กระบวนการสันติภาพในมุมมองของคนนอกปาตานี (1)

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ได้นำมาจาก "บทสนทนาในห้วงยามเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน" กระบวนการสันติภาพในมุมมองของคนนอกปาตานี วันที่ 12 เม.ย. 2556 ณ ร้านบูคู ปัตตานี

จากกระบวนการพูดคุยที่เกิดขึ้นในกัวลาลัมเปอร์ ระหว่างรัฐไทยกับ BRN เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์และ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีเสียงสะท้อนมากมายต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งภาคประชาสังคม กลุ่มนักศึกษา กลุ่มนักวิชาการ อย่างไรก็ตามยังคงมีข้อคิดเห็นที่น่าสนใจจากคนนอกปาตานี ที่ได้เข้ามาใช้ชีวิตท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนกลุ่มนี้มองถึงกระบวนการสันติภาพอย่างไร

ในมุมมองที่เป็นคนนอก มองกระบวนการพูดคุย มองเห็นอย่างไร และมีความหวังอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

อาจารย์ Hara Shintaroอาจารย์สอนภาษามลายู ของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ. ปัตตานี ได้มองถึงประเด็นนี้ว่า จากกระบวนการพูดคุยที่เกิดขึ้นได้มีปฏิกิริยาของผู้คนเกิดขึ้นมากมาย ทั้งดีใจ ตกใจ บ้างก็ตั้งข้อสงสัย ตอนเริ่มต้นเมื่อเกิดกระบวนการพูดคุย ในมุมมองส่วนตัวนั้นไม่เห็นด้วย โดยมองว่า BRN โดยบังคับจากรัฐบาลมาเลเซีย และรัฐบาลไทย เพื่อผลประโยชน์ของรัฐบาลทั้งสองประเทศ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาวบ้าน อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นได้รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ รวมถึงได้เดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย ทัศนคติจึงได้ปรับเปลี่ยนขึ้น ถึงแม้จะมองว่ากระบวนการพูดคุยนี้จะมีผลประโยชน์ทางด้านการเมือง แต่ผลประโยชน์นั้นก็เป็นผลประโยชน์ของประชาชนเช่นเดียวกัน  โดยส่วนตัวมองว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี ทั้งนี้การพูดคุยนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความพยายามของทั้งสามฝ่าย แต่กระบวนการนี้มีค่อนข้างมีความสับสน แต่ไม่มีการเปิดเผย เราไม่สามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้

จากนั้นอาจารย์ได้เพิ่มเติมในประเด็นของบริบทของมาเลเซีย มาเลเซียได้แสดงความจริงใจในการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ เนื่องจากว่า มาเลเซียเกรงว่ากระบวนการความขัดแย้งนี้จะเข้ามาในมาเลเซียด้วย ประเด็นต่อมามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งของมาเลเซียที่กำลังจะถึงนี้ ถ้ามีการเปลี่ยนขั้วบริหารประเทศก็อาจจะไม่ส่งผลต่อกระบวนการเจรจา เพราะพรรค PAS และพรรคของอันวาร์ อิบราฮีม มีความเห็นใจสูงต่อชาวปัตตานี และที่สำคัญชาวปัตตานีที่ได้ไปอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียกระทั่งได้รับสัญชาติมาเลเซียก็เป็นฐานเสียงที่ใหญ่มากในการเลือกตั้งครั้งนี้

เรื่องสำคัญของเราต่อกระบวนสันติภาพนั่นก็คือ เราควรที่จะทำความเข้าใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะวันนี้มีสื่อจำนวนมาก ที่ได้นำเสนอว่า สื่อได้ทำลายบรรยากาศสันติภาพที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะว่าสื่อมวลชนได้นำเสนอถึงภาพของขบวนการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า “โจรใต้” ซึ่งคำนี้อาจจะไม่เอื้อต่อบรรยากาศที่จะนำไปสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ

ต่อมาคุณเลขา เกลี้ยงเกลา ผู้สื่อข่าวจากศูนย์ข่าวอิศรา ได้นำเสนอประเด็นต่อเนื่องจากคำว่าโจรใต้ ที่ใช้ในการนำเสนอสื่อไว้ว่า ในการนำเสนอของสื่อนั้น มีการใช้คำดังกล่าวอยู่จริง แต่เป็นเพียงแค่บางสื่อ ด้วยอาจจะการหวังผลทางธุรกิจ บางสื่อก็ได้ยกเลิกไม่ใช้คำดังกล่าวนี้แล้ว อย่างไรก็ตามก็มีความพยายามที่จะเลี่ยงในการใช้คำ แต่กฎดังกล่าวนี้ไม่ได้มีการบังคับใช้แต่อย่างไร ขึ้นอยู่กับสื่อนั้นๆ ในการเลือกนำเสนอ

ส่วนของการพูดคุยสันติภาพนั้น ในส่วนของสื่อก็ได้มีการไปสังเกตการณ์ภายนอกการพูดคุย จึงไม่สามารถที่จะรับรู้ได้ว่า ข้อมูลที่ได้มานั้นจริงหรือไม่ ซึ่งสื่อแต่ละแห่งจะได้ข้อมูลที่มากน้อยต่างกัน

คุณเรืองรวี เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิเอเชีย ได้เสนอมุมมองจากการพูดคุยสันติภาพเป็น 3 แบบ ในแบบแรกได้ให้มุมมองของการเมืองในภาพใหญ่ ถ้ารัฐบาลเป็นพรรคประชาธิปัตย์จะไม่เปิดการพูดคุย แต่ตอนนี้พรรคเพื่อไทยได้ริเริ่มเรื่องนี้ขึ้น หากมองว่าพรรคเพื่อไทยทำเพื่ออะไร ต้องมองไปมองถึงผลประโยชน์ที่พรรคจะได้รับ พรรคเพื่อไทยอาจหวังเพิ่มคะแนนเสียงจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากที่ไม่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลย จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยการพูดคุยนั้นหวังเพื่อที่ลบภาพของวาทกรรมโจรกระจอกที่เคยได้ให้ไว้เมื่อเริ่มต้นเกิดเหตุการณ์ นำไปสู่การให้พื้นที่และความสำคัญของขบวนการ

แบบที่สอง ประเด็นของการต่อสู้ เป็นการต่อสู่ระหว่างชาตินิยมไทยกับดินแดนนิยม ที่ต้องการพื้นที่เดิมคืน การต่อสู้เช่นนี้เป็นอย่างยืดเยื้อ มีปัจจัยความขัดแย้งที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเช่น ปัจจัยจากอัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ ความไม่เป็นธรรม เป็นต้น โดยที่การพูดคุยครั้งนี้ เสมือนเป็นการลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น

แบบที่สาม คือรัฐและขบวนการเป็นตัวแสดงหลัก ซึ่งเราต้องดูเบื้องหลังของตัวแสดงหลักเหล่านี้ โดยรัฐเองมีเบื้องหลังจากกลุ่มอำนาจเก่าและประชาชนใน 73 จังหวัด ซึ่งมีความกังวลในการเสียอธิปไตยเหนือดินแดนของตนเอง ดูตัวอย่างจากเขาพระวิหารได้ ไม่มีใครยอมที่จะเสียดินแดนตรงนี้ไป ในส่วนของขบวนการมีทั้งกองกำลังและอาจจะรวมถึงประชาชนบางส่วนที่เห็นด้วยกับแนวทางการเคลื่อนไหว แต่ที่สำคัญกลุ่มขบวนการมีประเทศมาเลเซีย เมื่อใดที่มาเลเซียเปลี่ยนใจ กลุ่มขบวนการจะไปอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้น อยากจะเสนอถึงกลุ่มขบวนการว่าให้คิดใหม่ว่า จะเข้าสู่การเจรจาเต็มรูปแบบหรือจะอยู่เช่นเดิม เพราะว่าในช่วงนี้ได้มีการเปิดประตูให้แล้ว หากขบวนการไม่มา มันจะสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐในการเข้ามาจัดการปัญหาเหล่านี้ รวมทั้งรัฐจะได้รับการสนับสนุนจากผู้คนอีก 73 จังหวัด อาจเป็นไปได้ว่าการต่อสู่มาเป็นร้อยปีของขบวนการจะไม่ได้รับอะไรเลย

จากนั้นคุณเรืองรวีได้ให้ข้อเสนอถึงคนในพื้นที่ ควรที่จะทำงานโดยการนำข้อเท็จจริงออกสู่สังคมของประเทศให้มากยิ่งขึ้น เพราะทัศนคติของคนทั่วไปมองจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเชิงลบ อย่างไรก็ตามทัศนคติดังกล่าวนี้ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้โดยคำบอกเล่าจากคนในพื้นที่ รวมถึงคนนอกที่มาอยู่ในปัตตานีด้วย

ต่อมาคุณดลรอฮีม จากมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย จากมุมมองคนนอกพื้นที่ได้เห็นว่า เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น หากไม่ลงมาใช้ชีวิตในพื้นที่จริงไม่สามารถรับรู้ข้อมูลได้ยากว่า อันไหนจริงหรือไม่จริง โดยส่วนตัวพยายามที่จะนำข้อมูลจากการใช้ชีวิตในพื้นที่ออกสู่สังคมภายนอก และพยายามบอกว่า มีผู้คนอีกมากมายที่ไม่รู้ แต่บอกว่าตัวเองรู้ หลายครั้งที่มีการจัดเวทีในกรุงเทพมหานคร โดยไม่มีการเชิญคนในพื้นที่มามีส่วนร่วม

จากนั้นคุณฮาดีได้นำเสนอว่า โดยส่วนตัวแล้วมีเพื่อนสนิทที่คุยกันในเรื่องของสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มานานพอสมควร แต่ทัศนคติของเพื่อนเหล่านี้ยังคงมองเราในลักษณะเดิม ว่าคนใต้เป็นคนที่โหดเหี้ยม เขาไม่สามารถมองลึกไปถึงเบื้องหลังของคนได้ เรื่องดังกล่าวนี้ถือเป็นปมของประชาชนสามจังหวัดชายแดนใต้ เพราะคนเหล่านี้จะถูกจับตามองเป็นพิเศษ

ต่อมาผู้เข้าร่วมอีกท่านได้นำเสนอว่า ความไม่ไว้วางใจกันระหว่างคนนอกพื้นที่กับคนในพื้นที่ รวมถึงคนในพื้นที่ด้วยกันเอง ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่กลุ่มไม่หวังดีนำมาใช้ในการก่อเหตุ มุมมองจากคนนอกพื้นที่ที่ได้สัมผัสต่อสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งใดที่เหตุร้ายเกิดขึ้น หรือมีผู้โดนทำร้าย คำถามแรกหลังจากเหตุการณ์นั้นก็คือ คนที่โดนทำร้ายเป็นพุทธหรือมุสลิม คำถามเล็กๆ คำถามนี้อาจจะเป็นโจทย์สำคัญที่เราต้องมาร่วมกันคิดหาทางออก เพื่อที่จะไม่ให้มันนำไปสู่การปะทุของความขัดแย้งทีจะเกิดขึ้นในสังคม