กระบวนการสันติภาพในมุมมองของคนนอกปาตานี (2)
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ได้นำมาจาก "บทสนทนาในห้วงยามเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน" กระบวนการสันติภาพในมุมมองของคนนอกปาตานี วันที่ 12 เม.ย. 2556 ณ ร้านบูคู ปัตตานี
อาจารย์อันธิฌา อาจารย์ม.อ.ปัตตานีและเจ้าของร้านหนังสือพบูคู ได้นำเสนอว่า คนนอกปัตตานีที่อยู่ที่นี้ ต้องเผชิญหน้ากับความเป็นอื่น เราเป็นคนที่แตกต่างจากผู้คนที่นี้ ต้องเจอคำถามเดิมๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่มีทางที่จะกลมกลืนกลายเป็นคนที่นี้ได้เลย อย่างไรก็ตามนั้นด้วยภาวะต่างๆ เหล่านี้ สามารถที่จะทำให้เราปรับตัวเข้ากับพื้นที่ได้ง่ายขึ้น สามารถรับรู้เข้าใจถึงความเป็นไป ความแตกต่างในพื้นที่ได้ง่ายขึ้น คนนอกสามารถที่จะนำความแตกต่างจากพื้นที่ไปสู่พื้นที่ข้างนอกได้ และในขณะเดียวกันก็สามารถที่จะนำความแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ เข้ามาสู่ความเข้าใจในพื้นที่ได้
ในมุมมองส่วนตัวต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพ สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่เรื่องของสันติภาพ ส่วนหนึ่งที่จะทำให้ความรุนแรงยุติลงนั่นก็คือ การทำงานในส่วนของวิถีชีวิต งานในด้านวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้จะเป็นความพึงพอใจในการอยู่ร่วมกัน มองเห็นความงามในวัฒนธรรมของผู้อื่น โดยอาจจะใช้ภาษาและวรรณกรรมเป็นเครื่องมือทำความเข้าใจต่อประเด็นดังกล่าวนี้
ต่อมาคุณชาบี จากประเทศสเปน ซึ่งเป็นชาวคาตาลัน ได้กล่าวถึงประเด็นอัตลักษณ์ของชาวคาตาลันในประเทศสเปนว่า ในสเปนมีหลากหลายวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ ในอดีตประเทศสเปนเป็นที่อาณาจักรหลายอาณาจักร คาตาลันมีวัฒนธรรม ภาษาเป็นของตัวเอง
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีสงครามกลางเมืองในสเปน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1 ล้านคน หลังจากนั้นมีรัฐบาลปกครองประมาณ 30 ปี และนำไปสู่รัฐบาลประชาธิปไตย ซึ่งรัฐบาลประชาธิปไตย ได้ปกครองด้วยการแบ่งเป็นเขตการปกครองพิเศษถึง 17 แห่ง แต่ละแห่งมีผู้นำของตัวเอง และในโรงเรียนของพื้นที่ปกครองพิเศษ ตัวอย่างเช่นที่ คาตาลัน จะมีการเรียน การสอนโดยใช้สองภาษา คือ ภาษาสเปนและภาษาคาตาลัน
มุมมองของตัวเองต่อพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความรู้สึกแปลกที่ว่า ที่นี้มีทหารจำนวนมาก เข้าใจว่ามีสถานการณ์ความรุนแรง หากเป็นที่สเปน โดยที่ทหารเข้ามานำในการแก้ปัญหา ทหารจะสูญเสียความชอบธรรมอย่างแน่นอน
ต่อมาผู้เข้าร่วมได้นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจคือ ได้นำเสนอถึงผลจากการเจรจาว่า ผลไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในเวลาอันสั้น เริ่มเจรจาในวันนี้ อาจจะตกลงกันอีก 10 ปี ถึงความรุนแรงจะเกิดขึ้นระหว่างนี้ แต่กระบวนการเจรจาก็ต้องดำเนินต่อไป ประเด็นต่อมาวิถีชีวิตที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันคือ ทหารแต่งชุดเครื่องแบบ พร้อมอาวุธครบมือ มีการอำพรางหน้า ขับรถลาดตระเวนทั่วเมือง เสมือนกับว่า เราอยู่ในสภาวะสงครามเต็มรูปแบบ แม้ว่าจะพบเห็นภาพเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน แต่ก็มีความรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย ภาพเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกตอกย้ำว่า เราอยู่ในสภาพของความกลัว ความหดหู่ อยู่ในวงล้อมของความรุนแรงตลอดเวลา
ต่อมาคุณนวลน้อย ผู้สื่อข่าว ได้นำเสนอว่า ในฐานะที่เป็นนักข่าว ความรู้สึกว่าเป็นคนนอกจะมีขึ้นเสมอ เราไม่มีความรู้สึกร่วมเท่าไหร่ เพราะเราเป็นคนนอกทุกกรณี และมีความเข้าข้างในการนำเสนอสื่อ จุดนี้เป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้ความไม่เข้าใจมีเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าคนทำงานสื่อที่ถ่ายทอดเรื่องราว ไม่สามารถที่จะแยกตัวเองออกจากความเป็นกลุ่มก้อน ความเป็นพวกพ้อง
ผู้เข้าร่วมท่านต่อมา ได้นำเสนอถึง การเจรจาที่ผ่านมาและที่กำลังจะเกิดขึ้น มุมมองส่วนตัวอยากจะนำเสนอว่า ต่างฝ่าย ต่างช่วงชิงความชอบธรรมโดยการเอาชนะใจผู้ชม แต่เราจะเห็นได้ว่า ฝ่ายรัฐมีความฉลาดในการนำเสนอประเด็น เพราะนำเสนอประเด็นของความปลอดภัยในพื้นที่ ฝ่ายขบวนการก็นำเสนอในประเด็นของประวัติศาสตร์ ความยุติธรรม ซึ่งไม่ได้สัมผัสต่อผู้คนโดยทั่วไป มีข้อเสนอไปถึงกลุ่มเจรจาว่า ควรที่จะมีที่ปรึกษา เพื่อให้คำปรึกษากับทั้งสองฝ่าย เพื่อที่จะสร้างความสมดุล
จาก "บทสนทนาในห้วงยามเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน" กระบวนการสันติภาพในมุมมองของคนนอกปาตานี” เสียงของคนนอกมีความน่าสนใจ พวกเขาไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกับคนในพื้นที่ คนเหล่านี้อาจจะเป็นตัวเชื่อมที่ดีในการแก้ไขปัญหา จากกระบวนการพูดคุยสันติภาพนั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การสร้างบรรยากาศที่จะนำไปสู่สันติภาพ