เสียงซุบซิบ จากภูเก็ต - ปาตานี : 2 คน 2 มุม ด้วยการเรียนรู้และน่าขบคิด
จดหมายข่าวและกระเป๋าสัมภาระถูกนำมาวางเรียงท้ายรถตู้จนแน่นท้ายรถ พิราบขาวชายแดนใต้กำลังจะบินสู่แดนไข่มุก รถตู้ไม่ประจำทาง มีข้อความข้างรถ “พิราบขาว ชายแดนใต้” ในรถมีผู้โดยสารที่พร้อมจะออกเดินทางยามเช้าในเวลา 7.30 น. ล้อเริ่มหมุนจากสำนักงานปาตานี ฟอรั่ม จังหวัดปัตตานี สู่บ้านบางเทา อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เพื่อไปจัดเวทีเสวนา ในนามของปาตานีฟอรั่ม ณ จังหวัด ภูเก็ต เมืองในฝันของใครหลายๆคน
เมื่อพูดถึงภูเก็ตแล้ว หลายๆท่าน มีจินตนาการที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งกระผมเองก็ไม่เคยไปมาก่อน เลยมีภาพในจินตนาการว่า มีหาดทรายสีขาวสวยงาม เต็มไปด้วยผู้คนนับร้อยนับพัน โดยเฉพาะต่างชาติ จะออกมาตากแดดเต็มหาดทราย จนนึกภาพแบบวิถีชีวิตเดิมๆของคนในพื้นที่ไม่ออก
มุมความคิด เรียนรู้ : มะรูดิง ดามัน คณะรัฐศาสตร์ เอกการปกครอง มอ.ปัตตานี
การเดินทางเที่ยวนี้ มีทั้งทีมงานปาตานี ฟอรั่ม และนักศึกษาฝึกงาน ใช้ระยะเวลากว่าเก้าชั่วโมง ทีมงานปาตานี ฟอรั่ม ก็เดินทางมาถึงบ้านบางเทา จังหวัดภูเก็ต หลายคนเหนื่อยหน่ายจากการเดินทาง และก็ได้พักผ่อนเก็บแรงไว้ลุยงานต่อในวันถัดไป
Start ติดความคิด จากปาตานี สู่ ชุมชนบางเทา จ.ภูเก็ต
เช้าวันถัดมาเราได้เริ่มต้นออกเดินทางโดยนั่งรถตู้ออกไปรับประทานอาหารเช้าโดยมีอดีตนายก อบต.บางเทา เป็นไกด์พาเยี่ยมเยียนเรียนรู้ย่านชุมชนมุสลิมร้านน้ำชาที่อดีตนายกฯ อบต.ได้พาไป ครั้นเมื่อได้เข้าไปสัมผัสกับบรรยากาศ ผมรู้สึกไม่แตกต่างจากบรรยากาศของ 3 จังหวัดภาคใต้มากนัก ยิ่งถ้าเป็นแถว อำเภอโคกโพธิ์ ยิ่งเหมือนมาก เพราะมีประชากรไทยพุทธอยู่มากพอสมควร ณ บรรยากาศตอนนั้น ผมสัมผัสได้ถึงวัฒนธรรม ที่มีกลิ่นอายของความเป็นมลายูอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็น อาหารเช่น มีโรตี ข้าวยำ แตออ ฯลฯ และยังมีวัฒนธรรมการแต่งกายแบบมลายู เช่น การนุ่งโสร่ง ใส่กะปิเยาะ ใส่ผ้าคลุมผม ปิดหน้า เป็นต้น ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เหมือนกับวัฒนธรรมของคนมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้
ต่อมาเราได้ไปเดินชมบริเวณด้านหน้ามัสยิดมุกัรร่ม ชุมชนบางเทา ด้านหน้ามัสยิดมีร้านขายของเรียงราย ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารและขนมพื้นบ้าน ซึ่งบางอย่างก็เหมือนกับ 3 จังหวัด เรานั่งคุยกับลุงคนหนึ่งที่ร้านน้ำชา เขาได้เล่าถึงประวัติของคนมุสลิมที่ภูเก็ต
ลุงคนนั้นเล่าว่า มุสลิมที่ภูเก็ต เป็นชนชาติที่ย้ายมาจากอินโดนีเซียในอดีต และบางส่วนก็ย้ายมาจากปัตตานี ซึ่งบางคนสามารถฟังหรือพูดภาษามลายูได้
“ การที่มลายูได้เข้ามาตั้งแต่ในอดีตนั้น ได้ส่งผลทำให้ชาวภูเก็ตเดิมซึมซับเอาวัฒนธรรมมลายู จะเห็นได้ชัดเจนว่า ความเป็นมลายูได้เข้ามามีอิทธิพลมาก เห็นได้จากซื่อเรียกสถานที่ต่างๆที่มีรากศัพท์มาจากภาษามลายู มีมัสยิดหลายแห่ง และในอดีตก็ยังมีปอเนาะอีกด้วย”
ต่อจากนั้นอดีตนายกฯอบต.บางเทาได้พูดให้ฟังถึงมุมมองของคนภูเก็ตที่ไม่ใช่มุสลิม ต่อคนมลายู 3 จังหวัด โดยมองว่า คนสามจังหวัดมีความคิด วัฒนธรรมที่คับแคบ ไม่เปิดกว้าง คือ อยู่แบบอนุรักษ์นิยม เป็นชนชาติที่คบไม่ได้ เพราะเห็นแก่ตัว ชอบโกง และมีวลีหนึ่งที่คนภูเก็ตใช้เปรียบเทียบคนมลายูคือ “เจองูกับเจอแขก ให้ตีแขกก่อน” เห็นได้ชัดเจนว่าคนต่างถิ่นบางคนจะมีทัศนคติต่อคนมลายู 3 จังหวัด ไปในด้านลบ เหมือนกับสื่อกระแสหลัก ที่พูดเกี่ยวกับ คนมลายู ว่า เป็นชนชาติที่ ด้อยการศึกษา ยากจน และหัวรุนแรง ซึ่งตรงนี้เราคนสามจังหวัดเองเมื่อได้ยินเสียงสะท้อนจากต่างถิ่นแล้วก็จะย้อนกลับมาสะท้อนที่ตัวเราเองด้วยว่า เพราะเหตุใดและเพราะอะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องถอดออกมาและทำความเข้าใจให้กับสังคมต่อไป
ความต่าง-ความเหมือน: มุสลิมภูเก็ต-มุสลิมปาตานี
เราเดินทางต่อไปพบคุณ เจริญ ถิ่นเกาะแก้ว หรือ บังเจริญ เจ้าของรายการวิทยุและรายการเคเบิลทีวีท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต ได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของคนมุสลิมภูเก็ตว่า มุสลิมที่นี่ถือได้ว่าเป็นชนชั้นนำของสังคมภูเก็ต อยู่แนวหน้าไม่แพ้ชนชาติอื่น ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
“การที่มุสลิมภูเก็ตสามารถเข้ามามีบทบาทในแวดวงเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองนั้น ทำให้มุสลิมภูเก็ตมีความเข้มแข็ง ในเรื่องของความเป็นชุมชน แทนที่จะสลายไปตามกระเสความเป็นสมัยใหม่ที่เข้ามา แต่กลับมีการนำข้อดีของความเป็นสมัยใหม่มาใช้ มีการเรียนรู้ และปรับตัว ทำให้เกิดการรวมตัว และชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้น เช่น มีการจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลมุสลิม กลุ่มแม่บ้านผลิตสินค้า OTOP มีการจัดการแบบอิสลาม ร้านสะดวกซื้อบางร้านจะให้ความร่วมมือไม่ขาย ผลิตภัณฑ์ที่ผิดหลักอิสลาม เช่น เหล้า เบียร์”
การเดินทางเรียนรู้ยังคงดำเนินต่อไป เราได้ลงพื้นที่สอบถามความคิดของคนมุสลิมภูเก็ตในครั้งนั้น เราพบว่า ความคิดของคนมุสลิมภูเก็ต ไม่ว่าจะเป็น ในมิติทางด้านศาสนา การศึกษา รวมไปถึงความคิดทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ มีความแตกต่างจากคน 3 จังหวัดอย่างสิ้นเชิง
บังเจริญ มองว่า อิสลามมีความเป็น Modern อยู่ในตัว มันทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงไม่ต่อต้านกระแสความเป็นสมัยใหม่ที่เข้ามา แต่กลับนำเอาข้อดีของความเป็นสมัยใหม่มาปรับใช้ อันเป็นการปรับตัวให้ทันภาวะสมัยใหม่
“ มีการใช้สื่อสมัยใหม่ในการเผยแพร่อิสลาม มีการจัดกิจกรรมการแสดงเพื่อดึงดูดความสนใจและสร้างความแปลกใหม่ มีการเปิดมัสยิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายทั้งกลุ่มเศรษฐกิจ และการเมือง เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางศาสนา เป็นต้น ขณะเดียวกันบางครั้งคนมุสลิมภูเก็ตจะเข้าใจว่า มุสลิม 3 จังหวัด มองว่าความทันสมัยหรือความเป็น modern จะทำให้อิสลามถูกบิดเบือนไป สังคมเสื่อมถอย คนไม่มีคุณธรรม ทำให้คนเห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบกัน และที่สำคัญคือ ความเป็นสมัยใหม่ไปกดทับและทำลายวัฒนธรรมอันดีงามของคนมลายูมุสลิม สิ่งเหล่านี้ มันเป็นสิงที่คนมลายูมุสลิม 3 จังหวัด รับไม่ได้ ซึ่งเป็นผลให้เกิดกระแสการต่อต้านในปัจจุบัน”
ชวนวิเคราะห์ต่อ..
เมื่อเปรียบเทียบทั้งสองพื้นที่แล้ว จะเห็นได้ถึงความคิดที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งความคิดเหล่านี้ ผมมองว่าเป็นผลมาจากการถูกปลูกฝังทัศนคติ และการศึกษาทั้งในสถาบันและนอกสถาบัน คือ สำหรับมุมมองของมุสลิมภูเก็ตนั้นจะให้ความสำคัญ กับมิติทางโลกมากกว่าศาสนา โดยมองว่าโลกนี้ก็สำคัญเพราะจะเป็นพื้นที่ที่ทดสอบ เป็นสนามสอบเพื่อที่จะไปสู่โลกหน้า ความคิดเหล่านี้อาจเป็นเพราะการให้ความสำคัญกับการศึกษาศาสนา-สามัญ ในระดับที่แตกต่างกัน
ขณะเดียวกันชาวมลายูสามจังหวัด จะถูกปลูกฝังการศึกษาศาสนาตั้งแต่เด็กจากพ่อแม่ ต่อมาก็เข้าศึกษาต่อ ตาดีกา ปอเนาะ ตามลำดับ บางคนก็ไปศึกษาศาสนาต่อในต่างประเทศ การศึกษาเหล่านี้เป็นผลทำให้ความคิดของคนสามจังหวัดต่างจากคนมุสลิมภูเก็ต คือให้ความสำคัญกับศาสนามากกว่า เพราะเชื่อว่าในอิสลามมีทุกสิ่งทุกอย่างครบ ทั้งมิติเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ดังนั้นการที่ความเป็นสมัยใหม่เข้ามา และนำเอาวัฒนธรรมการปกครองและเศรษฐกิจแบบใหม่เข้ามา ซึ่งไม่ใช่อิสลาม และยังผิดในหลักการอิสลามอีกด้วย ดังนั้นคนมุสลิมสามจังหวัดจึงให้ความสำคัญในมิติศาสนามาก มองโลกหน้ามากกว่าโลกนี้ โลกนี้จะลำบากก็ไม่เป็นไร ใช้ชีวิตแบบพอเพียง
อีกประเด็นที่ทำให้คนสามจังหวัดไม่สามารถที่จะปรับตัวในภาวะสมัยใหม่เหมือนคนภูเก็ตได้คือ ความไม่รู้ ความกลัว เพราะการที่เราไม่รู้ซึ่งเป็นผลมาจากการการไม่ศึกษาสามัญหรือศึกษามาน้อย โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว เมื่อไม่รู้ก็จะกลัว มองว่าผิดและจะนำไปสู่การต่อต้านความเป็นสิ่งอื่น ความเป็นสมัยใหม่ที่เข้ามา ซึ่งต่างจากคนมุสลิมภูเก็ตที่มีการศึกษา ซึ่งสามารถรู้เท่าทันและนำเอาข้อดีของความเป็นสมัยใหม่มาประยุกต์ ปรับใช้ได้เป็นอย่างดี
ความรู้คือสิ่งสำคัญ ดังนั้นเราจะต้องจัดการกับความรู้อย่างเหมาะสม และนำไปใช้อย่างรู้เท่าทัน โดยไม่ถูกครอบงำ ปัญหา 3 จังหวัดก็เช่นเดียวกัน การแก้ปัญหาและการพัฒนาที่ยั่งยืน คือการให้คนในรู้ คนนอกเข้าใจ และจะต้องรู้เท่าทันในความรู้และความเข้าใจนั้นโดยไม่ตกเป็นเครื่องมือของความรู้
มุมกระซิบ: อับดุลเอาวัล บายา คณะรัฐศาสตร์ เอกปกครองท้องถิ่นชายเเดนใต้ มอ.ปัตตานี
การจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ ภาวะสมัยใหม่และความสับสน “คน” หรือ “ชุมชน” ที่เปลี่ยนไป( บทสะท้อนจากภูเก็ตสู่ชายแดนใต้) ในครั้งนี้ ทำให้รับทราบถึงความรู้สึกบางอย่างที่พี่น้องมุสลิมชาวภูเก็ตได้บอกกล่าวมา เป็นเสียงสะท้อนที่ต้องใช้ความคิด พิจารณา ไตร่ตรอง เคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
มุสลิมภูเก็ตคนนั้นสะท้อนว่า รู้สึกน้อยใจพี่น้องมุสลิมที่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้อย่างมาก ในประเด็นการศึกษา เพราะสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้รับโอกาสทางการศึกษามากกว่า เนื่องจากองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในและนอกประเทศมีการให้ทุนการศึกษา แด่พี่น้องมุสลิมสามจังหวัดชายแดนใต้มากมาย ส่วนจังหวัดอื่นก็มี แต่ไม่มากเท่ากับ 3 จังหวัดชายแดนใต้
“อีกอย่างหนึ่งจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีการเสียภาษีให้กับรัฐมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งภาษีเหล่านี้เองส่วนหนึ่งก็กลายไปเป็นทุนการศึกษาให้กับพี่น้องสามจังหวัดชายแดนใต้ นับว่าเป็นการดี แต่ถ้าจะให้ดีมากกว่านี้และเพื่อความสมดุล ในการกระจายทุนให้เท่าเทียมหรือมากกว่าเมื่อเทียบกับอัตราการเสียภาษีของชาวภูเก็ตที่มากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ”
ถึงจะต่าง แต่อาจจะมีความต้องการคล้ายกัน
มุสลิมภูเก็ตคนเดิม ยังเห็นเพิ่มเติมว่า แต่อย่างไรก็ตามพื้นที่ทั้งสองมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด พื้นที่หนึ่งมีความเจริญแบบสุดๆ แต่อีกพื้นที่หนึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้ง บางคนก็บอกว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่เขตสงคราม แต่มีสิ่งที่เหมือนกันก็คือ การเรียกร้องเขตปกครองพิเศษหรืออะไรก็แล้วแต่ที่นำมาซึ่งการจัดการตนเองได้ ซึ่งทางจังหวัดภูเก็ตได้มีการให้องค์ความรู้เกี่ยวกับภูเก็ตจัดการตนเอง โดยผ่านสื่อวิทยุ และสื่อโทรทัศน์ดาวเทียม เพื่อเตรียมพร้อมในอนาคต”
“ นอกจากนี้กระแสการเรียกร้องเขตกฎหมายพิเศษในปัจจุบัน นับว่าเป็นกระแสที่น้อยนิด ยังไม่แพร่หลาย ทั้งๆที่เขตปกครองพิเศษเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ปัญหาต่างๆในสังคมได้ดีที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน และตอบโจทย์ความรู้สึกที่รวมไปถึงประเด็นอ่อนไหวของคนภูเก็ตที่มีความน้อยใจต่อรัฐกรณีการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดอีกด้วย ”
“ฉะนั้นแล้วผมคิดว่า เราน่าจะสร้างกระแสหรือปลุกให้ชาวบ้าน ชุมชน ได้เห็นความสำคัญในการกำหนดอนาคตชุมชนของตน เพื่อที่จะสร้างอำนาจต่อรอง ต่ออำนาจจอมปลอมที่เรียกตนเองว่ารัฐบาล สิ่งที่เราน่าจะได้ในสิ่งเราร้องขอ ในข้อเท็จจริงแล้วการสร้างเขตปกครองพิเศษนั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่รัฐบาลเขาอาจจะมีความรู้สึกกลัวว่า ชาวบ้านในเขตปกครองพิเศษดังกล่าวจะกระทำการแยกตัวออกจากประเทศไทย ไปเป็นประเทศใหม่ ” เสียงสะท้อนจากชาวภูเก็ตคนหนึ่ง
ทั้งหมด นับเป็นการเดินทางที่คุ้มค่า ในฐานะเยาวชนมลายูปาตานี หวังให้เป็นเรื่องเล่า สู่ การทำความเข้าใจกันต่อไป….