ผู้หญิงถึงผู้หญิง: ดอกไม้บานกลางดงสันติภาพ

ผู้หญิงถึงผู้หญิง: ดอกไม้บานกลางดงสันติภาพ

กลุ่มสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นกลุ่มคนสำคัญที่ขับเคลื่อนเพื่อประเด็นสันติภาพให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในวันที่ 10 มิถุนายน ปาตานี ฟอรั่มได้จัดเวที ผู้หญิงถึงผู้หญิง: ดอกไม้บานกลางดงสันติภาพ ที่มัสญิดบ้านอามานี บ้านปูยู ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยมีวิทยากรคือคุณพิศิษฐ์ วิริยสกุล คุณวรัญญา  วิริยสกุล คุณรุสนี แมเลาะและคุณ ดำเนินรายการโดย คุณปรัชญา โต๊ะอีแต ผู้จัดการปาตานี ฟอรั่ม

เวทีครั้งนี้มีความต้องการเพื่อที่จะนำเสนอถึงประเด็นผู้หญิงกับสันติภาพท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรง รวมไปทั้งบรรยากาศที่กำลังจะเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ

คุณวรัญญา ได้กล่าวถึงบทบาทสตรีต่อการทำงานช่วยเหลือสังคมไว้ว่า ในจังหวัดชายแดนใต้มีคีย์เวิร์ดสำคัญก็คือ ความรุนแรง สันติภาพ เยียวยาว คำถามที่เกิดขึ้นในขณะที่ออกมาทำงานพัฒนาชุมชนนั่นก็คือ ทำไมต้องออกมาทำงาน ซึ่งเราต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อน ว่าเราทำเป็นเพื่ออะไร ซึ่งคำตอบก็อยู่ที่การทำงานเพื่อรับใช้อิสลาม ในส่วนของบ้านปูยู กลุ่มสตรีได้มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีกลุ่มสตรีทำข้าวสารเพื่อการจำหน่าย นอกจากนั้นยังคงมีการทำกระจูด และยังคงมีการทำน้ำดื่ม เหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงการพัฒนา

ทางด้านปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านของเรา ประเด็นสำคัญก็คือว่า ยังอ่านหนังสือไม่มากพอ รวมทั้งยังคงไม่มีความเข้าใจในโลกสมัยใหม่ ซึ่งในวันนี้เกิดการปะทะทางวัฒนธรรม ตอนนี้เรากลัวว่าลูกหลานของเรา ผู้หญิงเสียตัวก่อนวัยอันควร ผู้ชายติดยาเสพติด ในฐานะที่เราเป็นพ่อแม่นั้น เราจะอธิบายต่อลูกหลานของเราอย่างไร ให้มีภูมิคุ้มกันต่อและสามารถแยกแยะได้จากภัยที่มาจากเทคโนโลยี

ต่อมาคุณพิศิษฐ์กล่าวถึงบทบาทสตรีต่อการสร้างสันติภาพในพื้นที่ ปัญหาต่อสันติภาพเป็นการที่คนไม่รักกัน ดังนั้นการที่จะสร้างสันติภาพเสมือนกับการคิดค้นหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้คนรักกัน ในหมู่บ้านของเราทุกวันนี้ เดิมทีจะมีความรู้จักมักคุ้นกัน แต่ในช่วงระยะเวลาหลังๆ นี้ เวลาเยาวชนทำความผิด ผู้อาวุโสในหมู่บ้านไม่ค่อยจะห้าม ทำให้หมู่บ้านเริ่มที่จะแตก ถ้าเราไม่เริ่มที่จะทำให้ชุมชนของเรามีความรัก ความสามัคคีกัน ปัญหาต่างๆ เช่น การติดยา ก็จะไม่เกิดขึ้น

จากนั้นคุณวรัญญาได้กล่าวต่อในประเด็นที่ว่า อะไรที่เป็นคุณสมบัติของสตรีที่จะออกมาเคลื่อนไหวต่อสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มต้นจากสังคมเล็กๆ ในครอบครัว ซึ่งผู้หญิงจะมีบทบาททำให้ครอบครัวสมบูรณ์ จนกระทั่งนำไปสู่บทบาทต่างๆ เช่นในการจัดเวที ตั้งวงพูดคุยกัน เพื่อที่จะหาทางออกต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเรา

ต่อด้วยพิศิษฐ์ ได้กล่าวถึงสรุปถึงสันติภาพในระดับชุมชนว่า ชุมชนจะเป็นส่วนสำคัญมากต่อการสร้างสันติภาพ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ชาวบ้านเป็นกลุ่มคนที่ต้องเผชิญอยู่กับปัญหาจริงๆ  ซึ่งความเป็นญามาอะห์จะนำไปสู่การสร้างสันติภาพโดยอัตโนมัติ สันติภาพระหว่างรัฐกับขบวนการ ไม่มีความสำคัญมากไปกว่า สันติภาพที่เกิดจากในชุมชน