เล่าเรื่อง จากบาร์ยิปซี และความน้อยใจแห่งชาติเซริ์บ
เล่าเรื่อง จากบาร์ยิปซี และความน้อยใจแห่งชาติเซริ์บ
จันจิรา สมบัติพูนศิริ
เราเป็นคนตื่นเช้า เข้านอนเร็ว กิจวัตรเช่นนี้เป็นภัยต่อการใช้ชีวิต ให้คุ้มค่าในเบลเกรด เพราะ “รุ่งอรุณ” ของคนแถวนี้เริ่มตั้งแต่บ่ายสามเป็นต้นไป และราตรีคือช่วงเวลาที่ผู้คนเริ่มออกเดิมตามท้องถนน พบปะเพื่อนฝูงในคาเฟ่ คนต่างถิ่นอาจแปลกใจที่ชาวเมืองเบลเกรดเริ่มมื้อกลางวันเมื่อนาฬิกาตีบอก เวลาเที่ยงคืนLonely Planet ซึ่งถือเป็น “พระคัมภีร์” ของนักเดินทางประเภทแบกเป้ (คือพวกซาดิตส์ที่ยอมเป็นโรคหลังชำรุดเมื่อชรา) โบกรถเที่ยว ค่ำไหนนอนนั่น จัดอันดับให้เบลเกรดเป็นนครแห่งที่ “ปาร์ตี้” สุดสวิงจิงโก้ อันดับต้นๆ อย่าได้ไปเถียงพระคัมภีร์เชียว เพราะ “บัญญัติ” นี้มีมูลความจริงอยู่ไม่น้อย
สมัยยังเยาว์วัยกว่านี้ เราชอบบรรยากาศร้านเหล้า วงเหล้า ผับ บาร์ (ย้อนแย้งกับนิสัยตื่นเช้ายังไงไม่รู้)... เมื่อตอนเรียนปริญญาโทที่เมืองบริสเบนประเทศออสเตรเลีย ได้เรียนรู้วัฒนธรรมการ “ปาร์ตี้” ของฝรั่งมา ซวยหล่ะคราวนี้ เพราะเมื่อไหร่ที่ว่าง เพื่อนก็ชอบนัดปาร์ตี้ ส่วนเราก็ชอบไปปาร์ตี้ บางอาทิตย์ที่ไม่ต้องทำรายงาน (ซึ่งนับไปมาไม่น่าจะเกินสองอาทิตย์ต่อเทอม!) เคยไปงานปาร์ตี้ติดกันสามงานต่อคืน...บ้าคลั่งมาก แต่เพราะหนึ่งเท้ากับอีกสามนิ้วเท้าของอีกข้างพาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลก วิชาการ เราจึงอดไม่ได้ที่จะ “theorise” วัฒนธรรมการไปปาร์ตี้ ไม่ว่าจะเป็นตามบ้าน ตามร้านอาหาร หรือตามผับบาร์ เช่น ในผับเมืองไทย “pub goers” จะชอบเกาะกันเป็นฝูง ยืนอิเหระเขะขะ อยู่รอบโต๊ะตัวน้อยนิด พื้นที่จำกัด ไม่มีใครอยากมีปฏิสัมพันธ์กับโต๊ะอื่นเท่าไหร่ (ยกเว้นตอนไปขอเบอร์หนุ่ม/สาวโต๊ะข้างๆ) ไม่ต้องพูดถึงว่าหน้าไหนกล้ามาผับคนเดียว แบบดื่มเอง เต้นเอง มันส์เอง ที่เป็นเช่นนี้เพราะสังคมไทยได้รับอิทธิพล “วัฒนธรรมฝูง” อยูไม่น้อย (หรือจะเรียก “โขลง” ก็ได้ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายส่งเสริมวัฒนนธรรมไทย
ของกระทรวงวัฒนธรรม) ฉะนั้นยังขาดการปลูกฝังความมั่นใจแบบดื่มเอง เต้นเอง มันส์เอง ขณะที่ในหมู่ฝรั่งมังคุด ความมั่นใจเช่นนี้พัฒนาถึงขั้นที่ผู้คนสามารถไปนั่ง “กึ่ม” เพียงลำพังได้ หรือหากยังขโยงไปกับกลุ่มเพื่อน พอถึงผับ กลุ่มมักไม่เกาะแน่นเหมือนพี่ไทย คนส่วนใหญ่ยืนถือเบียร์หนึ่งขวด แล้วเมาส์กับคนทั่งผับ (ยังดีที่ไม่เข้าไปในครัว คุยกับพนักงานล้างจาน) นี่อาจสะท้อนวัฒนธรรม “ปัจเจก” ของฝรั่งฝั่งตะวันตก
แล้วที่เบลเกรด นครหลวงแห่งเซอร์เบียหล่ะ? เราคิดว่าผับบาร์เป็นที่ระบายความอัดอั้น น้อยเนื้อต่ำใจทางวัฒนธรรมของชาวเซอร์เบียน ผู้อาศัยที่ประเทศที่รายล้อมไปด้วยประเทศพัฒนา มี “ศิวิไลซ์” ในทวีปยุโรป
แต่ก่อนอื่น เราควรรู้ว่าผับบาร์ในเซอร์เบียมีหลายประเภท ประเภทที่เปิดตอนกลางวันคือ “คาเฟ่” ซึ่งมิได้ขายเฉพาะกาแฟเท่านั้น แต่รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นานาชนิดด้วย หรือทั้งกาแฟและสุราผสมกันไปเลย บางคนมานั่งที่คาเฟ่แต่เช้า ที่เห็นนั่งจิบกาแฟ ก็อาจเป็นภาพลวงตา เพราะนั่นอาจเป็นการร่ำสุราควบคู่อาหารเช้า พอบ่ายคล้อย ที่คาเฟ่เริ่มมีผู้คนนั่งจิบเบียร์ สูบบุหรี่... เหนือคาเฟ่ ยังมี “คาฟาน่า” คาฟาน่าคือบาร์โบราณ จุดเด่นสำคัญคือวงดนตรียิปซี โดยมากมีนักดนตรีสองหรือสามคน (ทรัมเปต อคอร์เดียน และบางทีมีเชลโลผุๆ อีกตัว) และนักร้องหนึ่งหรือสองคน เล่นประโลมใจนักดื่ม เมื่อมีดนตรี ก็ต้องมีคนเต้น หากคุณอยู่ในคาฟาน่า แล้วทำตัวไม่เข้าพวกเต้นท่ามาดอนนา อาจถือเป็นตราบาป เพราะท่าเต้นที่ถูกต้อง คือการจับมือเป็นวงกลม สะบัดขาตามเสต็ปพื้นบ้าน (ขอสารภาพว่าทุกวันนี้ก็ยังเต้นไม่ได้) ซึ่งทำให้วงกลมนั้นหมุนไปมา เหมือนที่วางอาหารแบบหมุนได้ในร้านอาหารจีน ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อมีดนตรี และคนเต้น ย่อมต้องมีคนร้อง แต่ที่คาฟาน่า ผู้คนร้องเพลงแบบไม่กลัวขายหน้า คือขอใช้คำว่า “แหกปากประสานเสียง” เลยดีกว่า เท่านั้นไม่สะใจพอ คนร้องต้องทำคล้ายพี่อี๊ด วงฟลาย (ขออภัยผู้อ่านที่เกิดไม่ทัน หรือท่านที่เกิดสมัยสุรชัย สมบัติเจริญโด่งดัง) คือร้องแล้วเอามือตะกายฟ้า เหมือนวิญญาณกำลังลอยล่องออกจากร่าง แล้วต้องถ่างมือ เรียกมันกลับมา คนในร้านคาฟาน่าเหมือนถูกสะกดจิตด้วยมนตราแห่งดนตรียิปซี
ผับอีกแบบ พวกเราคงรู้จักดี คือผับสมัยใหม่ ที่คนไปดื่ม เต้นยักแย่ยักหยั่น แบบไร้สเต็ป สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผับแบบนี้ในเซอร์เบียคือเวลาเปิดปิด เนื่องจากบ้านเรามีมาตรการคุมเวลา ดังนั้นผับส่วนมากเปิดหัววัน ประมาณหนึ่งหรือสองทุ่ม และปิดประมาณตีหนึ่ง ที่เซอร์เบีย ถ้ายังไม่เที่ยงคืนอย่าได้ไปหาผับที่ไหน อย่างมากก็ไปนั่งเตรียมตัวเมาที่คาเฟ่ หรือคาฟาน่าก่อน ผับบาร์เปิดหลังเที่ยงคืน ปิดหกโมงเช้า และเราพบว่าผู้คนไม่ได้ไปผับเฉพาะคืนศุกร์เสาร์เท่านั้น (เหมือนพวกฝรั่ง) แต่สามารถไปได้ทุกวัน...แม่เจ้า...นี่คือวัฒนธรรมเที่ยวผับแห่งชาติจริงๆ ตอนวันเกิดเรา แกงค์เพื่อนสาวชาวอินโดนีเซียน พยายามพาท่องราตรี เพื่อให้เราเล่าสู่ลูกหลานไทยในอนาคตได้ว่า “กรูมาเบลเกรดแล้วจริงๆ” พวกเรานัดกันสามทุ่ม คิดว่าสายแล้ว ผับน่าจะเปิด ปรากฏว่าทุกที่ แม้แต่พนักงานเปิดประตูยังไม่มาเลย! อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มตั้งวงมันจากคาเฟ่กินกาแฟผสมสุราพลางๆ ไปก่อน พอสี่ทุ่มก็เปลี่ยนไปคลับละติน (คือคนที่มาเป็นนักเต้นละตินจังหวะซัลซ่า ก็มีพวกเราหัวดำเนี่ยหล่ะ ที่นั่งดูตาสลอน เพราะรำวงเป็นอย่างเดียว ซัลซ่าบ่ได้) พอเที่ยงคืนเราถึงไปเริ่มต้นไปผับของแท้ สถานที่ตั้งผับในเบลเกรดยิ่งน่าสนใจกว่าเวลาปิดเปิด เพราะผับจำนวนมากเป็นเพียงห้องเช่า อยู่ในอาคารที่ดูภายนอกแล้วเหมือนโรงเรียนกวดวิชาแถวสยาม เพียงแง้มประตูเข้า ก็เหมือนโลกอีกใบ (เว่อร์นะ) มีบาร์เหล้า แสงไฟสลัว เวทีนักดนตรี ลานตรงกลางสำหรับนักเต้น ผับที่ใหญ่จำนวนมาก อยู่ไกลจากศูนย์กลางเมือง (city center) แต่ผู้คนก็ไม่ย่นย่อถ่อกันมา ผับใหญ่ก็แน่นขนัด
พวกเราก็เบียดเข้าไป เดินมันอยู่รอบผับจนครบสามรอบ และเราเริ่มเคลิ้มไปว่า ฤข้ากำลังเดินเวียนเทียน ก็ยังไม่เจอแม้แต่พื้นที่ 0.4 ตารางเมตรที่จะให้หัวแม่โป้งหยัดยืนกับพื้นพสุธาได้ ในที่สุดพวกเราต้องอาศัยไปยืนเบียดกับบาร์เทนเดอร์ จนทำเค้ารำคาญ แต่ด่าอะไรไม่ออก เพราะภาษาปะกิตอ่อนแอ หรือพูดอีกอย่าง คือเค้าด่าเป็นภาษาท้องถิ่น แต่เราตั้งใจเข้าใจเป็นอังกฤษผิดแกรมม่า
แม้ว่าวัฒนธรรมเที่ยวผับบางประการอาจต่าง แต่บนความต่างย่อมมีความเหมือน สาวๆ ขาแดนซ์นุ่งน้อยห่มน้อยเหมือนสาวไทย แต่ “สมบัติแห่งชาติ” เค้ามีเยอะกว่า อันนี้สาวไทยสู้ไม่ได้จริงๆ เว้นแต่จะไปยัญฮี สิ่งหนึ่งที่เราไม่เคยเข้าใจสตรีนักเที่ยวในเมืองหนาว ทั้งในเบลเกรด และในเมลเบริ์นที่เราใช้ชีวิตอยู่สองสามปี คืออากาศข้างนอกหนาวมาก ดิชั้นใช้เสื้อผ้าสี่ชั้น บวกหมวก ถุงมือ บู๊ต ยังไม่หายหนาว แต่บรรดาสาวเหล่านี้ สามารถใส่เกาะอก กระโปรงสั้นกุดได้!!! และที่แย่ไปกว่านั้นขึ้นรองเท้าส้นจิก...เจ๊คะ คือแค่พวกเจ๊ใส่สายเดี่ยว เสื้อซีธรู ท่ามกลางอุณภูมิติดลบ หิมะตกโครมคราม ดิชั้นก็ซูฮกให้เป็นซูสีแล้ว ยังใส่ส้นจิกให้มันทรมานส้นทีนอีก...ถือว่ามีจิตวิญญาณนักเที่ยวขั้นอรหันต์ นับถือๆ
ถ้าเราคิดถึงผับเหล่านี้ในฐานะพื้นที่ทางวัฒนธรรม เราเห็นอะไร? คล้ายกับเทศกาล งานรื่นเริง หรือคาลนิวาล ผับทำหน้าที่เป็นพื้นที่ “ต่อต้านโครงสร้าง” (anti-structure) เรียกแบบลงจากหอคอยงาช้าง คือในผับ ผู้คนทำตัวต่อต้านสังคมได้ เช่นคนมีความรู้ มีอาชีพเป็นที่นับหน้าถือตา เมื่อเที่ยวผับ อาจกลายเป็นคนละคน แต่ก็ไม่มีใครถือสา เพราะผับเป็นพื้นที่ยกเว้นความคาดหวังต่อบทบาททางสังคม (แต่ถ้าต่อยกันในผับ ก็เป็นอีกเรื่อง) ในกรุงเทพฯ คนจำนวนมากมาผับเพื่อเกี้ยวพาราสีโดยเฉพาะ เพราะในพื้นที่ผับ ไม่ต้องการพิธีรีตองในการจีบมาก มองตา เลี้ยงเหล้าสักแก้ว เต้นกันคลอเคลีย จากนั้นก็แลกเบอร์ (หรืออาจตามมาด้วยกิจกรรมอื่นๆ...) ขณะที่เมื่ออยู่นอกพื้นที่ผับ พฤติกรรมเช่นนี้อาจไม่สำเร็จผลดังหวังเสมอไป กฏเกณฑ์ที่กำกับการเกี้ยวพาราสีเป็นอีกแบบ
ในเซอร์เบีย ผับเป็นพื้นที่ปลดเปลื้องอารมณ์ “น้อยใจแห่งชาติ” เซอร์เบียเป็นประเทศที่ถูกรายล้อมไปด้วยชาติยุโรป “ศิวิไลซ์” ทางเหนือเป็นออสเตรีย ตะวันตกเป็นเยอรมัน ไล่ไปถึงฝรั่งเศส หรือตะวันออกเฉียงเหนือเป็นประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ในทางประวัติศาสตร์ ชาวเซริ์บตกเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิออตโตมัน (ตุรกีในปัจจุบัน) ราวหกร้อยปี จากนั้นถูกครอบครองโดยจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ หนึ่ง และนาซีเยอรมันระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อรัฐชาติยุโรปพัฒนาให้เป็นสมัยใหม่ เซอร์เบียซึ่งเพิ่งหลุดออกจากฐานะเบี้ยล่างมหาอำนาจ ก็พบว่าตน “ด้อยพัฒนา” เมื่อเทียบกับประเทศเหล่านี้ ผลทางวัฒนธรรมการเมืองคือผู้คนในเซอร์เบีย รวมถึงชาติอื่นๆ ในคาบสมุทรบอลข่านซึ่งตกเป็นอาณานิคมจักรวัติออตโตมันมายาวนานเช่นกัน (อย่างมาเซโดเนีย บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา อัลแบเนีย บุลกาเรีย และโรมาเนีย) มองไปที่ยุโรปตะวันตก และอยากศิวิไลซ์เช่นนั้นบ้าง ในภาษาเซอร์โบ-โครเอเชีย ศัพท์คำว่า “ฟีนี ลูดิ” (น่าจะแปลเป็นไทยว่า “ผู้ดี”) สะท้อนความ “อยาก” ทางวัฒนธรรมเช่นนี้ คนในเมืองส่วนมากเห็นว่าตนเป็น “ผู้ดี” ส่วนพวกชาวนาบ้านนอกเป็นพวกด้อยความเป็นยุโรป ทว่าอันที่จริง เซอร์เบียพัฒนาระบบเมืองล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปตะวันตกมาก ฉะนั้นผู้ที่สถาปนาตนเป็น “ผู้ดี” จึงเพิ่งสลัดคราบ “บ้านนอก” มาสดๆ ร้อนๆ ทั้งยังมีญาติพี่น้องเกือบทั้งตระกูลตั้งรกรากในพื้นที่ที่ตนดูแคลนว่าไม่ ศิวิไลซ์เอาซะเลย วัฒนธรรมผู้ดีแบบบกพร่องเช่นนี้ยังถูกเชื่อมโยงกับ “ยิปซี” หรือ “โรมา” ซึ่งเป็นชนชาติ “พเนจร” ในยุโรป และเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์โดยชนส่วนใหญ่ในสังคมนนั้นๆ ว่าเป็นพวกด้อย ของความด้อย ของความด้อยทางวัฒนธรรม
ในเซอร์เบียความรังเกียจยิปซีสิ้นสุดใน “คาฟาน่า” บาร์ประเภทนี้อาศัยดนตรียิปซีเป็นหลัก ปรากฏว่าผู้คนจำนวนมากดั้นด้นมาจากแดนไกล เดินทางฝ่าถนนลูกรังเข้าไปในหมู่บ้านเล็กๆ เพื่อฟังวงดนตรียิปซีชื่อดังในคาฟาน่า แม้ในชีวิตประจำวันนอกพื้นที่บาร์ ชาวเซริ์บโดยทั่วไปไม่อยากแม้กระทั่งสนทนาหรือยิ้มให้ยิปซี พฤติกรรมเหล่านี้กลับตาละปัตในคาฟาน่า นักเที่ยวบาร์สำราญไปกับดนตรียิปซี บ้างร้องเพลงแบบซึ้งถึงอกถึงใจ บ้างให้ทิปนักดนตรียกใหญ่ บ้างกอดคอร้องไห้ไปกับยิปซี นักเที่ยวเหล่านี้เข้าถึง “จิตใจ” ของยิปซีเป็นอย่างดี เพราะเพลงยิปซีจำนวนมากรำพันถึงชีวิตอันแสนเศร้า (แย้งกับทำนองดนตรีที่คึกคักเร้าใจ) ต้องทนถูกเหยีดยามจากผู้คนในสังคมที่ตนพักพิงว่าเป็นชนชาติไร้ซึ้งพัฒนาการ ทางวัฒนธรรม คำร้องเช่นนี้กินใจชาวเซริ์บนักเที่ยว เพราะพวกเขาได้ตัดพ้อโชคชะตา และระบาย “อาการน้อยใจแห่งชาติ” ผ่านเพลง กล่าวอีกอย่างได้ว่า ดนตรียิปซีเป็นร่างทรงให้ชาวเชริ์บได้ปลดเปลื้องอาภรณ์ “ผู้ดี” ที่ตนสวมใส่ เมื่อยามอยู่นอกพื้นที่บาร์คาฟาน่า ในสถานเริงรมย์เช่นนี้ ไม่มีใครเรียกร้องให้ต้อง “ศิวิไลซ์” และ “ความป่าเถื่อน” (เช่น การร้องเพลงแบบ "แหกปากประสานเสียง" เอาขวดเหล้าฟาดโต๊ะ พูดจานักเลงหาเรื่องโต๊ะเพื่อนบ้าน หรือกระทั่งขากลงพื้น) ถือเป็นธรรมเนียม ณ คาฟาน่า บาร์ยิปซีซึ่งเป็นพื้นที่ต่อต้านโครงสร้างในเซอร์เบีย และโครงสร้างที่ว่านี้คืออาภรณ์ "ผู้ดี" ที่ชาวเซริ์บอย่างสวมใส่เป็นชนชาติยุโรปตะวันตกอื่นๆ ทว่าอาภรณ์กลับไม่พอดีกับร่าง สวมแล้วอึดอัด คับข้องใจ ยิ่งทำให้อาการไม่เป็น "ผู้ดี" ชัดแจ้งมากขึ้น