ประวัติศาสตร์วิพากษ์ สยามไทยกับปาตานี: ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

หากพูดถึงหนังสือที่อธิบายประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก จะพบว่าหนังสือบางเล่มให้น้ำหนักหรือเอนเอียงไปในทางแนวคิดที่เป็นผลดีกับรัฐไทย บางเล่มก็ให้น้ำหนักไปที่ฝ่ายชาวมลายูมุสลิม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองที่แตกต่างกันภายใต้บริบททางสังคม วัฒนธรรม พื้นที่ เวลา รวมถึงการศึกษาค้นคว้าข้อมูลที่ถูกเลือกนำมาใช้หรือเลือกนำเสนอข้อมูลเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งตามความต้องการของผู้นำเสนอ บางเล่มเป็นข้อมูลเชิงข่าว บางเล่มบอกเล่าสถานการณ์ที่กำลังคุกรุ่นในปัจจุบัน บางเล่มเสนอทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และหนังสือที่เลือกนำเสนอข้อเท็จจริงในมุมมองทางประวัติศาสตร์เป็นหลักก็มีอยู่ไม่น้อย อาทิเช่น หนังสือประวัติศาสตร์วิพากษ์ : สยามไทยกับปาตานี งานรวมเล่มชิ้นล่าสุดของ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ก็เป็นหนึ่งในหนังสือที่ตีแผ่เรื่องราวเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้อ่านต้องการข้อมูลในเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งชี้ให้เห็นภาพความขัดแย้งที่ชัดเจนระหว่างชาวมลายูมุสลิมกับรัฐไทย หรือระหว่างสยามไทยกับปาตานี

ธเนศได้อธิบายถึงหนังสือเล่มนี้ว่า ”เป็นเรื่องราวซึ่งผู้เขียนได้ค้นคว้า ศึกษาและเรียบเรียงขึ้นมาใหม่จากบันทึกข้อเขียนต่างๆ ในหลากหลายรูปแบบและกาลเทศะ จากความทรงจำของเหตุการณ์และประสบการณ์ในช่วงเวลาหนึ่ง ที่คนคนหนึ่งและอีกหลายๆคนได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์และร่วมแบ่งปันประสบการณ์นั้นๆด้วยกัน”  เขาเริ่มต้นเล่าย้อนไปถึงยุคสมัยซึ่งรัฐบาลเผด็จการในสมัยนั้นได้ทำการปราบปรามนักศึกษาจากกระแสคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้นักศึกษาจำนวนมากต้องหลบหนีเข้าป่า เหตุการณ์ดังกล่าวจึงส่งผลให้ได้มีโอกาสได้เข้าไปทำความรู้จักกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายาในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นแรกที่ได้มีโอกาสคลุกคลีกับชาวมลายูมุสลิมและเห็นการพยายามต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพในทางการปกครองของชาวมลายูมุสลิมต่อรัฐไทย

ในบทความเรื่อง “ประวัติศาสตร์วิพากษ์:สยามไทยกับปาตานี” ธเนศได้อธิบายถึงพัฒนาการของระบบการปกครองระหว่างสยามกับปาตานีนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยย้อนไปช่วงเจ็ดหัวเมือง จนถึงการทำสนธิสัญญากับอังกฤษอันส่งผลให้ไทยเสียสิทธิในดินแดนไทรบุรี กลันตัง ตรังกานู และปะลิส ส่งผลให้รัฐปาตานีกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยในฐานะจังหวัดหนึ่งๆของประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้อธิบายถึงรูปแบบการปกครองแบบรัฐชาติไทยและรัฐชาติมลายูในสมัยใหม่ ซึ่งต่อมาจะมีผลเป็นอย่างยิ่งต่อการพยายามสร้างชาติไทยและส่งผลให้เกิดความขัดแย้งขยายเป็นวงกว้างในหมู่มลายูมุสลิมกับรัฐไทย

ในบทความ “กบฏดุซงญอ การเมืองในประวัติศาสตร์” ธเนศได้เล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยชี้ให้เห็นต้นเหตุของความขัดแย้งอันรุนแรงในขณะนั้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพยายามสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมให้กับคนในสังคมไทยว่า กบฏดุซงญอเกิดขึ้นจากคนกลุ่มหนึ่งที่หลงผิดและพากันลุกฮือขึ้นต่อสู้ทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐไทย ทำให้คนเหล่านั้นกลายเป็นผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ไทย ทั้งที่สาเหตุหลักของความขัดแย้งคือนโยบายชาตินิยมไทยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่บังคับให้ทุกคนต้องปฏิบัติและแสดงออกซึ่งความเป็นไทยอย่างพร้อมเพรียงกัน มีการห้ามมิให้ชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่สวมใส่เครื่องแต่งกายตามหลักศาสนา ซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่พอใจและการประท้วงของชาวบ้านในเวลาต่อมา

ในบทความ “แลไปข้างหลัง : ปาตานี รัฐมลายูนอกมลายา” ธเนศได้เล่าถึงสาเหตุของความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องจากเหตุการณ์จับกุมฮัจญีสุหรง อับดุลกาเดร์ ผู้นำคนสำคัญของชาวมลายู นอกจากนี้ในบทความต่อมาธเนศยังได้ทำการวิเคราะห์แนวคิดของท่านปรีดีที่มีต่อปัญหาความไม่พอใจของชาวมลายูมุสลิม รวมถึงวิเคราะห์แนวคิดข้อเรียกร้องของฮัจญีสุหรง และนำเสนอข้อแตกต่างระหว่างทรรศนะของทั้งสองฝ่าย

ในบทความ “ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมลายูมุสลิม” ธเนศได้อธิบายถึงรูปแบบและพัฒนาการของความเคลื่อนไหวทางการเมืองในแต่ละยุคโดยเริ่มตั้งแต่สมัยอาณาจักรปาตานีจนกระทั่งถึงการเคลื่อนไหวในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองแบบรัฐชาติสมัยใหม่ ซึ่งบทความนี้จะฉายให้เห็นภาพของรูปแบบและวิธีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมลายูมุสลิม และบทความสุดท้ายในหนังสือเล่มนี้ คือการอธิบายเปรียบเทียบระหว่างสงครามแยกดินแดนในภาคใต้ของประเทศอเมริกากับลัทธิแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้สยามไทย โดยอธิบายให้เห็นถึงความเป็นมาของแนวคิดการแบ่งแยกของภาคใต้ในอเมริกา และทำการเปรียบเทียบกับแนวคิดแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนใต้ของไทยว่ามีความเหมือนหรือความแตกต่างกันอย่างไร

กล่าวโดยสรุป หนังสือเล่มนี้ได้พยายามสืบค้นที่มาหรือต้นเหตุแห่งความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับปาตานี โดยมองผ่านแว่นทางประวัติศาสตร์ ซึ่งย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยที่ปาตานียังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสยามจนกระทั่งปัจจุบันปาตานีถูกทำให้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยในรูปแบบของจังหวัดโดยอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐไทยอย่างสมบูรณ์ หนังสือเล่มนี้วิพากษ์วิธีคิดและการดำเนินนโยบายการปกครองของรัฐไทยที่มีต่อคนมลายูมุสลิม โดยชี้เห็นถึงสิ่งที่น่าจะเป็นสาเหตุหรือเป็นต้นกำเนิดของความขัดแย้งอันยาวนาน บอกเล่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้อย่างครอบคลุม มีการกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญในอดีต แนวคิดและวิธีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมลายูมุสลิมในยุคต่างๆ รวมถึงนโยบายสร้างชาติไทยในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม อันส่งผลให้เกิดความขัดแย้งจนถึงปัจจุบัน

หากเราต้องการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การรื้อถอน ถอดสลัก แกะชิ้นส่วน ปมปัญหาความขัดแย้งที่สะสมมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันออกมาดูทีละชิ้น ทีละชิ้น ก็อาจทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ในอดีตมากพอเพื่อที่จะเดินหน้าต่อได้อย่างถูกทาง หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความเข้าใจให้กับอีกหลายๆคนที่ไม่เคยรับรู้ปัญหาความขัดแย้งอันยาวนานนี้มาก่อน และคงเป็นเรื่องที่น่ายินดี หากเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง จะได้อ่านและเปิดใจ ทำความเข้าใจโดยปราศจากอคติ เพื่อหาหนทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันทุกๆฝ่าย