คนกับคน ความท้าทาย ชายแดน อาเซียน (บทสนทนาระหว่างปาตานีกับอุบลราชธานี)

พื้นทีเขตแดนประเทศไทยสมัยอดีตกาลมักซ่อนเสน่ห์แห่งความเป็นท้องถิ่นของผู้คนสองเขตแดนประทศรอยต่อเสมอ แต่ถึงกระนั้นการเปลี่ยนผ่านของกาลเวลาย่อมสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน ผนวกกับมิติของอาเซียนที่กำลังไหลเข้ามาสู่สังคมไทย ยิ่งทำให้ความเปลี่ยนแปลงของชุมชนเขตชายแดนมีความน่าสนใจไม่ยิ่งหย่น ปาตานีคาเฟ่รอบล่าสุดโดยทีมงานปาตานี ฟอรั่มล่องสู่จังหวัดอุบลราชธานี ณ มหาวิทยาลัยอุบลฯ ในหัวข้อที่มองข้ามไม่ได้ คนกับคน: ความท้าทาย ชายแดน อาเซียน เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และบุคคลที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนนำโดย คุณสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิชาการอิสระ ได้กล่าวเริ่มต้นในการเสวนาครั้งนี้ว่า ในประวัติศาสตร์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับอีสาน ถูกผนวกรวมเข้ากับสยามในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

“กล่าวแบบนี้คนอีสานคงตกใจ เพราะว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์สยามหรือ ในประวัติศาสตร์ของอีสาน เราเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้าง สถานะของอีสานได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปมา ซึ่งวัดจากว่า กรุงเทพฯ กับเวียงจันทร์ ใครจะเข้มแข็งกว่ากัน ซึ่งโดยปัจจุบันคนอีสานมาฝั่งไทย ก็ถูกมองว่าไม่ใช่คนไทย ไปลาวก็ถูกมองว่าไม่ใช่คนลาว แต่ในอดีตเราคือลาว ซึ่งไม่ใช่อีสาน อีสานมีฐานะเป็นเพียงภูมิประเทศ ไม่ใช่ชื่อของกลุ่มคน ไม่มีคนอีสานบนโลกใบนี้ อาจารย์ชาญวิทย์ ได้กล่าวว่า อีสานเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 50 ปีมานี้เอง ซึ่งได้ถูกผนวกเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งสมัยก่อน “ความเป็นรัฐ” มันไม่ได้แน่นขนาดนี้ หมายความว่าอำนาจการปกครองจากศูนย์กลาง (กรุงเทพฯ) ไม่ได้ปกครองอย่างเคร่งครัด และไม่ได้ขีดเส้นเขตแดนอย่างชัดแจ้งเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งเส้นเขตแดนเป็นของใหม่ รูปแบบรัฐไทยเช่นปัจจุบันเกิดขึ้นหลังจากที่ได้ทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส”

“อีสาน ภายใต้การปกครองของสยาม มีความพยายามที่จะกลืนกลายวัฒนธรรมลาว โดยห้ามการเป่าแคน ร้องหมอลำให้ในวังได้ยินเป็นอันขาด ในตรงนี้ได้มีความพยายามที่จะต่อสู้ ดิ้นรนเพื่อรักษาอัตลักษณ์ของตนเองไว้”

ต่อมา .ไฟซอล  ดาโอ๊ะ จากคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี ได้นำเสนอว่า ตามที่คุณสุภลักษณ์ ได้กล่าวว่า รัฐไทย พยายามที่จะทำให้อัตลักษณ์ของคนภายใต้อำนาจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่สิ่งที่เป็นปัญหาที่ทำให้กลืนไม่ได้ มันมีส่วนเกี่ยวเนื่องในหลายๆ อย่างเช่น เรื่องวิถีชีวิต เรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวด้วย ในส่วนของเรื่องศาสนา เป็นเรื่องของความเชื่อ เราจะบังคับให้ใครมาเชื่อเหมือนเราคงไม่ได้ ภาษาก็เช่นเดียวกัน ภาษาจะมีความต่างอย่างสิ้นเชิงกับภาษาไทย

“ในอดีตรัฐไทย ซึ่งเป็นมหาอำนาจในบริเวณนี้พยายามที่จะขยายดินแดนไปสู่บริเวณใกล้เคียง และในทุกครั้งในการขยายดินแดนก็จะมีการทิ้งผู้คนไว้ให้อาศัยอยู่ ณ ดินแดนต่างๆ โดยในดินแดนของมาเลเซียมีคนไทยประมาณ 6 หมื่นคน คนเหล่านั้นภาคภูมิใจในความเป็นไทย แต่หากถามว่าเขาอยากกลับบ้านหรือไม่ เขาไม่อยากจะกลับบ้านเมืองไทย เขาอยากอยู่ที่นั่น อันเนื่องมาจากในมาเลเซียนั้น คนไทยได้สิทธิในความเป็น “ภูมิบุตรา” หรือลูกของแผ่นดิน ซึ่งต่างจากคนจีนและคนอินเดีย คนไทยสามารถที่จะสร้างวัด และพระพุทธรูปได้ ซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชีย แสดงให้เห็นถึงความมีเสรีของมาเลเซีย จะแตกต่างจากรัฐไทย”

จากนั้น ผศ.ดร.กนกวรรณ คณะบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ได้นำเสนอเรื่องต่างๆ ไว้ 3 ประเด็น โดย ประเด็นแรก ในภาคอีสานไม่ได้มีแต่คนลาว ซึ่งมีทั้งเขมร มุสลิม และปัจจุบันมีฝรั่ง อย่างไรก็ตามในอดีตคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณอีสานนี้ ทั้งเขมร ลาว และคนอีสาน มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน อยู่ภายใต้อำนาจของขอม จากนั้นก็ล้านช้าง อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน คนอีสานไม่ได้มีความเป็นเนื้อเดียวกัน บ่อยครั้งที่จะพบว่าคนในภาคอีสานจะพูดจาดูถูกคนเขมร คนลาว

ประเด็นที่ 2 กรุงเทพฯ มองอีสานเป็นชายขอบ แต่ถ้ามองจากการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง กรุงเทพฯ เป็นชายขอบของอีสาน โดยมองจากการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง อีสานเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา และเปิดประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยทั่วไปแล้ว ประเทศมหาอำนาจจะเข้ามาพัฒนาพื้นที่ชายขอบให้มีความเจริญ ยกตัวอย่าง ญี่ปุ่นให้ทุนมาสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ซึ่งความช่วยเหลือในการพัฒนาพื้นที่ชายขอบมีมาตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ครั้งหนึ่งอีสานถูกละเลย แต่ปัจจุบันมีความสำคัญที่เป็นฐานเสียงของพรรคการเมือง และเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา

ประเด็นที่ 3 ทำไมเราถึงดูถูกแรงงานเพื่อนบ้าน ทำไมเราถึงเกิดความรู้สึกไม่ชอบเพื่อนบ้าน หรือชอบ แต่กดขี่ ดูถูกทางวัฒนธรรม อันนี้เป็นผลผลิตจากคนกรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯ ดูถูกคนอีสาน ซึ่งตรงนี้เป็นผลพวงมาจากประวัติศาสตร์ จากการครองความเป็นใหญ่ในประวัติศาสตร์ทั้งไทย ลาวและเขมร

ต่อมาคุณดอน  ปาทาน คอลัมนิสต์เนชั่นได้นำเสนอเรื่องสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ว่า หลังจากที่ความรุนแรงในภาคใต้ได้ยุติลงชั่วขณะ หลายคนอาจคิดว่า คนมลายูบางส่วนยินยอมที่จะอยู่ร่วมกับรัฐไทย ไม่มีกลุ่มกบฏรุ่นใหม่ที่จะมาต่อรองอำนาจรัฐกับทางรัฐบาล อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2001 ในยุคของรัฐบาลทักษิณก็เกิดกลุ่มกบฏรุ่นใหม่ที่ถูกเรียกกันในสมัยนั้นว่า “โจรกระจอก” ซึ่งการจัดการความขัดแย้งของทักษิณใช้การส่งทหาร มีการประกาศเคอร์ฟิวอย่างเช่นในอดีตที่เคยใช้จัดการคอมมิวนิสต์ หรือ BRN พอมาปี 2004 ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มคนนี้ไม่ใช่โจรกระจอก หลังจากมีการปล้นปืน เริ่มมีการกล่าวว่า กบฏแบ่งแยกดินแดนเกิดขึ้นแล้ว

วิทยากรนำแลกเปลี่ยน แต่ไม่ได้ละการเปิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนพูดคุยระหว่างผู้เข้าร่วมซึ่งสิ่งที่น่าสังเกตพบว่า ผู้เข้าร่วมแม้นจะอยู่ห่างไกลจากสภาพปัญหาชายแดนใต้ แต่ความสนใจ ความใส่ใจยังคงมีให้เห็นโดยเฉพาะความคาดหวังทีอยากให้มีการเปิดพื้นที่การเจรจาระหว่างฝ่ายขบวนการและรัฐไทย ซึ่งในความเป็นจริง ณ ขณะนี้ อาจเป็นเรื่องที่ยังอยู่ในม่านหมอกแห่งความเป็นไปได้ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การสนทนา คาเฟ่จะมีเสียงสะท้อนเช่นนี้ เพราะอาจเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทยที่ต้องกุขึ้นมาคุย

หวังเพียงให้มีการพูดคุยกันต่อในวงกว้างไม่เพียงแค่ชายแดนปักษ์ใต้อย่างปาตานี-มาเลย์ และชายแดนอีสาน-ลาว ท่ามกลางสภาพปัญหารายล้อม แต่หมายถึงเขตชายแดนอื่นๆของไทยเช่นเดียวกัน