สร้างเรื่องเล่าสมานฉันท์ กรณีตำนานลิ้มกอเหนี่ยว-กรือเซะ

 

บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นมาจากประสบการณ์ของผู้เขียนที่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม ในเวทีสานเสวนา "เล่าขานตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว-มัสยิดกรือเซะ" การจัดสานเสวนาครั้งนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างศูนย์ศึกษาพัฒนาสันติวิธี หรือศูนย์สันติฯ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนภาคใต้ หรือศอ.บต. และส่วนหนึ่งของบทความชิ้นนี้มาจากบทความชื่อเดียวกัน ซึ่งได้นำเสนอในเวทีรัฐศาสตร์แห่งชาติ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เมื่อประมาณสองปีที่ผ่านมา 

            การจัดสานเสวนาเกี่ยวกับตำนานทั้งสองนี้ ผู้เขียนเห็นว่าอาจเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ ที่มีการเปิดพื้นที่ให้กับชาวมุสลิม และชาวจีน ได้มาพบปะและพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องเล่าที่แต่ละฝ่ายได้รับการถ่ายทอดสืบกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องเล่าที่นำไปสู่ความบาดหมางของชุมชนทั้งสอง การสานเสวนาที่เปิดพื้นที่ให้กับทั้งสองฝ่ายเป็นการท้าทายไม่น้อย ความขัดแย้งที่เกิดจากตำนานจะนำไปสู่การคลี่คลายได้อย่างไรบ้าง ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่มีลักษณะยืดเยื้อและรุนแรง ที่ดำรงอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการสานเสวนาจะนำพาชุมชนทั้งสองกลับไปร่วมมือกันพัฒนาพิ้นที่ที่ ซึ่งในอดีตเคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำรายได้ให้กับชุมชนทั้งสองได้หรือไม่อย่างไร

            เรื่องราวที่ผู้เขียนได้เรียนรู้ประสบมาระหว่าง ใน และหลังกระบวนการสานเสวนา เป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง จึงขอนำมาถ่ายทอดเล่าสู่กันฟัง โดยหวังว่าประสบการณ์จากเวทีสานเสวนาดังกล่าวจะเป็นบทเรียนและแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจเรื่องราวความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในจังหวัดชายแดนใต้ได้บ้าง 

            กระบวนการสร้างสันติภาพและเรื่องเล่า

            ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นคนที่สนใจและศึกษาเรื่องความขัดแย้ง ความรุนแรง และสันติวิธี อดไม่ได้ที่จะหยิบยืมแนวคิดของนักวิชาการต่างประเทศที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจ จอหน์ ปอล นักวิชาการและนักปฏิบัติด้านสันติภาพ ได้เขียนไว้ในหนังสือ "พลังธรรมแห่งจินตนาการ" The Moral Imagination ว่า ความท้าทายอย่างล้ำลึกของกระบวนการสร้างสันติภาพ: ทำอย่างไรที่จะฟื้นฟูเรื่องเล่าหรือเล่าเรื่องใหม่เพื่อให้ผู้คนได้กลับไปมีที่ทางในประวัติศาสตร์อีกคร้ั้ง สำหรับจอห์น ปอล "การเล่าเรื่อง" เป็นการเปิดพื้นที่เล็กๆ ให้ผู้คนเล่าถึงสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เพิ่งเกิดตามทัศนะของพวกเขา เพื่อกำหนดตัวแปรของการเจรจา แล้วจะได้คำตอบของปัญหาเฉพาะหน้าให้พบ

            และการเล่าเรื่องใหม่ เป็นเสมือนเรื่องเล่าด้วยจินตนาการแสวงหาเรื่องราวทางสังคมและความหมายที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่แสวงหาว่าอะไรเกิดขึ้น ทว่าต้องการรู้ว่าเรื่องราวเหล่านั้นเชื่อมโยงกันอย่างไรกับการเดินทางเพื่อการค้นพบที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นมาก นั่นคือการค้นพบว่าเหตุการณ์เหล่านั้นมีความหมายอะไรต่อพวกเราทั้งในฐานะชุมชนท้องถิ่นและชุมชนโลก

            ซึ่งผู้เขียนค่อนข้างเห็นด้วยกับคำกล่าวของจอห์น ปอล เนื่องจากการจัดเวทีสานเสวนาข้างต้นได้สะท้อนให้เห็นสิ่งที่จอห์น ปอลกล่าวไว้อย่างเป็นรูปธรรม ผู้เขียนจึงขอใช้แนวคิดของจอห์น ปอลมาเป็นแว่นมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมสานเสวนาเล่าขานตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว-มัสยิดกรือเซะ

            เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่าเรื่องเล่าของตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว-มัสยิดกรือเซะ นั้นมีความไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเวลาในการก่อสร้างของมัสยิดกรือเซะ ซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงที่ไม่ลงตัวกันจนถึงทุกวันนี้ ในส่วนของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวก็เช่นเดียวกัน ยังมีการถกเถียงกันเรื่องสถานที่ฝังศพของเจ้าแม่ฯ แต่ความไม่ชัดเจนที่ว่าไม่ได้เป็นประเด็นหลักของตำนานความขัดแย้ง

            ตำนานที่นำไปสู่ความไม่พอใจของชาวมุสลิม เนื่องมาจากตำนานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมีคำเล่าขานว่า สาเหตุที่มัสยิดก่อสร้างไม่เสร็จเพราะลิ้มกอเหนี่ยวเป็นผู้สาปแช่ง หลังจากที่มาตามพี่ชายลิ้มโต๊ะเคี่ยม นายช่างที่คุมก่อสร้างมัสยิดให้กลับเมืองจีนแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ลิ้มกอเหนี่ยวจึงผูกคอตายใกล้กับมัสยิดพร้อมกับสาปแช่งไม่ให้การก่อสร้างมัสยิดแล้วเสร็จ ซึ่งตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวได้ถูกเผยแพร่ในรูปของสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออื่นๆ อย่างกว้างขวาง

ซึ่งในทัศนะของชาวมุสลิมแล้วมองว่าคำสาปของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นสิ่งที่ดูหมิ่นคำสอนของอิสลามที่ต้องยอมรับศักดานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไม่มีเงื่อนไข ในเรื่องนี้คงจะตรงกับความคิดของจอห์น ปอล ที่นำมาอ้างไว้ข้างต้นซึ่งพูดถึงการค้นพบเหตุการณ์ที่มีความหมายต่อชุมชน ซึ่งมัสยิดกรือเซะนอกจากจะเป็นสิ่งที่ชาวมุสลิมภาคภูมิใจในฐานะเป็นมัสยิดเก่าแก่แล้ว ยังมีความหมายในแง่ของศาสนาของชาวมุสลิมอีกด้วย

แม้ว่าในงานวิทยานิพนธ์ของแพร ศิริศักดิ์ดำเกิง “ปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวมลายูมุสลิมและชาวจีนในย่านกลาง จังหวัดยะลา” จะได้ระบุว่ากลุ่มคนจีนได้ตระหนักถึงความรู้สึกไม่ดีระหว่างชาวจีนและชาวมุสลิมในพื้นที่ จนทำให้หนังสือที่ระลึกงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เล่มที่จัดพิมพ์ล่าสุดในปี ๒๕๔๔ ไม่มีเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวข้องกับคำสาปแช่งต่อมัสยิดกรือเซะ แต่จากเวทีสานเสวนาประเด็นเรื่องนี้กลับถูกชาวมุสลิมหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นอีก

            การเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยระหว่างชาวจีนและชาวมุสลิม จึงเป็นโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้เล่าเรื่องที่ค้างคาใจกันอยู่ นอกจากนี้ยังนำได้นำไปสู่ทางออกร่วมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในการสานเสวนาที่ถูกจัดขึ้นโดยศูนย์สันติฯและศอ.บต.นั้น แม้ว่าจะไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้งในระดับโครงสร้าง แต่การพูดคุยดังกล่าวได้แปลงเปลี่ยนความรู้สึกและความบาดหมางใจที่มีต่อกันระหว่างชาวจีนและชาวมุสลิมได้ไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากตัวแทนชาวจีนที่มาร่วมในวงสานเสวนา ได้รับปากว่าจะเอา "คำสาปที่ได้ระบุไว้ในตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวออกไป" แต่ในเรื่องอื่นๆที่ยังไม่ชัดเจน ทางตัวแทนชาวจีนขอให้มีการศึกษาและค้นคว้ากันต่อไป

            นอกจากประเด็นนี้แล้ว ยังมีเรื่องที่ชาวมุสลิมค้างคาใจอีกก็คือ เรื่องการจุดปะทัดระหว่างที่มีการอาซาน ซึ่งชาวจีนไม่เคยทราบมาก่อนว่า การกระทำของตัวเองสร้างความอึดอัดให้กับชาวมุสลิมที่อยู่รอบๆ มัสยิดกรือเซะ หลังจากที่ได้ยินจากปากของตัวแทนชาวมุสลิมที่มาร่วมในเวทีสานเสวนา ตัวแทนชาวจีนได้รับปากว่า จากนี้ไปจะไม่มีการจุดปะทัดระหว่างที่มีการอาซาน

            และที่สำคัญหลังจากที่มีการคลี่คลายเรื่องบาดหมางใจกันไป ทั้งสองฝ่ายก็ได้หารือกันต่อในเรื่องของการพัฒนาสถานที่ทั้งสองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนทั้งในและนอกประเทศ มีการตกลงว่าจะมีการพบปะ กินน้ำชา โดยจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพทุกๆ เดือน

            สานเสวนา: เครื่องมือการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้ง

            สำหรับการสานเสวนา ในมุมมองของนักสันติภาพอย่างโยฮัน กัลตุง มองว่า การสานเสวนาเป็นการตรวจสอบวินิจฉัยเหตุแนวโน้มปรากฏการณ์ และการแก้ไขปัญหาพร้อมๆ กัน ซึ่งจะต้องหลีกเลี่ยงการพูดฝ่ายเดียว และต้องทำให้การสนทนาระหว่างทั้งสองฝ่ายเลื่อนไหลไปมา ซึ่งตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นได้ชี้ให้เห็นผลจากการสานเสวนาว่า สามารถช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้บ้าง นอกจากผลที่กล่าวมาอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนที่จะมีการจัดสานเสวนา ทีมงานของศูนย์สันติฯ ได้ไปคุยกับทั้งสองฝ่าย รวมทั้งนักวิชาการ เพื่อจะรับฟังความรู้สึก เพื่อจะได้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการประเมินสถานการณ์จากทั้งสองฝ่าย ก่อนจะเริ่มมีการสานเสวนาจริงเกิดขึ้น

            ข้อมูลพื้นฐานที่ได้มาก่อนการสานเสวนาจริง ช่วยให้ทีมงานเห็นประเด็น ที่จะช่วยให้คู่ขัดแย้งทั้งสองหันหน้ามาร่วมมือกันได้ ซึ่งประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายเป็นกังวลร่วมกันคือ เรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ที่ทั้งสองฝ่ายกำลังเผชิญร่วมกัน หลังจากที่มีสถานการณ์ความรุนแรงระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๗ เพราะฉะนั้นหากทั้งสองฝ่ายไม่หันหน้ามาร่วมกันก็ยากจะกู้วิกฤตดังกล่าวกลับคืนได้ 

            ในมุมของศูนย์สันติฯ ซึ่งได้ใช้สานเสวนาเป็นเครื่องมือในการการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งไม่เฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้ แต่ยังรวมไปถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสีต่างๆ ได้สรุปความว่าการสานเสวนา โดยทั่วไปอาจแบ่งได้เป็น ๓ รูปแบบคือ ๑) การสานเสวนาในระดับหลักการหรือทฤษฎี ซี่งมีเนื้อหาค่อนข้างเป็นวิชาการ เน้นการพูดคุยกันในระดับแนวคิด หลักการของแต่ละคน เพื่อเพิ่มขยายขอบฟ้าความรู้ของแต่ละฝ่ายให้กว้างขึ้น หรือก่อให้เกิดภูมิปัญญาที่ลุ่มลึกแหลมคมมากขึ้น อ้นจะเป็นพื้นฐานความคิดที่หนักแน่นเพียงพอสำหรับการแสวงหาการปฏิบัติร่วมกันต่อไป ๒) การสานเสวนาในระดับประสบการณ์ ซึ่งเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์นานาประการที่แต่ละคนได้ประสบพบเจอมา เพื่อให้กิดความเข้าใจความรู้สึกนึกคิด ความตึงเครียด ความฉกาจฉกรรจ์ ความหวาดกลัว ความโกรธแค้น ความเกลียดชัง ความฝัน ฯลฯ ที่สอดแทรกมาพร้อมเรื่องเล่า ประสบการณ์ของแต่ละคน และ ๓) การสานเสวนาในระดับปฏิบัติการ หรือบางครั้งเรียกว่าการสานเสวนาแห่งชึวิต ซึ่งเน้นให้เกิดการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เนื้อหาที่พูดคุยกันในสานเสวนาระดับนี้ มักเป็นปัญหาสำคัญและเร่งด่วนต่างๆ ที่ทุกฝ่ายกำลังเผชิญอยู่ เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหายาเสพติด ปัญหาสิทธิมนุษยชน ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องเป็นต้น

            การสานเสวนา ๓ รูปแบบที่หยิบยกมาข้างต้นแม้ว่าทั้ง ๓ แบบจะมีความสำคัญเหมือนๆกัน แต่ประสบการณ์ในการสานเสวนาเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว-มัสยิดกรือเซะของผู้เขียนเห็นว่า ในการสานเสวนาครั้งนี้เป็นการสานเสวนาที่เน้นในแบบที่ ๓ ซึ่งเป็นการสานเสวนาในระดับปฏิบัติการหรือสานเสวนาแห่งชีวิต เพราะทั้งชาวจีนและชาวมุสลิมที่มีโอกาสคุยร่วมกันในเวลา ๒ วันนั้น แม้จะมีการหยิบยกเรื่องเล่าที่แต่ละฝ่ายภาคภูมิใจย้อนหลังกลับไปเป็นเวลาหลายร้อยปีนั้น ในความเห็นของผู้เขียนเห็นว่าทั้งสองฝ่ายหยิบยกเรื่องเล่าของตัวเองกันขึ้นมา ก็เพื่อให้เห็นว่าฝ่ายตัวเองมีข้อมูลข้อเท็จจริงอะไรบ้าง และอยากให้เกิดการแก้ไข หรือศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมอะไรบ้าง เพื่อจะทำให้เรื่องเล่าของตัวเองสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งได้กล่าวแล้วว่าทางฝ่ายชาวจีนยอมถอนเรื่องเล่าที่มีคำสาปของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวออกไป รวมทั้งรับปากจะไม่จุดปะทัดในระหว่างเวลาอาซาน การยอมปรับเปลี่ยนเรื่องเล่าของชาวจีนนั้น แสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนให้ดีขึ้น 

            บทสรุป

            แม้ว่าในวันนี้เรื่องราวของมัสยิดกรือเซะและเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวบางอย่างยังไม่ได้คำตอบที่กระจ่างชัดหรือคลี่คลาย ซึ่งเรื่องราวเหล่านั้นอาจต้องใช้เวลาในการสืบค้นหาข้อมูลข้อเท็จจริงมายืนยันและพิสูจน์ร่วมกัน และยังต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่จากเวทีสานเสวนาที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่า การเปิดพื้นที่ให้คู่ขัดแย้งนำเรื่องเล่าของแต่ละฝ่ายมาคุยกัน สามารถจะนำไปสู่การสร้างเรื่องเล่าใหม่ร่วมกันได้ นอกจากนี้ยังลดความรู้สึกบาดหมางที่มีต่อกัน จนสามารถนำไปสู่การพัฒนาร่วมกันได้ หลังจากเวทีสานเสวนาครั้งนี้แล้วยังมีการจัดสานเสวนา เพื่อหาแนวทางพัฒนาประวัติศาสตร์และตำนานกรือเซะ-ลิ้มกอเหนี่ยว โดยการสานเสวนาครั้งนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมศิลปากร การท่องเที่ยวจังหวัด องค์การรบริหารส่วนตำบลทั้งตำบลตันหยงลุโละ ตำบลบาราโหม และตำบาลบานา ตัวแทนจากมูลนิธิฯ เป็นต้น และล่าสุดเมื่อต้นเดือนเมษายน ๒๕๕๔ ได้มีการจัดงานสันติวัฒนธรรม: เล่าเรื่องกรือเซะครั้งที่ ๑ ซึ่งจัดโดย จังหวัดปัตตานี อบต.ตันหยงลุโละ และมูลนิธิเทพปูชนียสถาน ร่วมกันจัดขึ้นที่บริเวณลานวัฒนธรรม มัสยิดกรือเซะ และสุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ต.ตันหยงลุโละ อ.เมืองปัตตานี

            สำหรับสิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากกระบวนการสานเสวนาทั้งหมดนี้ ได้แสดงให้ผู้เขียนเห็นว่า คนรุ่นปัจจุบันสามารถจัดการกับอดีตที่นำไปสู่ความขัดแย้งได้อย่างสร้างสรรค์ ด้วยการเผชิญกับอดีต โดยการให้ความหมายและอธิบายว่าอะไรจะรับ อะไรจะไม่ต้องสนใจ ถกเถียงร่วมกัน เพื่อสร้างเรื่องเล่าใหม่ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ดังตัวอย่างที่มีการเปิดพื้นที่ให้คู่ขัดแย้งได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนและหาทางออกร่วมกัน

หมายเหตุ: ที่มาของบทความ งามศุกร์ รัตนเสถียร, สร้างเรื่องเล่าสมานฉันท์ กรณีตำนานลิ้มกอเหนี่ยว-กรือเซะ,วารสารรูสะมิแล, ปีที่ 32 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2554,หน้า 41-46