“สุข"เสวนา:คนรุ่นใหม่ การศึกษา และมลายู
ปาตานี ฟอรั่ม ร่วมกับ สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน สลาตัน จัดการเวทีสาธารณะ ในหัวข้อ “สุข"เสวนา:คนรุ่นใหม่ การศึกษา และมลายู โดยตระหนักว่า เพราะการศึกษาคือเครื่องมือนำไปสู่สันติภาพและการพัฒนา สำคัญที่การให้การศึกษามาถูกทางหรือไม่? วิทยากรร่วมเสวนาโดย อาจารย์ฟูอ๊าด (สุรชัย) ไวยวรรณจิตร นักวิชาการอิสระด้านการศึกษา อาจารย์ชารีฟุดดีน สารีมิง ผู้จัดการโรงเรียนจริยศาสน์อิสลาม คุณอัสมัน มะดีเย๊าะ คณะกรรมการฝ่ายบุคลากร สหพันธ์นักเรียนนิสิต นักศึกษา และเยาวชนปาตานี ( PERMAS ) ดำเนินการเสวนาโดย ปรัชญา โต๊ะอีแต ผู้จัดการสำนักงานปาตานีฟอรั่ม การเสวนาครั้งนี้ได้เริ่มต้นจากปาฐกถาโดย ผศ.นิฟาริด ระเด่นอาหมัด รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและ วัฒนธรรม ม.อ.ปัตตานี
การเสวนาครั้งนี้เริ่มต้นทื่อาจารย์ฟูอ๊าด (สุรชัย) ไวยวรรณจิตร ภาพรวมของการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบรั้งท้าย เมื่อวัดเป็นกลุ่มสาระ อย่างไรก็ตามในกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศและกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ นักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ติดกลุ่มนำ
ในการส่งเสริมการติวของนักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการจัดทำโครงการหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “โครงการรินน้ำใจ น้องชาวใต้ ” ในตอนแรกโครงการนี้มีชื่อว่า “โครงการรินน้ำใจ ใส่สมอง สู่น้องชาวใต้” โดยส่วนตัวแล้วจะติดใจอยู่ที่คำว่า ใส่สมอง ซึ่งได้มีการชี้แจงและต่อมาก็ได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อ โดยเอาคำดังกล่าวออกไป กระทั่งเป็นชื่อโครงการรินน้ำใจ สู่น้องชาวใต้ มาถึงปัจจุบัน
ต่อมาอาจารย์ฟูอ๊าด ได้กล่าวถึงประเด็นการศึกษาสู่อาเซียน ซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนกลุ่มสาระจาก 8 กลุ่มสาระตามหลักสูตรเดิมไปเป็น 6 กลุ่มสาระตามระบบการศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งในตรงนี้ผู้บริหาร กลุ่มครู อาจารย์ หรือแม้กระทั่งนักเรียนเอง มีความรับรู้หรือยังว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาขึ้นอีก
ต่อมา อาจารย์ชารีฟุดดีน สารีมิง กล่าวถึงประเด็นที่ว่า ประเทศไทยควรที่จะมีแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ที่จะกำหนดทิศทางให้พลเมืองประเทศนี้ ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญที่อ้างถึงประชาธิปไตยนี้ ควรที่จะมีการจัดสรรการศึกษาให้ผู้คนในประเทศสามารถที่จะเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม ในส่วนของการศึกษาของไทยนั้น การพัฒนาการศึกษาไทยให้ความสำคัญต่อ การผลิตคนเข้าสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ไม่แปลกที่วันนี้ พื้นที่ของการศึกษามีอยู่โดยทั่วไป
ปัญหาของการศึกษาไทยอีกประการหนึ่งก็คือ การใช้มาตรฐานเดียวในการวัดการศึกษาของพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ เพียงแค่มาตรฐานเดียวที่ใช้วัดนี้ เช่น โรงเรียนสวนกุหลาบเป็นโรงเรียนที่ดี รัฐบาลก็พยายามที่จะใช้มาตรฐานเดียวกันนี้ในการวัดพื้นที่อื่นๆ ด้วย ซึ่งไม่เป็นธรรมชาติของการศึกษา ธรรมชาติก็คือ การศึกษาต้องตอบสนองต่อความรู้ในพื้นที่ ความสำคัญในบริบทของพื้นที่นั้นๆ
ในการส่งเสริมการศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลเพียงแต่อย่างเดียว รัฐบาลยังเปิดโอกาสให้กับภาคเอกชน นิติบุคคล สามารถทีจะทำการศึกษา หรือจัดตั้งการศึกษาเองได้ เพราะฉะนั้นโดยส่วนตัวมีความคิดเห็นว่า เราสามารถที่จะสร้างนโยบายการศึกษาด้วยตนเองได้ มันก็เลยมีสองมาตรฐานที่แยกขึ้นมา ก็เป็นโรงเรียนของรัฐ และโรงเรียนเอกชน
ต่อจากนั้น คุณอัสมัน มะดีเย๊าะ กล่าวถึงการทำงานของกลุ่ม PERMAS ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นาน ชื่อของ PERMAS ได้รับความสนใจจากสื่อ เพราะ PERMAS ได้จัดกิจกรรมเชิงรณรงค์ชื่อว่างาน Satu Patana และงาน Bicara Patani ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า PERMAS ได้เติบโตมาพร้อมกับ กระบวนการเจรจาสันติภาพของปัตตานี
PERMAS เป็นคำย่อจากภาษารูมี ชื่อเต็มคือ Persekutuan Mahasiswa Anak Muda Patani ซึ่งมีการตกผลึกจากกลุ่มนักกิจกรรมด้วยกันว่า เราต้องมีการขยายพื้นที่การทำกิจกรรม จากกลุ่มนักศึกษาไปสู่กลุ่มนักเรียนมากยิ่งขึ้น เพราะว่าการศึกษาไม่สามารถสร้างคนให้คนคิดได้ โดยเฉพาะวันนี้ในปาตานี มีความจำเป็นที่ประชาชน นับตั้งแต่เด็กกระทั่งถึงผู้ใหญ่ ต้องมีการรับรู้ว่า พื้นที่ของเราได้เกิดอะไรขึ้น ระบบการศึกษาหรือกลไกที่มีอยู่ ไม่สามารถที่จะเอื้ออำนวยตรงนี้ได้ โดย PERMAS มีเจตนารมณ์ที่จะสลายความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราจึงรวมตัวกันจัดกิจกรรม ซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่จะนำไปสู่การเรียนรู้
จากนั้นวิทยากรได้มีข้อเสนอจากมุมมองของเวทีครั้งนี้ โดยเริ่มที่อาจารย์ฟูอ๊าด ให้ความคิดเห็นว่า ให้เราเปิดใจ รับฟังข้อคิดเห็นต่างๆ จะทำให้สังคมนี้น่าอยู่ เราต้องก้าวให้ทันโลกปัจจุบัน และเราควรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้นอกห้องเรียน นอกเหนือจากพื้นที่มหาวิทยาลัย การเรียนรู้เหล่านี้มันต้องเพิ่มขึ้น นั่นคือการเปิดพื้นที่ของปัญญาชน
อาจารย์ชารีฟุดดีน กล่าวถึง ความสำคัญของการมองการศึกษา ว่าเรามองในฐานะอะไร ถ้าเราในฐานะคนที่อยากจะศึกษาผ่านระบบการศึกษาที่ถูกจัดสรร มีคุณวุฒิ มีใบประกอบ ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องนำตัวเองเข้าไปสู่ในระบบการศึกษา หากเรามองในฐานะผู้ที่ไม่ทอดทิ้งการศึกษา หรืออยากจะคิดต่างๆ สังคม ณ วันนี้ มันมีหลายอย่าง มีรูปแบบอย่างหลากหลาย ที่เราจะนำมาคิด ซึ่งสิ่งนี้จะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายในการมีชีวิตของเราว่าเป็นอะไร ต่อมา คุณอัสมัน มะดีเย๊าะ เราต้องสร้างการศึกษาที่สามารถที่จะนำไปสู่สันติภาพได้ ทุกคนมีความสำคัญ เพราะสุดท้ายแล้วสันติภาพจะเกิดขึ้นด้วยตัวพวกเราเอง