แดนสาหรี่ในทัศนะข้าพเจ้า ๓

แดนสาหรี่ในทัศนะข้าพเจ้า  ๓   

                            อับดุรเราะฮหมาน  มูเก็ม [1]

ปีก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าได้ทอดน่องเข้าไปในย่านการค้าของเมืองหลวงในประเทศอินเดีย ซอกซอยแถบนั้นไม่ต่างจาก ถนนข้าวสารบ้านเราดี ๆ นี่เอง เป็นที่มักคุ้นของนักเดินทาง นักท่องเที่ยวและนักย่องเบา

Pahar Kanj พื้นที่แถบนี้กลายเป็นที่รองรับอารมร่วมของเพื่อนร่วมโลก พื้นที่เล็ก ๆ ร้านค้าขนาดย่อมได้เรียงรายในพื้นที่ย่านนี้ ทุกอย่างเป็นสถานรองรับชาวต่างชาติ จุดขายที่ดีที่สุด ณ พื้นที่แห่งนี้คือ “วัวและขอทาน” จนข้าพเจ้ามองเห็นและเยนรู้ว่า “ต่างส่วนต่างอยู่กันอย่างฉันท์มิตรและลงตัว”

ชายแก่คนหนึ่งเดินผ่านมา ขาข้างหนึ่งถูกแทนที่ด้วยไม้ ขาอีกข้างเสียดลงพื้นอย่างแรงเพื่อเร่งจังหวะก้าวผ่านซอกซอยผู้มีอันจะกิน ชายเฒ่าไม่ได้ร้องขอบางอย่างจากเรา เขาไม่ได้ขอเศษอาหารหรือเศษเงินจากนักเดินทาง แต่พยายามแสดงให้เราเห็นถึง “ความน่าสมเพศ” ของนักเดินทางอย่างเรากับการใช้ชีวิตผลาญเล่นไปวัน ๆ

ข้าพเจ้าได้แต่ถามว่า “มาจากไหน แล้วจะไปไหน”

ปากของชายเฒ่า พร่ำบอกว่า “มาจากเมืองลักเนาว์ (ห่างจากเมืองหลวงใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑๒ ชั่วโมง หรือ ประมาณ ๘๐๐ กิโลเมตร)”

ข้าพเจ้ามองไปยังเท้าอีกข้างที่หายไปนานแล้ว ขาอีกข้างที่ยังทรงพลังเหมือนวันเก่าได้ตอกย้ำข้าพเจ้าให้ชำเลืองไปรอบ ๆ บนไม้เท้ามีห่อกับข้าวและขวดน้ำแขวนเรียงราย ปากเพ่งบอกสถานที่จากมา ข้าพเจ้าได้แต่มึนงงเป็นไหน ๆ  ทว่าไม่นานข้าพเจ้าต้องหลั่งน้ำตาออกมา เมื่อ ข้าพเจ้าถามชายเฒ่าว่า จะไปไหน เขาไม่ได้พึมพรำอะไรนอกจากบอกว่า

“ไม่รู้จะไปไหน แต่เท่าที่รู้ หากไม่ไปก็ ไม่มีอะไรจะกิน” ชายเฒ่าตอบพร้อมปาดเหงื่อที่ไหลโทรมกายกลางอากาศร้อนของเที่ยงวัน

ข้าพเจ้าได้แต่ทวนคำพูดของชายเฒ่าพร้อมสำลักคราบน้ำตาแม้มันจะออกมาแบบแห้งกรังบนใบหน้า

“ไม่รู้จะไปไหน แต่เท่าที่รู้ หากไม่ไปก็ ไม่มีอะไรจะกิน” เขาบอกข้าพเจ้าจนน้ำตาข้าพเจ้าเลอะเปรอะสองแก้ม

ส่วนที่เป็นไปของประเทศนี้ ได้เพียงทำให้ผู้มั่งมีเสวยสุขบนหลังของผู้ยากจน คนรวยหลักพันล้านติดอันดับโลกตอนนี้มีประมาณ ๗๕ คน แต่คนจนอีก ๘๐ ล้านคนที่มีรายได้ไม่ถึงวันละ ๒๐ รูปี มันคือ “ความโหดร้ายของสังคมและความเหลื่อมล้ำก้าวกระโดด”

มันคือความต่างอย่างดีและส่วนหนึ่งที่สังคมใหญ่พยายามหาทางออกมาโดยตลอดในการจัดการ คือ “จัดการความไม่เหมือนและความเหลื่อมให้พอทุเลาลง”

ไม่นานมานี้ ข้าพเจ้าได้ทองน่องไปร้านขายชาในตรอกเล็กของประเทศอินเดียย่านเมือง Aligarh  ที่เพื่อนนักศึกษาไทยได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ร้านชาแห่งหนึ่งมักเสิร์ฟเครื่องดื่มด้วยแก้วดินเผา ข้าพเจ้ารับนมสดท่ามกลางอากาศหนาวผ่านแก้วใบดังกล่าว

เมื่อดื่มเสร็จ ลูกค้าทุกคนในร้านได้ขว้างแก้วใบนี้ลงกับพื้น และพื้นที่หน้าร้านเต็มไปด้วยแก้วชาและเศษซากจากเครื่องปั้นดินเผาที่นำมาผลิตแก้ว ข้าพเจ้านั่งเพ่งมองอยู่นาน นิสัยคนไทยอย่างข้าพเจ้าอยากจะเก็บอะไรที่เราได้ชิมและลิ้มลองติดไม้ติดมือกลับบ้านเป็นธรรมดา

เมื่อข้าพเจ้าลุกจากสถานที่นั้น เจ้าของร้านบอกข้าพเจ้าว่า ให้ขว้างแก้วชาดังกล่าวลงกับพื้น ข้าพเจ้ามึนงงอยู่นาน จนในที่สุด ความสงสัยมันเริ่มก่อตัวขึ้น ข้าพเจ้าก็เลยถามว่า “มันสำคัญขนาดที่ ข้าพเจ้าต้องขว้างแก้วชาทิ้งเลยเหรอ”

ชายเต้าของร้านบอกว่า  “แก้วใบนี้ราคา ๒๕ แปซา หรือ ประมาณ ๔ ใบเท่ากับ ๑ รูปี มันมีราคาน้อยแต่พอที่จะมากมายสำหรับผู้คนในย่านนี้

 ข้าพเจ้าบอกว่า “ราคาขนาดนี้ ทำไม ข้าพเจ้าจะนำมาเก็บไว้เป็นที่ระลึกในห้องไม่ได้”

 ชายผู้นั้นจึงบอกว่า “ทุกคนมากินต้องขว้างแก้วทิ้งหลังกินเสร็จเพื่อทำลายแก้วใบดังกล่าว อย่างน้อยการทำลายแก้วใบเล็กราคาแค่ ๒๕ แปซา (๑๐๐ แปซา เท่ากับ ๑ รูปี) พอที่จะช่วยให้คนจน ๆ คนหนึ่งผลิตใบใหม่และรักษาอาชีพดังกล่าวให้อยู่ได้ในแต่ละวัน”

จึงไม่แปลกที่ทุกคนได้แต่ขว้าง ในมุมของวัฒนธรรมดังกล่าวที่พยายามให้ทุกคนขว้างมันอาจจะดูเป็นวัฒนธรรมแข็ง โหดและน่าสมเพศ แต่ในมุมกลับกัน การกระทำดังกล่าวคือ “การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และรากหญ้าอย่างแท้จริง”

ส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือกันในมิติของวัฒนธรรมชุมชน คือ การที่คุณได้เข้ามาในร้านแล้วนั่งดื่มกินชา สักแก้ว เมื่อกินเสร็จก็ได้ขว้างมัน วิธีการนี้ คุณได้ทำบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือ การสนับสนุนให้เขาพยุงตัวเองด้วยการทำอาชีพหลักของครอบครัวเพื่อสร้างรายได้และหลีกเลี่ยงจากการแบมือขอคนอื่นกิน  และคุณคือ ผู้ได้ซึมซับวัฒนธรรมและขนบที่สามารถช่วยคนอื่นได้โดยไม่รู้ตัวผ่านกรรมวิธีแบบชาวบ้านที่กำลังเป็นไป

มิติของชุมชนมีทางออกสำหรับปัญหาเหล่านี้เสมอ ไม่ต่างจากคนจนและชนชั้นล่างในประเทศนี้ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเก็บอุจาระที่ตกมาจากก้นของวัวและควาย เด็กเล็กและหญิงสาวท่ามกลางชุดสาหรี่แบบหลากสี ได้รอคอยการกินมื้อเย็นและมื้อเช้าของควายตัวโปรดเพื่อนำอุจาระของมันมา “สะสมและสร้างปติมากรรมชิ้นเอก”

ผู้คนในเมืองชนบทค่อนประเทศมีหน้าที่ทางสังคมและสาขาอาชีพไม่ต่างกัน ส่วนหนึ่งจากอาชีพเหล่านั้นคือ “คนเก็บขี้วัวและอึควาย”  ถังใบใหญ่วางเรียงรายรอบ ๆ ตัวของสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ ไม่นาน อุจจาระสด ๆ จะหลั่งออกมาจากง่ามก้นของสัตว์เลี้ยง

หญิงสาวและเด็กน้อยได้วิ่งตรงเข้าไปที่กองขี้ดังกล่าวเพื่อโกยสิ่งนั้นด้วยภาชนะ บ้างก็ด้วยท่อนเหล็ก บ้างก็ด้วยมือ แต่ทั้งหมดเหล่านี้เพื่อ “นำอุจาระของสัตว์เลี้ยงกลับบ้าน ทุกคนต่างเพ่งยิ้มและอิ่มหนำ หากในภาชนะใบดังกล่าวอัดแน่นไปด้วยมูลควายและวัว”

เช้าสางของวันรุ่งขึ้น หน้าที่เดิมก็ยังไหลเวียนเรือนร่างของผู้คนเหล่านั้น วิถีแบบนั้นพอพยุงให้กิจวัตรในแต่ละวันน่าติดตามและน่าลุ้นไม่ใช่เล่น ช่วงหนึ่งของยามเที่ยงยามสายแดดส่องประกายทั่วอาณาบริเวณ พื้นที่ว่างในท้องทุ่งตากแน่นไปด้วยกองขี้วัวกลม ๆ ขนาดแผ่นประมาณจานใส่อาหาร

สองมือของหญิงสาวขยี้กองขี้วัวและปั้นเป็นวงกลมแผ่นบาง ๆ ตากทั่วท้องทุ่งอย่างสวยงาม บ้านเล็ก ๆ ที่ทำจากกองขี้วัวได้ใช้เป็นที่พักของแผ่นมูลสัตว์ที่ตากไว้เมื่อช่วงเที่ยงวัน  ข้าพเจ้ามองอยู่นานกว่าสามวัน จนในที่สุด ทนไม่ไหว เลยย่างเข้าไปใน “อาณาจักรกองขี้” เพื่อถามความเป็นไป

“ทำไมถึงคนที่นี่เห็นมูลสัตว์ราวพระเจ้า สิ่งที่เหม็นกลายเป็นความหวังและปากท้องของครอบครัวไปโดยปริยาย”  

ข้าพเจ้าเลยถามถึง การสร้างปติมากรรมชิ้นดังกล่าวอย่างประหลาดใจ แต่เมื่อข้าพเจ้าได้รับคำตอบออกมายิ่งประหลาดใจกว่าในขณะหญิงสาวคนหนึ่งหันหน้ามาสบตาและแสยะยิ้มพร้อมกล่าวว่า

“ประเทศเราประชากรมากเกือบ ๑,๓๐๐ ล้านคน[2] ประเทศใหญ่จนกระทั่งจังหวัดที่เราอยู่ (อุตาราปราเดส) ใหญ่กว่าประเทศไทยที่เจ้าจากมาถึง ๓ เท่า เฉพาะเมืองนี้มีประชากรเกือบ ๒๐๐ ล้านคน[3] แต่ ทรัพยากรในประเทศเรามีจำกัด วิธีการรักษาทรัพยากรเหล่านี้ เราทำได้เพียงหาพลังงานทดแทนมาใช้”

“อย่างน้อยขี้ควายคือ หนึ่งในทรัพยากรที่เรานำมาเป็นพลังงานทดแทน เมื่อวันหนึ่งเราหมดสิ่งเหล่านี้ ประเทศเราก็จะมีทรัพยากรเหลือใช้ เราหลีกเลี่ยงการใช้แก๊ส แต่เราแทนที่ด้วยการใช้ไม้ฟื้นและขี้ควายเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม อย่างน้อยการกระทำแบบนี้ของเราได้ช่วยประเทศของเราและเพื่อนร่วมโลก”

“สิ่งที่เราใช้มันมีพลังในการทำลายมลภาวะทางอากาศและชั้นโอโซนของโลกที่ได้รับการกัดกร่อนจากสารพิษต่าง ๆ น้อยกว่าเชื้อเพลิงแบบอื่น” หญิงสาวตอบข้าพเจ้าด้วยแววตาที่มั่นใจและเพ่งมองอย่างแข็งขัน

ข้าพเจ้าได้แต่อึ้งเหมือนโดนตบ แต่ก็อย่างว่า เราไม่คุ้นชินกับมิติและวัฒนธรรมชุมชนด้วยการต่อสู้เพื่อการอยู่ร่วมกันกับเพื่อนร่วมโลกในมุมของอินเดีย จนเราคิดเสมอว่า “สูตรสำเร็จต้องเป็นอย่างที่เราดำเนินอยู่ มายาคติเหล่านั้นเป็นภาพหลอนที่ยากจะทำลายลงได้”

แต่กองขี้ควายอาจเป็นบทเรียนอย่างดีให้เราช่วยโลกและเพื่อนร่วมโลกได้เป็นอย่างดี

อินเดียจึงกลายเป็นพื้นที่แห่งความชังของความต่างทางด้านชนชั้นวรรณะ แต่อินเดียก็น่าสนใจในอีกมุมหนึ่งด้วยการก้าวไปสู่ความหลุดพ้นของอัตตาและบทเรียนเพื่อย่ำไปสู่ถนนอีกหนแห่งที่โลกยังขาดประสบการณ์ ชะตากรรมของเพื่อร่วมประเทศจึงเป็นสิ่งที่สังคมที่นี่ให้ความสำคัญอย่างหนักหนา

สุดท้ายอินเดียจึงเป็นประเทศที่มีบทเรียนในเรื่องแบบนี้มากกว่าประเทศอื่นและอินเดียได้จัดการเรื่องแบบนี้อย่างน่าอิจฉาและลงตัวโดยที่เพื่อนร่วมโลกอาจคิดไม่ถึง

 



[1] M.A. Political science,  Aligarh Muslim University,India,2008-2010

[2] จากการสำรวจปี 2011  ประชากรอินเดียประมาณ  12 1,210,193,422  คน

[3] จากการสำรวจปี 2011  ประชากรอินเดียประมาณ  199,581,000  คน