย รดน้ำ ต้องดูแล แต่ถ้าจะทำให้ตนยางนั้นตาย มันไม่ยากเลย แค่เอาขวานไปตัดมันก็ตายแล้ว สังคมก็เช่นเดียวกัน ถ้าต้องการให้ดีเราต้องช่วยกัน พยายามทำ ดังนั้นการที่จะอยู่ในสังคม ผมขอเสนอ สี่ตัวเลือกให้ช่วยกันทำ คือ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันแลกเปลี่ยนพูดคุย ถ้าช่วยสามอย่างแรกไม่ได้ก็ขอให้ช่วยอยู่เฉยๆ อย่าสร้างความเสียหาย”
“เพราะฉะนั้น เรื่องอย่างนี้ คนที่จะทำเพื่อส่วนรวม เขาจะต้องมีกำลังใจและความอดทนที่สูง ต้องทำด้วยใจ วันนี้ถ้าเราเชื่อมั่นว่านี่คือหน้าที่ของเรา สิ่งที่เราทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ผมว่านี่แหละคือผลบุญของเราเปรียบกับการอาบน้ำยุนูบ(อาบน้ำเปลื้องสิ่งสกปรกช่น หลังประจำเดือนหยุด หรือหลังน้ำอสุจิออกมา) กับการอาบน้ำปกติ วิธีการมันไม่ได้แตกต่างกัน มันแตกต่างที่เหนียต(การตั้งเจตนา) ถ้าวันนี้เรามีเจตนาดี สร้างคนในพื้นที่ให้ดีแน่นอนว่าชุมชนจะเข้มแข็ง แต่เราเอาแต่แย่งกันเป็นผู้นำ คนที่จะยิ่งใหญ่นั้นมันต้องยิ่งใหญ่ที่ความคิด ไม่ใช่ใหญ่เพราะอำนาจ”
อย่ามองข้าม “อาเซียน”
การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เป็นอีกประเด็นที่มองข้ามไม่ได้ ซึ่งอาจารย์ มองว่า จะมี คนเขมร คนมาเลย์ เข้ามาแล้ว ชาวบ้านเรายังไม่มีความรู้ ยังคิดกันไม่เป็น ดังนั้นเราจะทำให้ชุมชนของเราดี 100 เปอร์เซ็นต์ อาจเป็นเรื่องยาก แต่ก็สามารถทำให้สิ่งดีๆเข้ามาในชุมชนได้
“วันนี้เราชอบเอาคนโคราช คนสุรินทร์ มาพูดคุย ไปเอาเขามาพูดทำไม เขาไม่เข้าใจเรา ขนาดได้ยินเสียงอาซานยังถามเลยว่านั่นเสียงอะไร ชาวบ้านเขาทำเมาลิดกัน ก็กลัว ไปถามผู้ใหญ่ว่าชาวบ้านทำอะไรกัน ผมอยากจะถามกลับไปว่า แล้วทำไมไม่ไปศึกษาวิถีชีวิตของชาวบ้าน วันนี้เราต้องคิดว่าเราต้องการอะไร เราจะทำอะไร ถ้าเราทำมันจะมีเรื่องดีๆเข้ามาอีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนา เรืองการศึกษา เรื่องของสังคม “
“ผมได้ทำ 22 แหล่งเรียนรู้ในตำบลมะนังดาลัม เพราะเราจัดการกันเอง ชาวบ้านรวมกลุ่มเอง คิดเอง ว่าอยากจะทำอะไร จะทำแบบไหน ทั้ง 22 แหล่งเรียนรู้นี้เป็นความคิดของคนในพื้นที่ทั้งนั้น วันนี้ท้องถิ่นมีหน้าที่แค่ประสานงาน บอกเล่าให้กับคนในชุมชน เราสามารถที่จะไปจัดการตนเอง มีกฎหมายเปิดโอกาสให้ เราจะทำอะไรก็ได้ ยกเว้นสองเรื่องคือเรื่องระหว่างประเทศกับเรื่องของความมั่นคง ดังนั้นเราอย่าไปทำลายสิทธิของคนอื่น สิ่งใดที่เราสามารถจะทำได้ เราก็ทำ ผมใช้ทฤษฎีคือ ชอบ เชื่อ ช่วย คือเมื่อไหร่ที่คนชอบ คนก็จะเชื่อผม และเมื่อไหร่ที่คนเชื่อ คนก็จะช่วยผม แต่ปัจจุบันชาวบ้านเห็นนายกฯก็ไม่ชอบแล้ว แล้วนายกจะไปพูดอะไรได้ ใครเขาจะเชื่อ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของตัวผู้นำ”
นับเป็นการขับเคลื่อนที่ชี้ให้เห็นว่า กัมปง กำลังโหยหาที่จะการจัดการตนเองและยังคง “หวัง”อยู่..