เสียงสะท้อน: ภูเก็ต และชายแดนใต้ กับภาวะสมัยใหม่และความสับสน (ตอนจบ)
ท่ามกลางภาวะสมัยใหม่ของภูเก็ต และความสับสนของสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ พลังของชุมชนที่จะสร้างตัวตนหรือการกำหนดชะตากรรมการดำรงอยู่ในสถานการณ์ ความเป็นไปที่ไม่แน่ไม่นอนนั้นนับเป็นสิ่งท้าทายอย่างยิ่งยวดในทุกๆชุมชนท้องถิ่น ซึ่งชิ้นงานเขียนก่อนหน้านี้จากวงเสวนา ปาตานี ฟอรั่ม ได้ชี้ให้เห็นความพยายามและการตื่นตัวของคนมุสลิมภูเก็ตและคนชายแดนใต้ต่อการประคับประคองอัตรลักษณ์วิถีของตนเองเมื่อครั้งอดีตจนมาถึงปัจจุบัน
มุสลิมภูเก็ต “เพราะผู้เฒ่า ผู้แก่ จึงมีวันนี้”
เป็นความพยายามของผู้เฒ่า ผู้แก่ โดยการการถ่ายทอดอุดมการณ์จากรุ่นสู่รุ่นซึ่ง คุณเจริญ ถิ่นเกาะแก้ว คณะกรรมการภูเก็ตจัดการตนเอง ได้กล่าวต่อเนื่องจากตอนแรก (เรื่องเล่า: ภูเก็ต และชายแดนใต้กับภาวะสมัยใหม่และความสับสน) ว่า เรื่องราวในอดีตถือเป็นประวัติศาสตร์ที่จำเป็นยิ่ง วิญญูชนคนรุ่นหลังต้องทำความเข้าใจกับพื้นเพ ที่มาที่ไปของประวัติศาสตร์ของตน เรายังโชคดีที่มี ผู้เฒ่าผู้แก่ ที่สามารถเล่าเรื่องในอดีตให้แก่เราฟัง
“ครั้งหนึ่งสังคมเกือบล้มสลาย คนเหล่านี้ได้ตั้งสมาคมมุสลิมขึ้นมาในจังหวัดภูเก็ต ไม่ใช่ว่าคนไม่มีการศึกษา มีคนทำงานอยู่ในบริษัทใหญ่โต และยังมีข้าราชการในทุกส่วนเข้ามาร่วมสร้างสมาคมขึ้นมา พยายามเชิญ อาจารย์ จาก กรุงเทพและผู้รู้ในเรื่องต่างๆมาบรรยาย เพราะได้เห็นชุมชนหนึ่งเกือบล่มสลายอย่างชุมชนบางโรง
“เนื่องจากผู้คนได้ขายที่ดิน แล้วนำเงินมาเพื่อสร้างความหรูหรา ให้กับตนเอง หลายคนไม่มีที่อยู่ ทำให้เราต้องออกมาร่วมกันเพื่อช่วยเหลือพี่น้องกลุ่มนี้ โดยสร้างสหกรณ์ขึ้นมา และพื้นที่ที่อยู่อาศัยให้ จนตอนนี้เรามีสหกรณ์ถึง 2 แห่ง เราไม่ได้มองอิสลามแค่มิติแค่การเข้ามัสยิด แต่เรามองครบทั้ง 3 มิติ เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง มีอยู่ครั้งหนึ่งผมกับบังมาโนชเคยร่วมลงการเมืองในพรรคเดียวกัน แต่ท้ายที่สุดก็ต้องแยกกันลง ผมไม่ได้ลง แต่ไปสนับสนุนอีกกลุ่มหนึ่ง ถามว่าเราทะเลาะกันหรือไม่ เราไม่ทะเลาะ เราปรึกษาหารือโดยตลอด ถ้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหลุด แต่ยังมีอีกกลุ่มขึ้นแทนเพื่อทำหน้าที่ดูแลพี่น้องมุสลิม
“นี่คือยุทศาสตร์ที่เราทำ ถ้าเราไปกองอยู่ที่เดียวหมด มุสลิมก็ไม่มีบทบาทแน่นอน เพราะเราต้องรวมไปอยู่ในทุกกลุ่ม สิ่งที่ผมอยากจะฝากถึงพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราจงใช้การเมืองมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคม อย่าเอาสังคมไปเป็นฐานเพื่อไต่เต้าสู่การเมือง เพราะจะทำให้สังคมแตกแยก”
บทเรียนร่วม ภูเก็ต-ชายแดนจังหวัด
บทเรียนของมุสลิมภูเก็ตมันมีอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจ แต่จะไปปรับใช้ในจังหวัดชายแดนใต้ได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นไอความเป็นมลายู หรือการอยู่รวมกันของคนหลากกลุ่ม หลากประเภท อ.งามศุกร์ รัตนเสถียร ให้ความเห็นว่า ตัวเองมาจาก อำเภอเบตงเป็นพื้นที่มีทีความรุนแรงน้อยกว่าพื้นที่อื่นก็จะเห็นบทเรียนอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น
“ตัวเองเข้าไปใน 3 พื้นที่ที่ไม่ใช่บ้านตัวเองก็แปลกใจ เราเห็นถึงความแตกต่าง ตอนที่อยู่เบตงเราไม่เคยเห็นความแตกต่างระหว่างเพื่อนมุสลิมที่นั่น แต่ว่าพอไปหลังจากเหตุการณ์เกิดความรุนแรงแล้ว สิ่งที่เห็นน่าสนใจ คือมันถูกตัดขาดเรื่องมิตรภาพสายสัมพันธ์ความเป็นเครือญาติ แต่ละคนก็เริ่มมีความเป็นปัจเจกชน ความเป็นพี่น้องความเป็นเครือญาติลดลง แต่ที่อำเภอเบตงคนยังมีปฏิสัมพันธ์ คือ โครงสร้างอันหนึ่งที่น่าสนใจซึ่งก็จะคล้ายๆกับที่นี่ เรื่องระบบของเทศบาล คือ นายกเทศมนตรีเป็นคนจีนและรองนายกเป็นทั้งมุสลิมและไทยพุทธซึ่งองค์ประกอบแบบนี้มันจะช่วยให้เรามีความเข้าใจอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง”
บทสำคัญ การพึ่งพาความหลากหลาย และรู้จักรากเหง้า คือทางรอดของชุมชน
อ.งามศุกร์ ยังเห็นอีกว่า ยุทศาสตร์ที่เป็นเครือข่ายและความหลากหลายที่เราจะต้องพึ่งพากัน อันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ชุมชนอยู่รอดได้แต่ยังไม่แน่ใจว่าหลังปี 47 มีบาดแผลอยู่เล็กๆน้อยๆความไม่ไว้ใจความกลัว มันก็กัดกร่อนความสัมพันธ์อยู่ด้วย คนไทยพุทธที่จะเข้าไปในชุมชนมุสลิมก็กลัว
“ตัวเองเคยลงทำงานที่เกาะสะท้อนที่ตากใบทำงานกับไทยพุทธด้วย เกาะสะท้อนที่ชุมชนไทยพุทธล้อมรอบมุสลิม มีอยู่ช่วงหนึ่งเขาไม่เข้าไปหากันเลย และการไม่เข้าหากันแบบนี้มันยิ่งมี่ช่องว่าง พอเราเข้าไป เราเจอประเด็นที่พี่น้องมุสลิมและคนไทยพุทธมีปัญหาร่วมกัน คือ เรื่องชลประทานเป็นสิ่งที่นำให้คนไทยพุทธและมาลายูมุสลิมกลับมาพูดกันอีกครั้ง เข้าใจอย่างหนึ่ง คือ เราต้องเข้าไปในพื้นที่มันรุนแรงถ้าเราไม่เข้าไปเราจะไม่เข้าใจเราก็จะเห็นความรุนแรงที่มันไม่สัมพันธ์ในเชิงบวก”
อ.งามศุกร์สะท้อนเกี่ยวกับความแตกต่างอีกประการที่น่าสนใจว่า อย่างน้อยที่ภูเก็ต ภาษายังใช้ภาษาร่วมกัน แต่ที่3 จังหวัดใช้ภาษามาลายูตัวอักษรยาวีอันนี้ก็จะเป็นสวนหนึ่ง และก็คนรุ่นใหม่ไม่สามารถพูดภาษามาลายูเหมือนคนรุ่นเก่าได้ซึ่งมองว่าเป็นอุปสรรค์ในการอยู่รวมกัน
“แม้นภาวะที่เหมือนกันจะอยู่กันได้ยังไงถ้ายังไม่รู้จักรากเหง้าของตัวเองเป็นสิ่งน่าเป็นห่วงและยิ่งมีคนใหม่ๆเข้ามาอีก ล่าสุดตอนกลับไปเบตงมีชาวเขาจากเชียงรายมาอยู่ในพื้นที่ คือ สิ่งใหม่และเขาจะมีส่วนรวมยังไงต่อไปในอนาคต ที่นี่มีจุดเด่น เขาว่าการมีส่วนร่วมความเป็นเครือข่ายมันทำให้เรามีกรอบป้องกันจากทุนที่มันเข้ามา ถึงแม้การท่องเที่ยวที่มีด้านลบแต่มุสลิมภูเก็ตก็ป้องกัน เข้าใจว่าใน 3 จังหวัดถึงแม้จะมีมุสลิมแต่ก็อยู่ในสภาวะแตกต่าง แต่ภูเก็ตมีนักการเมืองที่เราพูดภาษาเดียวกันได้ กรณีอย่าง 3 จังหวัด การเมืองก็แตก อย่างกรณีที่เกิดเหตุการณ์ตากใบกลุ่มวาดะห์เองก็แตก ซึ่งตอนนี้กำลังจะเกิดมาใหม่เราจะผ่านได้หรือไม่ได้เป็นบทที่น่าสนใจ”
ตกผลึกความคิด สู่การแลกเปลี่ยน
จบการแลกเปลี่ยนมุมมองของ วิทยาสนทนาเพียงแค่นี้มาถึงช่วงการแลกเปลี่ยนความเห็น ความต่างของมุมมองและความคิดของผู้ร่วมสนทนา ซึ่งผู้อาวุโสท่านหนึ่ง มองว่า ปัญหาชายแดนภาคใต้ทุกวันนี้ คือปัญหางบประมาณ เรื่องของโครงสร้าง เรื่องของความไม่เข้าใจกัน ซึ่งงบประมาณลงมาพอสมควร
อาจารย์งามศุกร์ให้ความเห็นว่า ถ้าอย่างกรณีของเรื่องของงบประมาณเข้าใจว่าอาจจะต้องเปรียบเทียบก่อนและหลังปี 2547 เข้าใจว่าก่อนปี 2547 สามจังหวัดถูกละเลยจากรัฐส่วนกลาง จนมาถึงพอเกิดเหตุการณ์ คืองบประมาณลงไปมากเกินไป “ปัญหาคือมันไม่สมดุลระหว่างก่อนเหตุการณ์กับหลังเหตุการณ์ และเข้าใจว่าการพัฒนาก็ไม่ได้เกิดจากคนในพื้นที่ มันคือสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ เช่นหน่วยงานความมั่นคงลงไปพัฒนาชุมชนคือไม่เคยถามว่าชาวบ้านต้องการปลาดุกหรือไม่ ต้องการเป็ดหรือไม่ แต่กลับเอาสิ่งเหล่านั้นไปให้เขา ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ แต่ตอนนี้ก็เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่รัฐส่วนหนึ่งเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้น
“อย่างอีกกรณีหนึ่ง เรื่องนาร้างที่สามจังหวัดก็มีนาร้างด้วยเหมือนกัน ประเด็นหนึ่งก็คือ พอเราไปสอบถาม ว่าทำไมเด็กๆไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย เขาก็บอกว่า ทำนาไม่ได้ มันไม่มีน้ำ เราก็เลยเห็นประเด็นว่า ชลประทานก็มีปัญหา คือ ชลประทานไม่ได้ไปถามว่า ตรงไหนต้องการ แต่กลับลงไปสร้างเลย ทำให้เกิดปัญหา บางพื้นที่น้ำน้อย แต่บางพื้นที่น้ำมาก มันทำให้คนส่วนหนึ่งก็ไปทำงานมาเลเซีย”
“ส่วนประเด็นการศึกษา หลังจากปี 2547 เพิ่งมีการพัฒนามากขึ้น การให้โอกาสต่อคนมุสลิมก็มีมากขึ้น คือหลังจากสภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้น ฝ่ายความมั่นคงก็ลงไปดูแลเรื่องความปลอดภัย เขาก็ไม่เข้าใจ วิถีชีวิตของพี่น้องมลายูมุสลิมที่นั่น เช่น เข้าไปในมัสยิด โดยไม่ได้ถอดรองเท้า แต่ระยะหลังก็มีการปรับตัวอย่างการเลี้ยงสุนัขในค่ายทหารหลังๆมาก็ปรับตัวเป็นเลี้ยงห่าน คือมันเริ่มเข้าใจมากขึ้น จากที่งบประมาณมันน้อย ตอนนี้งบประมาณมันมากเกินไปและก็มีปัญหา สร้างความน้อยเนื้อต่ำใจให้กับคนไทยพุทธในพื้นที่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันจะต้องมีความสมดุลในการจัดการบริหาร และการมีส่วนร่วมก็มีความสำคัญ”
ความไม่สงบข้างใน ที่คนนอกเริ่มมองเห็น
ขณะทีคุณเจิรญ ก็ร่วมแลกเปลี่ยนว่า ในฐานะที่เราเป็นคนนอกพื้นที่ ผมมองก็ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไร เพราะสถานการณ์ เอาอีกแล้ว ระเบิดอีกแล้ว ทำไมนะ ไม่รู้จักพอ มันเหมือนกับว่าเราไม่เข้าใจ
“ตอนผมทำวิทยานิพนธ์ ผมบังเอิญไปเจองานวิจัยชิ้นหนึ่ง ในบทสรุปของงานวิจัยชิ้นนั้นบอกว่า รัฐบาลไทยขึ้นควบคุมดินแดนสามจังหวัดได้อย่างราบคาบ ผมอึ้ง แสดงว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยรู้อะไรที่เป็นจริงในวิชาประวัติศาสตร์ไทย ผมจึงเริ่มสนใจค้นคว้า ไปค้นข้อมูลจาก แหล่งข้อมูลในหนังสือ ฮีกายัต ปาตานี,ลังกาสุกะ มันถึงเข้าใจว่าจริงๆแล้วรัฐบาลไทยใช้ความหวาดระแวงและใช้นโยบายผสมกลมกลืนเหมือนกับที่ทำกับภาคเหนือ แต่บังเอิญที่นี่มันมีวัฒนธรรม มันเป็นวิถีมลายูที่ไม่สามารถแยกออกจากอิสลามได้ มันจึงไม่สามารถผสมกลมกลืนเหมือนกับเจ้าเมืองฝ่ายเหนือของเชียงใหม่”
“เมื่อช่วงหนึ่ง ผมเป็นนักศึกษาไปทำงานที่นั่นผมมองเห็นว่า สถานการณ์หนึ่งมันทำให้กลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ เช่น ต้องรู้ว่าพี่น้องเราสามจังหวัด การศึกษาโอกาสน้อยมาก สาวๆก็นุ่งโสร่ง นุ่งปาเตะไปตัดยางหัวรุ่ง พวก อส. ทหารพรานที่เดินอยู่ในป่าก็ไปข่มขืน พอข่มขืนเสร็จไปแจ้งความ ตำรวจก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะใช้กฎหมายพิเศษ ทหารใหญ่มาก หลายครั้งหลายคราวชาวบ้านทนไม่ได้ จึงรวมกลุ่มกัน ก็ซุ่มยิงเจ้าหน้าที่บางกลุ่มข่าวก็ออกมาว่า ขบวนการก่อการ้าย แบ่งแยกดินแดน เด็ดชีพเจ้าหน้าที่ ทั้งที่เขาแค่ต้องการความเป็นธรรม เพื่อแก้แค้น แต่มันกลายเป็นสถานการณ์ ผมเคยอยู่ที่ค่ายตำรวจแห่งหนึ่งที่ยะลา ผมอยู่ที่นั่นไม่รู้สึกอะไรเลย มันเหมือนกับเด็กเล่นเผายาง แต่กรุงเทพลงข่าวใหญ่โต เราอยู่ในพื้นที่ เราไม่รู้เรื่องเลย
“ เมื่อปี 47 ผมได้ไปทำงานในจังหวัดยะลาผมไปดูแลกิจการวิทยุทุกอาทิตย์ เหตุการณ์ตอนนั้นมันเกิดขึ้นเมื่อโต๊ะครูที่ตากใบโดนยิง แต่แทนที่ฝ่ายรัฐจะหาข้อเท็จจริง รัฐไทยกลับบอกว่า โต๊ะครูคนนี้แหละเอาชาวบ้านมาซ่องสุมกำลัง แต่ที่จริงชาวมุสลิมอยากจะเรียนปอเนาะ และเด็กพวกนั้นอยากจะเจอนายกทักษิณ และอยากจะบอกความจริงว่าโต๊ะครูไม่ได้เป็นอย่างที่รัฐเข้าใจ”
“ถามว่าการเกิดเหตุการณ์ถล่มยิงมุสลิมในมัสยิดที่ตากใบมันเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ข่าวทุกข่าวมันลงบอกว่า มุสลิมทำร้ายพุทธ แต่สถิติรายละเอียดผู้ได้รับผลกระทบออกมา 58.91 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 38 เท่านั้นที่นับถือศาสนาพุทธ แต่สื่อกลับลงบิดเบือนความจริง นี่แสดงให้เห็นความหวาดระแวงที่รัฐไทยมีต่อชนชาติมลายู รัฐไม่เคยยอมรับความแตกต่างในเรื่องของความเป็นอารยะที่เขามีอยู่ก่อน แต่ทำไม่เวลาพูดถึงภาคเหนือ เจ้าเชียงใหม่ เจ้าต่างๆ คุณให้เครดิตเขา แต่กับกันสามจังหวัดคุณพยายามขนย้ายคนจากอีสามเข้ามาเพื่อที่จะมาสร้างประชากรใหม่ขึ้นมา”
คุณเจิรญมองว่า นโยบายสามจังหวัด ถ้าไม่ใช้การปกครองในรูปแบบพิเศษ มันไม่มีทางจบ ภูเก็ตก็กำลังทำเรื่องของการปกครองรูปแบบพิเศษเพราะการปกครองที่มาจากส่วนกลางและรวมอำนาจ ไม่สามารถตอบโจทก์ปัญหาได้ทุกท้องถิ่น ไม่ใช่แต่สามจังหวัดเท่านั้น
“เราไม่ให้เกียรติกับชาติพันธุ์อื่นที่เขามีมาก่อนเรา อารยธรรมปาตานีเป็นอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ในอดีต ที่ทำมาค้าขาย เป็นเมืองท่าซึ่งมีบันทึก แต่เรากลับไม่เคยพูดคุย พอพูดถึงสามจังหวัด ก็มีสามประโยค คือ ด้อยการศึกษา ยากจน และหัวรุนแรง สิ่งที่ผมอยากจะฝากน้องๆสามจังหวัด คือ การศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ใช่การศึกษาเพื่อมาแก้แค้น แต่ศึกษาเพื่อทำให้ประวัติศาสตร์เหล่านั้นคงอยู่และภูมิใจในมัน และเราจะทำอย่างไรให้เรายืนหยัดอยู่ได้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก”
คนภูเก็ตอยากเห็น ปาตานีปกครองพิเศษ
ผู้ร่วมสนทนา อีกท่าน แลกเปลี่ยนว่า ตามความรู้สึกของผม ได้มองคนปาตานีว่า เป็นคนในพื้นที่เดิมที่เป็นมุสลิม ส่วนภูเก็ตเป็นมุสลิมผู้อพยพ ความต่างของผู้อพยพและผู้ที่มีรากฐาน ผู้อพยพสามารถที่จะปรับโครงสร้างตามวิถีชีวิต ของความเป็นเมือง แต่ปาตานี
“ตามที่ผมได้สัมผัส ผมรู้สึกว่าปาตานีจะอนุรักษ์วัฒนธรรมได้ดีมาก มีความภูมิใจในความเป็นมุสลิม แต่ปาตานียังขาดโครงสร้างการรวมกลุ่มในระดับรากหญ้า ถ้าพูดถึงทรัพยากร ทุนทางสังคมนั้น ปาตานีมีทรัพยากร ทุนทางสังคมไม่แพ้จังหวัดอื่น มีธรรมชาติ วัตถุดิบ เกษตร มีครบ ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นในทัศนะส่วนตัว ผมว่ารัฐแก้ยังไม่ตรงจุด เพราะจริงๆแล้วรัฐจะต้องยอมรับความเป็นปาตานีแล้วก็สนับสนุนไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ความรู้ การศึกษา แล้วก็ให้เขาปรับโครงสร้าง ปฏิรูปสามจังหวัด ตามโครงสร้างที่มีพื้นฐานจากความเป็นมุสลิม เช่นรัฐควรเปิดโอกาสให้เขาปกครองตนเองในลักษณะของการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษ อย่างพัทยา อย่างกรุงเทพฯ วิธีนี้อย่างน้อยก็น่าจะแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง”
เสียงหลง คนมลายู ในภูเก็ต อยากเห็นความจริงใจ
ผู้ร่วมสนทนาคนต่อมา แลกเปลี่ยนว่า ผมเป็นคนยะลา มาอยู่ที่นี่ 16 ปีแล้ว จริงๆแล้วเรื่องนี้มันเป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ ในความเป็นคนสามจังหวัด มันมีความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจของพวกเราก็คือว่า รัฐสยามหรือรัฐไทย มีความรู้สึกอคติ เขาแบ่งชั้นของคนสามจังหวัดกับคนไทยส่วนใหญ่ ตัวผมเองก็เคยประสบจากการดูถูกจากเจ้าหน้าที่รัฐ จากนโยบายรัฐสมัยก่อน ผมจำไม่ได้ว่าสมัยนายกไหน ฉะนั้นมันเป็นนโยบายแบบลับที่ไม่ใช่นโยบายที่เปิดเผยโดยทั่วไป ซึ่งมันมีอะไรที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง
“วันนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมสัมผัสได้ว่าจากที่เคยอยู่กับคนที่สนิดกับเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายขบวนการ ผมมีญาติที่อยู่ฝ่ายขบวนการด้วย เหตุการณ์เกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่าย ขบวนกา มีเหตุในการสร้างเหตุการณ์ขึ้นมาด้วย และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากหน่วยความมั่นคงของรัฐเองที่สร้างสถานการณ์เพื่อผลประโยชน์ เพราะฉะนั้น วันนี้มันไม่มีสันติถ้ารัฐไม่มีความจริงใจ ในการที่จะแก้ปัญหา ในการที่จะแสวงหาผลประโยชน์ มันชัดเจนมาก มันคือธุรกิจแห่งความตาย เคยมีคำพูดที่ว่าสามจังหวัดคือหลุมฝังศพ
“ขอสรุปว่า ปัญหาสามจังหวัดจากการที่ตนเองเคยใช้ชีวิตอยู่ในสามจังหวัด คือรัฐบาลจะต้องมีความจริงใจ ถ้าไม่มีความจริงใจไม่มีทาง ถ้าคุณจริงใจอย่างเดียว ปัญหาทุกอย่างแก้ได้ ผมยกตัวอย่างว่า เป็นธุรกิจแห่งความมั่นคง บนพื้นฐานของชีวิตของมนุษย์ เพราะว่าเมื่อมีเหตุการณ์ คุณสามารถที่จะดึงงบประมาณได้เต็มๆ โดยใช้นโยบายงบประมาณความมั่นคง”
“ผมมีน้องเขยอยู่คนหนึ่ง ตั้งกลุ่มเลี้ยงแพะ ถ้าไปซื้อตามพ่อค้าตัวละห้า-หกพันบาท แต่งบประมาณลงมาให้ซื้อแพะตัวละหมื่นห้า เพื่ออะไร อีกตัวอย่าง ที่บ้านเกิดผมมีโครงการให้สร้างอาคารอเนกประสงค์ในหมู่บ้าน งบประมาณที่เขียนก็คือล้านกว่าบาท แต่คนที่เอางบประมาณมาให้บอกว่า ให้ผู้รับเหมาสร้างในงบประมาณแค่สามแสนบาท อันนี้ผู้รับเหมาเล่าให้ผมฟัง และมีอีกหลายๆโครงการ มันคือการสร้างสถานการณ์ เพื่อผลประโยชน์ ถ้าคุณไม่หวังผลประโยชน์ และจริงใจ แก้ปัญหาได้แน่นอนครับ ฉะนั้นขอฝากเวทีนี้ถึงรัฐบาลว่า ถ้าคุณจริงใจและไม่มีอคติกับความเป็นมลายูความเป็นมุสลิม ตั้งแต่อดีต คนมลายูที่เป็นมุสลิมกับคนไทยพุทธ ไม่เคยมีปัญหา แต่หลังจากปี 47 ความรุนแรงมากขึ้น ฉะนั้นถ้าคุณแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ปัญหาอื่นๆ ก็จะไม่ตามมา”
บทสรุป คือเสียงสุดท้ายจากวงสนทนาน่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกัน…