เสวนา Patani Café หัวข้อ สิทธิ ที่ดิน และความชอบธรรม “ เมื่อการเรียกร้องของชาวบ้านบูโดโดนสุมด้วยไฟใต้ ”

ในวันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา ทางปาตานีฟอรั่มในจัดการเสวนาในหัวข้อ สิทธิ ที่ดิน และความชอบธรรม “ เมื่อการเรียกร้องของชาวบ้านบูโดโดนสุมด้วยไฟใต้ ” ที่ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี สำหรับการเสวนาในครั้งนี้ได้เริ่มต้นที่ มะดามิง  อารียู  ปราชญ์ชาวบ้าน  ได้เล่าถึงประเด็นเรื่องสิทธิ โดยได้กล่าวให้ความหมายของคำว่าสิทธิ เป็นเรื่องที่อัลลอฮ(ศบ.)ให้พวกเราตักเตือน ให้พวกเราได้ตระหนักถึงสิทธิซึ่งกันและกัน ถ้าเราไม่เข้าใจความหมายของคำว่าสิทธิก็จะทำให้เราไขว่เขว การเรียกร้องในเรื่องที่เป็นความจริง ถ้าเราเรียกร้องในสิ่งที่ไม่เป็นความจริงของเราก็มีปัญหา ดังนั้นถ้าเรามาคุยในเรื่องที่ดิน รัฐบาลหรือว่ารัฐธรรมนูญปี 40 หรือรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาก็มีแนวนโยบายในเรื่องของที่ดินชัดเจน ว่ารัฐบาลต้องจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกรอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง

ศิโรจน์ แวปาโอ๊ะ ประธานเครือข่ายที่ดิน การขับเคลื่อนไปสู่ความก้าวหน้าให้เป็นที่ยอมรับของผู้คนในท้องถิ่นพื้นที่ในสามจังหวัด และสุดท้ายไปทั่วประเทศ  สิ่งสำคัญในการที่จะขับเคลื่อนตรงนี้เราจะต้องมีโครงสร้างที่ดีก่อให้เกิดความเชื่อมั่นทุกฝ่าย เป้าหมายก็คือว่าเราจะอยู่อย่างไรที่จะไปสู่สันติ การแก้ไขปัญหาของพี่น้องในพื้นที่ เราไม่ได้ก่อเกิดจากจุดนั้น ก่อเกิดจากจุดที่ท่านแบยาได้พูดถึง สิทธิของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของที่ดิน ในเรื่องการออกเสียง หรือในทุกๆเรื่อง คือว่าสิทธิที่ได้มานั้นเป็นการยอมรับในข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนที่สุด ถ้าใครคิดสงสัยหรือระแวงอะไรมันเป็นเรื่องของปัจเจกชน แต่เมื่อเป็นเรื่ององค์กรแล้วมันมีพันธกรณี ซึ่งทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ของเรานั้นในเรื่องของที่ดินทำกิน

มะดามิง  อารียู  ปราชญ์ชาวบ้าน  เดิมทีที่ดินทำกินบนเทือกเขาบูโดไม่มีกฎหมายอะไร หลังจากนั้นรัฐบาลก็ได้มีกฎหมายป่าสงวน ก็ได้มีการประกาศจากป่าสงวนเป็นป่าอุทยานแห่งชาติ ซึ่งกฎหมายป่าสงวนกับกฎหมายป่าอุทยานมันต่างกัน กล่าวคือ กฎหมายป่าสงวนเกษตรกรนั้นพอที่จะไปทำมาหากินในพื้นที่ตรงนั้นได้ ใช้ประโยชน์ตรงนั้นได้ แต่ว่ากฎหมายอุทยานเกษตรกรไปเอาหินลงมาจากภูเขาก็ถือว่าผิดกฎหมาย หลังจากเทือกเขาบูโดเป็นอุทยานแห่งชาติก็เกิดหลายกรณีปัญหา เช่น เกษตรที่อยู่รอบๆ สุไหงปาดีถูกจับบ้าง ถูกเตือนบ้าง เป็นต้น เราได้เสนอเทือกเขาบูโดสุไหงปาดีเป็นพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหา โดยได้นำปัญหาบูโดสุไหงปาดีเสนอให้กับรัฐบาลเพื่อเป็นกรณีศึกษาในการแก้ปัญหา แต่ปัญหาในเทือกเขาบูโดรัฐบาลได้เห็นประเด็นนี้เป็นประเด็นเชื่อมโยงกับความมั่นคง เชื่อมโยงกับการทำมาหากิน เนื่องจากพี่น้องแถวเทือกเขาบูโดมีสวนยาง มีอะไรต่ออะไรมากมายบนภูเขา ก็เลยจัดเวทีให้หน่วยงานราชการที่มีอำนาจลงมาดูในพื้นที่เทือกเขาบูโดสุไหงปาดี

จากนั้นอับดุลเลาะ  ตาเยะ  : ได้ถามคำถามว่า การทำงานของพวกเราเองมีการประสานงานกับหน่วยงานราชการหรือว่าหน่วยงานทางความมั่นคงเองมีการทำความเข้าใจแบบไหนบ้าง และจากการทำงานที่ผ่านมาสิ่งที่ท้าทายที่สุดไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการทำงานในฐานะที่เราเป็นชาวบ้านเอง แล้วก็ผลจากการทำงานที่ผ่านมาสิ่งที่เราคิดว่าเราภูมิใจมากที่สุดมีอะไรบ้าง

ศิโรจน์ แวปาโอ๊ะ ประธานเครือข่ายที่ดิน เราได้มีการจัดตั้งเครือข่าย ซึ่งมีความสัมพันธ์ทั้งในรูปแบบของหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด เพื่อการเคลื่อนไหวในการประสานงานกับทางรัฐบาลและส่วนกลาง อย่างไรก็ตาม เรามีเพียงแค่บทบาทหน้าที่แต่ไม่มีอำนาจ ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจคือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจหน้าที่โดยตรง เพียงแต่เราบอกว่าเรามีส่วนร่วมกับหน่วยงานราชการที่จะไปแก้ปัญหาให้กับชุมชน  ในการแก้ไขปัญหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของเทือกเขาบูโดในวันนี้ อำเภอบาเจาะเราได้มีการประกาศอย่างชัดเจนโดยฝ่ายรัฐบาลที่ผ่านมา สมัยนายกรัฐมนตรีอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ เป็นโมเดลในการแก้ปัญหานี้ ตั้งแต่ทำงานกันมาหลายสิบปี ก็ภูมิใจที่ว่าหลายหน่วยงานราชการ ทุกเหล่า พี่น้องที่มีอยู่ที่เดือดร้อนค่อยๆ เข้าใจ และพี่น้องที่เป็นส่วนของผู้นำก็เข้าใจบริบทตรงนี้ร่วมกัน

ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ผู้เข้าร่วม ต้องการถามสองคำถาม คือ คำถามแรกพื้นที่ที่เป็นพื้นที่อุทยานแต่ประชาชนเป็นเจ้าของมีพื้นที่ที่ยังไม้ได้คืนมาอีกหรือไม่ คำถามที่สองคือปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ยังมีอีกหรือไม่ที่ประชาชนยังไม่รับรู้หรือว่ายังแก้ไขปัญหาไม่จบสิ้นของประชาชน

ศิโรจน์ แวปาโอ๊ะ ประธานเครือข่ายที่ดิน ในขณะนี้เทือกเขาบูโดทั้งสองลูกตั้งแต่บาเจาะไปถึงสุคิรินเราพร้อมกับหน่วยงานราชการไปกันแนวเขตไว้เรียบร้อยแล้วซึ่งมีความยาวทั้งหมด 200 กว่ากิโลเมตร ส่วนที่สองการรังวัดไร่แปลงซึ่งกำลังทำอยู่ที่อำเภอเจาะไอร้อง ซึ่งในบาเจาะเองมีทั้งหมด 16,000 ไร่ ที่มีผลกระทบเหล่านี้สำหรับที่ดินที่มีปัญหายังมีอยู่อีกหรือไม่ คำตอบคือยังมีปัญหาอยู่ พื้นที่ที่อยู่ล่างเรามอบหมายให้กรมที่ดินเป็นผู้ดูแล เพราะฉะนั้นกรมที่ดินก็จะมารังวัดในอำเภอบาเจาะรู้สึกว่าได้สักระยะหนึ่งที่ผ่านมาได้มา 300 กว่าแปลง รวมกับทางฝ่ายกะพ้อเอง 300 กว่าแปลง ก็เป็น 600 แปลงเท่านั้นเองที่ได้มาซึ่งรัฐมนตรีทุกคนที่ผ่านมาลงมามอบโฉนดที่ดิน

ผู้เข้าร่วม จากสถานการณ์ที่วิทยากรได้บรรยายไปนั้นซึ่งใช้ระยะเวลานานในการทำงานของเครือข่าย ปัญหาที่เกิดขึ้นตนเองคิดว่าเบื้องหลังของเรื่องคือ สิทธิในการรักษ์บ้านเกิด จากปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งก็หลายปีแล้วก็อาจจะเกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์สถานการณ์ปัญหาสามจังหวัดที่เป็นอยู่ตอนนี้ เรื่องแรก อยากจะถามว่าการเกิดสถานการณ์นี้มันมีความเกี่ยวโยงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างไร เพราะตนเองมีความคิดว่ามีคนที่ไม่พอใจกับหน่วยงานราชการที่มาจากพื้นที่บูโด และคนเหล่านี้อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์นี้หรือไม่

ศิโรจน์ แวปาโอ๊ะ ประธานเครือข่ายที่ดิน  ที่นี่ที่มีความเสียหายอย่างรุนแรงเพราะสองฝ่ายตีกัน ฝ่ายหนึ่งคือผู้ก่อการ เขาก็มีอุดมการณ์ของเขาตนเองเข้าใจอย่างนี้มากกว่า เกิดแรงกระตุ้นให้มีการทำงานอย่างหนักหน่วง ตัวที่สองที่ชัดที่สุดนั้นเริ่มแรกทีเดียวเขาประกาศกฎหมายชัดลงมาว่าสามจังหวัดต้องอยู่ภายใต้การดูแลกำกับของกฎอัยการศึก และมีการประกาศเพิ่มเติมก็คือพระราชกำหนดหรือ พรก. ซึ่งจะหนักกว่ากฎอัยการศึก นั่นคือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติในพื้นที่สงสัยใครดำเนินการได้ทันที ในเวลาเดียวกันเราในพื้นที่บางทียังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าอยู่ในพื้นที่มันเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นอย่าว่าแต่พวกเราเลยแม้แต่กลไกภาครัฐหรือว่าหัวหน้าส่วนราชการอื่นๆ เจ้าหน้าที่อื่นๆ ใจฝ่อกันตามๆ ไปเลย จะเข้าไปในพื้นที่ในหมู่บ้าน ไม่ไหว ไม่กล้า สุดท้ายก็มารวมตัวที่อำเภอ ดังนั้นหน่วยเดียวที่เข้าพื้นที่ก็คือ หน่วยความมั่นคง ตัวที่สองถามว่าหน่วยงานอื่นเกี่ยวข้องหรือไม่ต่อความไม่สงบ จากประสบการณ์เท่าที่ทำงานกันมา หน่วยงานอื่นไม่ค่อยมีปัญหา ไปได้ตลอด เขาไม่มีข้อสงสัย เพราะเราไปในนามขององค์กร และมีทีมงาน มีเนื้องาน และมีเครือข่ายทั่วไป ซึ่งมีทั่วประเทศเลยในขณะนี้ ซึ่งตนเองที่ทำงานในจุดนี้ไว้ใจ เขาไม่ใช่ชนักหลังของเรา เพียงแต่ว่ามันไม่เสร็จสิ้นที่เจ้าหน้าที่ระดับล่าง แต่มันจะไปจบที่นโยบายแห่งรัฐ นั่นคือรัฐบาลของแต่ละยุคสมัยที่เข้ามา เพราะว่าเรื่องของเราถ้าดูในแนวทางของข้อกฎหมายเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศเป็นเขตอุทยาน มันมีอยู่ 3 ตัวเป็นข้อกฎหมายรองรับ คือ 1.พรก. ไม่ต้องผ่านสภา รัฐมนตรีประกาศทีเดียวใช้ได้เลย 2.พระราชกฤษฎีกา อันนี้นายกรัฐมนตรีถวายต่อองค์นายหลวง ท่านองค์นายหลวงลงพระปรมาภิไธยเรียบร้อยก็ใช้ได้เลย 3.พระราชบัญญัติ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการจากรัฐสภา ทั้ง 3 ตัวนี้ต้องให้ชัด ว่าเราต่อสู้ในเรื่องอะไร กฎหมายประเภทใด ต้องศึกษาตัวนี้ให้เยอะ เพราะฉะนั้นพอจะสรุปได้ว่า ตัวข้าราชการประจำโดยเฉพาะที่ไม่ใช่มาดูแลความมั่นคงไว้ใจได้ความคิดเห็นส่วนตัว ส่วนที่สามนักการเมืองท้องถิ่นหรือระดับชาติมีอุปสรรคอย่างไร ในส่วนของท้องถิ่นในฐานะที่ตนเองเป็นกรรมการดูแลแผนการพัฒนาจังหวัดนราธิวาส ณ วันนี้ก็มีปัญหากันอีก ตนเองต้องส่งน้องๆทำงาน เอาข้อมูลทั้งหมดให้นายก อบจ.ว่ามันมีปัญหาอย่างนี้น่ะ นายกเอาอย่างไร ต้องดูแล ต้องประชุมสภาให้ชัด ต้องประกาศให้ชัดเจนเลย ปัตตานีก็เช่นกัน  ยะลาก็เช่นกัน ปรากฏว่าท่านไม่เข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่โดยเฉพาะสามจังหวัด นั่นคือผู้นำท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบจ. ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล ไม่ว่าจะเป็น อบต. มันเป็นอย่างนี้หมด เขาถือว่าในเมื่อประกาศแล้วก็ต้องตามเขา คือ กฎหมายจะไปลิดรอนสิทธิของผู้คนในพื้นที่ก็ช่างมันแต่ให้พวกเราทำตามประกาศของข้อกฎหมาย ท่านเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ มันเป็นอย่างนี้ ส่วนที่ระดับชาติ สส.ในพื้นที่ซึ่งมี 2 ท่าน นั้นเขาก็ไปช่วยผลักดันในระดับรัฐบาล

สรุปโดยปรัชญา  โต๊ะอิแต                           

            จากที่ได้ฟังความคิดเห็นของผู้เฒ่าผู้แก่ในวันนี้ในฐานะที่ตนเองเป็นคนรุ่นใหม่รู้สึกว่ายังใช้กำลังหรือศักยภาพตนเองน้อยมากถ้าหากเปรียบเทียบกับสิ่งที่เขาทำ และวันนี้ตนเองเห็นคนรุ่นใหม่เยอะแยะมากมาย การได้รับฟังในวันนี้สิ่งสำคัญคือเราจะไปทำอย่างไรต่อสำหรับคนรุ่นใหม่ที่วันนี้ได้เข้ามารับฟัง และคุณค่าหรือสิ่งที่ตนเองค้นพบก็คือเรื่องของสิทธิ ตนเองคิดว่าการแลกเปลี่ยนมุมมอง ข้อมูลที่ได้คุยในวันนี้ทำให้เราได้เห็นว่าการเข้าถึงสิทธินั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก การได้แค่เห็นนั้นบทเรียนของที่นี่สะท้อนให้เห็นแล้วว่ามันไม่เพียงพอ ต้องลงมือทำและการทำจะต้องไม่ใช่ลักษณะเชิงเดี่ยว แต่ทำในลักษณะเครือข่ายร่วมมือกันทำทุกภาคส่วน และต้องใช้ระยะเวลาในการอดทนที่ยาวนาน

ข้อเสนอจากการจัดเวทีในครั้งนี้  แบ่งเป็นสองส่วนด้วยกันก็คือ

ข้อเสนอต่อเครือข่ายภาคประชาชน

1.การดึงสื่อเข้ามานำเสนอแง่มุมต่างๆของการต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาที่ดินที่นี่ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะต้องไม่นำเสนอแค่มุมเดียว

2.การส่งทอดการทำงานต่อคนรุ่นใหม่ต้องผ่านรูปแบบกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะนักศึกษาที่เป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมร้อยตรงนี้ได้

3.นักศึกษาจะต้องมาเป็นกระบอกเสียง ต้องสร้างสัมพันธ์กับปัญหาที่นี่อย่างต่อเนื่องและมีการส่งต่อกันเป็นวัฒนธรรมรุ่นต่อรุ่น พาน้องๆ มารู้จักพี่น้องที่นี่

ข้อเสนอต่อภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ

1.ในส่วนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานต่างๆ จะต้องมาทำความเข้าใจต่อคนระดับล่าง ต่อหน่วยปฏิบัติงานทุกๆครั้งเมื่อมีการสับเปลี่ยนกองกำลังในพื้นที่ ซึ่งจะต้องอธิบายอย่างต่อเนื่องให้กลายเป็นวาระ

2.หน่วยงานต่างๆ และองค์กรทางการเมืองควรศึกษาปัญหาตรงนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังและช่วยอ่านเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับที่นี่อย่างละเอียดเพื่อความเข้าใจมากขึ้น ที่ผ่านมาพบว่ามีการรับเอกสารมาแต่ไม่ยอมอ่านทำให้ไม่เข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจทำให้ไม่ยอมตื่นตัวและผลักดันในข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องต่างๆ สิ่งสำคัญคือต้องอ่านและทำความเข้าใจด้วย

3.ส่วนของ มอ.ปัตตานี ที่เป็นมหาวิทยาลัยในพื้นที่จะต้องนำบทเรียนหรือว่าองค์ความรู้ที่นี่นำไปเป็นหลักสูตรหนึ่งให้ได้ อาจจะไม่ใช่ปีนี้ สองปีหรือสามปี ซึ่งต้องมีการสะท้อนออกไปและมีการติดตาม

4.เรื่องของปัญหาที่ดินจะต้องมีการแก้ปัญหาอย่างเป็นจริงเป็นจัง โดยการขับเคลื่อนในระดับนโยบายทุกๆรัฐบาล ทั้งนี้ควรคำนึงถึงสิทธิทางรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่เหนือกฎหมายลูกต่างๆ ที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้