เสียงคนรูสะมิแล “รักษ์บ้านเกิด” อีกพลังสร้างสันติสุขชายแดนใต้
“รักษ์บ้านเกิด” เป็นประโยคสั้นๆ ที่ซ่อนความหมายมากมายให้น่าค้นหา เสน่ของประโยคนี้ เราสัมผัสได้เมื่อครั้งเคยห่างบ้านเกิดแล้วได้หวนกลับบ้านอีกครั้ง เช่นเดียวกับความรู้สึกนึกคิดของคนชายแดนใต้ ที่เห็นว่าประโยคแห่งความหมายนี้ อาจจะเป็นกุญแจที่ไขพลังของชุมชนบ้านเกิดให้นำไปสู่การคลี่คลายปัญหาไฟใต้ซึ่งยังคงครุกรุ่นอยู่ขณะนี้ ปลายทางของคำตอบที่ทุกคนต้องการ แน่นอนคือคำว่าสันติสุข แต่การไปสู่จุดอาจจะต้องเริ่มที่การรักษ์บ้านเกิดตนเอง จนเป็นที่มาของการจัด Patani Café ในหัวข้อ “รักษ์บ้านเกิด” อีกพลังสร้างสันติสุขชายแดนใต้ โดยทีมงานปาตานี ฟอรั่ม ไปเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.55 ซึ่งพื้นที่ซึ่งน่าสนใจไปเหมาะแก่การควานเสียงชุมชนก็เป็นพื้นที่ที่ใครๆก็รู้จักกันดี ชุมชนรูสะมิแล ชุมชนใกล้รั้ว มอ.ปัตตานี ชุมชนที่ผลิตบุคลากรมากมายทีมีบุคลิคของ คนรักษ์บ้านเกิด และเวที Patani Café ครั้งนี้จะพาเราไปร่วมเรียนรู้กัน
บุคคลตัวอย่างที่น่าสนใจท่านแรก คือ นายแวดอเลาะ หะยีมามุ โต๊ะอีหม่ามมัสยิดรูสะมิแล ท่านเริ่มเสวนาโดยการตั้งถามว่า การรักษ์บ้านเกิด เราจะทำอย่างไร เหมือนกับที่รักตัวเองหรือไม่ การรักษ์บ้านเกิด เราต้องเริ่มด้วยอะไร เราต้องเริ่มด้วยการให้ การให้อะไรก็ตามต้องให้ถึงเป้าหมาย โดยเฉพาะเยาวชน Pemuda harappan bangsa เยาวชนเป็นเสาหลักของชุมชน เป็นผู้ที่มีพลังมากมายที่จะให้แก่ชุมชน
“ศาสนาอิสลาม คือ เป็นศาสนาของเรา แต่เราเป็นคนมลายู อยู่ในประเทศไทย วันนี้เป็นเรื่องแปลกไปแล้วที่คนมลายูพูดมลายู ไม่ค่อยได้แล้ว หากเรารักษ์บ้านเกิด เราต้องร่วมกันพัฒนาภาษา และบ้านตัวเอง แต่วันนี้เรามัวลุ่มหลงกับคาราโอเกะ กับความสนุกสนาน แล้วจะเป็นรักษ์บ้านเกิดได้อย่างไร แล้วจะถึงเป้าหมายได้อย่างไร การแต่งกายของเราก็ต้องรักษาให้เป็นไปตามอัตรลักษณ์ ศาสนาของเรา”
ท่านยังกล่าว บอกว่า การสอนหนังสือแก่ชาวบ้านตอนนี้ก็เป็นวิธีการการรักษ์บ้านเกิด บอบอสอนเรื่องให้เราต้องทำตัวให้ดีทั้งในบ้าน ในโรงเรียน ที่ทำงาน และในชุมชน หากไม่เป็นแบบนี้ ก็ไม่มีทางพัฒนา “แต่ที่เห็นเยาวชนมีมากมายในร้านคาราโอเกะ เราต้องรักษาอัตรลักษณ์ของเรา เราต้องแสดงให้เห็นความแตกต่าง เช่นเรื่องการแต่งกาย เราต้องแต่งตัวให้เรียบร้อย ไม่ใช่ใส่เสื้อผ้าสั้นๆ นุ่งน้อยห่มน้อย เพื่อให้คนอื่นชมว่าสวย หล่อ แต่ไม่เหมาะสม เราต้องระวังว่าเราจะไม่ทำผิดหลักการศาสนา เราเป็นคนตัดสินเอง ว่าอะไรดีไม่ดี เรามีมาตรฐานความเชื่อของเราอยู่แล้ว”
คนต่อมาเป็นคนรุ่นใหม่ที่น่าใจและเป็นที่รู้จักดีของชุมชนรูสะมิแล เจะอัสมุลเลาะห์ เจะมามะ ครูโรงเรียนบ้านรูสะมิแล อีกทั้งผู้บุกเบิกกิจกรรมมากมายภายในชุมชน เจะฮัสมุลเลาะห์เล่าว่า ตอนนี้ตัวเองทำงานหลายอย่างเกี่ยวกับชุมชน
“ผมเป็นครูสอนโรงเรียนรัฐ เป็นครูสอนศาสนา เป็นนักจัดรายการวิทยุ เมื่อก่อนผมเรียนที่นี่แล้วไปเรียนข้างนอก แล้วเรียนรู้การทำกิจกรรมต่างๆทั้งในและต่างประเทศ เพื่อกลับมาพัฒนาชุมชนตนเอง”
เจะฮัสมุลเลาะห์ ชี้ว่า เมื่อก่อนในอดีตสังคมปาตานี เป็นสังคมที่ยิ่งใหญ่ มีผู้คนร่วมกันต่อสู้ และพัฒนาสังคมปาตานี จนเป็นสังคมที่เจริญในทุกๆด้าน มาวันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป ผมอยู่ในประเทศไทย ผมต้องปรับตัวรักประเทศไทย แต่รักเพื่อพัฒนาสังคมตนเอง
“ผมชอบช่วงซีเกมส์ เพราะผมได้เห็นคนรักประเทศของตนเองทางทีวี มีคนเชียร์ประเทศตนเองสะท้อนถึงตนเอง เรื่องรักประเทศตนเอง ผมสนใจการรักประเทศของคนอินโดนีเซีย ด้วยความรักของคนอินโด จนสามารถเรียกร้องอิสรภาพจากฮอลแลนด์ มีคนมลายูมากมายที่รักบ้านบ้านตนเอง ยอมเสียสละอะไรเยอะแยะมากมายเพื่อพื้นที่ตนเอง สูญเสียทรัพย์สิน สูญเสียชีวิต เพื่อช่วยเหลือสังคมตนเอง เช่น หะยีสุหลง”
“ผมแทบไม่มีเวลาเลยในชีวิตช่วงขณะนี้ เพราะผมตั้งใจอุทิศเวลาในการพัฒนาบ้านตนเอง เคยมีคนมาชวนให้ผมไปทำงานราชการที่อื่น มีเงินเดือนเยอะ แต่ผมได้สัญญากับบาบอ กับคนในชุมชนแล้วว่าจะไม่ไปไหน จะอยู่พัฒนาชุมชนตนเอง จะไม่ไปไหน”
เจะฮัสมุลเลาะห์ระบายให้ฟังว่า ตอนนั้นผมคิดว่า ถึงแม้เรามีความรู้ ความสามารถขนาดไหน ก็อย่าลืมมาพัฒนาบ้านเกิด ชุมชนตนเอง ผมกลับมาพัฒนาพี่น้องบ้านรูสะมิแล สมัยรุ่นผมมีคนเรียนน้อยมาก แต่ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้มีโอกาส ผมจบจากอินโดนีเซีย ผมกลับมาบ้านเพราะรักษ์บ้านมาก แต่การรัก อย่ารักแค่คนเดียว ต้องอย่าอยู่คนเดียว ต้องมีเพื่อนร่วมทำงาน สร้างคนรักษ์บ้านเกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราเจออุปสรรค ก็อย่าถอย อย่าท้อ เพราะจะทำให้คนที่เราร่วมทางเพื่อพัฒนาชุมชนท้อไปด้วย
“วันนี้คนรูสะมิแล ติดยาเสพติดเป็นอันดับต้นๆ ของจังหวัดปัตตานี วันนี้มีการออกกฎว่าจะไม่ละหมาดศพให้ถ้าหากใครตายเพราะยาเสพติด เป็นฮูก่มปากัต แต่มีคนในชุมชนบางกลุ่มคัดค้าน เป็นเพราะอะไร เพราะลูกของเขาติดยา เพราะเขาคิดว่าเป็นกฎที่หนักไป เพราะเหตุผลมากมาย แต่ไม่รู้ว่าที่บาบอทำไปเป็นเรื่องหนัก เหนื่อยต้องเสียสละอะไรมากมาย”
เมื่อครั้งเป็นนักจัดรายการวิทยุ มีช่วงหนึ่งของการจัดรายการวิทยุเขาบอกว่า เขาตกใจมาก ช่วงที่มีการเปิดประเด็นเรื่องการต่อต้านยาเสพติด มีการรับฟังเสียงจากผู้รับฟัง มีหลายคนสะท้อนน่าสนใจ
“บางคนบอกว่า เป็นเพราะผู้นำทางการต่างๆในชุมชนได้รับประโยชน์จากยาเสพติด บางคนบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เป็นคนปล่อยของเอง ต้องจัดการให้หมด บางคนมองว่า เป็นนโยบายแอบๆของรัฐบาลที่ต้องการทำลายคนสามจังหวัด มีหลากหลายมุมมอง ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวและน่าคิดมากสำหรับมุมมองเช่นนี้ แต่ที่เห็นชัดคือ เขาอึดอั้นตันใจกับปัญหาในชุมชนตนเอง เพราะเขารักบ้านเกิดตนเอง เลยสะท้อนออกมาแบบนั้น”
ขณะที่เสียงผู้หญิงอย่าง โรสนานี หะยีสะแม อดีตอาสาสมัครมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) วิทยากรอีกท่าน แสดงทัศนะคล้ายๆกันว่า การจะทำเรื่องรักษ์บ้านเกิด ต้องอยู่ภายใต้หลักการศาสนาที่ถูกต้อง เราต้องตั้งใจว่า เราต้องดำเนินในแนวทางของศาสนาตนเอง แต่ทีผ่านมาสื่อก็เข้ามาทำลายวิถีของเรา ศีลธรรม มีเทคโนโลยีมากมายเข้ามาในชีวิตของเรา แต่เราได้ใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ไปในแนวทางที่ทำลายครอบครัวตนเอง ชุมชนตนเอง สุดท้ายก็ทำลายชีวิตตนเอง
เธอยังเล่าต่อว่า เคยไปเรียนรู้การทำงานพัฒนาชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง เราได้เห็นชาวบ้านแห่งนั้น เรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของน้ำ เรื่องปัญหาเรื่องน้ำแห้งหาย
“การเรียนรู้ขณะนั้นทำให้ชาวบ้านเริ่มเรียนรู้เรื่องอื่นๆ เพิ่มขึ้นจนได้รู้คำตอบว่าว่า ปัญหาน้ำแห้งไม่ใช่เป็นเพราะใคร แต่เป็นเพราะคนในชุมชนเอง จึงเป็นที่มาของการแก้ปัญหาชุมชน รักษ์ชุมชนตนเองมากขึ้น ซึ่งเป็นการให้แง่คิดที่ดี ต่อเราได้ เราต้องสนใจปัญหาบ้านเราเอง แล้วลองหาคำตอบ เมื่อเราพบคำตอบ เราก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา ดั่งชาวบ้าน จังหวัดตรังทำร่วมกัน นี่เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ”
ขณะที่เสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน หรือชาวบ้านเอง มองไม่ต่างกันมากนักกับวิทยากร ผู้เข้าร่วมผู้หญิงคนหนึ่ง แลกเปลี่ยนว่า วันนี้หากเราจะทำเรื่องรักษ์บ้านเกิด เราต้องรักตัวเองให้มากๆ รักศาสนาให้มากๆ เราต้องเริ่มที่ตัวเองอย่างจริงจัง
ชาวบ้านอีกคน ก็แลกเปลี่ยนด้วยว่า เยาวชนหลายคนมีโอกาสได้ศึกษา เยาวชนบ้านเราหลายคนมีโอกาสได้ศึกษา แต่อยากให้เราได้ศึกษาอย่างจริงจัง ข้าราชการท่านหนึ่ง แลกเปลี่ยนด้วยว่า ถ้าเราต้องการจะพัฒนาบ้านเกิดตนเอง เราต้องเปิดความคิดเรื่องการศึกษา เปิดมุมมองการเรียนรู้ ต้องคุยเรื่องรักษ์บ้านเกิดโดยเอาตำแหน่ง หน้าที่การงาน ตัดออกไปก่อน มาคุยกันแบบคนที่เป็นชาวบ้าน คนในชุมชนเดียวกัน มานั่งคุย แล้วจะพัฒนาบ้านตนเองอย่างไร ก็ค่อยมาดูว่าใครสนับสนุนได้อย่างไร มีความสามารถที่ทำได้จริงขนาดไหน
ตอนท้ายของการพูดคุย พบว่ามี ข้อเสนอจากผู้เข้าร่วมเวที ปาตานี คาเฟ่ หัวข้อ รักษ์บ้านเกิด อีกพลังสร้างสันติสุขชายแดนใต้ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
1. คนที่มีบทบาทในชุมชนจะต้องสร้างคนสำนึกรักษ์บ้านเกิด โดยความสามารถที่สามารถทำได้ ซึ่งไม่ต้องสนใจว่าจะต้องพึ่งผู้นำทางการเสมอไป ทุกคนสามารถทำได้เอง ทำตามศักยภาพที่มีอยู่
2. ผู้นำศาสนาในแต่ละชุมชน ควรจะนำเนื้อหาของศาสนามาบรรยายเพื่อให้เกิดความสำนึกรักษ์บ้านเกิด เพราะพบว่า การขาดสำนึกรักษ์บ้านเกิดทำให้ชุมชนอ่อนแอ
3. ต้องใช้คำว่า “รักษ์บ้านเกิด” เป็นค่านิยมแห่งความภูมิใจใหม่ภายในชุมชน โดยเชิดชูให้เป็นแบบอย่างภายในชุมชน
4. ทำงานสร้างเยาวชน ให้มีสำนึกรักษ์บ้านเกิดมากยิ่งขึ้น หากจะเริ่มต้นทำเรื่องรักษ์บ้านเกิด ควรเริ่มต้นที่การทำงานร่วมกับเยาวชน
5. การทำงานรักษ์บ้านเกิด ต้องเกิดขึ้นทั้งในระดับปัจเจกบุคคล รณรงค์ภายในครอบครัว ร่วมมือกับทุกๆส่วนที่มีบทบาทในชุมชน
6. องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องใช้ยุทศาสตร์ ใช้หลักคิดรักษ์บ้านเกิด นำไปสู่การการแก้ปัญหาต่างๆในชุมชนตนเอง
ทั้งหมดเป็นประเด็นที่สำคัญของทุกๆชุมชน และทุกๆสรรพเสียงก็ล้วนมีคุณค่า เสียงจากชุมชนอาจโดนมองว่าเป็นเสียงเล็กๆ แต่เมื่อกล้าที่จะนำเสนอต่อสาธารณชน ก็อาจจะกลายเป็นเสียงที่ยิ่งใหญ่ได้ และวันนี้คนจากรูสะแลได้ทำแล้ว ….. เสียงเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ “รักษ์บ้านเกิด”