“หะยีสุหลงยังไม่ตาย”

ชื่อเดิมบทความ หะยีสุหลงยังมีชีวิตอยู่”: ท่าทีของสยามต่อการหายตัวไปของหะยีสุหลงกับ “การสืบสวน” ของ ตวนกู อับดุล เราะห์มาน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พุทธพล มงคลวรวรรณภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 

                                                                                                                                 บทคัดย่อ

เหตุการณ์การหายตัวไปของหะยีสุหลงและกลายเป็นบุคคลสาบสูญในเวลาต่อมาเป็นเหตุการณ์สำคัญหนึ่งในประวัติศาสตร์ปัตตานี/ปาตานีที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก โดยเฉพาะในงานเขียนเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่มีจำนวนมากในปัจจุบัน ในบทความนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะค้นหาความจริงแก่การหายตัวไปของหะยีสุหลง แต่ต้องการที่จะทำความเข้าใจโลกการเมืองทั้งของไทยและมลายาในขณะนั้น ที่เป็นบริบทของกระแสความเคลื่อนไหวและข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ผู้เขียนศึกษาการตอบสนองต่อเหตุการณ์ดังกล่าวของทางการไทยและบทบาทตวนกูอับดุลเราะห์มาน ประธานพรรคอัมโนและต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของมลายา ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญในเรื่องดังกล่าว ทั้งจากหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยและเอกสารราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้เห็นว่าปฏิกิริยาที่มีต่อการหายตัวไปของหะยีสุหลง ทั้งจากทางการไทยและตวนกูอับดุลเราะห์มานนั้นถูกกำหนดโดยการเมืองทั้งในประเทศไทยและมลายาเอง รวมถึงการเมืองระหว่างประเทศทั้งสองจนทำให้ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าว่า “หะยีสุหลงยังไม่ตาย” 

 

                การหายตัวไปของหะยีสุหลงตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2497/1954 และกลายเป็นบุคคลสาบสูญในอีก 8 ปีต่อมา[1] เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ปรากฏในประวัติศาสตร์นิพนธ์มลายูปาตานีและงานเขียนเกี่ยวกับ “ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย” หลายชิ้น ทั้งยังเป็นเหตุการณ์ที่ถูกหยิบยกเพื่อชี้ให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรงและความอยุติธรรมของ “รัฐไทย” ในการจัดการพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้เพราะการหายสาบสูญของหะยีสุหลงเป็นที่สันนิษฐานกันว่าเป็นการ “อุ้ม” ของทางเจ้าหน้าที่ไทย เช่นเดียวกับกรณี “ทนายสมชาย” ที่หายตัวไปจนถึงทุกวันนี้ ทางการไทยไม่เคยยอมรับว่ากรณีหะยีสุหลงหายสาบสูญนั้นเป็นการ “อุ้ม” ของเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างได ทั้งนี้ก็ไม่ปรากฏว่าพบศพหรือร่องรอยหลักฐานที่ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นกับบุคคลเหล่านั้น นอกเสียจากว่าข่าวเล่าลือต่างๆ ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคน “อุ้ม - ฆ่า” หะยีสุหลง แต่เราก็พอจะที่เราทราบเกียรติภูมิของตำรวจไทยในยุคพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์เป็นอธิบดีกรมตำรวจ หรือที่เรียกกันว่า “ยุคอัศวิน” และการใช้ความรุนแรงของกลไกรัฐด้วยวิธีการนอกกฎหมายเพื่อจัดการศัตรูทางการเมืองและบุคคลที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงในช่วงทศวรรษ 2490[2] ดังนั้นจึงเป็นที่ยอมรับกันว่าหะยีสุหลงก็เป็นเหยื่อของการฆาตกรรมทางการเมืองเช่นเดียวกับบุคคลอื่นในยุคนั้น เช่น “4 ส.ส. รัฐมนตรีอีสาน” (ทองเปลว ชลภูมิ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ถวิล อุดลและจำลอง ดาวเรือง)หรือนายเตียง ศิริขันธ์[3] นอกจากนี้จากบันทึกของ พ.ต.อ. พุฒิ บูรณสมภพ อดีตรองผู้กำกับการตำรวจสันติบาล ก็เขียนว่าเขาและทางตำรวจสันติบาลมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการหะยีสุหลง ซึ่งประวัติย่อของหะยีสุหลงของมูลนิธิอาจารย์ฮัจยีสุหลงก็ใช้หลักฐานชิ้นนี้ในการยืนยันว่าหะยีสุหลงถูกฆาตกรรม[4]

                การหายตัวไปของหะยีสุหลงถูกมองว่าเป็นการ “อุ้ม” (แม้ว่าในสมัยนั้นยังไม่มีคำนี้) ของตำรวจไทยตั้งแต่สมัยนั้น ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนจะได้เล่าถึงความเคลื่อนไหวต่างๆ หลังจากหะยีสุหลงหายตัวไปจนกลายเป็นข่าวอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชี้แจงในหมู่นักการเมืองและผู้นำศาสนาอิสลามในมลายา[5] จนทำให้รัฐบาลไทยต้องออกแถลงการณ์และส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ข่าวและทำความเข้าใจแก่สื่อมวลชนว่าทางการไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ รวมถึงการเข้ามา “สืบสวน” ของตนกู อับดุล เราะห์มานที่สงขลาเพื่อให้เกิด “ความกระจ่าง” เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ถึงกระนั้นบทความนี้ไม่ได้มุ่งหวังที่จะทำความกระจ่างหรือหา “ความจริง” เกี่ยวกับการหายสาบสูญของหะยีสุหลงมากไปกว่าการทำความเข้าใจโลกการเมืองของสองฝากฝั่งพรมแดนที่เป็นตัวกำหนดหรือสร้างความจริงเกี่ยวกับการหายตัวไปของหะยีสุหลงและความสำเร็จและล้มเหลวของการเคลื่อนไหวต่อสู้ของมลายูปาตานี

 

แกนนำมลายูโดนจับ สยามกลัวการปลุกระดมในรัฐทางใต้[6]

กำลังตำรวจติดอาวุธของสยามบุกเข้าตรวจค้นบ้านและจับกุมต่วน ฮัจยี ซูลง บิน ฮัจยี กือจิเมื่อวันที่ 16 ที่ผ่านมา ส่วนผู้นำมลายูคนสำคัญอื่นๆ ได้แก่ วัน ออสมาน บิน วัน มูฮัมหมัดและ ต่วน เอช. นิก อับดุล ราชิด ถูกจับกุมในเวลาเดียวกัน

ต่วน ซูลง ถูกจับกุมขณะกำลังสนทนากับผู้นำคนอื่นที่บ้านในจังหวัดปัตตานี ทางการสยามสงสัยว่าแกนนำมลายูเหล่านี้จัดการประชุมเพื่อปลุกระดมมวลชนในปัตตานี แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้กล่าวว่าการจับกุมไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาต่อต่วน ซูลมและพวก พวกเขายังไม่ได้ถูกนำตัวขึ้นศาลตั้งแต่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 16 มกราคมและเจ้าหน้าที่ได้คัดค้านการประกันตัว

ต่วนซูลงเป็นประธานคณะกรรมการอิสลามปัตตานีและเป็นดัง “โลหิตแห่งชีวิต” ของชาวมลายูในรัฐทางภาคใต้ของสยาม เขายังเป็นผู้นำทางศาสนาใน 4 รัฐ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา สตูลและบางนรา สานุศิษย์ของเขาไม่เพียงแต่มลายู 700,000 คนใน 4 รัฐแต่ยังรวมถึงชาวมลายูในตอนเหนือของมลายาด้วย

รัฐบาลสยามได้รับรายงานว่าชาวมลายูในสี่รัฐทางใต้ไม่พอใจกับการปกครองของทางการสยามข่าวจากปัตตานีรายงานว่าคลื่นชาวมลายูจากกำปงรอบๆ หลั่งไหลไปให้กำลังใจครอบครัวของต่วนซูลมที่บ้าน ในเวลาเดียวกันพวกเขายังพยายามโน้มน้าวผู้ว่าราชการปัตตานีชาวสยามให้ปล่อยตัวบุคคลเหล่านั้น นอกจากนี้ยังร้องผ่านโทรเลขไปถึงนายกรัฐมนตรีสยามที่กรุงเทพฯ ด้วย แต่ยังไม่มีการตอบรับแต่ประการใด

        (The Straits Times, 28 January 1948, p. 6.)

 

                ผู้อ่านในมลายารู้จักหะยีสุหลงในหน้าหนังสือพิมพ์หลายปีก่อนหน้าการตัวไปในปี 2497/1954 ทั้งนี้หนังสือพิมพ์ใน มลายาลงข่าวการเคลื่อนไหวทางการเมืองของปาตานีอย่างสม่ำเสมอในช่วงปี 2490/1947 – 2492/1949 ชื่อบุคคลที่กล่าวถึงอย่างบ่อยครั้งคือ เจ๊ะมาห์มุด มะไฮยิดดิน ในฐานะอดีตตวนกู บุตรชายของรายาองค์สุดท้ายของปาตานี กล่าวได้ว่าเป็น “ผู้นำของ 4 รัฐมลายูในภาคใต้ของสยาม”[7] แต่อีกชื่อหะยีสุหลงเริ่มปรากฎขึ้นในพื้นที่ข่าวตอนต้นปี 2491/1948 เมื่อหะยีสุหลงโดนจับกุมด้วยข้อหากบฎ ซึ่งตามติดมาด้วยข่าวการเคลื่อนไหวของมะไฮยิดดิน Gabungan Melayu Patani Raya (GAMPAR) กรณีดุซงญอ การลุกฮือและ “แบ่งแยกดินแดน” ซึ่งช่วงปี 2491/1948 - 2492/1949 เป็นช่วงที่เหตุการณ์ในปัตตานีได้ถูกนำเสนอในหนังสือพิมพ์ สเตรทไทม์มากที่สุดเลยก็ว่าได้[8] นอกจากนี้สเตรทไทม์ได้ติดตามการดำเนินคดีหะยีสุหลงกับพวกอย่างต่อเนื่องจนถึงมีมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น[9] แต่หลังจากปี 2493/1950 ข่าวคราวของหะยีสุหลงและสถานการณ์ในปัตตานีก็เงียบหายไป จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายนอีก 5 ปีต่อมา

 

หะยีสุหลงตายแล้ว? สยามยังไม่พบศพ

                กัวลาลัมเปอร์, พุธ - ทางการสยามที่สงขลาได้แจ้งต่อรัฐบาลสหพันธรัฐฯว่าไม่มีรายงานจากสถานีตำรวจไทยในภาคใต้ของสยามเลยว่ามีการพบศพของหะยีสุหลงและบุตรชาย

                หะยีสุหลง เป็นผู้นำชาตินิยมมลายู ผู้สนับสนุนการแบ่งแยกบริเวณ 4 จังหวัดภาคใต้ของสยามซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นมลายูให้รวมเข้ากับสหพันธรัฐ

                รายงานการเสียชีวิตของเขาถูกนำเสนอครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ภาษามลายูที่ปีนัง

                (The Straits Times, 18 November 1954, p. 7.)

 

                หลังหะยีสุหลงและอาห์หมัด บุตรชายพร้อมด้วย แวสะแม มูฮัมหมัดและเจ๊ะสาเฮาะ ยูโซ๊ะ ออกจากบ้านเพื่อไปพบตำรวจสันติบาลที่สงขลา เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2497/1954 และไม่ได้กลับบ้านอีกเลย ครอบครัวของหะยีสุหลงก็ออกตามหาทั้งที่ปัตตานี สงขลาและกรุงเทพฯ ทั้งทำหนังสือร้องเรียนและเข้าพบนายตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการภาค ไปจนถึงรัฐมนตรีเพื่อให้ตามหาบุคคลทั้ง 4 แต่ก็ดูเหมือนไร้ผล ทั้งไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยราชการต่างๆ มากนัก[10] จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน ข่าวการหายตัวไปของหะยีสุหลงพร้อมกับระบุว่าถูกเจ้าที่ตำรวจไทยสังหาร ก็ปรากฎขึ้นบนหน้าหนังสือพิมพ์ในมลายา โดยเฉพาะอุตูซันมลายู ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือพิมพ์ภาษามลายูที่ทรงอิทธิพลที่สุดในมลายา (ขณะนั้นพิมพ์ด้วยตัวยาวีและตีพิมพ์ที่สิงคโปร์) เรื่องนี้หนังสือพิมพ์หัวต่างๆ ได้มีการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องทั้งยังสันนิษฐานไปว่าหะยีสุหลงถูกทางการไทยสังหารเสียชีวิตและติดตามความเคลื่อนไหวและท่าทีของบุคคลและองค์กรต่างๆ ที่ต้องการทราบถึงความเป็นไปของหะยีสุหลงและพวกที่หายตัวไปซึ่งทำให้เห็นว่าข่าวหะยีสุหลงเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางและองค์กรมลายูมุสลิมต่างๆ ในมลายาก็สนใจติดตาม เช่น “สมาคมอิสลามทั่วมลายา” ที่สิงคโปร์ได้เปิดประชุมพิเศษเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2497/1954 เพื่ออภิปรายเรื่องหะยีสุหลงหายตัวไป เรียกร้องให้มีเรื่องดังกล่าวเป็นญัตติในที่ประชุมผู้นำศาสนาอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเป็นการกดดันให้รัฐบาลไทยออกมาชี้แจง เพราะเรื่องหะยีสุหลง เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพของมุสลิมใน 4 จังหวัดภาคใต้ของไทย “ถ้าหะยีสุหลงและพวกถูกตำรวจไทยยิงทิ้งดังที่เป็นข่าวแล้ว ย่อมชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไทยได้ปกครองอย่างไม่เป็นธรรม” ส่วนเจ๊ะไมดิน เบนมหะหมัดอิบราฮิม “ที่ปรึกษา” รัฐตรังกานู “นายก” อัมโนและสมาคมอิสลามตรังกานู ให้ความเห็นว่า “จริงอยู่หะยีสุหลงและพวกเป็นราษฎรไทย แต่ด้วยท่านเป็นมุสลิม