สนทนาปาตานี ถิ่นอีสาน แตกความคิด พื้นที่ต่าง
สนทนาปาตานี ถิ่นอีสาน แตกความคิด พื้นที่ต่าง การเสวนาครั้งนี้มีประเด็นพื้นที่สำหรับผู้ที่คิดต่าง เป็นเรื่องหลักของการเสวนาครั้งนี้ ในสังคมไทยมีปัญหาที่เกิดขึ้นมากมาย รากเหง้าของปัญหานั้นคืออะไร โดยการเสวนาครั้งนี้จะเป็นเวทีที่เรามานั่งพูดคุย ถกเถียงกัน และมีพื้นที่กรณีศึกษาทั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่อีสาน ในส่วนของความคิดต่างนั้น ในสังคมประชาธิปไตย ความคิดเห็นที่แตกต่างถือเป็นเรื่องที่สวยงาม แต่ทำไมในทุกวันนี้ ความคิดเห็นแตกต่าง มันมีพื้นที่ให้มากน้อยเพียงใด และทำไมพื้นที่เหล่านี้ได้ถูกตั้งคำถามมากมาย ซึ่งเราต้องมาทำความเข้าใจกัน
การเสวนาในครั้งนี้มีวิทยากรเข้าร่วมการพูดคุยคือ คุณกรชนก แสนประเสริฐ กลุ่มเผยแพร่กฎหมายมนุษยชนเพื่อสังคม คุณฮาดีย์ หะมีดง คุณดอน ปาทาน และอาจารย์บัวพันธ์ พรหมพักพิง อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการเสวนาโดยปรัชญา โต๊ะอีแต
การเสวนาในครั้งนี้ได้เริ่มต้นที่คุณฮาดีย์ โดยส่วนตัวคิดว่า การคิดต่างมีหลายระดับ ในพื้นที่สามจังหวัดมีผู้ที่คิดต่างมากมายเช่น อาจจะคิดต่างกับสิ่งที่ใครซักคนหนึ่งได้กระทำ หรือแม้กระทั่งว่าต้องหยิบอาวุธขึ้นมาต่อสู้ โดยกลุ่มคนคิดต่างเหล่านี้ได้เกิดขึ้นในระลอกล่าสุดเมื่อการปล้นปืนในปี 47 เมื่อมีคนคิดต่างกระทั่งต้องถืออาวุธมาลุกขึ้นสู้ ประเด็นเรื่องของความคิดต่างระหว่างสังคมไทยกับจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดจากอะไร จะดูได้จากความเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของสังคมไทย ช่วงก่อนทศวรรษ 2500 ซึ่งจะทำให้คนมีการปฏิบัติที่คล้ายกัน มีแนวความคิดที่คล้าย แต่ในบางพื้นที่ เช่นในชายแดนใต้นั้นยากที่จะหาอะไรมาร่วมกับสังคมใหญ่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษา อัตลักษณ์ การนับถือศาสนา เป็นต้น ซึ่งจะนำไปสู่ความรู้สึกของคนในพื้นที่ที่รู้สึกว่า เรื่องดังกล่าวนี้มีความแรงอยู่ มันมีความรู้สึกที่จะต้องต่อต้าน หลังทศวรรษ 2500 ก็มีความรู้สึกที่จะต่อต้าน และทำให้เกิดฮีโร่ ตัวอย่างเช่นกรณีของหะยีสุหลง ซึ่งไม่ได้ต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน แต่สู้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้คนในพื้นที่ กลายเป็นว่าหะยีสุหลงกลับหายสาบสูญ ดังกล่าวนี้ทำให้ความคิดต่างได้แพร่ขยายสู่ผู้คนมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้เหตุการณ์สำคัญจากประวัติศาสตร์ที่ทำให้ความคิดต่างกระจายไปสู่คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มยิ่งขึ้น จากกรณีของเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ที่จังหวัดปัตตานี มูลเหตุจากการสังหารชาวปัตตานี และมีเด็กหนีรอดออกมาได้ และนำเรื่องราวดังกล่าวมาเล่าสู่ภายนอก โดยการออกมาประท้วงตอนนั้นเสมือนกับการแสดงถึงว่า ชาวปัตตานีได้ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งสร้างผู้ที่คิดต่างเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสิบปีหลัง ได้สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ต่อมาคุณดอน ปาทานได้กล่าวเสริมในประเด็นของตากใบไว้ว่า หากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นที่ ขอนแก่น เชียงใหม่ กรุงเทพฯ หรือไม่ก็หาดใหญ่ สังคมไทยจะเกิดความรู้สึกอย่างไร ซึ่งในเหตุการณ์ตากใบ แม้ว่าจะมีคนสะเทือนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่นิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และมีผู้คนที่สมน้ำหน้าต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอีกด้วย
ทางด้านคุณกรชนก แสนประเสริฐ ได้กล่าวถึงประเด็นของการคิดต่างไว้ว่า ปัญหาของความคิดต่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทยไม่มีความต่างกันเลย กล่าวคือ การไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างของผู้มีอำนาจในสังคม ในสังคมไทยมีความแตกต่างหลากหลายเป็นจำนวนมาก แต่ผู้มีอำนาจไม่เคยที่จะยอมรับเรื่องเหล่านี้ ซึ่งผู้มีอำนาจได้ใช้กฎหมายในการกดทับความคิดต่าง เพื่อที่จะการันตีความมั่นคงในอำนาจของตนเอง ความรุนแรงทางกฎหมายมีความเป็นรูปธรรมมากที่สุดในการบีบบังคับให้คนคิดต่างไม่ได้แสดงออก
อาจารย์บัวพันธ์ พรหมพักพิง ได้ให้มุมมองในประเด็นของความคิดต่างที่ว่า ความแตกต่างถือเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินี้ การพัฒนาที่เกิดขึ้นนั้นได้เริ่มต้นมาจากความคิดที่แตกต่าง ความคิดต่างเริ่มที่จะมีปัญหาก็ต่อเมื่อ เรามาตกลงกันร่วมกันสร้างรูปแบบทางสังคมที่เรียกกันว่า รัฐหรือ รัฐ-ชาติ รัฐ-ชาติเริ่มที่จะมีการอ้างพื้นที่ อ้างอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ และมีการสร้างแนวความคิดที่ว่า การที่เราคิดต่างนั้น มันจะส่งผลอันตรายต่อพื้นที่อันนี้ แต่ในขณะเดียวกัน การปราศจากความแตกต่างหลากหลายก็จะนำไปสู่การล่มสลายของรัฐได้เช่นเดียวกัน
คุณดอนได้กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นของ รัฐ-ชาติ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยว่า เดิมทีคนมลายูปัตตานีไม่ได้ท้าทายอธิปไตยของประเทศไทย มีการจับอาวุธขึ้นมาในหลังยุคของจอมพลสฤษดิ์ หากจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ต้องย้อนไปดูที่ว่าเมื่อ 50 ปีแรกอยู่ด้วยกันได้อย่างไร ซึ่งเป็นการบริหารจัดการที่ค่อนข้างลงตัว หรืออาจจะไปดูตัวอย่างที่ประเทศสิงคโปร์ การต่อรองทางชาติพันธ์ระหว่างคนจีนกับคนมลายู ซึ่งเพลงชาติของสิงคโปร์ เป็นภาษามลายู เป็นต้น
คุณฮาดีย์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ณ วันนี้เหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากรัฐเริ่มที่จะดำเนินการเจรจา อย่างไรก็ตามโจทย์ใหญ่สำหรับความคิดต่างในสังคมไทยนั่นก็คือ ความมั่นคงมันคืออะไร ซึ่งความมั่นคงอาจจะหมายถึง การที่ไม่ยอมเสียดินแดน การที่ไม่ยอมสูญเสียอำนาจอธิปไตย แต่ทุกวันนี้ความมั่นคงควรที่จะกลับมานิยามใหม่ เช่นนิยามว่า ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน การให้ทุกคนมีโอกาสได้เข้าถึงนโยบายของรัฐ และผลประโยชน์ของรัฐ ความมั่นคงของรัฐที่ถูกมองจากมุมเดิมๆ โดยที่ในเวทีการเจรจาได้มีคำถามที่ว่า ทำไมขบวนการจึงก่อความรุนแรง คำตอบที่ออกมาจากกลุ่มขบวนการนั่นก็คือ อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องก่อความรุนแรง ความไม่เป็นธรรมในอดีตใช่หรือไม่ เป็นต้น นิยามความมั่นคงของรัฐ มันแคบไปหรือไม่ นิยามความเป็นไทยของรัฐ มันแคบไปหรือไม่ ทำให้ไม่สามารถที่จะรวมคนมลายูเข้าไปได้
จากนั้นคุณกรชนก ได้กล่าวถึง การนิยามของคำว่า ความมั่นคงว่า สังคมไทยนิยามความมั่นคงว่า ความมั่นคงจากความกลัว ความกลัวของรัฐทำให้รัฐหยิบยกความมั่นคงขึ้นมาใช้ กลัวว่าจะควบคุมอำนาจไม่ได้ กลัวว่าจะสูญเสียอำนาจไป กลัวว่าจะ
สูญเสียดินแดนไป จึงมีการหยิบยกคำว่า ความมั่นคงขึ้นมาใช้ เช่นเดียวกันในกรณีของชาวบ้านที่มีความกลัว ก็จะหยิบยกคำว่า ความมั่นคงมาใช้ เพราะฉะนั้นความมั่นคงจึงกลายมาเป็นเครื่องมือของทั้งสองฝ่ายที่มีความกลัวซึ่งกันและกัน ในเมื่อทั้งสองฝ่ายสามารถที่จะหยิบยกคำว่า ความมั่นคงมาใช้ได้ทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ก็อยู่ที่ว่า ฝ่ายใดจะหยิบมาใช้แล้วเกิดความชอบธรรมมากกว่ากัน แน่นอนว่าจะเป็นของรัฐ
ต่อมาคุณกรชนก ได้เพิ่มเติมถึง เรื่องมุมมองจากคนนอกพื้นที่ ที่มีต่อคนใต้ ซึ่งคนนอกอาจจะมีความกลัวคนใต้อยู่บ้าง ครั้งหนึ่งเคยถามความเห็นกับคนนอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาคใต้ 3 ประเด็นก็คือ เขตการปกครองพิเศษ แบ่งแยกดินแดน หรืออยู่ตามเดิม ในสถานการณ์ความรุนแรงเช่นนี้ แต่คนตอบที่ได้รับก็คือ แบ่งแยกดินแดนไม่เอา เขตการปกครองพิเศษไม่เข้าใจ และดูเหมือนจะเห็นด้วยกับการใช้กำลังต่อขบวนการให้หมด ซึ่งความเห็นดังกล่าวนี้ไม่แปลกในสังคมไทย อันเนื่องมาจากว่า การทำหน้าที่ของสื่อกระแสหลัก ก็โน้มน้าวไปสู่สิ่งดังกล่าวนี้
คำถามที่อยากจะชวนถามต่อเหตุการณ์ข้างต้นว่า ทำไมถึงกลัวคนใต้ อาจจะได้รับคำตอบที่ว่า คนใต้พูดคนละภาษา เป็นคนละเชื้อชาติ หากได้รับคำตอบเช่นนี้ โดยส่วนตัวแล้วจะถามกลับไปต่อว่า ณ ที่นี้มีคนไทย ที่เป็นไทยจริงกี่คน หากมีการย้อนดูศึกษาประวัติศาสตร์ จะพบว่าคนไทยมีน้อยมาก ซึ่งในประเทศไทยนี้มีทั้งคนลาว คนเขมร ไทยลื้อ เป็นต้น คนไทยจริงๆ อาจจะเป็นเพียงแค่ชนกลุ่มน้อยของรัฐไทยในความเป็นจริง แต่หากว่าถูกทำให้ลืม อีกทั้งคนในสังคมชอบลืมเสียด้วย มันจึงทำให้เกิดทัศนคติแย่ๆ ต่อคนในสังคม โดยเฉพาะผู้คนในสามจังหวัด
ต่อมาคุณดอน ได้กล่าวถึงประเด็นของการเจรจาสันติภาพ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ รัฐไทยได้มีการพูดคุยกับขบวนการบีอาร์เอ็นอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก การพูดคุยระหว่างรัฐกับขบวนการนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ ยุคสมัย 80-90 ก็มีการพูดคุยกัน แต่เป็นงานของทางด้านทหาร แต่ไม่มีผลต่อนโยบายของรัฐ โดยในการพูดคุยอย่างเปิดเผยครั้งนี้ มีคำถามว่า รัฐไทยได้พูดคุยกับกลุ่มตัวจริงหรือไม่ จากข้อสังเกตในความรุนแรงของสถานการณ์ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งตรงนี้โดยส่วนตัวเห็นว่า ไม่ได้มีตัวปลอม แต่ในสถานการณ์ภายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีตัวจริงค่อนข้างเยอะ แต่หัวใจสำคัญนั่นก็คือว่า ในบรรดาตัวจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น ใครสามารถที่จะมีอิทธิพลควบคุมให้สถานการณ์เกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นได้ ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ได้รับพบว่า ผู้นำรุ่นเก่าในขบวนการไม่มีเอกภาพ หากไม่มีเอกภาพพวกที่อยู่ระดับล่างลงมาก็ไม่มีทางออก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องรบต่อ
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวของ สนทนาปาตานี ถิ่นอีสาน แตกความคิด พื้นที่ต่าง ทั้งเรื่องราวของปาตานีออกสู่พื้นที่อื่น รวมทั้งมุมมอง ความเป็นไปของปาตานี ที่มีอยู่ต่อคนนอก ที่อยู่ภายใต้พื้นที่เดียวกัน นั่นก็คือ พื้นที่ของผู้ที่คิดต่าง