จิบชา กับ รายงานแอมเนสตี้ “ความเผ็ดมันที่ไม่เข้ากับความหวานชายแดนใต้”

 

บ่ายแก่ๆ ในวันหยุด ณ ร้านน้ำชาแห่งหนึ่ง ที่ปัตตานี มีกลุ่มเสวนาเล็กๆภายใต้ชื่อ Patani  café หนึ่งในแผนงานของ กลุ่ม Patani  Forum ได้เปิดพื้นที่สาธารณะ พื้นที่แห่งการตื่นรู้ โดยมีกรอบคิดเพื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรมสาธารณของการวิพากษ์ถกเถียง เพื่อบ่มเพาะ เสรีภาพทางความคิด การอ่าน การเขียน และจิตวิญญาณ เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมให้กับคนหนุ่มสาวร่วมสมัยของสังคม จังหวัดชายแดนใต้

การพูดคุย พลางจิบชาของวงสนทนาที่มีนักเลงวิชาการต่างชาติ อย่าง   .มาร์ค แอสคิว นักวิชาการอาวุโส ประจำคณะมานุษยวิทยา ภาควิชาสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศประเทศออสเตรเลีย ชวนคนหนุ่มจากหลากหลายที่ทางของการทำงานขับเคลื่อนสันติภาพ พูดคุย เพ้อเจ้อ ท่ามกลางบรรยากาศแบบสบายๆ แต่ก็ใช่ว่าจะขาดกลิ่นไอของเนื้อหาสาระ อ่ะ! อาจมองภาพไม่ออก เอ่อ… เอาเป็นว่ามีประเด็นมากมายให้ถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ บางประเด็นเป็นการวิพากษ์ติดตลกหน่อยๆ บางประเด็นก็ชวนขบคิดที่แอบซ่อนคำถามเป็นนัยๆ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลที่เอ่ยมานั้นล้วนแต่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่(อาจ)เป็นประเด็นยอดฮิตในจังหวัดชายแดนใต้ สำหรับบางฝ่ายบางคน แต่ (อาจ) เป็นโจ๊กในร้านน้ำชาของใครอีกหลายๆคน อันนี้ว่ากันไม่ได้ แล้วแต่มุมมอง

มาเริ่มคุยกันแบบงงๆ กับเรื่องเส้นหยักจากปลายปากกาที่กลายเป็นรายงานสร้างกระแส บ้างก็ว่า “กระฉ่อน” ในแวดวงวิชาการจังหวัดชายแดนใต้ นั่นคือรายงานจากแอมเนสตี้  อินเตอร์เนชันแนล (AMNESTY INTERNATIONNAL) องค์กรนิรโทษกรรมสากล ที่ก่อนหน้านี้เคยนำเสนอรายงานวิจารณ์การทำงานของพี่บิ๊กในการดับไฟใต้อย่างรัฐบาล (หลังๆชาวบ้านเข้าใจกลายเป็นทหารไปแล้วที่มีบทบาทหลัก) แต่มาปีนี้เหมือนพี่ท่านอย่างถ่วงดุลอะไรบางอย่างจึงเล่นวิจารณ์ฝ่ายคิดต่างที่ใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐ อย่างกลุ่มขบวนการ …(จุดๆ   เติมกันเอาเองก็แล้วกัน ไม่ว่าจะเป็น อา เค เค หรือ บี อาร์ เอน หรือ แบ่งแยกดินแดน หรือ อุ้ลตาแมน มีให้เลือกเยอะแยะมากมายตามใจ ใครชอบแบบไหน) อย่างดุเดือด เผ็ด มัน แต่หารู้ไม่ว่าคนมลายูชอบกินหวาน เลยมีเสียงกระซิบดั่งๆ ออกมาจาก อ.มาร์คว่า (เข้าสู่สาระแป๊สหนึ่ง)

“มีคนพยายามจะนำเสนอความจริงมากมาย รายงานของแอมเนสตี้ก็พยายามนำเสนอความจริงอีกแบบหนึ่ง นักวิชาการก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง มีคนอ้างความจริงหลายระดับ ขึ้นอยู่กับสมมุติฐาน อุดมการณ์ของแต่ละคน แต่ใครเป็นเจ้าของความจริง คนในพื้นที่ต่างหากที่เป็นเจ้าของความจริง ก่อนหน้านี้แอมเนสตี้จะวิจารณ์ฝ่ายรัฐมาโดยตลอด แต่ตอนนี้มีการมาวิจารณ์ผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่เป็นการวิจารณ์โดยองค์กร เอ็น จี โอ ผมเชื่อว่าคนที่สัมภาษณ์แหล่งข่าวที่อ้างว่ามาจากผู้ก่อความไม่สงบถูกหลอก”

อ. มาร์ค ยังบอกอีกว่า เคยมีการคุยการร่วมวิจารณ์เรื่องรายงานฉบับนี้ ซึ่งค่อนข้างจะมีเสียงวิพากษ์ที่แตกต่างมากมาย เอ็น จี โอ ด้วยกันเองก็เห็นต่างกันเรื่องนี้ กลุ่มนักศึกษาก็แปลกในว่าทำไมมีแต่การวิจารณ์ฝ่ายขบวนการ ผู้ที่เขียนรายงานบอกว่า ก่อนหน้านี้ก็เคยวิจารณ์ฝ่ายรัฐแล้ว ครั้งนี้จึงอยากวิจารณ์ฝ่ายขบวนการบ้าง

อ.มาร์ค เห็นว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จะอ้างว่าเกี่ยวข้องแต่กลุ่ม ยูแว  อย่างเดียวไม่ได้ เพราะมีกลุ่มอื่นๆ ผสมโรงอยู่ด้วยแต่ก็ถูกแย้งว่า การก่อเหตุความรุนแรงส่วนใหญ่ก็ย่อมมาจากฝ่ายขบวนการมากกว่า

“องค์กรนิรโทษสกรรมสากล มาพูดแบบนี้ จะต้องดูบริบทให้ลึก ตอนนี้ความรุนแรงยืดเยื้อมา 8 ปี จะมาประกาศแบบนี้ ถือว่ายังใช้ไม่ได้ เพราะความรุนแรงในพื้นที่ยังไม่ชัดเจน รายงานที่ถูกนำเสนอ ผมยังรับไม่ได้ แต่ก็เป็นกรอบของเอ ไอ คือต้องการให้มีบรรยากาศให้คนที่เกี่ยวกับความรุนแรงถูกวิจารณ์ ทุกฝ่าย ซึ่งเขาจะนำไปอ้างทั่วประเทศ แต่สิ่งที่ผมชวนคิด คือ ตอนนี้ต้องฟังความจริงจากเจ้าของความจริง ใครเป็นเจ้าของความจริง มีคนจบปริญญามากมายเอาไปอ้างความจริง แล้วใครละที่จะกำหนดความจริง กำหนดชีวิตตนเอง และที่น่าสนใจหากความรุนแรงยืดเยื้อเช่นนี้ ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการเองจะอ่อนแอดังนั้นผมไม่อยากให้คนในพื้นที่ตกเป็นเหยื่อของนักวิชาการ ของแหล่งทุนต่างประเทศ ผมอยากให้มีกรอบ มีการวิเคราะห์ของตนเอง”

“แนวความคิดของผม ผมมองว่าประเทศนี้ยกให้สถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ถูกยกให้เป็นวาระแห่งชาติหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไมยังไม่เห็น ครม.เล็กในพื้นที่”

ผู้เข้าร่วมบางคนสงสัยเห็น อ.มาร์คพูดยาวไป เลยดักคำถามเป็นระยะๆว่าแนวทางการต่อสู้แบบที่เกิดขึ้นอยู่ มี่ความคล้ายคลึงกับการต่อสู้ที่ประเทศอื่นๆบ้างหรือไม่ (หมายถึง ยิง ระเบิด และวิธีการหาเรื่องแบบอื่นๆเท่าที่สรรหามาได้ แต่ไม่ประกาศว่าตัวเองอย่างเป็นทางการ)

อ.มาร์ค ตอบจากประสบการณ์ และค้นคว้ามาเท่าที่ค้นได้ว่า การต่อสู้ที่นี่ ผมยังไม่เห็นว่าเหมือนที่ไหนในโลก ไม่มีการประกาศ แถลงการณ์ ความต้องการ หรือว่าการต่อสู้ที่นี่ไม่มีเป้าหมาย หรือมีการประกาศแต่ไม่ได้เป็นทางการเหมือนประกาศโครงการของรัฐ (อ่ะ มีกระแทกหน่อยๆ)

แล้ว พี่ท่านก็ร่ายยาวมาเรื่อยๆ ซึ่งผมขี่เกียจเอามาเล่าต่อ... เอาเป็นว่าตอนท้ายของการสนทนา อ.มาร์ค ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่าความรุนแรงทียืดเยื้ออยู่นี้ จะสร้างความสูญเสียต่อรัฐ และกลุ่มขบวนการ…ซึ่งชาวบ้านอาจไม่เอาทั้งสองฝ่าย

ดังนั้นระหว่างที่ชาวบ้านไม่เอาทั้ง 2 ฝ่าย ชาวบ้านต้องออกมาทำอะไรสักอย่าง   ชาวบ้านจะเป็นกำลังที่จะผลักดันให้ 2 ฝ่ายลดความรุนแรงได้หรือไม่ แต่หากชาวบ้านไม่ทำ ดังนั้นก็ต้องตกเป็นทาส เป็นเหยื่อความรุนแรงต่อไป และน่าเป็นห่วงว่า ท่ามกลางความรุนแรงส่งผลให้เกิดความหวาดระแวง ชาวบ้านก็ต่างจะถูกเหวี่ยงแห่ไม่จากฝ่ายรัฐ ก็ฝ่ายขบวนการ… ว่าเป็นพวกโน้น พวกนี้ไป

 

คุณครู     “นักเรียนโตขึ้นพวกเธออยากเป็นอะไร

เลาะ        “ผมอยากเป็นทหาร จะได้ช่วยเหลือชาวบ้านที่ 3 จังหวัด”

มีมี่ “หนูอยากเป็นหมอ จะได้ช่วยรักษาชาวบ้าน เมื่อโดนยิง โดนระเบิด”

ยี “ผมอยากเป็นทนาย จะได้ช่วยว่าความให้ชาวบ้านครับ”

วี “ผมอยากเป็นชาวบ้านครับ เพราะมีคนอยากช่วยเต็มไปหมด”