ทบทวนภูมิทัศน์กระบวนการสันติภาพปาตานี

 

 

ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 28 กพ. 2013 รัฐบาลไทยได้ประกาศในพิธีลงนามเข้าร่วมการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่ม BarisanRevolusi Nasional-Coordinate หรือบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนท เพื่อจะหาทางออกทางการเมืองให้กับปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดภาคใต้ของไทย สำหรับคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ประสานงาน (liaison) ของกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนทก็คือฮัสซัน ตอยิบ (Hasn Taib) ขณะที่ดาโต๊ะ อาหมัด ซัมซามิน ฮาชิม(Ahmad Zamzamin Hashim) อดีตหัวหน้าฝ่ายข่าวกรองของมาเลเซียได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลมาเลเซียให้เป็นคนทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยครั้งนี้ 

ในส่วนของฝ่ายไทย คนที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ก็คือพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือสมช. ตามมาด้วย เลขาธิการศอ.บต. พตอ.ทวี สอดส่อง ทั้งสองคนนี้ถือว่าใกล้ชิดอย่างมากกับพตท.ทักษิณ ชินวัตร ของพรรคเพื่อไทยซึ่งจะว่าไปแล้วก็คือผู้นำตัวจริงของพรรรคเพื่อไทย 

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยและนักสังเกตการณ์ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมากที่เชื่ออย่างเหนียวแน่นและยาวนานว่ามาเลเซียเป็นคนที่สนับสนุนกลุ่มที่พยายามแยกตัวในภาคใต้ คนของรัฐบาลเหล่านี้ต่างก็เชื่อว่า ถ้ามาเลเซียเข้าร่วมในกระบวนการพูดคุย สันติภาพและข้อตกลงทางการเมืองระหว่างฝ่ายต่างๆคงจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

แต่คนที่คิดแบบนี้กลับไม่เคยตั้งคำถามว่า ผู้นำขบวนการที่ลี้ภัยในต่างประเทศกลุ่มนี้กับรัฐบาลมาเลเซียได้ปรับความเข้าใจกันจากความหมางใจที่เกิดขึ้นในปี 1998 หรือยัง ? ในตอนนั้นมาเลเซียได้ส่งตัวผู้นำระดับสูงของขบวนการจำนวนหนึ่งไปให้กับฝ่ายไทย เพราะช่วงนั้นมาเลเซียต้องการแสดงให้ประเทศไทยเห็นว่า มาเลเซียก็คือมิตรแท้ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการส่งมอบตัวผู้คนเหล่านั้นยังคงเป็นปัญหาที่ตามหลอกหลอนมาเลเซียมาจนถึงทุกวันนี้ 

กลุ่มนักสู้ในพื้นที่ ที่เป็นที่รู้จักกันในคำเรียกขานว่า “ยูแว” ก็ไม่รีรอที่จะแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่รัฐบาลมาเลเซียสนับสนุนนี้ ภายใน 24 ชม.หลังเปิดตัวความพยายามเมื่อ 28 กพ. นับจากนั้นเรื่อยมา ก็แทบจะไม่มีวันใดที่จะไม่มีการโจมตีในพื้นที่อันนับเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องปัญหาความขัดแย้ง

และคงไม่จำเป็นที่ต้องพูดด้วยว่า ความพยายามพูดคุยสันติภาพ 28 กพ.นั้นไม่ได้รับความเห็นชอบจากวงภายในของกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนท แม้ว่าทวีและภราดรจะอ้างเสมอว่าตอยิบเป็นส่วนหนึ่งของวงภายในบีอาร์เอ็น ที่ว่า แต่แหล่งข่าวทั้งในส่วนของบีอาร์เอ็น และรัฐบาลมาเลเซียกระทั่งยูแวในพื้นที่กลับยืนยันว่าเขาไม่ใช่พวกบีอาร์เอ็น ส่วนของ ฮัสซัน ตอยิบได้เข้ามาเป็นคนตั้งข้อเรียกร้องกับรัฐบาลไทยในสิ่งที่รัฐบาลไม่มีทางที่จะให้ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อจะทดสอบปฏิกิริยา ทีมฝ่ายไทยก็เต้นไปตามเกมที่พวกเขาเล่น

แต่ฮัสซัน ตอยิบซึ่งเบื่อหน่ายกับการที่ถูกเตะไปมาราวกับลูกฟุตบอลในระหว่างบีอาร์เอ็น มาเลเซียและทีมไทย ได้ยอมยกธงขาวแล้วก็ทำตัวหายเข้ากลีบเมฆไม่สื่อสารกับใครตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว

แน่นอนว่าการพูดคุยกับผู้นำของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเจ้าหน้าที่ไทย เป็นเวลาสามสิบกว่าปีมาแล้วที่งานนี้เป็นหน้าที่ของนายทหารระดับกลางๆที่ถือว่าการพูดคุยกับคนเหล่านั้นมีความหมายเท่ากับการรวบรวมหาข่าวเพื่อนำไปเสนอหน่วยเหนือ 

แต่มาในปี 2549 ได้มีการดึงเอาสภาความมั่นคงแห่งชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุฬานนท์ ได้เปิดไฟเขียวให้กับเอ็นจีโอระหว่างประเทศ องค์กรหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเจนีวามาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดพูดคุย

กระบวนการที่เรียกกันว่า “(Geneva Process) – กระบวนการเจนีวา” ได้ช่วยเชื่อมคนจากสมช.เข้ากับหนึ่งในพูโลสามกลุ่มที่อยู่ภายใต้การนำของกัสตูรี มะโกตาห์ รองเลขาธิการสมช.ในขณะนั้น คือสมเกียรติ บุญชูเป็นแกนของฝ่ายไทยในกระบวนการนี้

เมื่อยิ่งลักษณ์ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่นานและกระบวนการเจนีวาก็ถูกล้มและพับเก็บไป ทำมาเลเซียได้ก้าวเข้ามาทำหน้าที่คนเชื่อมต่อในกระบวนการสันติภาพ

สมเกียรติ บุญชู กับถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการสมช.ได้ถูกย้ายไปลงในตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่มากนัก ถวิลออกมาบ่นเรื่องที่ถูกย้ายแต่ยิ่งลักษณ์ไม่แสดงให้เห็นว่าให้ความสนใจมากนัก ทั้งยิ่งลักษณ์และทักษิณให้ความสนใจในเรื่องความจงรักภักดีกับเรื่องของความไว้ใจได้ และข้าราชการทั้งสองคนต่างได้รับความใว้ใจ นั้นก็คือ คุณทวีกับภราดร 

ทักษิณไม่เพียงแต่นำความคิดเรื่องดึงมาเลเซียเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพเข้ามาเท่านั้น ทักษิณยังคิดด้วยว่า ถ้าตัวเองเข้ามามีบทบาทโดยตรงจะยิ่งเพิ่มความชอบธรรมให้กับกระบวนการด้วย ทักษิณไปพบกับกลุ่มผู้นำขบวนการที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศจำนวน 16 คนเมื่อเดือนมีนาคม 2012 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในการพบปะกันครั้งนั้น ทักษิณได้เสนอให้บรรดาคนเหล่านั้นช่วยกันรูดม่านเพื่อปิดฉากความขัดแย้งหนนี้ลงเสียที

แกนนำบีอาร์เอ็นเองเปิดเผยว่า พวกเขาไม่ได้มองว่ามาเลเซียจะเป็นตัวกลางที่มีความจริงใจ ในขณะที่ปัญหาเก่าเรื่องของการส่งมอบตัวอย่างลับๆพวกเขาก็ยังไม่ลืม เมื่อครั้งรัฐบาลมาเลเซียได้ส่งมอบกลุ่มขบวนการใหแก่รัฐบาลไทยที่ผ่านมา 

พวกนักสู้ในพื้นที่(juwae)แสดงความไม่เห็นด้วยกับความพยายามของทักษิณด้วยการโจมตีด้วยคาร์บอมสามที่ติดต่อกัน เมื่อ 30 มีนาคม 2012 ในพื้นที่ใจกลางเมืองยะลาหลังจากที่ทักษิณพบกับแกนนำที่ลี้ภัยสิบหกคน โรงแรมสำคัญในย่านธุรกิจหาดใหญ่ตกเป็นเป้าการโจมตี ทำให้มีคนตายร่วม 13 คน เจ็บอีกกว่าร้อย

แต่ทั้งทักษิณกับเครือข่ายและมาเลเซียต่างก็ตัดสินใจมองข้ามสัญญาณเตือนอันนี้ แล้วเดินหน้าสานต่อสิ่งที่มาเลเซียหนุนหลังต่อไป โดยการเปิดตัวความพยายามดังกล่าวอย่างเป็นทางการในอีกหนึ่งปีถัดมาเมื่อ 28 กพ.2013 

สำหรับนักการเมืองท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้ร่มเงาการอุปถัมภ์ของพรรคเพื่อไทยทำหน้าที่ช่วยปูฐานให้กับกระบวนการที่แกนนำบีอาร์เอ็นบอกว่า ถึงที่สุดแล้วก็คือเป็นตัวช่วยลบล้างความผิดให้กับทักษิณในเรื่องของการรับมือปัญหาความขัดแย้ง มากกว่าที่จะเป็นกระบวนการไปสะสางความขัดแย้งที่รากฐานที่มีมาแต่ในอดีตระหว่างคนเชื้อสายมลายูในปาตานีกับรัฐไทย

ขณะที่กลุ่มพูโลภายใต้กัสตูรีถูกกันออกไปจากกระบวนการดังกล่าว กลุ่มที่อยู่ภายใต้การนำของนูร์ อับดุลรามานหรืออาแบ กาแมซึ่งอ้างตัวเองเป็นผู้นำที่ชอบธรรมของพูโลและที่เป็นกลุ่มคู่แข่งกัน กลับได้ที่นั่งในการพูดคุย การปฏิเสธไม่ให้ที่นั่งกับกลุ่มของกัสตูรีเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะว่ากระบวนการเจนีวาไม่อนุญาตให้มาเลเซียเข้าไปแสดงบทบาทได้ เดือนตุลาคมปีที่แล้วได้มีการทำข้อตกลงกันเพื่อให้ที่นั่งกับพูโลกลุ่มกัสตูรี ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดว่าในการทำข้อตกลงนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนอะไรกันบ้าง แต่แหล่งข่าวในซีกรัฐบาลบอกว่า จุดสำคัญเป็นเรื่องของกฏในการปะทะ(rules of engagement)

คงไม่จำเป็นต้องพูดว่าทหาร ไม่เคยชอบความคิดที่จะให้พลเรือนเข้ามาคุมเรื่องของการเจรจา ดังนั้นเมื่อปลายปีที่แล้ว ในเดือนธันวาคม 2013 ทหารได้สนับสนุนการเดินทางกลับมาถึงสามครั้งของ ดร.วัน กาเดร์ เจะมัน อดีตประธานเบอร์ซาตู(Bersatu) ที่ตอนนี้ยุบไปแล้ว แต่ในอดีตเคยเป็นกลุ่มที่เป็นที่รวมของขบวนการแต่ละกลุ่ม เพื่อให้เข้ามาพูดในประเทศไทย

ดร.วัน เป็นแกนนำที่อาศัยอยู่นอกประเทศที่เป็นที่รู้จักกันดี เป็นคนที่คอยวิพากษ์วิจารณ์ความคิดเรื่องการนำมาเลเซียเข้ามาเป็นผู้อำนวยความสะดวกหรือผู้ไกล่เกลี่ยเรื่อยมา เวลาที่ ดร.วันออกมาตำหนิเรื่องกระบวนการสันติภาพก็ทำอย่างชนิดไม่มีการถนอมถ้อยคำ ตัวอย่างเช่น กระบวนการเจนีวา ดร.วันก็ไม่ได้ชื่นชมนัก และแนะนำว่ารัฐบาลไทยกับแกนนำฝ่ายขบวนการควรจะพบกันแบบตัวต่อตัวมากกว่า และถ้าจำเป็นจะต้องใช้คนกลางไกล่เกลี่ย ดร.วันชี้ว่า น่าจะมาจากรัฐบาลจากชาติตะวันตกที่มีประวัติด้านสิทธิมนุษยธรรมที่ดีมายาวนาน ไม่ใช่เอ็นจีโอ

ในขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้แต่พูดเรื่องจะใช้วิธีทางการเมืองในการแก้ไขความขัดแย้ง ทีมงานที่เข้ามาทำเรื่องการพูดคุยสันติภาพก็ดูเหมือนจะวางตัวกันขึ้นมาแบบไม่มีความพร้อมและแต่งตั้งชั่วคราว ไม่มีทีมงานทำหน้าที่เป็นเลขานุการ สำหรับการเตรียมการพูดคุย สมาชิกในทีมของไทยก็ยังคงเดินหน้าทำงานประจำที่ทำอยู่ต่อไป เช่น ข้าราชการ ฯลฯ  เพียงแต่ไปเจอกันล่วงหน้าก่อนที่จะไปพบฮัสซัน ตอยิบเพียงวันเดียวเท่านั้น เหล่านี้แสดงถึงความไม่พร้อมที่จะพูดคุย 

ตั้งแต่เริ่มต้น เป้าหมายของพวกเขาก็คือพยายามจะให้ฮัสซันไปช่วยเกลี้ยกล่อมให้บีอาร์เอ็นตัวจริงรวมทั้งพวกยูแว (นักรบ) ลดการโจมตีในพื้นที่ลง พวกเขาต้องการจะมีผลงานไปโชว์หน่วยเหนือและสาธารณะว่า พวกเขากำลังเดินไปถูกทางแล้ว

ที่ตลกร้ายก็คือ วิกฤติการณ์การเมืองไทยและการชุมนุมในกรุงเทพฯกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนมีโอกาสได้หายใจ ทีมทักษิณ/ซัมซามินพยายามกอบกู้กระบวนการและเดินทางเข้าปัตตานีในสัปดาห์ที่ผ่านมา

แหล่งข่าวที่มาในรัฐบาลกล่าวว่าการที่พูโลสามกลุ่มจะเข้าร่วมกระบวนการ โดยกลุ่มที่สามคือที่นำโดยซัมซุดดิน ข่าน มีการพูดกันด้วยถึงการที่จะเปิดให้กลุ่มอื่นๆรวมทั้งเอ็นจีโอในพื้นที่เข้าร่วมกระบวนการ

แต่แหล่งข่าวในบีอาร์เอ็นเองบอกว่าพวกเขาไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเกมเรื่องจำนวนคนเข้าร่วมเท่าไหร่ พวกเขาบอกว่า เมื่อมองดูรัฐบาลที่กรุงเทพฯก็เห็นได้ถึงความอลหม่าน และไม่ว่าจะมีเอ็นจีโอ กลุ่มประชาสังคมหรือกลุ่มขบวนการจำนวนมากน้อยเท่าไหร่ก็ตามเข้าร่วมในการพูดคุยในครั้งต่อไป ก็คงไม่มีผลกระทบ ถ้าแกนนำตัวจริงของบีอาร์เอ็นกับกลุ่มยูแวในพื้นที่ไม่เห็นชอบด้วย และความพยายามใดๆในอันที่จะกู้เรือที่กำลังจะล่มลำนี้ที่ยังคงเรียกกันว่ากระบวนการสันติภาพก็คงจะต้องเผชิญหน้ากับการแก้มืออย่างเกรี้ยวกราดจากฝ่ายขบวนการที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพครั้ง

แน่นอนกระบวนการสันติภาพปาตานี จำเป็นต้องเกิดขึ้น แม้ที่ผ่านมายังไม่เป็นผลและอาจจะทำให้ "ความใว้วางใจ" ที่เป็นหัวใจของการพูดคุยได้ลดบางลงและพร้อมที่จะขาดสะบั้น หากเราไม่เร่งรีบจะถักทอเส้นทางสันติภาพสายใหม่ร่วมกัน หวังเป็นอย่างย่ิงว่า กระบวนการสันติภาพปาตานีจะดำเนินต่อไป