เกาะติดกระแสความรุนแรงใต้พรม : จากปาตานีสู่กัวลาบารา (2)
หลังจากตอนแรกที่ออกไปก่อนหน้านั้น ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในจังหวัดสตูลแล้วนั้น ในตอนนี้สองนี้จะนำเสนอถึงมุมมองของผู้เข้าร่วมการเสวนาต่อทางออกของปัญหาในสตูล
คุณสมบูรณ์ คำแหง ได้นำเสนอว่า สิ่งเดียวที่เราต้องช่วยคิดกันนั่นก็คือ เราอย่าสร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความรุนแรง การที่จะปล่อยให้โครงการขนาดใหญ่มาอยู่ที่บ้านของตัวเองจะเป็นสิ่งที่ยอมไม่ได้อย่างแน่นอน แต่การใช้เหตุผลมาคุยกันเป็นสิ่งที่รับได้ แต่หากไม่มีการใช้เหตุผลมาคุยกันอาจจะสร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรงได้ สำหรับการจัดการความขัดแย้งที่อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงนั้น ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลได้มีการเปิดเวทีเพื่อการพูดคุย ซึ่งแสดงถึงความเจตนาดีของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมาคุณเจ๊ะนะ รัตนพันธ์ ได้ตั้งคำถามถึงรัฐธรรมนูญมาตราที่ 66-67 ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปไว้ว่า ประชาชนเป็นใหญ่ในพื้นที่ หากเราเป็นใหญ่ในพื้นที่จริง ทำไมการพัฒนาไม่มีการสอบถามความคิดเห็นจากผู้ที่เป็นใหญ่ในพื้นที่ อยากจะบอกกับรัฐว่า หากจะทำโครงการใดๆ ก็ตามแต่ ควรคำนึงถึงสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ
ต่อมาอ.สมพร เหมรา ได้นำเสนอถึง ประเด็นของการพัฒนาของสตูล การท่องเที่ยวถือเป็นธุรกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวสตูลเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นก็จะมีการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมและประมง ซึ่งคนเหล่านี้มีความสุขต่ออาชีพของตนเอง หากรัฐลงทุนอย่างจริงจังในส่วนของอุตสาหกรรมครอบครัว คนสตูลจะได้รับการพัฒนาศักยภาพมากขึ้นกว่านี้ กล่าวโดยง่ายว่า ชาวสตูลไม่ประกอบอาชีพใดๆ เลย 1 เดือนก็สามารถที่จะอยู่ได้ เพราะธรรมชาติที่สมบูรณ์
ในส่วนของการท่องเที่ยว สตูลในบริบทของอาเซียน ซึ่งมีการได้เปรียบอันเนื่องมาจากภาษามลายูของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการทำค้าของชาวสตูลและมาเลเซีย ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกันมาก่อนแล้ว ในพื้นที่ของจังหวัดสตูล คนสตูลต้องจัดการตัวเอง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ควรได้รับการส่งเสริมให้มีศักยภาพและมีโอกาสทางด้านการขยายงาน
ต่อมาคุณแวหามะ แวกือจิ ได้นำเสนอในประเด็นของเรื่องราวปัตตานีว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นของปัตตานีในปัจจุบันนั้น เป็นผลอันเนื่องมาจากการขาดการรวมตัวกันอย่างจริงจังของชาวปัตตานีในอดีตซึ่งกรณีนี้ต่างจากสตูล
สิ่งที่เกิดขึ้นในปัตตานีนั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาเป็นร้อยปีแล้ว ปัญหาที่คนปัตตานีแสดงออกถึงนั่นก็คือ ความรุนแรง เนื่องจากไม่มีเวทีที่เปิดโอกาสการพูดคุย การพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับปัตตานีที่กำลังเกิดขึ้นนี้นั้นถือเป็นสิ่งที่แปลก ข้อสังเกตจากประชาชนปัตตานีนั่นก็คือว่า มันจะออกมาในทิศทางใด การพูดคุยนั้นอาจจะมีหลายระดับ ซึ่งในส่วนของหน่วยงานรัฐก็ต้องพูดคุย และในขณะเดียวกันประชาชนด้วยกันเองก็ต้องมีการพูดคุย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัตตานีนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ โดยคำตอบสำคัญก็ต้องมาจากประชาชน
ความรุนแรงใต้พรม ถ้าหากมีการปล่อยปะละเลย วันหนึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นใต้พรม อาจจะอยู่บนพรม ซึ่งเกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้
คุณสมบูรณ์ คำแหง ได้กล่าวถึง เรื่องของสตูลกับเรื่องที่ปัตตานี หากปล่อยปะละเลยอาจจะเกิดความบานปลายไปกว่านี้ ในกรณีของสตูลนี้ อยากนำเสนอถึงภาคประชาชน โดยกลุ่มประชาชนที่มีข้อมูลอยู่มาก ควรที่จะนำเสนอถึงความเป็นไปของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ออกสู่สาธารณะให้มากขึ้น เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจร่วมกันกับผู้ที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งวันนี้ต้องยอมรับว่า ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกหล่อหลอมด้วยภาพของการพัฒนา ซึ่งเห็นด้วยต่อโครงการขนาดใหญ่ โดยคนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการขนาดใหญ่ ไม่สามารถที่จะหยุดนิ่งได้ ควรที่จะนำประเด็นเหล่านี้ออกสู่สาธารณชนว่า สาเหตุที่เราไม่เห็นด้วยนั้นคืออะไร