กระบวนการสันติภาพในมุมมองของข้าราชการ (1)
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ได้นำมาจาก "บทสนทนาในห้วงยามเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน" กระบวนการสันติภาพในมุมมองของข้าราชการ ในวันที่ 11 เม.ย. 2556 ณ ร้านบูคู ปัตตานี
ภายหลังจากมีการนำเสนอถึงมุมมองของนักธุรกิจต่อกระบวนการสันติภาพที่ได้นำเสนอมาก่อนหน้า ทางปาตานี ฟอรั่ม ยังคงได้นำประเด็นดังกล่าวนี้มาพูดคุย แลกเปลี่ยน กับกลุ่มราชการ ซึ่งเป็นภาพตัวแทนของรัฐ ผู้นำนโยบายของรัฐมาปฏิบัติใช้ต่อประชาชน และในขณะเดียวกันเดียวกัน ภาพของคนกลุ่มนี้บางช่วงเวลา คือ คนใน ผู้รับรู้ถึงปัญหาและความเป็นไปในชุมชนท้องถิ่น ความเคลื่อนไหว ทัศนคติและมุมมองของประชาชนที่มีต่อรัฐ และนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการเจรจาที่เกิดขึ้นมาไม่นานมานี้ งานเขียนชิ้นนี้จึงเป็นงานที่ถอดมุมมอง จากการถ่ายทอดของกลุ่มข้าราชการที่ได้นำข้อคิดเห็นของตนเอง มานำเสนอ เพื่อให้รับรู้ถึงปัญหาและข้อเสนอในเบื้องต้นต่อสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
หลังจากการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มขบวนการ ในประเทศมาเลเซียที่ผ่านมา ในมุมมองของข้าราชการ มองกระบวนการสันติภาพอย่างไร
ข้าราชการท่านแรก ได้นำเสนอในประเด็นของการปกครองรูปแบบพิเศษ มีความเป็นไปได้ในส่วนของการปกครองรูปแบบพิเศษที่ปัตตานี จะมีลักษณะเหมือนกับกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา กล่าวคือ มีการเลือกตั้งผู้ราชการจังหวัด รวมถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดและสมาชิกสภาเขต โดยส่วนตัวมองว่าการปกครองในลักษณะเช่นนี้จะมีมากขึ้นในการบริหารปกครองภายในประเทศ แต่ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญก็คือ ความพร้อมของประชาชน แต่ละชุมชนมีความพร้อมมากน้อยเพียงใด เป็นเพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบการปกครองพิเศษจริงๆ แล้ว การแข่งขันในด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ย่อมที่จะมีความเข้มข้นเป็นลำดับ
ทางด้านความหวังในการเจรจานั้น คิดว่าทุกความขัดแย้งก็จบลงด้วยการเจรจา การพูดคุยเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเป็นสิ่งที่ดี
ข้าราชการท่านที่สอง ได้เสนอประเด็นแรกไว้คือ ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างการปกครอง หรือโครงสร้างเดิมนี้ ขอเพียงอย่างเดียวคือ ผู้ปกครอง ต้องเป็นคนดีและคนเก่ง ประเด็นที่สองในเรื่องของการเจรจาสันติภาพ ที่ผ่านมาในการเกิดความรุนแรงนั้นทุกฝ่ายได้รับความเสียหายมาโดยตลอด ความสำคัญของการพูดคุย เจรจานั่นก็คือ ความจริงใจ รัฐเองก็ควรที่จะมีความจริงใจ ฝ่ายตรงข้ามก็ต้องมีความจริงใจเช่นเดียวกัน
ข้าราชการท่านที่สาม ได้ชี้ให้เห็นถึง ช่องว่างระหว่างข้าราชการกับประชาชน แม้ว่ากระบวนการเจรจาสันติภาพจะดำเนินไปอย่างไร ก็ไม่ได้ส่งผลหรือความคาดหวังในตัวของชาวบ้านมากนัก อันเนื่องจากมาจากทัศนคติที่ไม่ดีของประชาชนที่มีต่อข้าราชการ
ข้าราชการท่านต่อมา ได้นำเสนอถึงเป้าหมายของการเจรจา แม้ว่าผลที่จะออกมานั้น ใครจะได้ประโยชน์ ไม่อยากที่จะรับรู้ แต่ให้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าสู่ความสงบ แม้ว่าจะมีความเชื่อมั่นไม่เต็มร้อย แต่อยากให้เกิดความสงบ สำหรับพื้นที่ของตนเองกับความเห็นเรื่องของสันติภาพนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกประชาชนทั่วไป ขอเพียงว่าไม่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงก็เพียงพอแล้ว ทางด้านอีกกลุ่ม กล่าวโดยง่ายคือ ปัญญาชนและเจ้าของกิจการต่างๆ จะมีการพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์การเจรจา และมีความสนใจต่อประเด็นดังกล่าวนี้
ต่อมาได้นำเสนอในส่วนของการปกครองท้องถิ่น ซึ่งในปัจจุบันจะเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น มากกว่าการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ เป็นสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของชาวบ้านได้โดยตรง หากเป็นการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจจะมีจุดอ่อนที่ไม่สามารถเข้าถึงความต้องการของชาวบ้านได้โดยตรง
ข้าราชการท่านต่อมา ได้นำเสนอถึงที่มาของผู้นำในรูปแบบของการปกครองท้องถิ่นว่า ควรมีการทดสอบ รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลือกตั้งให้มีความสอดคล้องกับท้องถิ่นนั้นๆ บนพื้นฐานองค์ความรู้ของชุมชน ผู้นำของท้องถิ่นควรมีความรู้ในเรื่องของกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองและสิทธิของประชาชารวมทั้งระเบียบการต่างๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในปัจจุบันผู้นำท้องถิ่นจะใช้ระบบพรรคพวกเป็นส่วนใหญ่
ข้าราชการท่านต่อมา ได้ตั้งข้อสังเกตต่อการเจรจาว่า เป็นเพียงแค่การจัดฉาก เพราะว่า หากเจรจาถูกตัวจริง ความรุนแรงก็น่าที่จะลดลง โดยส่วนตัวแล้วไม่เชื่อในสิ่งที่รัฐกำลงแสดงผ่านสื่อให้ประชาชนเห็น ถึงตัวเราเองไม่สามารถรับรู้ได้ว่า ใคร เป็นผู้ก่อเหตุ แต่ก็มั่นใจว่าไม่ใช่ ข้อสังเกตอีกประการคือ ทำไมไม่คุยกันภายในประเทศ อยากให้คุยกันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในส่วนข้อมูล หากว่าข้อมูลเป็นความลับ ในส่วนนี้ประชาชนจะรับรู้ได้อย่างไรว่า การพูดคุยมีข้อเสนออะไรบ้าง
ข้าราชการอีกท่านได้นำเสนอในประเด็นของต้นตอของปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยส่วนตัวมองว่า ปัญหาของโครงสร้างระบบราชการ เป็นต้นเหตุของความรุนแรงมากกว่า ที่ความรุนแรงจะเป็นปัญหาต่อการทำงานของระบบราชการ ราชการทำงานไม่ตรงตามนโยบาย แม้แต่ระบบการศึกษายังคงมีการทุจริต และมองว่าการเจรจาที่มาเลเซีย เป็นการแก้ไขปัญหาทางตรง แต่ไม่มีใครที่จะกล่าวถึงการแก้ปัญหาสังคมที่เรื้อรังมานานได้อย่างไร
ข้าราชการท่านต่อมา ได้กล่าวว่า ในการกระบวนการพูดคุยนั้น ได้มองออกเป็นประเด็นต่างๆ เช่น การพูดคุยนั้นดูเหมือนว่า กำลังเล่นเกมกันอยู่ ประเด็นต่อมาคือ กำลังเจรจาด้วยใจที่บริสุทธิ์หรือไม่ โดยอยากนำเสนอว่า ฝ่ายใดระหว่างรัฐกับขบวนการที่จะเปิดโอกาสให้กับประชาชนได้แสดงความคิดเห็นมากที่สุด
ข้าราชการท่านต่อมา ได้กล่าวสนับสนุนเห็นด้วยต่อวิธีการเจรจา แต่ประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตก็คือ ว่าการเจรจาเป็นตัวจริงหรือไม่ จากการที่สัมผัสในชุมชน กรณีร้านน้ำชา จะพบเห็นเสียงสะท้อนมาว่า ผู้ที่มาเจรจากับรัฐเป็นใคร
ข้าราชการท่านต่อมา ได้นำเสนอว่า เมื่อมีการเจรจาเกิดขึ้นแล้ว ใช่ว่าจะนำความสงบให้เกิดขึ้นภายในช่วงระยะเวลาที่รวดเร็ว การเจรจาที่เกิดขึ้นถือเป็นรูปแบบใหม่ที่รัฐนำมาใช้ในการแก้ปัญหา ซึ่งต่างจากเดิมก็คือ การนำกำลังทหารลงมาแก้ปัญหาในพื้นที่ การใช้กำลังในการจัดการความขัดแย้ง โดยการแก้ปัญหาเช่นนี้ก็หมุนเวียนกลับมาที่เดิม ซึ่งได้ก่อปัญหาที่ขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น ความรุนแรงก็เกิดซ้ำขึ้นมาอีก แม้ว่าการเจรจายังคงไม่ปรากฏคำตอบ หรือการรับรองสันติภาพ ในความเป็นจริงแล้ว การเกิดขึ้นของสันติภาพย่อมที่จะเกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่าย อยากจะให้มองไปถึงกลุ่มเยาวชน ที่จะกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวสันติภาพในวันข้างหน้า เราในฐานะผู้ใหญ่ในวันนี้ได้เตรียมเครื่องมือใดให้กลุ่มคนเหล่านี้ในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพในอนาคต