โจทย์สำคัญของบีอาร์เอ็น

ถ้านับจนถึงวันนี้ เราอาจจะพอบอกได้ว่าสถานการณ์การพูดคุยกันระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น นั้นประสบความสำเร็จอย่างมโหฬาร เพราะรัฐบาลสามารถโน้มน้าวให้บีอาร์เอ็นยอมลดการก่อเหตุรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนตามข้อเสนอแนะของผู้นำศาสนาหลายๆ ท่าน แต่หากจะคิดว่านี่มันคือความสำเร็จจริงหรือไม่ เครื่องหมายคำถามคงยังปักอยู่ในหัวใจของอีกหลายๆท่าน เพราะท่าทีของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่แถลงผ่าน YouTube ก่อนหน้านี้ และการติดแผ่นป้ายโจมตีรัฐไทยนับร้อยผืนก่อนรอมฎอน มันช่างสวนทางกับถ้อยแถลงที่ออกจากปากของผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยที่ว่าทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันเพื่อลดความรุนแรงและลดเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความรุนแรง

ทางฝ่ายบีอาร์เอ็นอาจจะยอมหยุดใช้ความรุนแรงเพื่อตั้งสติ หรือตั้งแผนการทำงานใหม่ ทางฝ่ายไทยอาจจะยอมลดปฏิบัติการทางทหารเพื่อเตรียมขันแนวรับให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

นักเคลื่อนไหวคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตุว่าข้อตกลงลดความรุนแรงมันเพิ่งเดินทางผ่านกาลเวลามาเพียงไม่กี่วัน แต่ในแง่ยุทธศาสตร์แล้ว บีอาร์เอ็นอาจจะใช้ช่วงจังหวะเวลานี้ในการเปิดแนวรบรูปแบบใหม่ที่สั่นประสาทมากกว่าเดิม และเลือกวิธีการปฏิบัติการทางทหารที่มีผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด

หากเราจะเปรียบเทียบกระบวนการสันติภาพปาตานี กับกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นในพื้นที่อาเจ๊ะห์ ของประเทศอินโดนีเซีย และ กรณีของมินดาเนา ในประเทศฟิลิปปินส์ เราจะพบว่า กระบวนการสันติภาพของไทยนั้นใช้เวลาเพียงสี่เดือนกว่าๆทั้งสองฝ่ายก็สามารถทำข้อตกลงลดความรุนแรงกันได้แล้ว ซึ่งมันเร็วอย่างน่าเหลือเชื่อ เร็วจนน่าสงสัยว่าถ้าหากบีอาร์เอ็นอ่อนกำลังลงและยอมอ่อนข้อให้รัฐบาลไทยได้มากถึงเพียงนี้ เหล่าญูแวในพื้นที่คงกระอักใจตายและคงตั้งคำถามกับตัวเองอย่างหนักว่าที่ผ่านมาเราสู้รบและยอมพลีกายไปเพื่ออะไรกัน เมื่อข้อเสนอทั้งหมดของบีอาร์เอ็นยังไม่ถูกยอมรับจากฝ่ายไทย หรือได้ถกกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเลยก่อนจะประกาศลดความรุนแรง

แต่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้อาจจะเป็นไปได้ถ้าหากการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นถูกผลักดันโดยคนที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร และถ้าหากว่าอาการอยากกลับบ้านของทักษิณ ชินวัตร รุนแรงเสียจนสามารถกดดันมาเลเซียให้บีบคั้นกลุ่มบีอาร์เอ็นที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียให้ยอมรับข้อเสนอทักษิณไปก่อน จนทำให้บีอาร์เอ็นยอมหยุดปฏิบัติการไปสักพักหนึ่งจนทักษิณได้กลับบ้านก่อนแล้วค่อยมาว่ากันใหม่ มันก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะอย่าลืมว่าหากดูการเมืองใหญ่แล้ว เหตุที่ทักษิณต้องเป็นขมิ้นน้อยที่ล่องลอยอยู่แต่นอกประเทศนั้นก็ด้วยเหตุผลหลายประการอาทิเช่น ข้อกล่าวหาที่ว่าไม่จงรักภักดี คอร์รัปชั่น แทรกแซงข้าราชการประจำ และทำให้สถานการณ์ในภาคใต้บานปลาย และทักษิณเองก็ค่อยๆลบล้างข้อกล่าวหาในแต่ละข้ออยู่เนืองๆ แต่ข้อกล่าวหาหนึ่งที่ยังคงเป็นชนักปักหลังทักษิณอยู่ก็คือปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้ และถ้าหากทักษิณสามารถเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้สถานการณ์มันดีขึ้น หนทางกลับบ้านก็อาจจะไม่ไกลเกินฝัน และคนอย่างทักษิณพิสูจน์ให้เราเห็นกันมาแล้วว่าสามารถมากเพียงใด

แต่หากบีอาร์เอ็นรับข้อเสนอของทักษิณจริงๆละก็ บีอาร์เอ็นอาจจะเตรียมพบกับฝันร้ายของกลุ่มตัวเองได้เลย กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจในอาเจ๊ะห์ก็คือว่า เมื่อรัฐบาลอินโดนีเซีย ลงนามข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่ม ขบวนการปลดปล่อยอาเจ๊ะห์ หรือ GAM ได้แล้ว ก็มีการถอนทหารออกจากพื้นที่เป็นจำนวนมาก ฝ่ายสมาชิกของ GAM เองก็ต้องเข้าสู่กระบวนการปลดอาวุธ สภาพท้องถนนในแผ่นดินอาเจ๊ะห์เมื่อไม่มีทั้งการต่อสู้และไม่มีด่านตั้งอยู่บนท้องถนน ประชาชนรู้สึกดีกับความสงบ ถึงแม้ว่าจะมีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอินโดนีเซียที่ไม่สามารถรักษาหรือทำตามข้อตกลงที่เซ็นกันไว้ได้ แต่สำหรับชาวบ้านแล้วการได้ใช้ชีวิตปกติดูเป็นสิ่งที่มีค่าเสียเหลือเกิน เชื่อได้ว่าหาก GAM จะกลับมาต่อสู้อีกครั้งหนึ่ง พวกเค้าจะพบว่าประชาชนที่จะสนับสนุนพวกเขานั้นจะมีจำนวนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

ให้เชื่อได้ว่าบีอาร์เอ็นอาจจะไม่เลือกเส้นทางนั้นเป็นทางเดินต่อไปแน่นอน ฝั่งบีอาร์เอ็นอาจจะเลือกแนวทางใหม่ในการต่อสู้ เพื่อรักษาอำนาจต่อรองของตัวเอง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ต้องลุ้นกันว่าประชาชนจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด

แต่อีกทางเลือกหนึ่งที่ทางกลุ่มบีอาร์เอ็นอาจจะเลือกรับฟังและใคร่ครวญอย่างจริงคือท่าทีของอินโดนีเซียที่พร้อมจะเข้ามาเป็นคนกลางในการพูดคุย ถึงแม้ว่าท่าทีของอินโดนีเซียจะยังอยู่ในภาวะแบ่งรับแบ่งสู้อยู่ก็ตาม

หากพิเคราะห์ดูแล้วกระบวนการพูดคุยจะยังคงดำเนินต่อไป และคงไม่มีใครอยากจะล้มโต๊ะการพูดคุยดั่งคำยืนยันของอาจารย์ ฮาร่า ชินทาโร่ ที่ว่า สิ่งที่บีอาร์เอ็นได้แถลงที่ผ่านมาทั้งหมดก็มีเพียงการอธิบายจุดยืนของบีอาร์เอ็น และข้อแนะนำว่าถ้าจะคุยต่อรัฐบาลจะต้องทำอย่างไรบ้าง และข้อเสนอทางการเมืองก็ยังไม่ได้หลุดออกมาจากฝั่งของบีอาร์เอ็นเลย

หากเราเชื่อว่าฮัสซัน ตอยิบ เป็นเพียงหมากตัวหนึ่งที่แค่ตกกระไดพลอยโจนให้ต้องมาแต่งหน้าทาปาก เพื่อทำหน้าที่บทนำในการพูดคุย ข้อเสนอจริงๆจาก สภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็น หรือ DPP ก็ยังคงไม่เคยถูกปล่อยออกมา และการพูดคุย หรือจุดยืนที่ชัดเจนของมาเลเซียก็คือ มาเลเซียจะยุติการทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกโดยทันทีหากคำว่า เอกราช หรือ Merdeka หลุดออกมาจากปากของตัวแทนจากบีอาร์เอ็น

การพูดคุยคงยังไม่ยุติ แต่ DPP อาจจะเลือก ออปชั่นอื่นๆ ที่ตัวจริงของพวกเขาจะสามารถนั่งลงอย่างสง่างามและสามารถเจรจาต้าอวยถึงข้อเสนอทางการเมืองที่พวกเขาอยากจะพูดออกมา นักวิเคราะห์สถานการณ์ท่านหนึ่งมองว่า อินโดนีเซีย อาจจะเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ แต่ก็มีข้อแม้ที่ว่า บรรดาสมาชิกของ DPP ทั้งหมดจะต้องหาทางเอาตัวเองออกจากประเทศมาเลเซีย และหาประเทศลี้ภัยแห่งใหม่ที่พวกเขาจะสามารถนั่งลงพูดคุยกันจริงๆจังๆได้

ในภาวะเช่นนี้แกนนำของ บีอาร์เอ็นอาจจะต้องทำงานทางการฑูตอย่างหนัก เพราะดูเสมือนว่าจุดอ่อนสำคัญของบีอาร์เอ็นคือการเคลื่อนไหวในเวทีนานาชาติและงานทางการฑูต

โจทย์หนักสำหรับบีอาร์เอ็นและสิ่งที่เราคงต้องตามลุ้นกันต่อไปก็คือ หนึ่ง บีอาร์เอ็นจะสำแดงอะไรออกมาในช่วงเดือนรอมฎอนเพื่อรักษาอำนาจจ่อรองของตัวเอง สอง บีอาร์เอ็นจะทำอย่างไรที่จะสลัดวาระของทักษิณที่กดดันมาเลเซียอยู่เนืองๆ และ สาม บีอาร์เอ็นจะดำเนินการอย่างไรเพื่อหาประเทศอื่นอยู่เพราะมาเลเซียคงไม่ใช่สถานที่ที่ดีนักหากจะเคลื่อนไหวต่อไป และมาเลเซียก็อาจจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางการเมืองของบีอาร์เอ็นได้

ทั้งหลายทั้งปวงอาจเป็นเพียงการวิเคราะห์สถานการณ์ตามน้ำเท่านั้น แต่โจทย์ที่สำคัญที่สุดก็คือว่า ไม่ว่าจะอย่างไรสถานการณ์ในบ้านใกล้เรือนเคียงบอกเราว่า กระบวนการพูดคุย กระบวนการสันติภาพ มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย และใช้เวลานานเพื่อให้สำเร็จลุล่วง และที่สำคัญการต่อสู้ระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐไทยเป็นการต่อสู้ทางการเมือง หากแต่ละฝ่ายยังไม่สามารถพูดถึงจุดยืนทางการเมืองของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ความสงสัยและความมืดมิดก็จะยังคงปกคลุมไปอีกนานแสนนาน และการพูดคุยก็จะยังไม่ก้าวไปไหนเช่นกัน