แดนส่าหรีในทัศนะของข้าพเจ้า (๒)
อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม [1]
อัลฟารอบี (Al-farabi) นักปรัชญาอิสลามช่วงคริสต์ศักราช (๘๗๐-๙๕๐) ได้ให้คำนิยามเกี่ยวกับประชาธิปไตยไว้ว่า “ประชาธิปไตยก็ไม่มีอะไรเลย นอกจากการปกครองของกลุ่มชนชั้นสูงในสังคมและกลุ่มคนเหล่านั้นเข้ามาควบคุมอำนาจเพื่อเสวยสุขและผูกขาดการปกครองเพื่อชนชั้นเหล่านั้นนั่นเอง” [2]
สังคมโลกในปัจจุบันความจริงปรากฏอยู่อย่างหนึ่งนั่นก็คือ ระบอบที่ทุกคนเชื่อว่าดีที่สุดกำลังทำร้ายคนในสังคมอย่างโจ่งแจ้งและจงใจผ่านการใช้คำศักดิ์สิทธิ์อย่างสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาคเข้ามาเพิ่มเชื้อไฟและแรงกระตุ้นมอมเมาตัวเอง ในที่สุดเรื่องเหล่านี้ก็จบด้วยการทำร้ายและการกดขี่เกิดขึ้นผ่านการอ้างสิทธิเพื่อกีดกันและเลือกปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมโลกเหมือนอย่างที่เห็น
ผลกระทบของการกระทำมีส่วนช่วยให้สังคมโลกที่เป็นอยู่ห๋วยแตกอย่างที่ปรากฏออกมาให้เห็นถนัดตา
แม้เป้าหมายของการปกครองที่ดีที่สุดคือ การทำอะไรก็ได้ที่เหมือนไม่ต้องทำอะไรเลย แต่สามารถมอบความสุขให้ประชาชนได้และประชาชนก็ได้รับการเหลียวแลด้วยความจริงใจและรับผิดชอบของรัฐผ่านการบริการที่เป็นความเท่าเทียมกันไม่ใช่แค่เพียงบริการกลุ่มคนหยิบมือเดียวที่มีผลประโยชน์และเทคะแนนเสียงข้างมากให้กับเขา
การใช้ประชาธิปไตยเข้ามาเป็นเครื่องมือในการสนองตอบก็มีให้เห็นอย่างชัดเจน ไม่ต่างจากการทัวร์เอเชียของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาเมื่อ ๖–๙ พฤศจิกายน ๒๐๑๐ ที่ผ่านมา เพื่อรักษาเขตความคิดและแนวทางมวลชนในประเทศตามเขตการควบคุมของตัวเองอย่างอินเดีย
ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ Frontline และหนังสือพิมพ์รายวันอย่าง Time of India ได้นำเสนอในฉบับเดือนพฤศจิกายนเมื่อปี ๒๐๑๐เกี่ยวกับโลกอินเดียกับการรุกคืบของมหาอำนาจอย่างอเมริกาผ่านกลอุบาย “ประชาธิปไตยที่ใหญ่สุดในโลก”
นิยามลวงที่รุกล้ำเขตแดนเพื่อเข้ามาบงการและคุมเข้มผ่านกลวิธีแบ่งสันปันผลประโยชน์ใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่พอจะต่อรองกันได้ด้วยการเพิ่มจำนวนงานให้กับประชาชนของอินเดียมากกว่า ๕ หมื่นงาน ความสัมพันธ์ในการปกป้องประเทศร่วมกันภายใต้โครงการนิวเคลียร์ต้องทุ่มงบมากกว่า ๑ หมื่นล้านดอลลาร์พร้อมเครื่องมือสัมมนาคุณแบบเครื่องบินรบ (126 Fighter bomber) ให้กับประเทศสมาชิก
ข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์ภายใต้บริษัท The American companies Boeing และ Lockheed-martin และแผนพัฒนาความสัมพันธ์เรื่องอาวุธไปยังประเทศอินโดนีเซียและเกาหลีใต้
เมื่อปี ๒๐๐๙ ที่ผ่านมา อินเดียได้ซื้อ F-81 ๘ ลำ แม้จะจ่ายไปมากกว่า ๒,๑๐๐ ล้านดอลลาร์ซึ่งเครื่องบินลาดตระเวนชายฝั่งทะเลเพื่อป้องกันมหาอำนาจจีนที่มีอดีตกันตั้งแต่สงคราม Indo-China ตั้งแต่ปี ๑๙๖๒ เป็นต้นมา
ที่สำคัญไปกว่านั้นนายทหารถูกฝึกมาอย่างชำนาญเพื่อเข้ามาดูแลประเทศอินเดียภายใต้โครงการ LSA. (The Logistical support Agreement) และ CIS MoA. (The communication Interoperability and security memorandum of agreement) นับเป็นข้อตกลงเบื้องแรกเพื่อผูกมิตรระหว่างกันได้เป็นอย่างดี
หลังจากข้อตกลงดังกล่าวกองกำลังเหล่านี้เข้าสู่ประเทศมุสลิมอย่างซาอุดิอาราเบียและอิสราเอลภายใต้เงินทุนหลายพันล้านดอลลาร์ อินเดียเป็นประเทศต่อไปที่รอคอยพลทหารเหล่านั้น เหตุผลอย่างหนึ่งเพื่อหยุดความกังวลเรื่องความน่ากลัวของจีนผ่านการดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อนำผลประโยชน์บางอย่างกลับมาของฮิลลารี คลินตันและโรเบิร์ต เกตที่ได้พยายามทุกวิถีทางด้วยการสร้างความปั่นป่วนการเดินเรือสินค้าผ่านทะเลจีนใต้อย่างเสรี
แม้มันจะเป็นเส้นทางการทำธุรกิจขนาดใหญ่ของโลกเมื่อมหาอำนาจอย่างอเมริกาเข้ามาดำเนินนโยบายแบบสร้างภาพ มีผลไปถึงการควบคุมพื้นที่เอเชีย-แปซิฟิกทั้งหมด กระทั่งมันคือ ผลแห่งการเข้ายึดครองและครอบงำเพื่อตัดความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย-อิหร่านเรื่องธุรกิจผ่านบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Reliance หรือธุรกิจพลังงานเชื้อเพลิง
เมื่อหัวใจของเพื่อนร่วมโลกไม่พ้นการยึดครองจนทำให้ยึดติด ความเป็นเจ้าของมักอธิบายผ่านความรุนแรงและการใช้อำนาจข่มขู่ทุกรูปแบบ ไม่เว้นแม้กระทั่งการออกฏหมายมารับอัตตาที่มนุษย์ถูกครอบงำก็ตาม
ไม่ต่างจากสังคมไทย กรณีปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ นโยบายต่าง ๆ และงบประมาณถูกทิ้งมาในพื้นที่แห่งนี้มากกว่า ๑ แสนล้านบาทในระยะเวลาไม่กี่ปี ในขณะเดียวกันเม็ดเงินเหล่านี้ไม่ได้สร้างมิติการเรียนรู้วิถีชีวิตและความต่างใด ๆ นอกจากเม็ดเงินดังกล่าวยิ่งบานสะพรั่งยิ่งต้องแลกกับการสูญเสียที่เราเรียกมันว่า “ชีวิตคน”
สังคมไทยเลือกใช้สิ่งเหล่านี้เดิมพันกันในแต่ละวันมากกว่า ๘ ปี การสูญเสียในแต่ละวัน หากคิดถึงระบบทุนเข้ามาเกี่ยวมันก็จำเป็นต้องมีพลวัตรที่เป็นไป แต่การสูญเสียในพื้นที่ความรุนแรงไม่น่าจะเอาสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “คน”เข้ามาเป็นเดิมพันเลยแม้แต่น้อย
หลายคนอาจตั้งแง่ว่า ผลประโยชน์อย่างเดียวสามารถเปลี่ยนโลกสันติให้กลายเป็นความขัดแย้งและความรุนแรงมากมายขนาดนั้นเลยเหรอ เท่าที่ประวัติศาสตร์โลกพอที่จะบันทึก ไม่ว่าใน Soviets-Afghanistan war ตั้งแต่ปี ๑๙๗๙ หรือ Indo-Pakistan war ตั้งแต่ปี ๑๙๔๗ เป็นต้นมา หรือ Indo-China ปี ๑๙๖๒ และที่ชัดเจนที่สุดอย่าง USA.-Afghanistan war หลังจากปี ๒๐๐๐ ทั้งหมดเหล่านี้ คือผลพวงแห่งผลประโยชน์ทั้งสิ้น
แต่ที่ผ่านมา ชีวิต คือ เชื้อไฟอย่างดีที่เข้ามาเกี่ยวข้องและเป็นเครื่องมือในการต่อรองไม่ว่าจะเป็นของรัฐและกลุ่มเสียผลประโยชน์ (รวมไปถึงครู ทหาร ตำรวจ ข้าราชการปกครอง นักธุรกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรศาสนา ตำแหน่งทางการเมือง กลุ่มเสี่ยงอย่างประชาชนทั่วไป หรือกลุ่มที่ถูกรัฐมองว่าเป็นผู้ก่อการ) เพื่อดึงผลประโยชน์ ตำแหน่ง เม็ดเงินและหน้าที่การงานจากสถานการณ์ความรุนแรง
ผลพวงทั้งหมดเหล่าได้ก่อตัวมาจากความแปลกและความไม่เหมือนที่นำมาอธิบายเป็นลำดับแรก หากมองอย่างไม่หลบตา “หากสังคมเหล่านั้นไม่ชัดพอในมิติแห่งการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันและก้าวข้าม ความต่างคือจุดเริ่มต้นแห่งความชิงชังและฉนวนแห่งความรุนแรงดี ๆ นี่เอง”
หากสังคมหลักจัดการความแปลกอย่างที่เคยเป็นมาตามสันดานเดิม ๆ แบบและกรอบแห่งความเคยชินและปรุงแต่งแบบคุ้นชิน บวกกับวัฒนธรรมการจัดการความขัดแย้งแบบไทย ๆ ดั้งเดิมที่มุ่งเน้นการใช้ความรุนแรงแบบเข้มในสายเลือดความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในสังคมไทยหรือสังคมโลกมีค่าเท่ากันคือ ”ความตาย”
ความต่างด้านความเชื่อของพุทธศาสนาที่ไม่ค่อยเหมือนกันระหว่างวิถีปฏิบัติของพุทธศาสนิก ความไม่ลงรอยกันของกลุ่มแนวความคิดเสื้อเหลืองและเสื้อแดงก็กลายเป็นความชังจนต้องเผาบ้านเผาเมือง ความไม่เข้ากันของความเชื่อและแนวความคิดของอิสลามในมุมมองของกลุ่มวาฮาบี(สายใหม่)และกลุ่มอื่น ๆ ที่เรียกตัวเองว่า “สายเก่า” ทั้งหมดเหล่านี้ คือ ชนวนเหตุอย่างดีที่พอจะทำให้สังคมดี ๆ เข้าเขต “อาณานิคมแห่งความเลว” ไปในชั่วพริบตา
ที่แย่ไปกว่านั้นคือการอธิบายความเป็นไปของสังคมผ่านนิยามและคำนิยมของโลกสมัยใหม่แบบโลกยุคโลกาภิวัตน์(Globalizations)ใต้กรอบอันคับแคบแห่งแนวคิดประชาธิปไตยจนออกนอกหน้า จนบางประเทศนำระบบดังกล่าวเข้ามามีส่วนทำให้เราต้องฆ่าเพื่อนร่วมโลกและเผาเมืองกันเอง ไม่ต่างจากประเทศไทยเมื่อกลางปี ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา หรือชายแดนใต้กรณี ๔ ศพในปัตตานีที่รัฐต้องให้ความชัดเจน
ยังไม่รวมถึง การนำแนวความคิดดังกล่าวมาเป็นวงจรอุบาทเพื่อขยายการรุกคืบของความชังไปยังส่วนอื่น ๆ ของสังคม บวกกับการนำมิติแห่งผลประโยชน์มาเป็นตัวกลางด้วยแล้ว แน่นอน ทุกอย่างมักจบแบบปรุงแต่งด้วยวัตถุ จนชีวิต คือ การตีราคาออกมาเหมือนที่รัฐกำลังทำอยู่ในขณะนี้นั่นเอง
มิติความรุนแรงที่เป็นไปอาศัยความต่างดังกล่าวเป็นฉนวนปฐมเหตุ เมื่อสังคมเริ่มโดนห่ากระสุนและเป็นรูพรุน ผลประโยชน์ก็หว่านเพาะเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่แห่งความรุนแรงแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่โหดและน่ากลัวกว่านั้นคือ การตัดสินปัญหาด้วยการกระจายผลประโยชน์อย่างลงตัวให้กับกลุ่มคนเสี่ยงทุกภาคส่วนด้วยแล้วทำให้ทุกกลุ่มที่อยู่ในเชื้อเพลิงแห่งความชังคือ ผู้ได้รับค่าเหนื่อย ค่าตอบแทน ค่าเสี่ยงภัย และบางคนได้รับของกำนัลเป็น “ค่าหัว”
เมื่อความขัดแย้งที่ดำเนินไปไม่สามารถหาทางออกได้ ความวิตกภายใต้ความแปลกแยกก็เกิดขึ้น จน Hrabans Singh ได้กล่าวไว้ใน Guru Tegh Bahadur ว่า “ห่าศรแห่งการล้างแค้นไม่มีวันสิ้นสุด” [3]
ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเพียงความต่างและความแปลกที่สังคมไม่เคยขาดหาย เพียงรอการจัดการที่ลงตัวและให้พื้นที่ของคนทุกคนยืนในสังคมอย่างเท่ากัน หากขาดการจัดการเหล่านี้แบบเปิดกว้างและเปิดใจแล้ว ชนชั้นบางส่วนกลายเป็นผู้กระทำและชนชั้นบางส่วนก็กลายเป็นผู้รับกรรมไปในที่สุด
ด้วยระบบสังคมที่ดำเนินไป ความหลากหลายเป็นตัวขับเคลื่อนและหนุนเสริมให้สังคมเดินไปข้างหน้าผ่านกระบวนการเจรจาและใช้หัวใจเชื่อมกับหัวใจเป็นหลัก อย่างหนึ่งอย่าให้หัวใจมีปัญหาด้วยการยึดติดหรือยึดครองในเรื่องราวของผลประโยชน์และกำไรมากกว่า “ความเป็นมนุษย์ของชีวิตเพื่อนร่วมโลก”
“การเอาชนะความต้องการและความคาดหวังแบบคับแคบนั้นต้องให้หัวใจละเว้นจากการยึดติดและยึดครอง กล่าวอีกแบบหนึ่งคือ เราจำเป็นต้องฝึกตัวเองให้สัมผัสโลกด้วยมุมมองที่ต่างไปจากความเคยชินดั้งเดิม จนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งจากทุกสิ่งทุกอย่างที่พบเห็น เป็นแค่ฉากของชีวิต โดยไม่สนใจที่จะเป็นเจ้าของสิ่งใด” [4]
เมื่อมนุษย์มองมิติแห่งความต่างไม่ขาดอย่างความเหลื่อมล้ำที่ประเทศอินเดียได้สร้างมายาคติขึ้นเมื่อหลายศตวรรษที่แล้ว ความชังก็ยังคุโชนผ่านชนชั้นและการครอบครองทรัพยากรเป็นหลัก ประวัติศาสตร์จึงบันทึกความเป็นไปของยุคสมัยไว้อย่างน่ารันทดและน่าสะพรึงกลัว อินเดียจึงกลายเป็นพื้นที่จมปลักในความขัดแย้งและพื้นที่แห่งความชังมานานเกือบพันปี
อย่างหนึ่งเห็นได้ชัดเจนที่สุด ตั้งแต่อินเดียเริ่มเป็นเมืองขึ้นของอาณานิคมอังกฤษ (ซึ่งผู้เขียนจะนำเสนอต่อไป) เมื่อปี ๑๖๐๐-๑๙๔๗ นับเป็นระยะเวลาเกือบ ๓๕๐ปีที่ต้องสูญเสียและเพื่อนร่วมโลกในเอเชียใต้ต้องฆ่าฟันกันเองอย่างเลือดเย็น
ไม่ต่างจาก Ahmed Ali ได้เขียนไว้ในนวนิยายเรื่อง Twilight in Delhi ว่า
“กรุงเดลลีถูกสร้างขึ้นภายหลังจากมหายุทธแห่งมหาภารตะ โดยราชายุธิษตา การทำลายล้างฝังอยู่ในฐานรากและโลหิตอาบอยู่ในเนื้อดิน เดลีได้เป็นพยานแห่งการล่มสลายของอาณาจักรอันรุ่งโรจน์มากมายและได้สดับรับฟังเสียงคร่ำครวญของการกำเนิด เดลีคือสัญลักษณ์แห่งชีวิตและความตายและการแก้แค้นคือธรรมชาติแห่งเมืองนี้” [5]
สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ร่วมโลกยังโหยหาคือ “พื้นที่ของตัวเองที่ไร้การตัดสินกันด้วยการเอาชีวิตคนมาเป็นข้อต่อรอง” และสิ่งสำคัญกว่านั้นที่เพื่อนร่วมโลกยังพร่องคือ “เพ่งมองการพลัดพรากจากคนรักเป็นแค่ความชาชิน”
[1] M.A. Political science, Aligarh Muslim University,India,2008-2010
[2] M.M.Sharif, A History of Muslim Philosophy, low price publication,1999.p.704
[3] Hrabans Singh , Guru Tegh Bahadur, Manohar,Delhi,1994,P.84
[4] อ่านเพิ่มเติม เสกสรร ประเสริฐกุล , ผ่านพบไม่ผูกพัน ; ห้วงคำนึงจากการเดินทาง ,สำนักพิมพ์สามัญชน, ๒๕๔๘, หน้า ๑๒
[5] Gyanendra Pandey , “Partition and Independence in Delhi ; 1947-48”, Economic and Political Weekly,6.9.97, P.2267