เกาะติดกระแสความรุนแรงใต้พรม : จากปาตานีสู่กัวลาบารา (1)

 

ปาตานีฟอรัม ร่วมกับสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน จัดเวทีสาธารณะเสวนาหัวข้อ “เกาะติดกระแสความรุนแรงใต้พรม : จากปาตานีสู่กัวลาบารา” โดยมีนายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล นายแวหามะ แวกือจิ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน และอาจารย์เอกรินทร์ ต่วนศิริ ผู้อำนวยการปาตานีฟอรัม ดำเนินรายการ

ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนเป็นเรื่องที่สำคัญ การเรียนรู้ปัญหา การเข้าใจซึ่งกันและกัน  เหตุเพราะว่า ทำไมคนปัตตานีต้องมาคุยที่สตูล อธิบายอย่างตรงไปตรงมา พื้นที่ตรงนี้ประสบกับความขัดแย้ง ซึ่งในทางวิชาการแล้ว ความขัดแย้งเป็นเรื่องที่ปกติ เป็นความขัดแย้งที่มาจากแผนการพัฒนา ซึ่งทางปัตตานีจะมาเรียนรู้ ทางด้านปัตตานี ก็มีความรุนแรง ซึ่งเรียกว่า ความรุนแรงทางกายภาพ ที่เกิดขึ้น ซึ่งต่างจากสตูลที่เป็นความรุนแรงทางโครงสร้างที่ไม่สอดคล้องกับผู้คนในพื้นที่

เวทีการพูดคุยครั้งนี้เริ่มต้นที่ สมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล ได้กล่าวถึงประเด็นถึงวิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันของชาวสตูล ประชากรโดยส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมประมาณร้อยละ 60 นอกจากนั้นยังคงมีพี่น้องชาวพุทธ ชาวจีน รวมทั้งชาวคริสต์ด้วย เป็นทั้งหมดนี้มีปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ที่อยู่ภายในจังหวัด

สำหรับการประกอบอาชีพของประชาชนที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักในเศรษฐกิจของชาวสตูล ซึ่งจังหวัดสตูลที่แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามไม่แพ้จังหวัดอื่นๆ ในประเทศ ทั้งการท่องเที่ยวทางทะเล ป่าไม้ ภูเขา เป็นต้น  ต่อมาในเรื่องของการเกษตร สตูลมีผลผลิตจากยางพาราและปาล์มน้ำมัน นอกจากนั้นยังมีผลไม้ การทำนา ซึ่งข้าวที่ปลูกในสตูลสามารถหล่อเลี้ยงชาวสตูลได้ ในส่วนของประมง มีทั้งขนาดใหญ่ และประมงพื้นบ้าน สิ่งเหล่านี้ได้หล่อเลี้ยงให้ชาวสตูลสามารถดำเนินอยู่ได้ โดยการเกษตรและการประมงได้ส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมขนาดเล็กในพื้นที่ โดยการนำเอาผลผลิตเหล่านี้มาแปรรูป

ทางด้านโครงการขนาดใหญ่ในจังหวัดสตูลที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ได้เป็นความต้องการของชาวสตูล ไม่ได้เป็นสิ่งที่ชาวสตูลคิด แต่เป็นเรื่องของนักการเมืองเป็นผู้คิดมา แล้วพยายามวางแผนกำหนดทิศทางต่อการพัฒนาระดับชาติ ซึ่งจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ก็กำลังประสบชะตากรรมเช่นนี้ด้วยกัน ซึ่งภาคใต้ของไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีทะเลทั้งสองฝั่ง ลักษณะเช่นนี้ทำให้รัฐบาลคิดไปข้างหน้าว่า ถ้านำเอาพื้นที่เหล่านี้มาใช้เป็นผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลก็คิดจะพัฒนาในกระแสปกติก็คือ การพัฒนาที่อยู่ในระบอบทุน ถ้าเรามองให้ทิศทางของการพัฒนาในมุมมองของคนทั่วไปก็จะเห็นถึงการพัฒนาในรูปของวัตถุ อุตสาหกรรม สิ่งก่อสร้างต่างๆ

ต่อมาคุณเจ๊ะนะ รัตนพันธ์ ได้กล่าวถึงมุมมมองของประชาชนในพื้นที่ต่อโครงการเมกะโปรเจ็คดังกล่าวนี้ว่า หากกล่าวถึงโครงการดังกล่าวนี้แล้ว ประชาชนอยากจะให้รัฐบาลพัฒนาในเศรษฐกิจสามขา ก็คือ การท่องเที่ยว การเกษตรและการประมง แต่ ณ ปัจจุบันรัฐบาลไม่ได้มองถึงจุดนั้นอย่างเต็มที่ และรัฐบาลมีนโยบายที่สวนทางกันไป อีกทั้งในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลไม่มีการประชาสัมพันธ์ในประชาชนรับทราบ โดยเฉพาะการใช้พื้นที่ของอุทยานเพตรา หากว่าจะมีการพัฒนาอยากจะให้รัฐบาลพัฒนาในส่วนของประชาชน ทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดคือประชาชน อยากจะให้รัฐบาลดูแลอย่างเต็มที่มากกว่านี้

ในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล รัฐบาลไม่เคยชี้แจงว่าหากมีการพัฒนาเกิดขึ้นจริงแล้วประชาชนจะได้อะไร รัฐบาลไม่เคยมีการชี้แจงว่า การเวนคืนที่ดินจะให้ราคาเท่าไหร่ แล้วประชาชนจะได้รับอะไรในอนาคต แล้วความเจริญที่เกิดขึ้น ใครจะเป็นผู้รับประโยชน์

 

ต่อมาอ.สมพร เหมรา นักวิชาการและแกนนำท้องถิ่น ได้นำเสนอถึง ประเด็นการพัฒนาในโครงการขนาดใหญ่นี้มีผู้ศึกษาสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มผู้ที่ศึกษาอย่างจริงจัง ผู้ที่เป็นกลาง และจะเป็นอย่างไรก็ได้ไม่สนใจ สตูลวันนี้ได้มีโครงการใหญ่ที่มีท่าเรืออเนกประสงค์ด้วยงบประมาณ 300 ล้านบาทที่เป็นพื้นที่จัดการการท่องเที่ยว แต่ตอนนี้โครงการใหญ่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งสร้างความตระหนกให้แก่ประชาชน ในโครงการใหญ่ๆ เหล่านี้ หากมีการสื่อสารและการทำประชาพิจารณ์ ประชาชนคงมีความเข้าใจมากขึ้นกว่านี้

จากนั้นอ.สมพรได้ยกตัวอย่างจากแนวคิดของดาโต๊ะอับดุลลาฮ์ รัฐมนตรีกระทรวงช่วยศึกษาธิการ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และการพัฒนา ต้องเป็นสิ่งที่อยู่ร่วมกันได้ เมื่อถึงจุดหนึ่งเราจะอยู่ในสภาพเดิมๆ ไม่ได้ แต่เราต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับความเป็นคน แต่ในทุกวันนี้เมื่อกล่าวถึงการพัฒนาแล้วจะนึกถึงกลุ่มนักการเมืองและกลุ่มทุน โดยที่ชาวบ้านจำนวนน้อยอาจจะถูกผลักให้เป็นแรงงาน

ต่อมาคุณแวหามะ แวกือจิ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน ได้กล่าวถึงแผนพัฒนาของรัฐว่าไม่ได้ตอบโจทย์ต่อคนในพื้นที่ กระทั่งนำไปสู่ความรุนแรง โดยสิ่งสำคัญจากปัตตานีได้ใช้การต่อรองกับรัฐทุกยุค ทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแผนพัฒนาเล็กๆ กระทั่งถึงเรื่องใหญ่ โดยส่วนตัวคิดว่าแผนพัฒนาของรัฐเกินกว่าครึ่งไม่ได้ตอบโจทย์ต่อคนในพื้นที่ หลายๆ โครงการไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่า ชาวบ้านต้องการหรือไม่ รัฐก็พยายามชี้และมุ่งพัฒนาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เทียบเท่ากับพื้นที่อื่นๆ แต่คำถามก็คือ การพัฒนามันตรงจุดหรือไม่

ต่อมาได้นำเสนอถึงประเด็นที่เกี่ยวกับหัวข้อในการจัดเวทีวันนี้ว่า อยากจะทำความเข้าใจว่า ความยากลำบากและความรุนแรงได้เกิดขึ้นที่ปัตตานีมาเป็นเวลานานแล้ว แต่สิ่งที่ชาวปัตตานีไม่อยากเห็นนั่นก็คือ ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดสตูลไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่อยากจะกล่าวเกี่ยวกับเวทีการพูดคุยนั่นก็คือ เวทีหาทางออกเป็นกระบวนการที่ดีที่สุด มันไม่มีความจำเป็นที่จะใช้ความรุนแรงในการหาทางออก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ชาวสตูลกำลังเคลื่อนไหวถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เราจำเป็นจะต้องหาจุดๆ หนึ่ง ที่จะเกิดความยอมรับกันทั้งสองฝ่าย และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ อย่าใช้ความรุนแรง ทั้งกลุ่มเจ้าหน้าที่และกลุ่มประชาชน และสิ่งสำคัญที่ดีสุดสำหรับแผนพัฒนาก็คือ การพัฒนาต้องตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน