สังคมไทยกับปัญหาชายแดนใต้ ณ ก้าวย่าง 1 ทศวรรษ ตอนแรก

สถานการณ์การเมืองที่กำลังดุเดือด ณ กรุงเทพฯ ต้องยอมรับว่าทำให้กระแสเรื่อง สันติภาพ ปาตานี เงียบลงอย่างเห็นได้ชัด และเป็นอีกครั้งที่ปัญหาชายแดนใต้ถูกผลักออกไประยะหนึ่งจากการรับรู้ของสังคมไทย แต่ด้วยปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ลากยาวมาถึง 1 ทศวรรษ  ซึ่งเป็นระยะที่ยาวนานที่จะหลีกหนีไม่ได้ให้ต้องมานั่งทำความเข้าใจร่วมกันในลักษณะเชื่อมโยงความเป็นพลเมืองร่วมกันโดยมีโจทย์ใหญ่สำคัญ คือ ปัญหาชายแดนใต้ท่ามกลางการรับรู้ของคนในสังคมไทยถูกทำให้โดดเดียวหรือไม่ หรือยังคงส่งผลกระทบกับการเรียนรู้ของคนนอกพื้นที่ คนนอกที่มีความเป็นพลเมืองเดียวในห้วงปัจจุบันอย่างไร ซึ่งระยะมาถึง 10 ปีไฟใต้  โดยรวมแล้ว อะไรคือสิ่งที่สังคมไทยมองเห็น อะไรที่คนในสังคมไทยคิด ความเข้าใจอยู่ ณ จุดไหน ?

 

 นี่คือโจทย์สำคัญของ เวที ปาตานี ฟอรั่ม ร่วมกับคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก หัวข้อ สังคมไทยกับปัญหาชายแดนใต้ ย่างก้าวทศวรรษความรุนแรง ซึ่งจะนำสนทนาโดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป หรือ “หมอพลเดช” เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา  หนึ่งในบุคคลที่เข้าไปคลุกคลีกับงานประชาสังคมชายแดนใต้ และคุณดอน ปาทาน ผู้อำนวยการฝ่ายการต่างประเทศ ปาตานี ฟอรั่ม ผู้คร่ำหวอดในเรื่องข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ทั้งใต้ดิน บนดิน ในประเทศและต่างประเทศ  ซึ่งดำเนินการสนทนาโดย อ.เอกรินทร์  ต่วนศิริ จากคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี

 

 

หมอพลเดช เข้าสู่การสนทนาด้วยการกล่าวว่า สวัสดีผู้ร่วมเสวนาทุกท่านและต้องขอขอบคุณทางปาตานีฟอรั่มที่เริ่มที่จะนำเรื่องราวต่างๆในสามจังหวัดมาเล่ากันฟัง พูดคุยสร้างทัศนคติที่ดี  การตระเวนพบปะกับคณาจารย์อย่างวันนี้มาที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ครั้งต่อไปอาจไปทางภาคอื่นๆ อันนี้เป็นวิธีการที่ดีมากๆ

“เรื่องไฟใต้ตลอดสิบปีที่ผ่านมา ผมไม่ใช่คนภาคใต้โดยตรงแต่ผมก็เป็นส่วนหนึ่งในการเอาใจช่วยค่อนข้างใกล้ชิดพอสมควรและเข้าไปสัมผัสด้วยตนเอง สิ่งที่เห็นตลอดสิบปีนั้นคือ ความเข้าใจของเพื่อน ภาคประชาสังคมนั้นยังไม่ตรงกันและยังไม่เอื้อต่อกระบวนการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการมองของสื่อ ที่นำเสนอออกมานั้นค่อนข้างจะหนัก ตอกย้ำ เช่นคำว่า โจรใต้ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่ง ในการเติมเชื้อไฟ”

“ผมคิดว่าสื่อมีบทบาทสำคัญที่ชวนคนอื่นๆ ที่อยู่นอกพื้นที่ได้เห็นข้อเท็จจริงหรือสร้างทัศนะคติเชิงบวกแต่วันนี้กลับได้ผลตรงกันข้าม สื่อได้สร้างความโกรธแค้นกับพี่น้องที่อยู่นอกพื้นที่ เพราะได้เห็นลูกหลานเสียชีวิตแทบทุกวัน  สิ่งเหล่านี้ก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยากขึ้น 

6 รัฐบาล ทางออกยังมืดมน แต่เห็นพัฒนาการ

หมอพลเดช ชี้อีกว่า ประการสำคัญที่เห็นได้ชัดมีการเปลี่ยนรัฐบาลไปแล้วถึง 6 ชุดด้วยกันตั้งแต่ปี 47 รัฐบาลของ คุณทักษิณ ซึ่งเป็นรัฐบาลชุดแรกที่ใกล้ชิดพอสมควรกับเหตุการณ์ดังกล่าว ตอนนั้นรัฐบาลส่งงบประมาณลง 2 หมื่นล้านเพื่อแก้ไขปัญหา กลับกลายเป็นยิ่งแก้ยิ่งเละ ผมเองถูกดึงลงไปช่วยเช่นกัน ผมได้เดินทางไปรับฟัง 14 เวที และรวบรวมข้อสรุป เป็นข้อเสนอส่งไปยังนายก แต่นายกไม่รับข้อเสนอดังกล่าว

“ผมมีแนวคิดว่าการที่รัฐบาลส่งงบมาสองหมื่นล้านบาท เราต้องไปถามประชาชนว่าเขาต้องใช้งบส่วนนี้ในด้านใดบ้าง ผมขอโครงการจากรองนายกฯฝ่ายความมั่งคงในตอนนั้น ขอว่าจะจัดกระบวนการระดมความคิดของประชาชนเพื่อทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา และจะทำให้เร็วด้วย โดยผ่านเวที 45 เวที ตระเวนทั่วสามจังหวัด สุดท้ายได้โครงออกมาและนำเสนอรัฐบาล 94 โครงการ เป็นจำนวนเงินหนึ่งพันกว่าล้านบาท รัฐบาลก็ตอบรับเป็นอย่างดี แต่เงินโครงการที่ประชาชนส่งไปถูกส่งลงมาผ่านราชการ โดยที่ไมได้ผ่านประชาชนโดยตรง ราชการก็ทำแบบราชการ มันน่าเสียดายมากที่กระบวนในการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ถึงที่สุด” 

รัฐบาลเปลี่ยนมือเป็น คมช. นายกออกมาขอโทษต่อเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น จนทำให้อุณหภูมิของความโกรธแค้นลดลง ด้วยรัฐบาลนี้มีเวลาสั้นมาก ก็ใช้บริการ  กอ.รมน. เหมือนเดิมในการจัดการปัญหาสามจังหวัด มารัฐบาลที่สาม คุณสมัคแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลยมั่วยุ่งกับเรื่องข้างบน จนต้องเปลี่ยนรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งเป็นคุณสมชาย สองรัฐบาลนี้ไม่ได้ทำอะไรเลย  มาถึงรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เป็นพรรคการเมืองจากใต้ กลายเป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือการรื้อฟื้น ศอ.บต.ขึ้นมา 

“คุณอภิสิทธิ์ท่านทำหน้าที่ปีสองปีเอง ในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งอยู่นั้น มีคนเสนอให้ ตั้งกระทรวงชายแดนใต้ขึ้นมา หมายถึงว่าให้ความสำคัญกับมิติของการแก้ปัญหาชายแดนใต้  ที่นี้ด้วยเหตุที่ว่ารัฐบาลนี้มาจากภาคใต้ เขาเชื่อว่าเขารู้ปัญหาดีกว่าคนอื่นๆ การรับฟังปัญหาก็มีน้อย เขาทำการแบบความเชื่อของตน โดยมอบหมายให้คุณถาวร พอรัฐบาลหมดวาระไปรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ก็มาต่อ ท่านใช้กลไกของ ศอ.อต. คุณทวี พี่แกก็ลุยๆเอางานเอาการดี แต่ก็แกเลือกข้างอย่างชัดเจนดี ทีนี้ก็มาถึงปัจจุบัน รัฐบาลที่ 7 จะเกิดขึ้นภายในวันสองวันนี้หรือไม่ผมก็ไม่รู้ อันกำลังจะครบ 10 ปี ภายใน 10 ปี จะมีรัฐบาลที่ 7 เกิดขึ้น”

อ.เอกรินทร์ ผู้ดำเนินวงสนทนา กล่าวขอบคุณ ที่ปูพื้นฐานให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทั้ง 7 โดยเฉพาะโครงสร้างการทำงาน 

“ ผมจำได้ตอนที่คุณหมอมาดูเรื่องใต้ช่วงแรกๆ ผมยังเป็นนักศึกษาอยู่ ผมและเพื่อนๆเองซึ่งเป็นกลุ่มแรกๆที่ถูกทหารค้นบ้านเพราะไปทำบทความเรื่องราวของผู้เสียหายในเดือนเมษา ผมก็อยู่ในบรรยากาศที่คุณหมอเล่ามาเหมือนกันในช่วงของการจัดเวทีต่างๆ ตอนนั้นบรรยากาศครึกครื้นมาก ดูเหมือนว่าจะมีความหวัง แต่สิ่งที่คุณหมอพูดทิ้งท้ายไว้ว่า พอโครงการผ่านทุกอย่างแล้ว สุดท้ายก็ไปฝ่ายความมั่งคงและราชการดูแลทั้งหมด ไม่ได้เป็นอิสระอย่างที่เราทำ เลยทำให้โครงการหรือข้อมูลมันบิดเบือนไปจากเดิม และการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อีกด้วย  ผมคิดว่านี่คงเป็นสิ่งสำคัญที่ปูพื้นฐานให้เราได้เห็น”

1 ทศวรรษปาตานี บน ความรุนแรงจากรัฐและกลุ่มขบวนการ

อย่างไรก็ตาม ดอน   ปาทาน ได้ปูพื้นฐานเพิ่มเติมว่า หลายคนชอบพูดถึง 4 มกราคม 2004 จริงๆแล้วมันมีเหตุการณ์มาเรื่อยๆแล้วก่อนหน้านี้สักปีสองปี 

“ตอนนั้นรัฐบอกเป็นแค่โจรกระจอก  ผมเองก็ไม่เชื่อ และก็เชื่อว่าอีกไม่นานจะเกิดกลุ่มติดอาวุธรุ่นใหม่ (จูแว) เกิดขึ้น เพราะมันมีเรื่องเล่ามากมาย หลายด้าน เช่น เรื่องอัตลักษณ์  ประวัติศาสตร์ต่างๆ ซึ่งประวัติศาสตร์ที่โน่นกับที่นี่คนละชุดกันแต่มันคือเรื่องเดียวกัน  เรื่องเล่าที่เล่าขานกันมานั้นมันไม่เคยหายไป  ตอนที่รัฐไทยรบกับคอมมิวนิสต์ ล่มสลายไปพร้อมๆกับพวกปาตานีมลายู ไทยก็คิดตรงนั้นมันจบไปแล้ว แต่กลุ่มปาตานีมันไม่ใช่กลุ่มพวกลักษณะของคอมมิวนิสต์เลย เรื่องมันเป็นเรื่องของชาติพันธุ์ 

“ความรุ่นแรงในรุ่นเก่า รุ่นเก่าเขาแสดงตนเองอย่างชัดเจนว่าใคร มีลักษณะปฏิบัติการอย่างไร เช่น เป็นพูโล เป็นบีอาเอ็น เป็นต้น ถึงอย่างไรก็ตามรัฐไทยก็ยังไม่เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ เข้าถึงได้ยาก เพราะประชาชนให้ความสนับสนุนพวกนี้อยู่ เขาเห็นด้วยกับความรุนแรง เพราะเรื่องเล่าที่ว่า คนสยามคือคนข้างนอกมารุกล้ำ ยึดครอง กดขี่ ไม่มีความเป็นธรรม ดังนั้น กลุ่มต่างๆเหล่านี้มีหน้าที่ปฏิบัติการปลดปล่อยบ้านเรา(ปาตานี) จากสยาม 

ดอน ปาทาน เล่าต่อว่า พอมารุ่นหลังนี้ความรุนแรงมันผิดรูปผิดแบบไป บางครั้งมีการเผ่าวัด ยิงครู แต่ระยะหลังนี้รุ่นหลังพยายามเข้าคุยกับรุ่นเก่าเรื่อยๆ คำถามของผมคือว่า คุณมีอิทธิพลมากน้อยขนาดไหนต่อคนสามจังหวัด  “ในระยะแรกความรุนแรงมันเกิดแบบสะเปะสะปะ เพราะขาดตัวควบคุม  มาตอนหลังเริ่มจะแน่นขึ้น เขาก็มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนขึ้นอย่างเช่น ห้ามตีนอกเขตพื้นที่ของมลายู ยะลา ปัตตานี นราธิวาสและ 4 อำเภอของสงขลา ในช่วงปี 2545 จะมีการฆ่าทหารเสร็จแล้วตัดคอ เพื่อยั่วยุทหารที่เหลือ และก่อให้เกิดความกลัวจนต้องถอนทหารออกไป แต่ทหารกลับรุกเข้าอย่างหนักขึ้น มันก็เลยเกิดความรุนแรง ฉะนั้นผมมองว่าความรุนแรงเกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่าย”

“ดังนั้นมันเป็นที่ยากมากสำหรับการที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ถ้าคนไม่เข้าใจถึงบริบทที่เป็นอยู่บอกได้คำเดียวว่าไม่มีทาง ความขัดแย้งกลายเป็นอาชญากรรม มันเป็นมิติที่ซับซ้อนกันเกิดขึ้นมาใหม่ ถามว่าคนมลายูอยากจะแยกประเทศหรือไม่ ถ้าความเห็นส่วนตัวผม ผมว่าเขาสามารถอยู่ร่วมกับประเทศไทยได้เพราะกระบวนการติดอาวุธ พึ่งเกิดมาเมื่อ 50 ปีเอง แต่ที่เขาอยากเป็นส่วนหนึ่งของโลกมาลายา อัตลักษณ์ของเขากับวัฒนธรรมไทยสามารถไปด้วยกันได้ แต่อิสลาม มุสลิม ค่อนข้างที่จะเป็นได้ยากเพราะมันเป็นศาสนา ในช่วงของ นายกฯ สฤษดิ์  ได้ทำการยุบ ปอเนาะ มันเป็นการข้ามเส้นเกินไปแล้ว แต่มาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปีนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ที่รัฐไทยยอมรับว่าเราต้องมาคุยกัน แต่ความรุนแรงมันก็ยังไม่จบ

เข้าใจรากเหง้า รู้ถึงปัญหา ปรับแก้วิธีคิด

อ.เอกรินทร์  ขอบคุณ คุณดอนมากที่ชี้ให้เห็นราก ที่เกิดขึ้นจริงๆไม่ใช่เกิดปี 2004 แต่เกิดก่อนหน้านั้นแล้ว ช่วงของคุณทักษิณ ขึ้นมาใหม่ๆ 2544 - 2545 เริ่มมีบรรยากาศของความรุนแรงในขณะนั้น  (Narrative) เรื่องเล่า ชุดคำอธิบายความเป็นไทยกับความเป็นมลายูมันต่างกันมากอย่างเช่น Indignity ความเป็นไทย ก็ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  และ Indignity ความเป็นมลายูก็ ภาษา ศาสนา ชาติพันธุ์ มันต่างกันมาก มาตุภูมิ แผ่นดินของเขา ความไม่ลงรอยตรงนี้ มันก็ไม่สามารถแก้ไขได้  

“ผมเองสอนวิชาการเมืองให้กับเด็กทางใต้ เวลาเขาอธิบายการเมืองมันต่างจากคนส่วนกลางมองมาก อย่างเช่น ฮีโรของพี่น้องในพื้นที่เขานั้นไม่ใช่   พระนเรศวรแน่นอน แต่ฮีโรของเขานั้นคือหะยีสุหลง ก็มีความรู้สึกต่างกัน แต่ก่อนหน้านี้ความรู้สึกเหล่านี้มันไม่มีสิทธิที่จะพูดในที่สาธารณะได้เลย มันก็ถูกปกปิดและอึดอัดตลอดเวลา  มันถูกปกปิดกลายเป็นประวัติศาสตร์อันตรายมาตลอด แต่หลังๆกล้าพูดมากขึ้นมันก็เลยคลี่คลายลง” 

“นอกจากนี้สิ่งที่คุณดอนชี้ให้เห็นว่าความรุนแรงมีลักษณะพิเศษ คือ ไม่ให้มีความรุนแรงนอกพื้นที่ปาตานี และมีความต่างความรุนแรงที่เกิดในกรุงเทพ และต่างประเทศ สิ่งที่คุณดอนพูดถึงความขัดแย้งเป็นเรื่องอาชญากรรม พวกนี้เป็นโจรใต้รับเงินเพื่อก่อเหตุโดยไม่คำนึงถึงวิธีแบบนี้มันมีอยู่ในระดับหนึ่งในสังคม แต่ว่าถ้าเราสังเกตมาในหน้าหนังสือพิมพ์มันก็ยังมีอยู่ มีวาทะกรรมเกิดมาเรื่อยๆ  ทีนี้ที่เราจะต้องพูดถึงต่อ คือ สงครามในการพูดที่ล้มเหลวตอนนี้ 28 กุมภาฯ มีการพูดคุยครั้งแรกที่ KL มาเลเซีย จะให้คุณดอนคุยโดยเฉพาะคิดว่าเราทุกคนจะต้องได้รับข้อมูล เกี่ยวกับการ พูดคุย หรือบางคนเรียกว่าการเจรจาที่ผ่านๆมา” 

ซึ่งรายละเอียดสามารถติดตามต่อในตอนจบ…