ปริศนาด่านตรวจ ณ ชายแดนใต้ ตอนจบ

ปริศนาด่านตรวจ ณ ชายแดนใต้ “ไขกุญแจ ภายในกล่อง” (ตอนจบ)

 

หมายเหตุ บทความชิ้นนี้ปรับปรุงจากรายงานฉบับสมบูรณ์ "ปริศนาด่านตรวจ ณ.ชายแดนใต้" นำเสนอวิชา Seminar on Issues in Politics, Government, Economy, Society and Culture in Southern Border Provinces  อาจารย์ผู้สอนรายวิชาข้างต้น อาจารย์เอกรินทร์ ต่วนศิริ  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 

 

 

มาต่อจากปริศนาด่วนตรวจ ที่เริ่มฉายภาพชัด ปัญหาที่เกิดขึ้น กับข้อเท็จจริงที่มาจากการให้ข้อมูลฝากฝั่งเจ้าหน้า มาตอนนี้ชวนมาประติดประต่อปริศนา จากการให้ข้อมูลอีกด้านของประชาชนในพื้นที่ โดยผู้ประกอบการที่ไม่ประสงค์ออกนามเมื่อครั้งการให้สัมภาษณ์ช่วงเดือนกันยายน 2556 โดยระบุว่า การที่มีเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจเข้ามาดูแลประชาชนในพื้นที่เพื่อสร้างความปลอดภัยและบรรเทาเหตุการณ์ให้เบาบางลงนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรมีในจำนวนที่พอประมาณ อย่ามากเกินหรือน้อยเกิน และปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด ไม่ปล่อยปละละเลยจนเกินไป

ฟังมุมของพ่อค้า แม่ขาย

 

“ อย่างทุกวันนี้มีเจ้าหน้าที่มาคอยดูแลประชาชนจำนวนมากเกินไป ตั้งด่านตรวจก็เยอะแยะ แต่การปฏิบัติหน้าที่ด้อยประสิทธิภาพมาก มีจำนวนกำลังมาก แต่ไม่รู้จักใช้ประโยชน์ ก็ไร้ค่า จากที่เคยโดนตรวจมามีความรู้สึกว่า “ประชาชนโดยส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พอสมควร แต่การปฏิบัติหน้าที่ไม่เข้มงวดหรือจริงจังเท่าที่ควร แค่ถามว่ามาจากไหน จะไปไหน ค้นๆนิดหน่อย ก็ปล่อยไป ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นการสร้างความรำคาญให้กับประชาชนเป็นอย่างมากรวมไปถึงการเสียเวลาด้วย”

 

การปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่เต็มที่นั้นส่งผลให้ประชาชนโดยส่วนใหญ่มีความคิดว่า เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อสร้างผลงานและเพื่อของบประมาณให้มากขึ้นกว่าเดิม หรือเรียกว่าปฏิบัติหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งการกระทำเหล่านี้จะเห็นได้ชัดจากการตั้งด่านตรวจหลายจุดในพื้นที่ แต่ไร้เจ้าหน้าที่ เหลือไว้เพียงด่านตรวจร้างๆ สร้างความเสียเวลา และความรำคาญใจให้กับประชาชนที่สัญจรไปมา

 

การตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่สมควร เพราะการตรวจทุกครั้งจะเลือกตรวจเฉพาะคนที่ตนคิดว่าน่าสงสัย ไม่ได้ตรวจทุกคนที่สัญจรไปมา และเมื่อตรวจกลุ่มวัยรุ่นชายก็จะใช้อารมณ์ ใช้อำนาจข่มขู่ ไม่ยอมเชื่อในคำพูดของผู้โดนตรวจ เชื่อเพียงความคิดของตนเองเท่านั้น บางครั้งผู้โดนตรวดไม่ได้กระทำความผิดใดๆ เจ้าหน้าที่ก็พยายามยัดข้อหา อย่างน้อย 1ข้อหา เพื่อสร้างผลงานให้ตนเอง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ที่จะมีการจับแพะมากกว่าจับผู้กระทำผิดตัวจริง ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอีกทางหนึ่งที่ประชาชนไม่ต้องการ ถือได้ว่าการที่เจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลประชาชนในพื้นที่และเข้ามาเพื่อลดความรุนแรจากเหตุการณ์สามจังหวัดนั้น ให้ผลเสียมากกว่าผลดีแก่ประชาชนรวมถึงยังสร้างความเดือดร้อนมากขึ้นอีกด้วย

 

ความเห็นในมุมข้าราชการในพื้นที่

 

ข้อมูลอีกแหล่งข่าว เป็นข้าราชการผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ให้สัมภาษณ์เมื่อ ตุลาคม 2556 ระบุว่า การที่มีเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เพื่อดูแล และคืนความสงบสุขให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ถือเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องมี เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ก็มีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเอาเจ้าหน้าที่จากที่อื่นมาคอยดูแล เนื่องจากยิ่งมีเจ้าหน้าที่มากเท่าไหร่ เหตุการณ์ ความรุนแรงก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น มีจำนวนเจ้าหน้าที่มากแทนที่จะสร้างความปลอดภัย ความไว้วางใจ กลับสร้างความหวาดระแวงให้กับประชาชนเสียมากกว่า

 

โดยเฉพาะการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่จะเห็นได้ชัดเลยว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อผลงานของตนเอง ยิ่งใกล้สิ้นปีก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนถึงการปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด ทั้งที่หลายๆวัน หลายๆเดือนที่ผ่านมาไม่เห็นจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดเลย ปล่อยให้ด่านตรวจร้างไป ด่านแล้วด่านเล่า อย่างไร้ประโยชน์ แถมยังเป็นการกีดขวางทางจราจรอีกด้วย

 

อย่างที่กล่าวมาว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ยิ่งมาก ความรุนแรงก็ยิ่งเพิ่มตามด้วยนั้น ถือเป็นการสร้างความหวาดระแวงกับประชาชนอย่างมาก จะเห็นได้ว่าที่ใดมีเจ้าหน้าที่ ที่นั่นก็จะมีเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็น การวางระเบิด ลอบยิง เผายางรถยนต์ข่มขู่ ต่างๆ จนบางครั้งยังแอบคิดด้วยซ้ำว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะต้องการเจ้าหน้าที่ข่มขู่ให้เจ้าหน้าที่ออกจากพื้นที่ ซึ่งเราสามารถอยู่ได้ โดยไม่ต้องอาศัยหรือพึ่งพาอำนาจของเจ้าหน้าที่เลย การที่ไม่มีเจ้าหน้าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ อาจส่งผลในสถานการณ์สงบลงก็เป็นได้

อย่างเหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่นานนี้ ที่มีการวางระเบิดตู้ ATM จำนวน 30 จุด ในสามจังหวัด จะชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงผลเสียของการตั้งด่านตรวจ ว่าถึงแม้ทุกทางเข้าเมืองปัตตานี ยะลา และนราธิวาสนั้น จะมีด่านตรวจ แต่ผู้ก่อความไม่สงบก็ยังสามารถเข้ามาก่อความไม่สงบในเมืองได้อย่างง่ายดาย และยังสามารถหนีหายไป อย่างไร้ร่องรอย ทั้งที่เจ้าหน้าที่ก็มากมาย เป็นร้อยนาย แต่ผู้ร้ายก็หายไปอย่างลอยนวลจึงพูดได้ว่า ไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่มากมาย ให้วุ่นวาย เพราะถึงมีเจ้าหน้าที่ เหตุการณ์ก็ยังคงเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย รวมทั้งยังสามารถหลบหนีได้อย่างไร้ร่องรอยอีกด้วย

 

จากมุมมองของประชาชนที่มีต่อเจ้าหน้าที่นั้น จึงเป็นมุมมองในแง่ลบเสียมากกว่า เนื่องจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เองที่ไม่สามารถทำให้ประชาชนเกิดความไว้เนื้อ เชื่อใจในการอาศัยอยู่ร่วมกันในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตเช่นพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นี้

 

ความเห็นจากคนในร้านน้ำชา

 

แหล่งข่าวที่เป็นประชาชนในร้านน้ำชาแห่งหนึ่งซึ่งผู้ไม่ประสงค์ออกนามเช่นเดียวกันให้สัมภาษณ์เมื่อ ตุลาคม 2556 ระบุว่า ชาวบ้านในร้าน้ำชาถือเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือและตรงไปตรงมามากที่สุด จึงเลือกสอบถามชาวบ้านกลุ่มนี้ ได้ข้อมูลมาพอสมควรว่า เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาดูแลประชาชน รวมไปถึงการคืนความสงบสุขแก่ประชาชนนั้นเป็นผู้ก่อเหตุการณ์เอง เพื่อสร้างสถานการณ์ให้รุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากการของบประมาณจะได้มากขึ้นตามความรุนแรงนั่นเอง ซึ่งชาวบ้านไม่ได้ต้องการกลุ่มเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลใดๆเลย เพราะเราสามารถอาศัยอยู่กันเองได้ ภายใต้กรอบของศาสนา ความรุนแรงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติงานกันมากมาย และเกิดเฉพาะจุด เฉพาะช่วงเวลา และที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนนั้นคือ วันสำคัญทางศาสนา ในสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจ อย่าง มัสยิด เป็นต้น ใครก็รู้ว่าไม่สมควรทำบาป แต่กลับมีการลอบยิงกัน ฆ่ากันตายโดยไม่เกรงกลัวต่อพระเจ้า นั้นหรอที่คิดว่าชาวบ้านมุสลิมเขากระทำกัน

 

อย่างเช่นสถานการณ์หลายๆครั้งที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อมีจับผู้ต้องสงสัยได้ ก็ถามเพียงแต่ว่า กระทำทำไม? ใครผู้ว่าจ้าง? เป็นต้น โดยไม่ฟังเหตุผลเลยว่าเขาเป็นผู้กระทำหรือไม่ อย่างไร ใช้ความเชื่อของตนเอง ในการตัดสินใจจับกุมทุกครั้ง ดังนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ถูกจับกุมในคดีความมั่นคงนั้น เป็นแพะรับบาปกันทั้งสิ้น

 

มนุษย์ที่อาศัยอยู่บนโลกทุกคนย่อมมีทั้งคนดีและไม่ดี แต่สำหรับในพื้นที่ที่มีความรุนแรงเช่นนี้ คนที่อาศัยอยู่ตั้งแต่กำเนิดนั้น สามารถให้ความไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ แต่กับเจ้าหน้าที่ที่เพิ่งเข้ามาอาศัยในพื้นที่จะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนน้อยมาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ เป็นคนนอกพื้นที่ ต่างศาสนา แล้วเมื่อเข้ามาอาศัย ยิ่งทำให้สถานการณ์เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ก็ยิ่งส่งผลให้ประชาชนมีความคิดในแง่ลบต่อเจ้าหน้าที่มากขึ้นไปด้วย และการตั้งด่านตรวจ ปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เคร่งครัด ไม่เข้มงวด แล้วนั้นส่งผลให้เจ้าหน้าที่เป็นคนไม่ดีในสายตาประชาชน ไม่จำเป็นต้องมีด่านตรวจในเมื่อไม่ได้รับประโยชน์ใดๆจากด่านตรวจเลย ผู้ร้ายสักคนก็ไม่เคยจับได้ที่ด่านตรวจเลย

 

ดังนั้นกล่าวได้อย่างชัดเจนเลยว่าประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องการเจ้าหน้าที่ ถ้าภาครัฐถอนเจ้าหน้าที่ทั้งหมดออกจากพื้นที่ได้จะเป็นการดีต่อประชาชน และเจ้าหน้าที่ด้วย ที่ไม่ต้องเอาชีวิตมาเสี่ยงอันตรายในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกวันเช่นนี้ และคิดว่าถ้าเจ้าหน้าที่ถูกถอนกันหมดสถานการณ์ความรุนแรงก็จะเบาบางลงอย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว

 

ผลกระทบด้าน……

ผลบวก การตั้งด่านตรวจของเจ้าหน้าที่เป็นผลดี ที่ช่วยคุ้มกัน ดูแลประชาชนในพื้นที่ ถือได้ว่าเป็นหูเป็นตา คอยสอดส่องสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาในพื้นที่ สร้างความสบายใจต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากพอสมควร

 

ผลลบการตั้งด่านตรวจ แต่ไม่มีการทำงานของเจ้าหน้าที่ หรือไม่มีการประจำของเจ้าหน้าที่ การตั้งด่านก็ไร้ประโยชน์ รวมถึงยังส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้เส้นทางสัญจรไปมาบริเวณนั้นด้วย และหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ก็ไม่ใช่เพียงดูแลเรื่องความปลอดภัยจากเหตุการณ์เท่านั้น แต่ยังต้องดูแลทุกเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน หรือเรื่องที่สร้างความเสียหาย ความเดือดร้อนต่อประชาชนไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม รวมถึงต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องสม่ำเสมออีกด้วย

 

นอกจากนี้ยังสร้างความหวาดระแวงต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกับการตั้งด่านตรวจ เนื่องจากที่ใดมีเจ้าหน้าที่ ที่นั้นจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วก็ยังเกิดขึ้นรุนแรงมาก สร้างความสูญเสียมากมาย แล้วการตั้งด่าน ไม่ได้ส่งผลดีใดๆเลย เพราะผู้ร้ายคงไม่ขับรถผ่านด่านตรวจเพื่อให้ตนเองโดนจับได้ แล้วถ้าจะผ่านด่านตรวจคงไม่ผ่านด้วยภาพลักษณ์ที่คล้ายคลึงกับภาพในกล้องวงจรปิดที่เป็นหลักฐานเพียงชิ้นเดียวที่มีของเจ้าหน้าที่ และที่สำคัญเจ้าหน้าที่ในด่านตรวจนั้นก็ปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่เข้มงวด หละหลวมต่อหน้าที่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากผู้ร้ายจะหนีไปโดยไร้ร่องรอยได้อย่างง่ายดาย

 

เจ้าหน้าที่จะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในพื้นที่ได้นั้น ก็ต่อเมื่อสามารถแสดงให้เห็นว่าการที่เจ้าหน้าที่เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ ส่งผลให้เหตุการณ์ความรุนแรงลดลงอย่างเห็นได้ชัด และรวดเร็วอย่างคาดไม่ถึง เท่านี้ประชาชนก็จะมอบความไว้วางใจแก่เจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ก็จะได้รับความร่วมมือจากประชาชนอย่างเต็มที่ และการปฏิบัติหน้าที่ก็ง่ายมากขึ้น ความสูญเสียก็จะลดน้อยลง จนสามารถกลับคืนสู่ความสงบสุขอย่างเดิมได้ไม่ยาก

 

จากแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับความไว้วางใจ”

 

(Shea,1994) กล่าวว่า ความไว้วางใจเป็นส่วนผสมอันมหัศจรรย์ในชีวิตองค์การ กล่าวคือ เป็นน้ำมันล่อลื่น ช่วยลดความฝืด เป็นตัวเชื่อมส่วนที่แตกต่างกันเข้าไว้ด้วยกัน เป็นตัวเร่งให้การกระทำสะดวกขึ้น

การตั้งด่านตรวจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีความสำคัญมาก เพื่อเป็นการดูแล ป้องกัน ไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นกับประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่เองก็ตาม แต่การตั้งด่านตรวจนั้นมีมากมายเกินไป ระหว่างทางตลอดระยะทาง ไม่กี่กิโลเมตร ก็ต้องเจอด่านตรวจ แล้วทุกด่านที่เจอคือ ไม่มีการตรวจค้นใดๆ ไม่มีแม้แต่เจ้าหน้าที่ยืนอยู่ที่ด่าน มีเพียงด่านร้างๆ ที่เป็นสิ่งกีดขวางทางจราจร ทำให้เสียเวลาในการเดินทาง และสร้างความน่ารำคาญให้กับผู้ที่สัญจรไปมา ถึงแม้บางด่านจะมีเจ้าหน้าที่คอยคุ้มกัน สิ่งที่เจอก็ไม่ต่างกัน

 

อย่างดิฉันที่มีด่านตรวจหน้าปากซอยทางเข้าบ้านนั้น จะเห็นได้ว่า ดิฉันไม่เคยโดนตรวจเลยสักครั้ง เหตุผลอาจเป็นเพราะ ดิฉันเป็นผู้หญิง จึงไม่มีการตรวจค้นใดๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ดิฉันไม่เคยสนใจเลยว่าเขามีการตั้งด่านตรวจหน้าปากซอย เขามีการตรวจเข้มงวดเพียงใด แล้วเขาปฏิบัติงานอย่างไรบ้าง ขอแค่เพียงไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของดิฉันก็เพียงพอ แต่เมื่อไม่นานมานี้เอง ด่านตรวจได้สร้างความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของดิฉัน คือ การที่คุณแม่และน้องชายของดิฉันเกิดอุบัติเหตุที่ด่านตรวจ ได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่คู่กรณีกลับหนีรอดไปได้ 

 

หลังจากนั้นดิฉันจึงไม่ชอบเจ้าหน้าที่ ไม่ชอบการตั้งด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ ดิฉันจึงได้สังเกตการปฏิบัติงาน ซึ่งถือได้ว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่หละหลวมอย่างมาก เนื่องจากมีการตรวจบ้าง ไม่ตรวจบ้าง และไม่เคยจับคนร้ายได้เลย อย่าพูดถึงคนร้ายที่ก่อความไม่สงบเลย แม้แต่คนร้ายที่ทำผิดกฎหมายเล็กๆ อย่างกรณีคุณแม่กับน้องชายของดิฉันยังจับคนร้ายไม่ได้ แล้วประชาชนตัวเล็กๆที่ไม่มีกำลัง ไม่มีอำนาจที่จะต่อสู้กับผู้ร้ายได้นั้นจะฝากชีวิตไว้กับเจ้าหน้าที่ได้อย่างไรในเมื่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ผ่านมา ส่งผลให้เห็นอย่างชัดเจนอยู่แล้ว

 

ความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อเจ้าหน้าที่นั้นมีน้อยมาก เนื่องจากหลากหลายปัจจัย โดยปัจจัยหลักๆ คือ การหละหลวมต่อการปฏิบัติหน้าที่ การไม่ประสบผลคาดหวังในการปฏิบัติหน้าที่ และการที่เจ้าหน้าที่โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างพื้นที่นั้นเองถือเป็นการยาก ที่จะได้รับความไว้วางใจจากประชาชน แต่ถ้าได้รับความไว้วางใจจากประชาชนแล้วนั้น การปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ก็เป็นเรื่อง่ายมาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่และประชาชนได้ร่วมมือกัน อย่างที่ (Shea, 1994)ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น

 

ประชาชนในพื้นที่หวังเป็นอย่างยิ่งต่อความสงบสุขดังเดิมที่เคยมีมาแต่อดีต ซึ่งความสงบจะกลับคืนได้ต้องได้รับความร่วมมือทั้งทางภาครัฐและประชาชน ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน เคารพ รับฟังในความคิดเห็นและข้อเสนอของอีกฝ่ายด้วยความเต็มใจ แล้วพร้อมปฏิบัติตามข้อเสนอที่เหมาะสมที่สุด เพื่อปลุกประชาชนให้ตื่นจากความฝันร้ายที่น่ากลัวเช่นนี้ เพื่อความสงบสุข และความภาคภูมิใจของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้