อ่าน ฟ้าเดียวกัน 9 ปีไฟใต้ หยุดการทหาร เปิดพื้นที่ทางการเมือง

ตลอดระยะเวลาของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังเกิดขึ้น ได้มีความพยายามผลิตสื่อ งานวิชาการเป็นจำนวนมาก ทั้งวรรณกรรมที่สะท้อนความเป็นไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านแง่มุมต่างๆ  ทั้งเป็นงานที่รังสรรค์จากคนในพื้นที่และต่างพื้นที่ ออกสู่สาธารณชนเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ก็มีความพยายามที่นำเสนอข้อมูลเพื่อที่จะเรียกหาสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้

เช่นเดียวกันกับนิตยสารฟ้าเดียวกัน นิตยสารวิชาการที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับไฟใต้เป็นธีมหลักของเรื่องมาแล้วหลายฉบับ และในฉบับล่าสุด ฉบับปีที่ 11 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม-มิถุนายน ก็ได้นำเสนอถึงเรื่องราวของ 9 ปีไฟใต้ หยุดการทหาร เปิดพื้นที่ทางการเมือง

ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม-มิถุนายน ได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับ ไฟใต้ ไว้อย่างน่าสนใจ ในฉบับนี้ มีเนื้อหาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชายแดนใต้ประกอบด้วย  บทบรรณาธิการ : กระบวนการสันติภาพเพิ่งจะเริ่ม อย่าเพิ่งล้มโต๊ะ, อ่าน “ภูมิศาสตร์ในจินตนาการ” ปลายด้ามขวานผ่านนวนิยายชายแดนใต้ยุคความรุนแรงผงาด โดย ศรัณย์ วงศ์ขจิตรม, “อยู่กับความรุนแรง” ความรุนแรงในพื้นที่ทางโลกย์ของมลายูมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ โดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ, ครูไทยพุทธ : ในสงครามแห่งวาทกรรม โดย สิริไพลิน สิงห์อินทร์ , “ความจริงจริงๆ” บางสิ่งที่หายไปในเรื่องเล่าครูไทยพุทธ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์, แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จะใกล้หรือไกลเพียงไร? เปรียบเทียบกระบวนการสันติภาพฟิลิปปินส์และไทย โดย รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช เขียน อัญชลี มณีโรจน์ แปล

ใน บทบรรณาธิการ : กระบวนการสันติภาพเพิ่งจะเริ่ม อย่าเพิ่งล้มโต๊ะ ได้นำเสนอเนื้อหาไว้อย่างน่าสนใจ โดยนำเสนอว่า

“ฟ้าเดียวกัน เห็นว่าการปฏิบัติการทางทหารของรัฐไทยในรอบ 9 ปีที่ผ่านมานับจากเกิดเหตุโจมตีค่ายทหารกองพันพัฒนาที่ 4 จังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 นั้น พิสูจน์แล้วว่า ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้  ซ้ำยิ่งเติมเชื้อไฟแห่งความคับแค้นให้ทบทวีมากยิ่งมากขึ้น เพราะปฏิบัติการภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและกฎอัยการศึก เปิดช่องให้เกิดการปฏิบัติการแบบลัดขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ส่งผลให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมาย“

นอกจากนั้นภายในบทบรรณาธิการยังคงได้มีข้อเสนอทั้งในส่วนของฝ่ายรัฐและขบวนการไว้ว่า

ฝ่ายรัฐไทย คงต้องทบทวนแนวคิดเรื่องชาติ เรื่องอำนาจอธิปไตยเสียใหม่ แทนที่จะเอาแต่ยืนกรานตามแนวคิดชาตินิยมแบบคับแคบว่า “ไม่ยอมเสียดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว” การที่ไม่ได้เสียดินแดน สามารถที่จะมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนดังกล่าวได้ แต่เสียความชอบธรรมในการเข้าไปปกครองในพื้นที่ ซึ่งจะมีประโยชน์อันใด

ในขณะเดียวกันในส่วนของขบวนการ ขบวนการเองต้องออกมาสื่อสารความคิดและจุดยืนของตนต่อสาธารณชนมากขึ้นหลังจากที่อยู่ในเงามืดมานาน ต้องอธิบายในสมาชิดและแนวร่วมของตนเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นว่า ที่อ้างว่าทำเพื่อปลดปล่อยปาตานีให้เป็นเอกราชนั้น มีแผนหรือโครงการใดรองรับไว้

ใน อ่าน “ภูมิศาสตร์ในจินตนาการ” ปลายด้ามขวานผ่านนวนิยายชายแดนใต้ยุคความรุนแรงผงาด โดย ศรัณย์ วงศ์ขจิตรม ในงานชิ้นนี้เป็นการนำเสนอถึง วรรณกรรมที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหยิบยกชิ้นงานกรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่าม สะตอปา การ์เด ผลงานการประพันธ์ของศิริวร แก้วกาจญ์ และ พรมแดน ของ วสิษฐ เดชกุญชร รวมทั้งมีงานชิ้นสำคัญอย่างเช่น ปืนใหญ่จอมสลัด ของวินทร์ เลียววาริณ ที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ปืนใหญ่จอมสลัด เป็นต้น

โดยในงานกรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่าม สะตอปา การ์เด นวนิยายเรื่องนี้มีเรื่องเล่าที่แสดงถึงความเป็นกลาง ที่ไม่พยายามเข้าข้างฝ่ายใดท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงและด้วยความพยายามเป็นกลางเช่นนี้จึงน่าพิเคราะห์ว่า มีความหมายใดซ่อนอยู่ในความเป็นกลางของนวนิยายเรื่องนี้ ทางด้านพรมแดน นวนิยายเรื่องนี้เป็นการสะท้อนและการบอกเล่าเกี่ยวกับปัญหาจากจังหวัดชายแดนใต้ที่ตนเองได้รับมา

ใน “อยู่กับความรุนแรง” ความรุนแรงในพื้นที่ทางโลกย์ของมลายูมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ โดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ งานชิ้นนี้ได้นำเสนอถึง นัยสำคัญของการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตทางสังคมกับความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านการนิยามความหมายจากชีวิตประจำวันของคนมลายูมุสลิม บนฐานของประสบการณ์และวัฒนธรรมความขัดแย้งระหว่างความเป็นมลายูกับรัฐไทย รวมทั้งได้แสดงให้เห็นถึงความหมายของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทางโลกย์ที่สำคัญต่างๆ ของมลายูมุสลิมอาทิ บ้าน พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ทางสังคม และการปรับตัวกับรัฐไทย

ใน ครูไทยพุทธ : ในสงครามแห่งวาทกรรม โดย สิริไพลิน สิงห์อินทร์ , งานชิ้นนี้ได้นำเสนอถึงวาทกรรมต่างๆ ที่วนเวียนอยู่ในชีวิตผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผ่านเรืองเล่าจากชีวิตและประสบการณ์จริงของครูไทยพุทธ โดยท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเป็นสมรภูมิแห่งวาทกรรม โดยวาทกรรมเล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดผ่านเรื่องเล่า ซึ่งมีผู้เล่าอยู่สามกลุ่มด้วยกันคือ เรื่องเล่าจากฝ่ายรัฐ เรื่องเล่าจากฝ่ายปัตตานี แลเรื่องเล่าของเหล่าปัญญาชนในบ้านเมือง ทั้งสามกลุ่มเหล่านี้ก็ต่างมีเรื่องเล่าที่นำไปสู่วาทกรรมของตนเอง

ต่อมาในงานของ แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จะใกล้หรือไกลเพียงไร? เปรียบเทียบกระบวนการสันติภาพฟิลิปปินส์และไทย โดย รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช เขียน อัญชลี มณีโรจน์ แปล งานชิ้นนี้ได้มีการนำเสนอการเปรียบเทียบการเจรจาสันติภาพในไทยและฟิลิปินส์ โดยในส่วนของฟิลิปปินส์ได้มีการยกตัวอย่างจากจุดเริ่มต้นและเหตุผลของความขัดแย้งกระทั่งนำไปสู่การจัดตั้งขบวนการต่อต้านอำนาจรัฐของชาวโมโรในฟิลิปปินส์ ซึ่งในฟิลิปปินส์เองมีพัฒนาการของการเจรจาสันติภาพโดยมีข้อตกลงกันทั้งสิ้น 3 ฉบับคือ ข้อตกลงทริโปลี ในปี 1976 ข้อตกลงเจดดาห์ในปี 1987 และข้อตกลงจาการ์ตาในปี 1996 อย่างไรก็ตามในหลังจากปี 1996 ซึ่งเป็นผลให้เกิดการจัดตั้ง “คณะกรรมการประสานงานการหยุดยิง” อย่างไรก็ตามการเจรจาเริ่มมีปัญหาในปี 2000 เนื่องจากนโยบายของประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา ที่มีการประกาศนโยบายสงครามเต็มรูปแบบ

แต่หลังจากสิ้นสุดยุคของประธานาธิบดีโจเซฟ ในยุคของประธานาธิบดีกลอเรีย ก็ได้มีความพยายามที่จะเจรจากับกลุ่มโมโรอีกครั้ง โดยมีมาเลเซียเป็นตัวกลางในการเจรจา แต่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่มโมโร ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2008 การเผชิญหน้าระหว่างทั้งสองได้เกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2008 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 และมีผู้ที่ต้องอพยพย้ายถิ่นกว่า 390,000 คน

ในยุคของประธานาธิบดีเบนิคโน อาคิโน ได้มีการประกาศว่า เขาต้องการที่จะทำให้สันติภาพเป็นมรดกทางการเมืองในยุคสมัยของเขา ซึ่งในวันที่ 15 ตุลาคม 2012 ซึ่งมีการวางกรอบจัดตั้งเขตปกครองตนเองบังซาโมโรขึ้น

จากงานชิ้นนี้เราจะเห็นได้ว่า ฟิลิปปินส์ต้องผ่านร้อน ผ่านหนาวมาเป็นระยะเวลานาน กว่าที่ความคิดที่แตกต่างกันระหว่างรัฐและโมโรจะมาบรรจบติดกัน ซึ่งหากมองย้อนกลับมาที่ชายแดนภาคใต้ของเรา แม้นว่าจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานแล้ว แต่กระบวนการที่นำไปสู่สันติภาพกำลังที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ยาก ในข้อเสนอต่างๆ ที่จะถูกยอมรับภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ทั้งหมดนี้ เป็นบางส่วนบางตอนจากนิตยสารวิชาการ เนื้อหาหนักๆ ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังคงมีเรื่องราวที่เข้มข้นและน่าสนใจอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ผู้สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับชายแดนใต้ไม่ควรพลาด