“Hate-speech” ข้อมูลอันตราย ความรู้ ความลับ ข่าวลือ ตอนที่ 1

Hate-speech” ข้อมูลอันตราย ความรู้ ความลับ ข่าวลือ ตอนที่ 1

กองบรรณาธิการปาตานี ฟอรั่ม

ลมหวนกลับมาอีกครั้ง Patani café พื้นที่สาธารณะ พื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อสร้างการตื่นรู้ของทุกคน ทุกกลุ่ม หลังมีการจัดไปแล้วเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา  การกลับมาของ Patani café แต่ละครั้งจะมาพร้อมกับประเด็นใหม่ๆเสมอ เฉกเช่นเดียวกับ  Patani café ครั้งนี้ในหัวข้อที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง คือ Hate-speech : ข้อมูลอันตราย ความรู้ ความลับ ข่าวลือ การตอบโต้ทางการเมือง โดยมีนักวิชาการคนรุ่นใหม่ ไฟแรงนำเสวนาอย่าง ดร.ชาญชัย ชัยสุขโกศล อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งนักกิจกรรมทางสังคมและนักศึกษาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ณ บรรยากาศที่ทำให้ใครหลายๆคน ได้แวะเวียนเข้ามาแล้ว ต้องกลับไปด้วยความรู้สึกที่ลืมยาก คือที่เดิมแห่งความอบอุ่น ร้านหนังสือบูคู อยู่ตรงถนนหนองจิก ซอยสาม อ.เมือง จ.ปัตตานี

วง Café พูดคุยครั้งนี้ เราเริ่มต้นกันอย่างง่ายๆในหัวข้อที่ตั้งไว้ ด้วยคำถามที่หลายๆคนสงสัย นั่นคือ Hate-speech คืออะไร ตามความเข้าใจเบื้องต้นแล้ว ประโยคนี้ก็คือ การพูด เขียน แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ที่มุ่งโจมตี ประจาน สบประมาท ข่มขู่ ผู้ถูกกล่าวหาอย่างร้ายแรงจนก่ออันตรายได้ แม้หยุดก่อนความรุนแรงกายภาพ แต่หากจะให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ดร.ชาญชัย ผู้ซึ่งทำการศึกษาวิจัย อธิบายว่า คำว่า   Hate-speechในที่นี้ กินความทั้งเรื่องคำพูดและปฏิบัติการด้วย

“ Hate-speech เป็นการแสดงออก ทั้งทางคำพูด ข้อเขียน และการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อื่นๆ ที่มุ่งโจมตี ประจาน สบประมาท หรือข่มขู่ ผู้ถูกกล่าวถึงอย่างร้ายแรง (extreme) ถึงขั้นที่ประหนึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำร้ายหรือก่อภยันตรายต่อผู้ที่ถูกกล่าวถึงได้ แม้ว่าการรุกเร้าจะหยุดอยู่ ณ จุดหนึ่งที่ใกล้เคียงมาก ก่อนที่จะถึงจุดที่เป็นการส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรงทางกายภาพต่อมนุษย์หรือวัตถุสิ่งของ แม้โดยปกติแล้ว hate speechใช้ประเด็นเรื่องสีผิว เชื้อชาติ ศาสนาและเพศ เป็นแกนเรื่องหลัก แต่ก็สามารถขยายครอบคลุมได้แทบประเด็นทั้งชนชั้น ฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา อุดมการณ์ และอื่นๆ”

คำถามต่อมาที่วง Café สงสัย คือ เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องต่อเราตรงไหน คำตอบที่ได้จาก ดร.ชาญชัยชี้ให้เห็นปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้ ทำให้เรื่อง Hate speech เป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างยิ่ง

“ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ บ้านเมืองเราใช้อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร อื่นๆที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนทางการเมือง (ทั้งขบวนการเสื้อเหลืองและขบวนการเสื้อแดง) กันอย่างมากมาย และจำนวนไม่น้อยเลยที่เป็นการสื่อสารชนิดก้าวร้าว ยั่วยุจนถึงขั้นที่บางครั้งส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรง หลายกรณีไต่เส้นขอบเขตการเซ็นเซอร์ โดยใช้เทคนิคขั้นสูงทำการพลิกแพลงการสื่อสารเพื่อยั้งไว้ไม่ให้ถึงเส้นบ้าง ในขณะที่หลายครั้ง ก็ล้ำเส้นไปแล้วบ้างเช่นกัน”

ดร.ชาญชัย ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการทำวิจัยเรื่องนี้ว่า ด้วยความตระหนักต่อสถานการณ์การเมืองไทยที่เกิดขึ้น ทั้งหมดนี้ ทำให้ผมมานั่งคิดใคร่ครวญว่า สังคมเราจะทำอย่างไรกับเหตุการณ์เช่นนี้ดี ถ้าคิดจะเซ็นเซอร์ เราควรมีวิธีคิดหรือเกณฑ์การตัดสินอย่างไร? แต่ถ้าไม่เซ็นเซอร์โดยยึดมั่นในหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เราจะรับมือกับเรื่องทำนองนี้อย่างไร?

“ในเชิงปรากฏการณ์นั้น สามารถพิจารณาเรื่องราวข้างต้นได้จากหลากหลายแง่มุม หลังจากผมได้ทำการค้นคว้างานวิจัยที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ทำนองนี้อยู่ระยะหนึ่ง สลับกันไปกับการนิ่งฟังเสียงข้อกังวลลึกๆที่อยู่ในใจของผมเอง จึงได้ข้อสรุปตกลงใจกับตัวเองว่างานศึกษาเรื่องทำนองนี้มีมากมายหลายสำนักคิด ในขณะที่ข้อกังวลใจของผมนั้น แท้จริงแล้ว อยู่ที่เรื่องการแสดงออกซึ่งความเกลียดชัง ดังนั้น จึงน่าจะใช้แนวคิด Hate speech ในการทำการวิจัย นอกจากนี้ เมื่องานวิจัยดำเนินไประยะหนึ่ง

“อีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งใกล้เคียงกันอย่างมาก และสมควรนำมาพิจารณาควบคู่กันไปด้วย คือเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นอันตราย (harmful information) ต่อมนุษย์ ดังนั้น จึงเพิ่มเนื้อหาส่วนนี้เข้าไปในงานวิจัยด้วยเช่นกัน”

สิ่งสำคัญแล้ววง Café พยายามใช้หลักการวิเคราะห์จากข้อมูลทางวิชาการ และข้อเท็จจริงจากปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของประชาชนคนไทย ซึ่งน่าสนใจว่า ปรากฏการณ์ Hate speech เป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องมาระมัดระวังให้มากขึ้น วง Café พบว่า ประชาชนคนไทยวันนี้ เราเกลียดกันมาก เกลียดฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับอุดมการณ์ ความคิด สีเสื้อของเรา  บ้านเมืองกำลังแตกออกเป็น 2 เสี่ยง หรือมากกว่านั้น ไม่สามารถไว้วางใจกันได้อีกต่อไป  โดยเฉพาะประเด็นที่มีความอ่อนไหวต่อระบบสถาบันกษัตริย์ ประชาชนคนไทยต่างเกลียดกันเพราะมีความคิดที่แตกต่างในเรื่องนี้ ผู้คนต่างถูก "กาหัว" ว่าเป็นสีเหลือง สีแดง สลิ่ม ด้วยท่าทีแบบเหยียดหยัน รวมทั้งบางคนถูกแต้มสีว่า รัก/ไม่รัก ด้วยความรู้สึกภูมิใจ

ดังนั้นหากมองแนวโน้มในอนาคตวง Café มองว่า กรณีทะเลาะกันด้วยเรื่องสีเสื้อจะยังคงแตกแยกกันยืดเยื้ออย่างนี้กันต่อไป จะไม่มีใครสามารถชนะใครได้โดยเด็ดขาด กรณีเรื่องรัก ไม่รักนั้น ถ้าไม่สามารถจัดการกับความเกลียดชัง ความไม่ไว้วางใจกัน จะยิ่งลำบาก เพราะจะมีผู้เข้าข่ายคนที่คิดต่างมากขึ้นเรื่อยๆ และก็จะยิ่งทำให้เกิดกระแสต่อต้านการ "กาหัว" เหมารวมว่าคนนั้นคนนี้ไม่จงรักภักดีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็จะยิ่งทำให้เรื่องราวหมุนวนบิดเกลียวสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ว่านั่นไง เห็นหรือไม่ มีคนไม่รักชาติเยอะแยะเลยไอ้พวกที่จะไปช่วยคนที่ไม่รักชาติ ล้วนแต่เป็นฝ่ายเดียวกับพวกต่อต้านสถาบันฯทั้งสิ้นซึ่งเรื่องราวก็จะยิ่งไปกันใหญ่

มาถึงตรงนี้ ดร.ชาญชัย เปรียบเทียบให้เห็นดุจเดียวกับที่มีในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเรวันดา ซึ่งมีคนตายถึง 800,000 คนภายในเวลาเพียง 100 วัน  (เฉลี่ยทุกๆชั่วโมงจะมีคนถูกฆ่า 333 คน) เมื่อชาวฮูตูฆ่าชาวตุ๊ดซี่ (ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น "แมลงสาบ") ไประยะหนึ่งก็เริ่มพูดว่าฮูตูทั้งหลายที่ไปช่วยชาวตุ๊ดซี่ก็ถือว่าเป็นพวกแมลงสาบไปด้วยเช่นกัน (นัยความหมายคือต้องฆ่าทิ้ง)

ดังนั้นวง Café วิเคราะห์กันว่า ในขณะเดียวกัน สำหรับคนที่พยายามตั้งคำถามเรื่องความไม่จงรักภักดีต่อชาติ (หากตั้งใจมองอย่างดีที่สุด โดยไม่ใช้ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง)

“ด้วยความเคารพและหวังดีกับการคงอยู่ของทุกโครงสร้างของรัฐไทยต่อไปในอนาคตดังที่ในหลวงเคยบอกไว้ว่า The King can Do Wrong ซึ่งแปลเข้าใจโดยง่ายว่าผู้นำทั้งหลายล้วนต้องการให้มีคนกล่าวตักเตือนด้วยไม่ให้พลาดพลั้งเพลี่ยงพล้ำในหลายๆเรื่องไม่อย่างนั้นพระราชภาระทุกอย่างจะตกอยู่แก่พระวินิจฉัยส่วนพระองค์เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องลำบากมากๆที่จะต้องคิดและตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆระดับบ้านเมืองด้วยตัวคนเดียว หรือแค่ข้าราชบริพารใกล้ชิดส่วนตัวเท่านั้น”

ดังนั้นจึงน่าสนใจว่า คนที่ถูกหาว่าไม่รักชาติ ก็ไม่ได้ละเอียดอ่อน (Sensitive) มากพอ ว่าแม้เราจะได้ชื่อว่าอยู่ในยุคประชาธิปไตยสมัยใหม่ ที่ถือว่าทุกคนใช้เหตุใช้ผลและค่อนข้างเท่าเทียมกันก็ตาม แต่หลายคนยังให้ความเคารพหลายอย่าง ยกระดับถึงขั้นเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ได้อยู่เช่นกัน

(แม้ในสังคมประชาธิปไตย) และถ้าไม่ระวังก็อาจทำให้เกิดเหตุการณ์แบบที่นักเขียนการ์ตูนชาวเดนมาร์กใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น วาดรูปล้อศาสดาโมฮัมหมัด โดยมีลูกระเบิดอยู่ที่ผ้าโพกศีรษะ แล้วเกิดปฏิกิริยารุนแรงตอบกลับจากคนมุสลิมทั่วโลก

น่าคิดว่าคนไทยรู้สึกต่อสถาบันต่างๆของสังคมไทยในระดับมีความศักดิ์สิทธิ์แบบเดียวกันนี้ มิตรภาพระหว่างเพื่อนด้วยกันเอง ถ้าเราไม่ระวังมากเพียงพอ ก็อาจทำให้เสียน้ำใจกันได้เลย แต่นี่อีกฝ่ายเห็นว่าศักดิ์สิทธิ์ในขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าต้องวิจารณ์หรือตั้งคำถามได้ ดังนั้น ต่อให้ตั้งใจดีแค่ไหน มีความจริงใจขนาดไหน ถ้าไม่ระมัดระวังถนอมน้ำใจกันให้ดี ก็จะยิ่งกลายเป็นชนวนก่อเหตุให้บานปลายกลายเป็นความรุนแรงทางกายภาพได้ง่ายมาก

โดยเฉพาะในยุคข้อมูลข่าวสารเช่นนี้ ความเข้าใจผิดเพียงเล็กน้อย สามารถถูกขยายความร้ายแรงออกไปได้เป็นทวีคูณ จากการพูดปากต่อปากทางออนไลน์คนละเล็กคนละน้อย(โดยที่อาจไม่มีใครตั้งใจให้ร้ายอีกฝ่ายเลยก็ยังได้) จนในที่สุดผู้กล่าวถึงสิ่งที่อีกฝ่ายรู้สึกศักดิ์สิทธิ์ กลับกลายเป็นคนที่เลวร้ายจ้องทำลายล้างสิ่งสูงสุดที่อีกฝ่ายเคารพ ไปได้เช่นกัน

ดังนั้นจำเป็นที่เราต้องเฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมรับมือเรื่องนี้อย่างรีบด่วน ซึ่งปาตานี ฟอรั่ม จะนำมาเสนอต่อไปใน ตอนที่ 2