ขอฝากโต๊ะอิหม่ามทั่วประเทศ : อย่าให้คนทั่วไปหมดศรัทธาองค์กรศาสนา
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา กรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน
วันที่ 24 พ.ย.2554 นี้กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศให้มีการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดใหม่1 ทำให้หลายจังหวัดโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลาและสงขลามีการเดินสายของว่าที่ผู้เสนอตัวเป็นประธานและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเดินสายพบแนะนำตัวต่อโต๊ะอิหม่ามผู้ซึ่งมีสิทธิลงคะแนนในวันดังกล่าว
การเดินสายดังกล่าวทำให้ประชาชนตามร้านน้ำชาหรือตามสื่ออินเตอร์เน็ตเริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมอันเนื่องมาจากผู้เสนอตัวเริ่มใช้วิธีนักการเมืองซึ่งไม่แตกต่างอะไรกับการเลือกตั้งท้องถิ่นและระดับชาติกอร์ปกับคนของพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคคือประชาธิปปัตย์และเพื่อไทยได้เข้ามาร่วมในเกมส์การคัดเลือกครั้งนี้ด้วย
ดังนั้นผู้เขียนในฐานะนักวิชาการคนหนึ่งจึงขอเสนอแนวทางการสรรหากรรมการอิสลาม(ขอใช้คำว่าสรรหามากกว่าคัดเลือก)ที่สามารถบูรณาการกับหลักการชูรอตามทัศนะอิสลามกับกระบวนการคัดเลือกตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามพ.ศ. ๒๕๔๐ ให้กับบรรดาโต๊ะอิหม่ามทั่วประเทศใช้ประกอบการสรรหาผู้นำของท่านในประเด็นดังนี้
๑. กระบวนการชูรอตามทัศนะอิสลาม
ความหมายของชูรอ
คำว่า ชูรอ เป็นคำภาษาอาหรับ มาจากคำเต็มว่า อัช-ชูรอ (al-Shura) ในหลักภาษาอาหรับ เป็นคำมัสดัร2 ซึ่งแปลว่า การปรึกษาหารือ ดังที่อัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอฺาลา) ได้ตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน
وأمرهم شورى بينهم
ความว่า และกิจการของพวกเขามีการปรึกษาหารือกันระหว่างพวกเขา
(อัชชูรอ:๓๘ )
สำหรับความหมายทางด้านศาสนบัญญัติ หมายถึง การประชุมหรือปรึกษาหารือตามรูปแบบอิสลามจนได้ข้อสรุปหรือมติเพื่อนำไปปฏิบัติ3