ภาษายาวีปาตานี คือสมบัติของสยามประเทศ
ภาษามลายูถิ่นปาตานีเกิดขึ้นมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของอณาจักรลังกาสุกะ ในอดีตภาษามลายูมีการใช้อย่างแพร่หลายในคาบสมุทรมลายูโดยใช้สคริปต์ต่างๆ เช่น สคริปต์กาวี ปาลาวะ ยาวี (Jawi) และรูมี การค้นพบศิลาจารึกตรังกานูที่บันทึกเป็นภาษามลายูตัวเขียนยาวีปี ค.ศ. 1303 เป็นที่ประจักษ์ว่าดินแดนในคาบสมุทรมลายูมีการใช้ภาษามลายูตัวอักษรยาวีมาอย่างยาวนาน ดังนั้นระหว่างชาวมลายู ตัวอักษรยาวี และอิสลาม จึงมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นตั้งแต่อดีตโดยไม่สามารถแยกจากกันได้
โองการอัลกุรอานซูเราะห์อัลหุญร๊อต อายะห์ที่ 13 ซึ่งมีความหมายว่า “โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชาย และเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่า และตระกูลเพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮ์นั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน”
จากโองการอัลกุรอานข้างต้น จะเห็นได้ว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างมนุษย์ทั้งชายและหญิง เป็นเผ่าและตระกูลต่างๆ ซึ่งคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าภาษาต่างๆ รวมถึงตัวเขียนที่เกิดขึ้นจากเผ่าพันธุ์ต่างๆ นั้นเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทาน เพราะฉะนั้นส่วนหนึ่งของการศรัทธาในศาสนาอิสลามนั้นคือการดูแลรักษาวัฒนธรรมทางภาษาที่ตนได้รับจากพระเจ้าและให้เกียรติแด่ภาษาและวัฒนธรรมอื่นๆ เช่นเดียวกัน
มีหลายคนยังเข้าใจว่าภาษามลายูที่ใช้ในจังหวัดชายแดนใต้ คือ ภาษายาวี แม้แต่ข่าวที่ออกมาจากกระบอกเสียงของทางการเองก็ตาม จริงๆ แล้วไม่มีภาษายาวี มีแต่ภาษามลายูอักษรยาวี ส่วนคำว่า มาเลย์ เป็นคำที่ชาวตะวันตกใช้เรียก ชาวมลายู และภาษามลายู
การใช้ตัวอักษรยาวีในภูมิภาคแห่งนี้เริ่มขึ้นมาพร้อมกับการเข้ามาของศาสนาอิสลาม (Hashim Musa, 2003: 63-64) ตัวอักษรยาวีได้ถูกประดิษย์ขึ้นโดยนักปราชน์หรืออูลามาอฺมลายูที่เดินทางไปศึกษาต่อหรือพำนักอยู่ที่ตะวันออกกลางรวมถึงอูลามอฺจากปาตานี โดยดัดแปลงมาจากตัวอักษรอาหรับ 28 ตัว และมีการเพิ่มเติมตัวอักษรที่มีเสียงพยัญชนะเพิ่มเติมในภาษามลายู 6 ตัวคือ [จอ] [งอ] [ปอ] [ฆฺอ] [ญฺอ] [วฺา] (อักษรที่เพิ่มตัวสุดท้ายใช้แทนเสียงตัววีในภาษาอังกฤษ) ยาวีจึงเป็นเพียงตัวอักษรชนิดหนึ่งที่ใช้เขียนภาษามลายู
หลังจากภาษามลายูตัวเขียนยาวีมีการใช้อย่างแพรหลายในภูมิภาคมลายูตั้งแต่ บรูไนดารุสซาลาม รัฐต่างๆ ในคาบสมุทรมลายู ปัตตานีดารุสซาลาม และนูซันตารา ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม อูลามาอฺปัตตานีที่พำนักอยู่ในตะวันออกกลางจึงได้มีการแปลกีตาบจากภาษาอาหรับเป็นภาษามลายูตัวอักษรยาวีเป็นจำนวนมาก ผลงานของอูลามาอฺมลายูในพื้นที่และในตะวันออกกลางได้ทำให้ภาษามลายูยกระดับขึ้นมาเป็นภาษาในการรับใช้เจตนารมณ์ของอิสลามในการเผยแพร่คำสอนของพระผู้เป็นเจ้าในผืนแผ่นดิน
การเข้ามาของตะวันตกในยุคล่าอณานิคม ทำให้ภูมิภาคมลายูนูซันตาราเกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเขียนของภาษามลายู คือมีการใช้ตัวอักษรโรมาไนซ์ เพื่อเขียนภาษามลายูแทนอักษรยาวีซึ่งมีใช้เดิมตั้งแต่ศาสนาอิสลามแผ่ขยายมายังภูมิภาคแห่งนี้
ในขณะที่ตัวอักษรยาวีที่ใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถที่จะรักษาเอกลักษณ์ไว้ได้เนื่องมาจากปาตานีไม่ได้ถูกปกครองโดยนักล่าอณานิคมตะวันตกอย่าง เช่น มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ หรือ อินโดนีเซีย
ตั้งแต่ พ.ศ. 2329 -2445 ถึงแม้ปัตตานีจะถูกปกครองโดยสยามแต่ลักษณะการจัดการภายในนั้นสยามไม่ได้มาจัดการเรื่องการเรียนการสอนหรือเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมหรือแบบตักศิลา หรือคนในพื้นที่จะเรียกว่า “ระบบปอเนาะ” จึงทำให้ปัตตานีสามารถดำรงรักษาเอกลักษณ์ของการเขียนภาษามลายูโดยใช้อักษรยาวีได้ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีความพยายามฟื้นฟูการเขียนยาวีในประเทศมาเลเซียและบรูไนดารุสซาลามเพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถเขียนและใช้ภาษามลายูตัวอกษรยาวีขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
สุดท้ายขอฝากให้ภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยกันดูแลรักษาเอกลักษณ์ของภาษามลายูถิ่นปัตตานีและตัวเขียนยาวีให้อยู่ควบคู่กับชาวมลายูมุสลิมอิสลามในภาคใต้ของประเทศไทยสืบไป ถึงเวลาแล้วที่เราควรเปิดใจให้กว้างและยอมรับความหลากหลายเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ