7 ปีตากใบ: ว่าด้วยการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์กับพรก.ฉุกเฉิน

วันที่ 25 ตุลาคม 2554 เป็นวันครบรอบ 7 ปี เหตุการณ์ตากใบ ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วกันของสังคมว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนั้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2547 มาจากการใช้ความรู้สึกอคตินำหน้าการแก้ปัญหาแบบวิธีสันติอย่างชัดเจนของเจ้าหน้าที่รัฐไทย กระทำต่อประชาชนมลายูที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยผ่านรูปแบบการชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรม ซึ่งไม่พอใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ต่อกรณี การชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คน ที่ถูกกล่าวหาว่า เอาปืนไปให้กับฝ่ายกลุ่มขบวนการอุดมการณ์ปาตานี

จนเกิดการสลายการชุมนุมด้วยวิธีรุนแรง ทั้งการใช้อาวุธปืนสงครามและการซ้อมทรมาน ซึ่งเป็นที่สะเทือนใจของสังคมสาธารณะเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม หลังจากเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้วนั้น มีการจับผู้ชุมนุมที่รอดตายจากการกราดยิงขณะสลายการชุมนุม  ขึ้นรถหกล้อทหารแล้วบังคับให้นอนซ้อนทับกันจนมิดเต็มกระบะ กว่าจะถึงที่หมายนั่นคือค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ใช้เวลาไปประมาณหกชั่วโมง(หนึ่งในผู้รอดชีวิตได้ให้ข้อมูลกับผู้เขียน) และปิดฉากด้วยผลลัพธ์ที่ออกมาคือ 85 ศพ ต้องสังเวย

 

นักศึกษากับการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์

ตลอดระยะเวลาหลังจากเกิดเหตุการณ์ตากใบ จะเห็นได้ว่ากระแสสังคมทุกระดับทั้งในและต่างประเทศ ให้ความสนใจอย่างเคลือบแคลงใจเป็นอย่างมาก จนแสดงท่าทีการรณรงค์เรียกร้องความยุติธรรมในหลากหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรณรงค์ของนักศึกษาจากทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ ในนามของ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้(สนน.จชต.)

หลังจากที่นิสิตนักศึกษาได้มีพื้นที่ทางการเมืองอย่างเต็มตัวในสมรภูมิความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับขบวนการอุดมการณ์ปาตานี โดยผ่านการชุมนุมที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เมื่อ 31 พฤษภาคม ถึง 4 มิถุนายน ปีพ.ศ.2550 ได้มีการรณรงค์เรื่อยมาจนกลายเป็นกิจกรรมประจำปีของนักศึกษาอย่างมีวิวัฒนาการตามบริบททางการเมืองของแต่ละปี

25 ตุลาคม 2550 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.)ร่วมกับเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน(คพช.) จัดกิจกรรมร่วมรำลึก 3 ปี ตากใบและออกแถลงการณ์นักสู้ความเป็นธรรมตากใบ ตกเป็นเป้าคดีไต่สวนการตายล้าช้า กระบวนการยุติธรรมนิ่งเฉย โดยทำพิธีการละหมาดฮายัต แสดงละครล้อเลียน และจุดเทียน  ด้านหน้าองค์การสหประชาชาติ(UN) ประจำประเทศไทย

 25 ตุลาคม 2552  เครือข่าย เยาวชนนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน(คพช.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย(สนมท.) เสวนาเรื่อง “5ปีตากใบ 6 ปีความรุนแรงชายแดนใต้ ประเทศไทยยังคงสูญเสีย” ณ มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย

25 ตุลาคม 2553   นักศึกษาจำนวน 200 คน ในจังหวัดปัตตานี ได้รำลึกตากใบ ‘ตะโกนบอกฟ้า’ - ยื่นจดหมายลงตู้ไปรษณีย์ขยะ

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ประมาณ 200 คนได้รวมตัวกันที่วงเวียนหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) เพื่อร่วมรำลึก 6 ปี เหตุการณ์ตากใบ ที่มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว 85 ศพ

25 ตุลาคม 2554 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้(สนน.จชต.) 120 กว่าคน ร่วมรำลึก 7ปี ตากใบ ด้วยการละหมาดฮายัตอหิงสา ที่หน้าสภ.ตากใบ

หากทว่าที่น่าสนใจคือในปี 2554 นี้ ไม่เพียงแต่การแสดงออกทางการเมืองที่พยายามสื่อสารกับสังคมสาธารณะถึงความไม่พึงพอใจของสังคมในพื้นที่ต่อกรณีที่ศาลชี้ว่าสาเหตุการตายของ 85 ศพ จากการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ที่ตากใบนั้น เป็นการตายเพราะขาดอากาศหายใจ

แต่ในคืนวันเดียวกันกับการจัดกิจกรรมของนักศึกษา ได้เกิดเหตุระเบิด 33 จุด กลางเมืองยะลา บาดเจ็บ 49 ราย เสียชีวิต 3 ศพ ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเป็นคนร้าย 2 ราย

หลายๆภาคส่วนวิเคราะห์กันว่า หนึ่งในแรงจูงใจสำคัญของการก่อเหตุของขบวนการอุดมการณ์ปาตานีในครั้งนี้ เป็นเพราะต้องการสื่อสารกับสังคมสาธารณะว่า ความยุติธรรมภายใต้อำนาจรัฐเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ถ้าปรากฏการณ์เป็นไปตามข้อวิเคราะห์นี้จริง นัยทางการเมืองที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะเป็นตัวแปรสำคัญของกระบวนการสร้างสันติภาพที่ปาตานี คือขบวนการอุดมการณ์ปาตานีที่กำลังต่อสู้กับรัฐไทยอยู่ในขณะนี้ โดยใช้อาวุธต่อสู้แบบสงครามจรยุทธ์นั้น มาจากการกดดันของรัฐไทยเสียเองที่ไม่เปิดพื้นที่ทางการเมืองอย่างมีหลักประกันความปลอดภัย ในการคลี่คลายความขัดแย้งด้วยวิธีสันติ

เพราะการคิดแบบตรรกะง่ายๆในการประเมินความเป็นไปได้จริงของแนวทางสันติวิธี ด้วยการสานเสวนาก็ดี และด้วยการนั่งโต๊ะเจรจาระหว่างรัฐกับขบวนการฯก็ดี จะเป็นไปได้จริงอย่างไร แค่เพียงความยุติธรรมที่มาจากการกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อพี่น้องตากใบ ซึ่งได้เกิดขึ้นอย่างโจ่งแจ้งและชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่รัฐก็ยังให้ไม่ได้ แล้วนับประสาอะไรกับการสานเสวนาหรือการเจรจา ว่าจะเกิดขึ้นด้วยหลักการของความจริงใจที่จะยุติการสู้รบจริงๆ

เมื่อรูปการณ์เป็นเช่นนี้ การที่จะหยุดวงจรความรุนแรงในลักษณะสงครามจรยุทธ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ตรรกะที่สมเหตุสมผลมากที่สุดคือ ต้องหยุดที่ชนวนเหตุของการหล่อเลี้ยงความรุนแรง ที่มาจากการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความอยุติธรรมในสังคมโดยรัฐไทยนั่นเอง

โดยการอาจจะลองยกเลิกการบังคบใช้พรก.ฉุกเฉินดูสักครั้งว่า ระดับความรุนแรงจะลดลงหรือไม่ ถ้าไม่ลดลงเลย แถมยังเพิ่มขึ้นมา ก็ประกาศใช้ต่อก็ได้ ในส่วนกองกำลังทหารที่อยู่ในพื้นที่เป็นเกือบเรือนแสนนั้น ก็น่าจะลดจำนวนลง ถ้าไม่ดีขึ้น ก็เอาลงมาใหม่ต่อก็ได้

จะได้เป็นการชี้วัดชัดเจนว่า วงจรความรุนแรงที่ยกระดับขึ้นเรื่อยๆตลอดระยะเวลา 7 ปีนั้น มาจากความเข้มแข็งของกองกำลังติดอาวุธของขบวนการอุดมการณ์ปาตานีหรือมาจากความอ่อนแอของกองทัพไทย

7 ปีตากใบ กับการละหมาดฮายัตอหิงสาและระเบิด 33 จุดกลางเมืองยะลา ท่ามกลางกระแสการรณรงค์คัดค้านพรก.ฉุกเฉินของเครือข่ายประชาสังคมคัดค้านพรก.ฉุกเฉิน ที่นับวันยิ่งยกระดับการเคลื่อนไหวขึ้นทุกทีนั้น น่าจะเป็นสัญญาณจากคนปาตานีถึงสังคมสาธารณะอย่างชัดเจนว่า ตราบใดที่ยังไม่ได้มาซึ่งความยุติธรรมในสังคม คนปาตานีพร้อมที่จะสู้ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะโดยทางการเมืองหรือทางที่ทุกคนมิอยากให้เกิดก็ตาม...