ปาตานีในมุมมองประชาคมอาเซียน

ปาตานีฟอรั่ม ได้สนทนากับ กวี จงกิจถาวร ผู้สื่อข่าวอาวุโส ที่ยังคงทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไม่มีการเหน็ดเหนื่อย ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหว กระทั่งเป็นหัวหอกของขบวนการปกป้องเสรีภาพของสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นหัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตย อย่างจริงจัง มาตลอดชีวิตการทำงานของเขา ถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับบทสนทนาต่อไปนี้

ถาม ทำไมปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยจึงมีความสำคัญต่ออาเซียน ?

ตอบ ความขัดแย้งในจังหวัดภาคใต้แสดงให้เห็นว่าประชาคมอาเซียนยังเป็นจริงไม่ได้ เพราะยังมีการกีดกันในเรื่องชาติพันธ์และศาสนา อาเซียนมี 10 ประเทศเป็นสมาชิก แต่ละประเทศมีความหลากหลายทั้งทางด้านการเมืองเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ในช่วงสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา อาเซียนสามารถอยู่ร่วมกันโดยสันติมาโดยตลอดเนื่องจากมีความปรองดองกัน จนกระทั่งมีการปะทะกันระหว่างสองสมาชิกอาเซียนคือไทยกับกัมพูชากุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ความฝันประชาคมอาเซียนยังต้องใช้เวลา ถ้าความขัดแย้งในภาคใต้ยุติลงได้ ก็จะส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นของประชาคมอาเซียน

ถาม คุณคิดว่าอาเซียนและประชาคมระหว่างประเทศต่างๆ มีความเข้าใจต่อลักษณะความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร ?

ตอบ ความเข้าใจของสมาชิกอาเซียนกับประชาคมโลกต่างกัน เนื่องจากความใกล้ชิดและความเข้าใจที่ต่างกัน นอกจากนี้ผลกระทบกระเทือนต่อประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนมีมากกว่า จึงไม่แปลกใจ อินโดนีเซียและมาเลเซียพยายามจะเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งนี้มาโดยตลอด แต่น่าเสียดาย อาเซียนยังไม่ได้พัฒนากลไกในการแก้ไขความขัดแย้งในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้เป็นเพราะว่าอาเซียนยังถือเป็นเรื่องอธิปไตยแห่งดินแดน เป็นสิ่งหวงแหน ทำให้บทบาทอาเซียนทางด้านนี้ลดลงไป

ถาม อะไรคือปัญหาหลักสำคัญที่น่ากังวลและทำไมสันติภาพและความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไทยถึงมีความสำคัญต่ออาเซียน ?

ตอบ สาเหตุหลักทำให้เกิดองค์กรอาเซียนในปี๑๙๖๗ คือความขัดแย้งในภูมิภาค อาเซียนต้องการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งเดียวกันในหมู่ประเทศภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ทั้งหมด เพื่อจุดประสงค์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้รุดหน้า ในอนาคตน่าจะรวมถึงติมอร์ตะวันออกด้วย จึงไม่แปลกอาเซียนสามารถรับสมาชิกใหม่ได้รวดเร็วโดยไม่มีข้อกังขาทางด้านการเมืองแบบสหภาพยุโรป 

ถาม ประชาคมระหว่างประเทศสามารถช่วยเหลือได้อย่างไร ?

ตอบ ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาองค์กรระหว่างประเทศได้พยายามเข้ามาช่วยเหลือประเทศ เพื่อหาทางยุติความขัดแย้ง แต่ทางการไทยถือว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาภายใน จึงปฏิเสธความช่วยเหลือจากต่างประเทศเหล่านี้มาโดยตลอดโดยเฉพาะองค์กรต่างประเทศที่มีผลงานทางด้านการป้องกันและจัดการความขัดแย้ง เพราะถือว่าปัญหานี้สามารถหาข้อยุติได้ในบริบทการเมืองภายใน

ถาม คุณคิดเห็นอย่างไรกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน จะมีบทบาทอย่างไรต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไทย

 ตอบ อาเซียนโชคดี เนื่องจากมีประชากรมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ถึงหกสิบเปอร์เซ็นต์ ส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาในภาคใต้ รัฐบาลไทยต้องใจกว้างกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ รับฟังการแนะนำที่มีประโยชน์สามารถนำแก้ไขปัญหานี้ให้ลุล่วงไป วิธีนี้จะทำให้สมาชิกอาเซียนมีเป็นหุ้นส่วนในวิถีชีวิตประชาคมอาเซียน

ถาม คุณได้มีโอกาสเดินทางมาภาคใต้ของไทยหลายครั้ง อะไรที่เป็นสิ่งที่ประทับใจของคุณในพื้นที่ ? คุณหวังว่ารัฐไทยกับคนมลายูปาตานี สามารถประนีประนอมบนความแตกต่างอย่างไร?

 ตอบ ผมเกิดที่สงขลา มีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมปัตตานี และมาเลย์ดี เข้าออกด่านสะเดา-ปาดังเบซาร์บ่อยครั้ง ตอนเป็นเด็กเรียนพูดภาษาอังกฤษและมาเลย์จากทีวีมาเลเซียและเพื่อนๆก็มีส่วนช่วย ผมคิดว่าในอนาคตรัฐไทยน่าจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าการส่งเสริมวัฒนธรรมและภาษาดั้งเดิมและชาติพันธ์นั้นไม่ได้ทำให้รัฐไทยอ่อนแอแต่ประการใด ในทางกลับกันก็สร้างความเข็มแข็งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้แก่ประเทศและสังคมไทย สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นจุดเด่นในโลกที่มีความหลากหลายของยุคโลกาภิวัฒน์