มหาวิทยาลัยทำหน้าที่อะไร ?
พื้นที่สาธารณะ พื้นที่แห่งการตื่นรู้ ยังคงเป็นพื้นที่ของคนคิดแผก แตกต่าง ในวงล้อมแห่งการเคารพและการให้เกียรติซึ่งกันและกัน และมักแสดงออกด้วยวิธีการต่างๆนานา ตามแต่ ความถนัด ความชอบของปัจเจกบุคคล รวมไปถึงการแสดงออกด้วยการบรรเลงแป้นพิมพ์ เพื่อแสดงถึงทัศนะของตน ไซนะ นาแว นักศึกษาฝึกงานปาตานีฟอรั่ม จากคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี ก็เช่นกัน ที่อยากเผยความคิดเห็นของเธอด้วยการเขียนบทความชี้ชวนให้อ่านและวิเคราะห์ ต่อไปนี้จะเป็นเนื้อหาสะท้อนความคิดบางอย่างของเธอกรณีปรากฏการณ์ทางการเมืองบ้านเราที่เกิดขึ้น ณ ขณะปัจจุบัน…
สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองซึ่งมีประชาชนออกมาต่อต้านรัฐบาลที่เชื่อว่าอยู่ภายใต้ระบอบทักษิณเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่จารึกลงบนหน้าหนังสื่อพิมพ์หลายประเทศ การเคลื่อนตัวของขบวนการประชาชนต่อต้านรัฐบาลได้เข้าไปยึดพื้นที่หน่วยงานราชการ เหตุการณ์นี้ส่งผลสะเทือนครั้งใหญ่ต่อสถานศึกษาหลายแห่งไม่เพียงที่อยู่ในกรุงเทพฯเท่านั้น แต่ผลกลับขยายไปยังสถานศึกษาต่างจังหวัดด้วยเช่นกัน โดยมีการสั่งให้งดการเรียนการสอน ในวันที่ 4 ธันวาคม2556 ที่ผ่านมา
เหตุการณ์กรุงเทพเดินทางมาถึงปัตตานีด้วยขบวนเร่งด่วน เรื่องมีอยู่ว่าทางมหาลัยสงขลานครินทร์ทุกวิทยาเขตได้งดการเรียนการสอน ในวันที่ 4-10 ธันวาคม 2556 ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นน่าสงสัย “แล้วเราเกี่ยวอะไร”
จุดเริ่มต้นอาจเกริ่นความเป็นมาจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในห้วงขณะนั้นที่มีความรุนแรงบานปลายจนทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงเสียชีวิต ส่งผลให้มหาวิทยาลัยรามฯงดการเรียนการสอน และเมื่อกลับมายังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ร้อนระอุไม่แพ้กรุงเทพฯ ช่วงประมาณเดือนที่แล้วมีเหตุการณ์ระเบิดบริเวณถนนสาย มอ.ปัตตานี และมีเหตุการณ์ไม่สงบเช่นนี้หลายต่อหลายครั้งด้วยกัน ช่วงระยะเวลานั้นนักศึกษา มอ.ปัตตานีก็ได้รับผลกระทบด้วย แต่ทางมอ.ปัตตานีก็ไม่ได้ให้มีหยุดการเรียนการสอนหรือออกนโยบายใดๆเลย
ด้วยประการเช่นนี้จึงมีกลุ่มนักศึกษาที่ไม่อาจจะรับได้กับการประกาศงดการเรียนการสอนจนทำให้มีนักศึกษากลุ่มเล็กๆในพื้นที่แคบๆสำหรับเด็กรักดี ออกมาประกาศจุดยืนที่ไม่อาจจะนิ่งเฉยจึงแสดงออกทางการเมืองโดยการจุดเทียนท่ามกลางสายฝนที่เป็นการแสดงถึงความสว่างทางปัญญาและเป็นการไว้อาลัยต่อประชาธิปไตยที่ตายไปแล้ว การรวมตัวครั้งนี้เป็นการรวมตัวที่มาจากนักศึกษาคณะต่างๆ กลุ่มเด็กรักดีได้อ่านการแถลงการณ์ ณ ลานพระบิดาซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยหลักใหญ่ใจความ กล่าวถึงการไม่เห็นด้วยกับมาตรการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ประกาศให้มีการปิดการเรียนการสอน
ประเสริฐ กาหรีม นักศึกษาปี1 มอ.ปัตตานี ให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนที่จะมานี้เราก็ได้รู้มาบ้างว่าพี่ๆได้ทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง ถ้า ณ จุดนี้มันก็เกี่ยวกับการเรียนการสอนของมหาลัย ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องเฉพาะของเด็กรัฐศาสตร์ที่ต้องมาแสดงจุดยืน
“เด็กคณะอื่นก็สามารถแสดดงจุดยืนได้ มันเกี่ยวกับว่าจุดยืนของเราตอนนี้ ของเราอยู่ที่ไหน ผมคิดว่ามันไม่มีเหตุผลพอที่ต้องปิด เหมือนเราอยู่ใน 3 จชต. ทีระเบิดหน้ามหาลัย แต่ก็ยังไม่สั่งปิดเลย แต่นี่อยู่ที่กรุงเทพมันก็ห่างกัน 1,000 กว่ากิโลเมตร มันส่งผลกระทบตัวเราหรือไม่ แล้วนักศึกษาที่อยู่ภูเก็ต 700-800 คนเขาไปเกี่ยวอะไรกับกรุงเทพหรือเปล่า
เด็กรัฐศาสตร์ชั้น ปี 3 อีกคน ให้สัมภาษณ์คล้ายกันว่า เด็กรัฐศาสตร์ไม่เห็นด้วยในการหยุดเรียนทั้งที่เราสามารถเรียนไปด้วยและแสดงออกทางการเมืองไปด้วย
“การกระทำนี้อาจจะมีบางส่วนที่เห็นด้วยและบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย แต่การใช้มาตรการเช่นนี้อย่างนี้ เป็นการเหมารวมว่านักศึกษาต้องการแสดงออกทางการเมือง คือ เขามาคิดแทนเราและการงดการเรียนการสอนนี้มันก็มีปัญหาในเรื่องการสอนไม่ทัน ผมเห็นด้วยกับการแสดงออกทางการเมืองแต่ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ซึ่งมันอาจจะมีหลายวิธี คนสวนใหญ่ชอบพูดและวิจารณ์ วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยบางคนก็นิ่งเฉย นักศึกษามอ.ปัตตานี จะมีแค่บางกลุ่มเท่านั้นที่ออกมา แต่ละคนที่แสดงออก ก็แสดงในรูปแบบของการชุมชุม อาจจะมีน้อยแต่มีแสดงออกบนเฟสเยอะ ผมคิดว่านักศึกษา มอ.ปัตตานีส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้”
นักศึกษากลุ่มเล็กๆที่ออกมาแสดงจุดยืนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นนักกิจกรรมที่ทำงานเพื่อจิตอาสาโดยยึดคำปณิธานของมหาวิทยาลัย คือ “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” แล้วมาวันนี้ “เกิดอะไรขึ้น” กับประโยคตรงนี้ ตัวผู้เขียนในฐานะนักศึกษาตัวเล็กๆที่มิอาจจะเข้าใจความคิดของผู้ (ที่) ใหญ่ ที่ต้องใช้มาตรการการประกาศงดการเรียนการสอน นี่จะหมายถึงการแสดงว่ามหาวิทยาลัยเลือกข้าง แล้วอาจรวมไปถึงนักศึกษาทุกวิทยาเขตด้วยหรือเปล่า เป็นสิ่งที่นักศึกษาอย่างเราเลือกหรือไม่ แล้วอย่างนี้เราจะหาความเป็นกลางได้จากไหน ในเมื่อสถานที่ ที่ควรเป็นกลางแต่เลือกที่จะอยู่ข้าง
ดูเหมือนว่า พื้นที่กลางๆ สำหรับคนไม่เลือกข้างเริ่มหายากขึ้นทุกที แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร ?