มองจากปัญญาชน : พลเมืองไทย บนทาง(แปลก)แยก การเมืองไทย (ตอนจบ)

                                        

                 บทสนทนาปัญญาชนในวงจิบกาแฟ ก่อนหน้านี้ชวนวิเคราะห์ บทบาทนักศึกษา และจุดยืนต่อสถานการณ์ทางการเมือง ที่ย้อนเปรียบเทียบจากขบวนการนักศึกษา เมื่อครั้งอดีต ก่อนจะเชื่อมโยงมาถึงวิกฤติการเลือกตั้ง 2 กุมภาฯ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสถานการณ์การเลือกตั้งหยุดชะงักในพื้นที่ภาคใต้เกือบทั้งหมด แต่เหมือนจะย้อนแย้งกับสถานการณ์การเลือกตั้งในภาคใต้ตอนล่างอย่าง3 จชต./ปาตานี อันชวนให้วิเคราะห์ต่อซึ่งเชื่อมโยงถึงวิกฤติการเมืองระดับชาติที่ดำเนินอยู่ทุกวันนี้

มองการเมืองไทย ไปข้างหน้า

                ชยุตพงศ์  โสภิวรรณ์ แกนนำจากกลุ่มเสรีประชาธิปไตย มองว่าการเมืองไทย ถ้ากลับสู่กระบวนการเลือกตั้งอีกครั้งคิดว่าในระยะเวลา สองสามปีนี้โดยต้องมองข้ามพ้นพรรคการเมืองใหญ่

               “ผมไม่อยากให้คุณมองแค่ประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทย สังคมไทยยังมีพรรคการเมืองให้คุณเลือกอีกเยอะมาก และผมอยากให้คุณมองนโยบายมากกว่าตัวบุคคล แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าการเมืองไทยต้องเปลี่ยนและต้องทำให้ได้คือ การจัดระบบให้เกิดขึ้นในสังคมไทยสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าการเมืองไทยมันควรจะเดินในระยะเวลาสองสามปีนี้ก็คือการไม่รัฐประหาร ถ้ารัฐประหารเมื่อไหร่คุณจะกลับไปสู่ ที่เก่า อีกครั้ง และมันก็จะไม่จบ ถ้าคุณอยากให้การเมืองมันจบและเดินหน้าไปเรื่อยๆ ทุกคนต้องลงมาสู่การเมืองแบบรัฐสภาอีกครั้ง”

                อัสริ  ปาเกร์ ตัวแทนจากพรรคกิจประชา มอ.ปัตตานี มองคล้ายกันว่า ผมเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ความเป็นประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตย มันทำให้ผมสามารถนั่งพูดได้ตรงนี้ มันทำให้คนหลายๆคนสามารถที่จะแสดงออกทางการเมืองได้ เป็นสิ่งที่ทำให้ผมเชื่อมั่นว่าระบบประชาธิปไตยเป็นระบบที่ดีกว่าระบบอื่นๆ

               “ผมมองอนาคตของประเทศอยู่สองทิศทาง ทิศทางแรกคือ ประเทศไทยอยู่ในวังวนของการเมืองเสื้อสีอย่างที่นักวิชากรหลายๆท่านได้กล่าวไว้ ถ้าคุณยังยึดติดกับการเมืองเสื้อสี ประเทศไทยก็ไม่สามารถที่จะเดินไปข้างหน้าได้ การเมืองเสื้อสีไม่ทำให้คนมองสังคมหรือมองผู้อื่นในหลายๆมุมมอง อันนี้คือข้อเสีย คือไม่ว่าสีของตัวเองจะพูดอย่างไร จะบอกอย่าไรก็จะเชื่อตลอด จะตามตลอด และไม่เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว นี่คือข้อเสียของการเมืองเสื้อสีการที่ประเทศไทยไม่เกิดความสูญเสียใด ก็จะก้าวไม่พ้นและจะกลับไปสู่วังวนเดิม”

ฤา ภาวะสุกงอม อาจต้องแลกด้วยการสูญเสีย

                อัสริ วิเคราะห์ว่าถ้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดความสูญเสียหรือเกิดปรากฏการณ์บางอย่างขึ้นในสังคมที่ทำให้คนในสังคมจดจำ และเป็นข้อคิด เช่น การนองเลือด หรือสงครามกลางเมือง เชื่อว่าถ้ามันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นแนวคิดของคนจะเปลี่ยนทันที

               “ จากเหตุการณ์ที่ต้องมีการสูญเสีย ผมมองต่อว่าจะเกิดการปฏิรูปพรรค ประเทศไทยก็จะไม่สามารถก้าวพ้นจาก อำนาจของกลุ่มคนคนเดิม พรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ก็ดี ไม่ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากเท่าที่ควร เพื่อไทยเป็นรัฐบาลตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ไม่ได้เปิดพื้นที่ทางความคิด ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนแสดงออก ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้ความจริงกระจ่างขึ้นหรือถูกเปิดเผย ประชาธิปัตย์ก็เป็นรัฐบาลเมื่อปี 2551 บอกว่าจะแก้ไขปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ไม่ได้แก้ไขปัญหา อันนี้ผมถึงมองว่าผลเสียของพรรคสองพรรคนี้คือใช้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเครื่องมือทางการเมือง”

                “ตั้งแต่ผมฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และที่ผมจำความได้ ไม่มี สส.ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำความจริงเข้าไปพูดในสภาเลยว่าที่นี่แท้ที่จริงมันเกิดอะไรขึ้นแน่ มันมีสาเหตุมาจากอะไร แต่ผมฟังก็คือ นำสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปโยนเป็นความผิดให้ฝ่ายตรงข้าม ผมเสียใจมาก ที่คนในพื้นที่ได้เลือกให้ไปเป็น สส. ให้ไปเป็นผู้แทนของประชาชน กลับไม่นำความจริงเหล่านี้ไปพูดให้คนทั่วประเทศได้ฟัง อันนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ผิดพลาดทางการเมือง”

                “การปฏิรูปพรรคเองก็ดี ผมคิดถ้าจะทำให้การเมืองก้าวออกไปจากความขัดแย้งได้ พรรคเพื่อไทยจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปพรรค ทำอย่างไรก็ได้เพื่อไม่ให้สิ่งต่างๆที่พรรคดำเนินการ ไปยึดติดกับคนเพียงคนเดียว วันนี้ผมเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยยึดติดกับคนเพียงคนเดียว ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็ดี ก็จะต้องปฏิรูปพรรค ว่าจะทำอย่างไรให้คนในประเทศยอมรับในตัวเองมากขึ้น”

                “ผมเสียดายอยู่เหตุการณ์หนึ่งก็คือ เหตุการณ์ พรบ. นิรโทษกรรม ผมคิดว่าถ้าพรรคประชาธิปัตย์มองเห็นถึงจุดเด่น ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี จากการออก นิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทย ผมคิดว่าประชาธิปัตย์น่าจะนำจุดบางจุดนี่ไปเป็นข้อแก้ไขและก็พัฒนาพรรคตัวเอง เพราะว่าว่าหลังจากที่พรรคเพื่อไทยออก พรบ.นิรโทษกรรมสร้างความเสียหายอย่างมากให้เกิดกับพรรคเพื่อไทย ถ้าประชาธิปัตย์หยุดการเมืองข้างถนน แล้วมาเล่นการเมืองแบบรัฐสภา ประชาธิปัตย์อาจจะได้รับการจัดตั้งเป็นรัฐบาล ถึงแม้ว่าเสียงส่วนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์จะไม่สามารถสู้พรรคเพื่อไทยได้ แต่ยังมีพรรคร่วมอื่นๆที่อาจจะเปลี่ยนมาอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ก็อาจจะเป็นได้เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญสองประการก็คือการปฏิรูปพรรคและปฏิรูปตัวคนในพรรค เป็นสิ่งที่จะทำให้เราก้าวพ้นหรือก้าวข้ามความขัดแย้งที่กำลังเกิด ณ ปัจจุบันไปได้”

ทางออกของทุกฝ่าย เปลี่ยนความรุนแรง เป็นการเลือกตั้ง

                ขณะที่วุฒิพงศ์  บอซู แกนนำกลุ่ม ดรีมเซาท์มีมุมมองที่แตกต่างออกไปว่า จากสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังดำเนินในปัจจุบันมันสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยใกล้เข้าถึงจุดแตกหัก คือเห็นคนถูกยิงหรือถูกฆ่า เป็นเรื่องสนุก สะใจ เฉยชา

               “ในอดีตเวลาจะมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจย่อมมีความรุนแรงเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้มันทำให้เกิดระบบใหม่ขึ้นมานั่นก็คือ ประชาธิปไตย มาเลือกตั้งกัน คือเปลี่ยนบังเกอร์มาเป็นคูหาเลือกตั้ง ปืนมาเป็นปากกา และลูกปืนมาเปลี่ยนเป็นผลโหวด จากอดีตที่เราฆ่ากัน เมื่อเปลี่ยนผ่านก็เปลี่ยนมาเป็นการเลือกตั้ง เพื่อให้ความคิดที่แตกต่างกันสามมารถที่จะอยู่ร่วมกันได้ อย่างที่ผ่านมาในอดีต อย่างการเลิกทาสมันส่งผลอย่างไร คนในอเมริกาเกิดสงความการเมือง การเลือกตั้งมันทำให้คนเราเห็นต่างกัน แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้

ถกเถียง สนทนา

               ผู้เข้าร่วมคนหนึ่ง แลกเปลี่ยนว่า การพยายามเข้าถึงความขัดแย้งกันในทางการเมืองด้วยความเข้าใจกันกับการมองปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ได้เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นทางตรง ทางอ้อม ในระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมาสามารถเป็นบทเรียน และอธิบายถึงภาวการณ์เมืองไทยที่เป็นอยู่ได้เป็นอย่างดี
            
              “นิยามคำว่าประชาธิปไตยในประเทศไทย ณ ขณะนี้มีได้หลายคำนิยาม อาทิเช่น กลุ่ม 2 กลุ่มที่นิยามประชาธิปไตยที่ต่างกัน กลุ่ม 1 นิยามว่าด้วยภายใต้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ซึ่งอีกกลุ่ม 1 ได้นิยามว่า เสรี แต่หากนิยามตามชาติตะวันตก คำว่า ประชา → ประชาชน →อธิปไตย →อำนาจปกครอง สรุป อำนาจปกครองเป็นของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติมันไม่ใช่การใช้อธิปไตยเพื่ออำนาจของตนเองสนองความต้องการภายใต้การอ้างอธิปไตยมาเพื่อผลประโยชน์ของตนโดยประชาชนเป็นเครื่องมือ ส่วนนักศึกษาปัจจุบันเองก็ไม่มีอุดมการณ์เป็นของตนเอง เป็นเพียงแค่ความเชื่อที่มาจากการสั่งสมและใช้มัน

                                         

                ผู้เข้ารวมคนต่อมา แลกเปลี่ยนว่าจากเหตุการณ์นักศึกษา 2475 อย่างที่รู้กันมาซึ่งเป็นที่น่ายกย่องและนับถือ ส่วนนักศึกษาปัจจุบันนี้  ขึ้นอยู่กับ Social Media ( Facebook )ภายใต้การครอบงำของกระแสสังคมปัจจุบัน มองข้ามประเด็นทางการเมือง บทบาทของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในการใช้สิทธิเลือกตั้ง

                ผู้เข้าร่วมอีกคน แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประเด็นการรัฐประหารว่าการมองสังคมไทยเปรียบได้จากการที่เรานั่งดูหนังอย่างสนุกแล้วมีคนมาปิดบอกว่าพอแล้ว ไม่ต้องดูแล้วแล้วเปิดเรื่องใหม่ แสดงให้เห็นการไม่เรียนรู้ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

“การขัดขวางโดยการก่อรัฐประหารเป็นจุดด้อยของสังคมไทย สังคมไทยไม่ควรรัฐประหารการมีจุดยืนเป็นของตนเองมีอุดมการณ์เป็นของตนเอง เช่น การเมืองของเสื้อหลากสี คือการตัดเสื้อสีออกแล้วพูดคุยในประเด็นที่เขาต้องการเป็นประเด็นที่สนใจ”

“อุดมการณ์ทุกอุดมการณ์ของสังคมไทยมันผูกติดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมไทย จริงๆปัญหา คือ อุดมการณ์ของการเมืองไทยไม่ได้มองสถาบันพระมหากษัตริย์ในแนวทางทางวัฒนธรรมแต่มองว่าเป็นสถาบันการเมือง ฉะนั้น เราจึงมองการเมืองไทยไม่ออก”

“จากคุณทักษิณ ชินวัตร ที่มองว่ามันไม่ใช่ระบอบการล้มเจ้า แต่มันเป็นการเปลี่ยนจากอุดมการณ์สังคมสงเคราะห์มาเป็นอุดมการณ์การเมืองแบบกินได้ซึ่งเป็นความสนใจของวิวัฒนาการในสังคมไทย มุมมองการเมืองแบบไทยมันผูกติดกับตัวบุคคลมากกว่า นี้คือ ปัญหาของสังคมไทยต้องแยกแยะให้ออกไม่ใช่การเปรียบเทียบทางการเมือง รวมถึงพูดถึงอุดมการณ์นักศึกษาด้วย”

“ส่วนหนึ่งมันเป็นเพราะอุดมการณ์นักศึกษาปัจจุบันก้าวหน้าไปไกลไม่เหมือนในอดีต นั้นคือการมองอนาคตของตนเองเป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งใด การมีสังคมที่สวยหรู งดงาม ต้องเป็นคนมีหน้ามีตา เป็นเจ้าคนนายคน ไม่ได้มองว่าสังคมตอนนี้เป็นสังคมที่ด้อยพัฒนา โดนกดขี่ ดูถูกอยู่ แต่จะมองว่ามันต่างระดับกันโดยการโดนครอบงำจากอุดมการณ์รักไทยมาตลอด”

                 ผู้เข้าร่วมคนต่อไป แลกเปลี่ยนว่าประเด็นเรื่องสถาบันก่อนหรือหลัง 2475  เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ตั้งแต่ มิถุนายน 2475 เมื่อสถาบันไม่เกี่ยวกับรัฐการเมืองเป็นที่ซึ่งพึ่งพาทางจิตใจ

“หนังสือหนึ่ง ชื่อว่า อนาคตแห่งสยาม เมื่อ 2475  เป็นประเด็นการเมืองที่โยงถึงระดับชาติ เมื่อเวลาที่เกิดปัญหากันจะมีการพูดคุยกันเพื่อหาทางออกร่วมกัน การเคารพการตัดสินใจของแต่ละฝ่าย ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อมีผลถึงผลประโยชน์เข้ามามันก็ใช้ไม่ได้กับทุกคนขึ้นอยู่กับทัศนคติของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตามใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสียสังคมไทยกลับได้รับโอกาสการผลิตวาทกรรมซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์กับพลเมืองไทยที่สามารถถกเถียง เรียนรู้ทางการเมืองในอนาคตอย่างแน่นอน”

                 ผู้เข้าร่วมคนสุดท้าย แลกเปลี่ยนประเด็นเดียวกันว่า การเคารพและรักในสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตยสามารถอยู่ได้ เช่น ประเทศญี่ปุ่น จากเหตุการณ์ 2475 เริ่มด้วยกลุ่มคนไปสู่ประชาธิปไตยมาหลังๆนี้เห็นได้ชัดว่าเจ็บปวดกันทุกฝ่าย เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง แต่คนที่อยู่รอบๆเป็นคนหยิบยื่นให้สถาบันกษัตริย์เข้ามายุ่งกับการเมือง รักในที่นี้ก็คือ รักที่จะพูดถึงได้ไม่ใช่รักแบบปิดหูปิดตา

                 “จากผลงานวิจัยโดยร้อยละ 80 พบว่า ไม่เข้าใจเหตุการณ์ทางสังคมและตามสังคมไปเนื่องจากกระแส ขณะที่มีเพียงร้อยละ 20 ที่เข้าใจที่ได้มาแสดงจุดยืนของตนเอง เห็นได้จากการสอบถามของนักศึกษาที่ได้เข้าร่วมประท้วงในขณะนี้ คือ การไปเข้าร่วมเพราะเท่ห์ เพราะสนุก ตามเพื่อน อยากเป่านกหวีด อยากมีรูปโพสต์บน( Social Media ) ไม่ได้ใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากอดีตมาปรับใช้กับปัจจุบันเลย”

ทั้งหมดเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมอง ความเห็นภายใต้กรอบของ หลักการ ข้อมูล เหตุผล ที่ยังเห็นความสำคัญใน สิทธิเสรีภาพ ความเป็นพลเมืองของสังคมไทย