ปริศนาด่านตรวจชายแดนใต้ ตอนที่ 1
ปริศนาด่านตรวจชายแดนใต้ (ตอนที่ 1)
หมายเหตุ บทความชิ้นนี้ปรับปรุงจากรายงานฉบับสมบูรณ์ "ปริศนาด่านตรวจ ณ.ชายแดนใต้" นำเสนอวิชา Seminar on Issues in Politics, Government, Economy, Society and Culture in Southern Border Provinces อาจารย์ผู้สอนรายวิชาข้างต้น อาจารย์เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ของประเทศไทย หรือมักเรียกว่า “ไฟใต้” เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสี่จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอเทพา และอำเภอสะบ้าย้อย ซึ่งเกิดมาจากปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ซึ่งเรื้อรังยาวนาน มีเหตุการณ์ลอบทำร้าย วางเพลิง วางระเบิด และจลาจลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะมีความเคลื่อนไหวในลักษณะต้องการแบ่งแยกดินแดนบริเวณชายแดนใต้มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ แต่ความไม่สงบดังกล่าวเริ่มบานปลายขึ้นหลัง พ.ศ.2547
ปัญหาภาคใต้ถึงมาตรการด่านตรวจ
หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้รัฐบาลจึงได้ออกนโยบายเพื่อเป็นวิธีการบรรเทาความไม่สงบที่เกิดขึ้น นั่นคือ นโยบาย “ใต้ร่มเย็น” เป็นมาตรการที่รัฐบาลและกองทัพภาคที่ 4 นำมาใช้สำหรับแก้ปัญหาความไม่สงบและปราบปรามกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับอำนาจรัฐและเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศในนามผู้ก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ขบวนการโจรก่อการร้าย โจรคอมมิวนิสต์มาลายา และกลุ่มโจรต่างๆ ในเขตพื้นที่ภาคใต้ ช่วง พ.ศ. 2524 - 2527
อย่างไรก็ดีในที่นี้จะกล่าวถึงหนึ่งในมาตรการบรรเทาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยรัฐบาลได้ส่งกำลังทหารลงมาเพื่อปกป้องประชาชนจากความหวาดระแวงที่เกิดขึ้น และเพื่อเยียวยา เป็นกำลังใจให้ประชาชนดำรงชีวิตได้ตามปกติสุข นั่นคือ การตั้งด่านตรวจต่างๆ ตั้งค่ายทหารบริเวณหมู่บ้านเพื่อประชาชนจะได้รู้สึกปลอดภัย ซึ่งบางค่าย บางด่านก็ได้รับความยินยอมและความร่วมมือจะชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นๆ และบางค่าย บางด่านก็ไม่ได้รับความยินยอมจากชาวบ้านใดๆเลย
กรณีที่ชาวบ้านให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ส่งผลให้การทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความสะดวก สบาย และการอาศัยอยู่ร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ก็เป็นไปด้วยความเป็นมิตรที่ดี มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แบ่งปัน เกื้อกูลกัน แต่บริเวณที่ไม่ได้รับความยินยอมจากชาวบ้าน ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่สามารถตั้งค่าย หรือด่านตรวจได้ เพียงแต่จะไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆจากชาวบ้าน แม้แต่ความเป็นมิตรที่ดีก็ไม่มีให้เห็น ซึ่งการตั้งด่านตรวจที่จะสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนนั้นส่งผลให้ชาวบ้านเกิดความหวาดระแวงมากขึ้นในบางพื้นที่ เช่น บริเวณ ชานเมือง หมู่ 10 ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ชาวบ้านไม่ได้ยินยอมต่อการตั้งด่านตรวจ เพียงแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีที่มีการวางเพลิงรถพ่วงสิบล้อ และวางเพลิงยางรถยนต์ในบริเวณนั้น แต่แล้วหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปเพียงสองวันเท่านั้นก็มีการจัดวางด่านตรวจ มีการตรวจค้นรถจักรยานยนต์ รถยนต์ ผู้คนที่สัญจรไปมาทุกคนอย่างเคร่งครัดมาตลอดจนเกือบจะทำให้ชาวบ้านไว้ใจและให้โอกาสแก่เจ้าหน้าที่
ปัญหาด่านตรวจเริ่มฉายภาพ
ถึงกระนั้นเพียงเวลาไม่นาน การทำงานอย่างเคร่งครัดนั้นก็เริ่มจางหายไปทีละนิด จนหายไปในที่สุด เมื่อเหตุการณ์เริ่มลดลง จนในปัจจุบันนี้เหตุการณ์ก็ยังคงความรุนแรง และดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆอย่างไม่มีวี่แววจะลดลงนั้น การทำงานของเจ้าหน้าที่ก็ยังเหมือนเดิม คือการไม่มีการตรวจอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะมีการตรวจอีกทีก็ต่อเมื่อเกิดเหตุการณ์ไปแล้ว มีผู้คนบาดเจ็บ มีการสูญเสียไปแล้ว และการตรวจก็ผ่านๆ ตรวจแบบพ้นๆไป แถมยังเลือกตรวจเฉพาะคนด้วย แต่ถ้าไม่มีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้น ก็จะไม่มีการตรวจ ด่านตรวจก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ เหลือเพียงด่านที่สร้างความยุ่งยากให้กับผู้คนที่สัญจรไปมา หรือถ้ามีเจ้าหน้าที่ บางคนก็ยืนคุยโทรศัพท์ บางคนก็ยืนคุยกัน ทั้งที่อยู่ในชุดเครื่องแบบ แบกปืนเต็มยศ แต่ไม่มีใครปฏิบัติหน้าที่ ยืนตากแดดให้ตัวดำ หมดแรงไปวันๆเท่านั้นเอง
การตั้งด่านตรวจนอกจากจะไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นเลย ก็ยังสร้างความลำบากต่อการสัญจรบนท้องถนนอีกด้วย เพราะเมื่อไม่นานมีผู้ใหญ่วัยกลางคนกำลังขับรถจักรยานยนต์จะไปส่งลูกชายที่โรงเรียน แต่โดนรถยนต์ชนท้ายที่ด่านตรวจซึ่งขณะนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่ปฎิบัติงานสักคน ทำให้คู่กรณีหนีไปอย่างไร้ร่องรอย เหลือเพียงผู้ใหญ่คนนั้นนอนจมกองเลือดโดยไม่รู้สึกตัวใดๆกับลูกชายที่บาดเจ็บ ร้องไห้เสียขวัญอยู่ ทั้งที่เหตุการณ์เกิดที่ด่านตรวจ หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่มากมาย แต่ไม่สามารถจับผู้กระทำผิดได้และยังปล่อยให้ลอยนวลอย่างไร้วี่แวว
อีกเหตุการณ์ก็คือ เรื่องของวัยรุ่นชายคนหนึ่งขับรถจักรยานยนต์กลางสายฝนโปรยปราย ถนนลื่น ส่งผลให้วัยรุ่นชายคนนี้เกิดอุบัติเหตุ จนต้องเย็บที่น่องถึง 16 เข็ม เนื่องจากโดนเหล็กที่มีลักษณะเป็นรูปตัวคูณที่ตั้งอยู่หน้าด่านนั่นเอง ซึ่งความเป็นจริงหากไม่มีด่านตรงนั้นวัยรุ่นชายคนนี้คงมีเพียงแผลทะหลอก เล็กน้อยเท่านั้น การล้มของเขาส่งผลให้เขาทะไหลไปถึงด่านจึงส่งผลให้เขาได้รับบาดเจ็บมากขึ้น
อีกเหตุการณ์หนึ่ง เป็นเรื่องของหญิงสาววัยทำงานที่โดนฉุดกระเป๋าขณะขับรถไปทำงาน ซึ่งบริเวณที่เกิดเหตุการณ์นี้เป็นบริเวณใกล้ด่านตรวจ มีเจ้าหน้าที่ แต่ไม่สามารถจับผู้ร้ายได้รวมถึงของกลางก็ไม่ได้กลับมา ส่งผลให้หญิงสาวคนนั้นบาดเจ็บฟรีๆเท่านั้นเอง
เหตุการณ์ที่กล่าวมา บ่งบอกถึงการตั้งด่านตรวจ แต่ไม่มีการทำงานของเจ้าหน้าที่ หรือไม่มีการประจำของเจ้าหน้าที่ การตั้งด่านก็ไร้ประโยชน์ รวมถึงยังส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้เส้นทางสัญจรไปมาบริเวณนั้นด้วย และหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ก็ไม่ใช่เพียงดูแลเรื่องความปลอดภัยจากเหตุการณ์เท่านั้น แต่ยังต้องดูแลทุกเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน หรือเรื่องที่สร้างความเสียหาย ความเดือดร้อนต่อประชาชนไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม รวมถึงต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องสม่ำเสมออีกด้วย
ข้อเท็จจริง ข้อมูลที่ได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ
จุดตรวจบ้านโต๊ะอีหม่ามประจำมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี หมู่ที่ 3 ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
จุดตรวจจุดนี้จัดตั้งมาประมาณ 1 ปีแล้ว เนื่องจากมีการลอบยิงโต๊ะอีหม่ามประจำมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี จึงมีคำสั่งให้ตั้งจุดตรวจหน้าบ้านโต๊ะอีหม่ามเพื่อเป็นการคุ้มครองโต๊ะอีหม่ามและครอบครัว รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงอีกด้วย เพื่อการดำเนินชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนนี้เกิดความสบายใจ รู้สึกถึงความปลอดภัย โดยไม่ต้องหวาดระแวงถึงภยันตรายใดๆที่จะเข้ามา ถือว่าการตั้งจุดตรวจบริเวณนี้ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนเป็นอย่างดี
จุดตรวจจุดนี้จะเรียกกันว่า ”ด่านลอย” นั้นก็หมายถึง จุดตรวจเล็กๆที่ไม่ได้ตั้งด่านตรวจประจำ แต่จะตั้งด่านตรวจก็ต่อเมื่อมีการแจ้งว่าได้เกิดเหตุการณ์ขึ้นไม่ว่าจะบริเวณใดหรือจังหวัดใด (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ก็ตาม จะมีการสกัดตรวจเฉพาะคนแปลกหน้าเพราะบริเวณนี้เป็นเขตชุมชนจึงสามารถจดจำประชาชนได้เกือบทั้งหมด เพื่อเป็นการสกัดกั้นผู้ต้องสงสัยหากมีการหลบหนี หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ด่านสกัด” นั่นเอง
ถึงแม้ว่าบริเวณนี้จะไม่มีการตั้งด่านตรวจประจำแต่การทำงานของเจ้าหน้าที่ก็เป็นไปตามระบบของการตั้งด่าน นั่นคือ การเฝ้าระวัง การเดินลาดตะเวน และยังมีการแบ่งช่วงเวลาการทำงานเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงเช้า ช่วงเย็น และช่วงค่ำไปจนถึงกลางดึก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่สัญจรผ่านเส้นทางนี้นั่นเอง เจ้าหน้าที่ที่ประจำการบริเวณนี้จะเป็นกลุ่ม อส. ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่ จึงสร้างความไว้วางใจแก่ประชาชน ได้เป็นอย่างดี โดยจะมีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ 15 นาย จะมีการทำงานคนละ 4 วัน และพักคนละ 2 วันเป็นการแบ่งเวลาการทำงานที่เท่าๆกัน
เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้จะเข้ามาด้วยการสมัครและคัดเลือกจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และได้มีการฝึกอบรมทักษะการปฏิบัติหน้าที่มาเป็นอย่างดีในระยะเวลา 45 วัน ที่ค่ายทหารตามแต่ภาครัฐจะจัดตั้ง และยังมีการเรียกฝึกอบรมทักษะการปฏิบัติหน้าที่ตลอดระยะเวลาในการทำงาน ทุกคนจะพักอาศัยอยู่ร่วมกันที่ด่าน อาหารการกินทางส่วนกลางจะนำมาให้เดือนละครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นจำพวกอาหารแห้ง อาหารกระป๋อง เพื่อใช้รับประทานกันทั้งเดือน
เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้มีความเกรงกลัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เหมือนประชาชนทั่วไปจะเลี่ยงการเดินทางในเวลากลางคืน และเดินทางตามลำพัง เพราะจะเป็นการเสี่ยงมากในการโดนลอบทำร้าย เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างสุดความสามารถเท่านั้นเอง
จุดตรวจชานเมือง (บ้านกูแบอีเตะ) หมู่ที่ 10 ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
จุดตรวจจุดนี้มีการจัดตั้ง เพราะเป็นเส้นทางเข้าเมืองปัตตานี เพื่อตรวจความปลอดภัยก่อนเข้าเมือง เพื่อเฝ้าระวังให้เกิดเหตุการณ์น้อยที่สุด และเพื่อความปลอดภัยและความสบายใจของประชาชนที่เข้ามาทำธุระในตัวเมืองรวมไปถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองอีกด้วย
จุดตรวจจุดนี้จะเป็นจุดตรวจประจำ มีการตั้งด่านเป็นประจำทุกวัน โดยเจ้าหน้าที่ที่ประจำการอยู่ที่นี่คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นกลุ่มตำรวจลาดตะเวนหรือตำรวจที่ออกนอกพื้นที่นั่นเอง ส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างจังหวัด จึงไม่ค่อยได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเท่าใด และการตั้งด่านตรวจทุกครั้งจะมีประชาชนที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือบ้าง แต่ไม่มาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ของตนเองต่อไป
เจ้าหน้าทีกลุ่มนี้ได้รับการอบรมทักษะการปฏิบัติหน้าที่มาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นภาคทฤษฎีหรือแม้แต่ภาคปฏิบัติ มีความชำนาญในการปฏิบัติหน้าที่มากพอสมควร ในการทำงานแต่ละครั้งจะมีการประชุมวางแผนงาน แบ่งหน้าที่ แบ่งจุดตำแหน่งก่อนและหลังปฏิบัติงานทุกครั้ง โดยส่วนใหญ่จะตรวจเฉพาะตอนเย็น เนื่องจากตอนเช้าเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนรีบเร่ง ไม่ว่าจะไปทำงานหรือแม้แต่การไปส่งเด็กนักเรียน อาจเป็นการเสียเวลาและเป็นที่ไม่พึงพอใจของประชาชนได้
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ทุกคนสละตนเองมาปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ที่ถือได้ว่าเป็นพื้นที่สีแดงด้วยความเต็มใจ และมาเพื่อสร้างมิตรไมตรีต่อประชาชน ดังนั้นการทำงานทุกครั้งของเจ้าหน้าที่ต้องคำนึงถึงความพึงพอใจของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ เช่น ช่วงเวลาการตรวจ และการเลือกตรวจบุคคล เช่น จะเลือกตรวจเฉพาะวัยรุ่นชายโดยส่วนใหญ่ และจะตรวจพบบ่อยที่สุดคือ ใบกระท่อม ที่ถือได้ว่าเป็นยาเสพติดที่ขึ้นชื่อมากในหมู่วัยรุ่น แต่ก็ไม่ส่งตัวไปดำเนินคดีใดๆ เพียงแค่แจ้งกับผู้ปกครองและตักเตือนเท่านั้นเอง ส่วนผู้หญิง และผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่สวมใส่ชุดละหมาด จะไม่มีการตรวจใดๆ และอย่างที่ทราบกันดีว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ประชาชนโดยส่วนใหญ่แล้วนับถือศาสนาอิสลาม เจ้าหน้าที่จึงต้องมีความเข้าใจถึงวัฒนธรรมของประชาชน เพื่อการวางแผนในการปฏิบัติหน้าที่ตามความพึงพอใจของประชาชนนั่นเอง
เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะได้รับความยินยอมจากทางบ้านเรียบร้อยแล้ว จึงสามารถมาทำงานในสถานที่ที่เสี่ยงอันตราย และอีกอย่างตัวของเจ้าหน้าที่เองที่เลือกเดินทางในสายอาชีพนี้ ดังนั้นการปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้งต้องเป็นไปตามแบบแผนของกรมตำรวจที่วางไว้ เจ้าหน้าที่จะได้กลับบ้านเดือนละ 5 วัน เพื่อไปพบปะกับครอบครัว แต่หากเดือนใดที่มีวันหยุดทางราชการ (ช่วงเทศกาลต่างๆ) เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้จะไม่มีวันหยุด กลับต้องเตรียมการวางแผนในการปฏิบัติงานให้รัดกุมและเหนียวแน่นยิ่งกว่าเดิม
จุดตรวจโรงเรียนปัญญาวิทย์ หมู่ที่ 11 ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
จุดตรวจจุดนี้จัดตั้งขึ้นเพราะในอดีตบริเวณนี้เป็นเขตที่มีประชาชนอาศัยอยู่น้อยมาก มีเพียงป่าและแม่น้ำ จึงส่งผลให้มีโจรชุกชุม มีการแจ้งความว่าโจรขึ้นบ้านไม่เว้นแต่ละวัน กลุ่มวัยรุ่นเมายา เล่นการพนันก็เยอะ แต่หลังจากที่มีการก่อตั้งโรงเรียนปัญญาวิทย์ในนบริเวณนี้ขึ้น ทำให้ผู้ปกครองเกิดความหวาดระแวงและไม่กล้าที่จะส่งลูกหลานเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ จึงได้มีคำสั่งให้จัดตั้งจุดตรวจเพื่อคอยคุ้มครองดูแล คอยสอดส่อง เป็นหูเป็นตาให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ หลังจากที่มีการตั้งจุดตรวจพบว่า โจร วัยรุ่นเสพยาฯ เล่นพนันก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนกระทั่งปัจจุบันนี้แทบจะไม่มีให้เห็นเลย ที่โรงเรียนแห่งนี้ก็มีผู้ปกครองส่งลูกหลานมากเรียนเพิ่มมากขึ้นและเป็นที่รู้จักของประชาชนในวงกว้างยิ่งขึ้น
เจ้าหน้าที่ที่ประจำการอยู่ที่นี่ คือกลุ่ม อส. ร่วมด้วยกับเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถือได้ว่าเป็นการร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากมีการจับกุมโจรผู้ร้ายได้ ต้องมีการผสานงานกับตำรวจนำไปดำเนินคดีต่อ ไปถ้าหากมีการแจ้งว่าเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็จะร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารทำการเฝ้าระวังและลาดตระเวน เป็นด่านตรวจที่จัดตั้งประจำ แต่จะไม่ค่อยมีการตรวจ เพราะไม่ค่อยมีการใช้เส้นทางสายนี้ เจ้าหน้าที่จึงว่างงานเป็นส่วนใหญ่
เจ้าหน้าที่บางคนให้ความเห็นว่า ไม่รู้จะตั้งด่านตรวจเพื่ออะไร เพราะหากมีการปล้น จี้ บริเวณใกล้เคียง ผู้ร้ายคงไม่ขับรถผ่านที่ตั้งด่านเพื่อให้ตัวเองถูกจับกุม เขายอมอ้อมไปอีกทางที่สามารถเข้าสู่ในตัวเมืองเลยดีกว่า แล้วถ้าเข้าเมืองก็เป็นการยากขึ้นในการจับผู้ร้าย แม้แต่ผู้ก่อการร้ายก็คงไม่ขับรถผ่านด่านตรวจอีกเช่นกัน ซึ่งการตั้งด่านตรวจประจำจะเป็นการเปิดทางให้กับผู้ร้ายมากกว่า เนื่องจากผู้ร้ายคงจะทราบดีอยู่แล้วว่าที่จุดใดบ้างมีด่านตรวจ ก็จะหาเส้นทางอื่นในการหลบหนี และการตั้งด่านตรวจประจำถือได้ว่ามีความเสี่ยงสูงในการเป็นเป้านิ่งจากการโดนถล่มด่าน หรือการลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่นั้นเอง
การทำงานทุกคนย่อมมีความหวังต่อความก้าวหน้า แต่การเป็นเจ้าหน้าที่ อส. นั้นจะไม่ค่อยได้รับความก้าวหน้าทางการงาน เพราะเป็นเพียงแค่อาสาสมัครในการคุ้มคอรง ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อย่างเป็นทางการ บางครั้งการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันทั้งสามฝ่าย แต่ได้รับผลงานอยู่สองฝ่าย หรือฝ่ายเดียว ฝ่ายที่ไม่ได้รับผลงานใดก็ต้องมีความน้อยใจเป็นเรื่องธรรมดา จึงเป็นเหตุในการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่เต็มที่ มีการปล่อยปละละเลยบ้างบางเวลา แต่ทุกฝ่ายก็ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มใจ