การจัดระเบียบสังคมในสังคมพหุวัฒนธรรมตามข้อเสนอของ บีอาร์เอ็น

ตามข้อเรียกร้องของ บีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2556 ซึ่งได้ขอให้ฝ่ายรัฐ/ฝ่ายเจ้าหน้าที่ ออกคำสั่งเพื่อห้ามขายเหล้าหรือสิ่งที่ทำให้เมา และปิดแหล่งบันเทิงและแหล่งอบายมุขตลอดช่วงเดือนรอมฎอน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการให้เกียรติต่อชาวอิสลามมลายูปาตานีและเพื่อที่จะให้พวกเขาสามารถปฏิบัติศาสนกิจอย่างสมบูรณ์[1] แม้โดยหลักการของกระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยและ บีอาร์เอ็น ซึ่งในขณะนี้ยังถือว่าอยู่ในขั้นตอนก่อนการเจรจา โดยข้อตกลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ได้ใช้คำว่า dialogue หรือการสานเสวนา[2] หรือที่ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยเรียกว่า “สันติสนทนา” (peace dialogue) ซึ่งในขั้นตอนนี้เป็นช่วงที่จะต้องทำความเข้าใจกันก่อนเบื้องต้น ตลอดจนเป็นช่วงของการสร้างบรรยากาศของการร่วมกันหาทางออกจากกับดักแห่งความรุนแรงที่กำลังรัดตรึงทุกฝ่ายอยู่[3] ดังนั้น ถึงแม้ว่าเอาเข้าจริงแล้ว ในช่วงที่ผ่านมาจะยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่จะยื่นข้อเสนอเพื่อการเจรจา แต่เพื่อจะสร้างบรรยากาศในการสานเสวนาสันติภาพ หรือสันติสนทนา รวมไปถึงการสร้างความไว้วางใจ ทั้งต่อ บีอาร์เอ็น หรือรวมไปถึงคนในพื้นที่ตลอดจนคนนอกพื้นที่ให้มีความมั่นใจต่อกระบวนการสันติภาพ ที่มีเป้าหมายเพื่อการอยู่ร่วมกันในอนาคตแล้ว การนำข้อเสนอของ บีอาร์เอ็น มาพิจารณาก็อาจจะช่วยให้กระบวนการสันติภาพดำเนินไปอย่างราบรื่นได้

หลังจาก บีอาร์เอ็น ได้ยื่นข้อเสนอผ่านสื่อต่างๆ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่บวกและลบ และหลายฝ่ายเห็นว่าข้อเสนอบางข้อรัฐบาลไทยสามารถนำไปปฏิบัติได้เลย เช่น การถอนกำลังเข้าประจำการในค่าย หรือการให้อส.กลับไปอยู่กับครอบครัวในช่วงเดือนรอมฎอน เป็นต้น หรือหลายฝ่ายเห็นว่าข้อเสนอบางข้อ ฝ่ายความมั่นคงพยายามดำเนินการอยู่ เช่นการให้ทหารจากภาค 4 เข้าแทนที่ทหารจากภาค 1 2 และ 3 เป็นต้น อย่างไรก็ดี ข้อเสนอเรื่องการห้ามจัดกิจกรรมทางสังคมนั้น ยังมีการถกเถียงกันอยู่พอสมควร บ้างก็ตีความว่าหมายถึงกิจกรรมที่รัฐเข้าไปบริจาคอินทผาลัมตามมัสยิดและหมู่บ้าน และการละศีลอด ดั่งที่บทความอย่าง AwanBook เห็นว่าการละศีลอดร่วมกับฝ่ายบ้านเมืองที่ไม่ใช่มุสลิมนั้น ถือเป็นการก้าวก่าย แต่ในขณะที่นักวิชาการมุสลิมนอกพื้นที่มองว่าการบริจาคอินทผาลัมและการละศีลอดร่วมกับฝ่ายบ้านเมือง ถือเป็นสิ่งดีงามและในทางศาสนาไม่ได้ห้ามเอาไว้ จึงมองว่ากิจกรรมทางสังคมที่ บีอาร์เอ็น หมายถึงน่าจะเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบันเทิง นอกจากนี้ บีอาร์เอ็น ยังได้เสนอห้ามขายสุราและปิดแหล่งบันเทิงและแหล่งอบายมุข ซึ่งในบทความนี้จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

แม้ว้าข้อเสนอของ บีอาร์เอ็น ในเรื่องการห้ามขายสุรา จะได้รับการขานรับกับคนในพื้นที่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะชาวมลายูมุสลิม แต่ในขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่ายังมีคนที่ไม่ใช่มุสลิมในพื้นที่ที่อาจจะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ อย่างที่ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ เขียนไว้ในบทความ “ข้อสังเกตเกี่ยวกับแถลงการณ์บีอาร์เอ็นครั้งที่สี่และปฏิกิริยารับไม่ได้จากฝ่ายรัฐ” ว่า การห้ามขายสิ่งเสพติดและสุราในเดือนรอมฏอนนั้น ไม่ควรควบคุมในรายละเอียดเพื่อลดแรงปะทะอันเนื่องจากความหลากหลายทางวิถีชีวิต ฉะนั้นในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหวทางวัฒนธรรม ควรจะให้คนที่ไม่ใช่มุสลิมสามารถซื้อขายได้ในเขตชุมชนตัวเอง ซึ่งประเทศมาเลเซียเป็นตัวอย่างที่ดีในการเรียนรู้เรื่องนี้ เพราะการห้ามขายสุรามีผลบังคับใช้กับคนมุสลิมเท่านั้น นอกจากนี้การใช้กฎหมายชารีอะห์มีผลเฉพาะคนมุสลิม และการบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์อย่างเคร่งครัดเฉพาะใน 3 รัฐของมาเลเซียเท่านั้น เพราะฉะนั้นการห้ามขายสุราไม่มีผลกับคนที่ไม่ใช่มุสลิมไม่ว่าจะเป็นคนอินเดีย หรือคนจีน ซึ่งจะเห็นเบียร์ชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ไทเกอร์จากสิงคโปร์ กินเนสจากไอร์แลนด์ และคาร์ลส์เบิร์กจากเดนมาร์ก วางขายอยู่บนชั้นตามร้านเซเว่นอีเลฟเว่นส์ในมาเลเซีย[4]

อย่างไรก็ตาม แม้ในทางปฏิบัติมิอาจห้ามให้คนที่ไม่ใช่มุสลิมหยุดการซื้อขายสุราได้ แต่การอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีวิถีชีวิตที่แตกต่าง การเคารพ การให้เกียรติและการยอมรับวิถีที่แตกต่างเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงเดือนอันศักดิ์สิทธิ์ของพี่น้องชาวมุสลิม คนที่ไม่ใช่มุสลิมจึงควรคำนึงและมีความระมัดระวังต่อการปฏิบัติตนในเดือนนี้เช่นกัน ดั่งที่บทบัญญัติของศาสนาอิสลามได้ขอว่าคนต่างศาสนาไม่ควรหยอกล้อ หากควรระงับอารมณ์ ไม่กิน ดื่ม หรือสูบบุหรี่ ต่อหน้าผู้ถือศีลอด ควรสำรวมกิริยามารยาทเอาไว้ และกิจกรรมที่ไม่ควรจัดในช่วงเดือนถือศีลอด เช่น กิจกรรมรื่นเริงสังสรรค์ เฮฮาปาร์ตี้ และกิจกรรมแบบสนุกสนาน ซึ่งกิจกรรมนี้อาจหมายรวมถึงข้อเสนอที่ บีอาร์เอ็น ได้ระบุไว้ในข้อ 6 ที่ว่าด้วยการห้ามจัดกิจกรรมสังคม

สำหรับข้อเสนอเรื่องการปิดแหล่งบันเทิงหรือแหล่งอบายมุข หากพิจารณาตามลักษณะสังคมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ที่มีความแตกต่างแล้ว การจะปิดแหล่งบันเทิงอาจจะทำไม่ได้ (ส่วนแหล่งอบายมุขถ้าหมายถึงบ่อนการพนันและสถานค้าประเวณีซึ่งเป็นสถานที่ผิดกฎหมายก็ควรปิดอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว) แต่อาจใช้มาตรการกำหนดเขตพื้นที่หรือที่เรียกกันว่า โซนนิ่ง (zoning) ตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมการประกอบกิจการสถานบริการ การเข้มงวดกวดขันเกี่ยวกับอายุผู้เข้าไปใช้บริการ (20 ปี บริบูรณ์) การให้สถานบริการเปิด-ปิด ตามเวลาที่กฎหมายกำนด ก็มีความเป็นไปได้

ในการจัดกำหนดโซนนิ่งสถานบริการ กระทรวงมหาดไทยได้ให้จังหวัดต่างๆ ได้พิจารณาทบทวนว่าจังหวัดยังมีความต้องการที่จะให้มีสถานบริการในจังหวัดอยู่หรือไม่ หากไม่มีความต้องการก็ให้จัดทำเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดเขตอันมีมณฑลจำกัดเพื่องดอนุญาตให้ตั้งสถานบริการทั้งจังหวัด แต่ในกรณีที่ยังมีความต้องการ ก็ให้พิจารณาเพื่อกำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ โดยจัดให้มีการรับฟังความเห็นเพิ่มเติม ให้ครอบคลุมจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้แก่ประชาชน ครู อาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ผู้นำศาสนา นักธุรกิจเป็นต้น ไม่ใช่เพียงแต่รับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการสถานบริการเท่านั้น นอกจากนี้จังหวัดจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการของจังหวัด ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปตรวจสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ตามที่กำหนดเป็นเขตพื้นที่ เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ โดยดูสภาพทั้งในเวลากลางวัน และเวลากลางคืนของพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ และนอกเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ ที่อยู่ใกล้เคียงที่จะได้รับผลกระทบ เพื่อตรวจสอบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้น

สำหรับข้อมูลที่ค้นพบในเว็บไซต์ของกระทรวงมหาดไทย ได้ระบุว่าจังหวัดปัตตานี เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ขอกำหนดเขตพื้นที่เพื่องดอนุญาตตั้งสถานบริการทั้งจังหวัด และประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้เป็นกฏหมายแล้ว เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2545 ซึ่งหมายความว่าสถานบริการต่างๆ จะต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 ที่ระบุไม่อนุญาตให้สถานบริการอยู่ใกล้ชิดวัด สถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา โรงเรียน หรือสถานศึกษา โรงพยาบาล สถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน สโมสรเยาวชน หรือหอพัก ตามกฏหมายว่าด้วยหอพัก

ดังนั้น หากจะให้เกิดการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ตามคำร้องขอของ บีอาร์เอ็น ซึ่งได้มีเสียงสนับสนุนจากคนในพื้นที่โดยเฉพาะชาวมลายูมุสลิม ผู้ที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ระบุไว้ อาจจะต้องกลับมาร่วมกันทบทวนแนวทางการจัดระเบียบสังคมในสามจังหวัดภาคใต้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ รวมไปถึงพี่น้องประชาชนที่ไม่ใช่มุสลิม โดยที่ทุกฝ่ายพึงให้ความร่วมมือ เรียนรู้และยอมรับวิถีชีวิตที่แตกต่างที่ดำรงอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งอาจจะเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยกันลดเงื่อนไขความรุนแรงในช่วงเดือนอันศักดิ์สิทธิ์นี้ นอกจากนี้ โดยอาศัยกระบวนการดังกล่าว ทุกภาคส่วนยังจะได้มีส่วนร่วมสร้างบรรยากาศการสานเสวนาสันติภาพหรือสันติสนทนา เพื่อจะไปให้ถึงขั้นตอนการเจรจาสันติภาพ อันจะนำมาซึ่งข้อตกลงสันติภาพ และการกำหนดรูปแบบในการที่จะอยู่ร่วมกันในอนาคตต่อไป

 


[1] คำแถลงการณ์ บีอาร์เอ็น ครั้งที่ 4 ต้นฉบับภาษา Melayu และบทแปลชั่วคราวภาษาไทย/English แปลโดย ฮาร่า ชินทาโร่http://www.deepsouthwatch.org/node/4402

[2] ถ้อยแถลง เรื่องการสานเสวนาสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหน่วยงานที่ทำงานเรื่องสันติภาพ

[3] คำประกาศ บีอาร์เอ็น กับ 10 ข้อพิจารณาเกี่ยวกับ “สันติสนทนา” ชัยวัฒน์สถาอานันท์ http://www.deepsouthwatch.org/node/4416

http://www.isranews.org/south-news/talk-with-director/item/22020-ไม่จำเป็นต้องปฏิเสธบีอาร์เอ็นทุกข้อ โดย ปกรณ์ พึ่งเนตร

http://www.isranews.org//เวทีทัศน์/item/21995 ชาวบ้านถูกใจ บีอาร์เอ็น ชงห้ามขายเหล้า สงสัยผนวก"หาดใหญ่"รวม"ปาตานี" โดย อะหมัด, เลขา, นาซือเราะ

[4] http://www.spiegel.de/international/world/six-cane-strokes-for-drinking-beer-shariah-law-verdict-divides-malaysia-a-653578.html