เสียงบีอาร์เอ็น หรือเสียงประชาชนปาตานี

 

สังคมสามจังหวัดชายแดนใต้กับห้าอำเภอในจังหวัดสงขลา หรือที่เรียกรวมๆ ว่า “ปาตานี”  จะมุ่งเดินไปทางไหนต่อ

หลังจากการงัดข้อระหว่างขบวนการบีอาร์เอ็นกับชุดพูดคุยชุดเล็กที่รัฐไทยอุตสาห์จัดขึ้นมา ถึงแม้ในคราแรกที่ได้เปิดตัว ดูเหมือนจะเรียกความมั่นใจจากประชาชนในพื้นที่ และสร้างความไว้วางใจจากคู่สนทนา-ขบวนการบีอาร์เอ็น

 

แต่เมื่อหลายเดือนผ่านไป ชุดพูดคุยยังคงอยู่ในฐานะคงเดิม ไม่โตและไม่เล็กด้วย แต่กระนั้นกลับมีแนวโน้มที่หัวหน้าชุดอาจสะเทือนไปตามเหตุการณ์การเมืองในประเทศไทย จนคู่สนทนา-บีอาร์เอ็น ชักจะไม่มั่นใจในเสถียรภาพของคณะพูดคุยจากรัฐไทย จนต้องกำกับไว้ในเงื่อนไขล่าสุด ที่เรียกร้องให้ฝ่ายไทยมีความจริงจังในการพูดคุยกัน

 

หลายๆ ข้อสังเกต ทำให้เชื่อว่ารัฐบาลไทยจงใจที่จะยืนฐานะการพบปะกันกับบีอาร์เอ็นให้คงอยู่ในรูปแบบปัจจุบัน ไม่พยายามที่จะให้มีรูปแบบที่เข้มข้นกว่านี้

 

ถึงแม้จะยืนยันว่าเป็นการพูดคุย ทีเน้นการพบปะเพื่อหาทางค้นหาประเด็นที่จะนำเข้าไปสู่การเจรจาในขั้นที่สูงกว่า แต่ฝั่งรัฐไทยกลับมีข้อเสนอที่ส่งไปยังบีอาร์เอ็น โดยการให้บีอาร์เอ็นพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นผู้มีอิทธิพลต่อความรุนแรงในพื้นที่ตัวจริง ด้วยการให้ลดความรุนแรงโดยการให้ฝ่ายปฏิบัติการลดเป้าหมายอ่อนแอหรือประชาชนทั่วไป

 

ซึ่งในข้อเรียกร้องดังกล่าวทางบีอาร์เอ็นก็ตอบสนอง ซึ่งเราสามารถดูสถิติการก่อเหตุความรุนแรง ตั้งแต่เริ่มมีการพูดคุยกัน ผู้ประสบภัยที่เป็นพลเรือนจะลดลงอย่างมาก แต่จะมีการมุ่งร้ายต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมากขึ้น อันนี้แสดงถึงผลของการพูดคุยกันที่แสดงให้เห็นว่า บีอาร์เอ็นให้ความสำคัญกับการพูดคุยกัน ไม่ได้เมินเฉยแต่อย่างใด

 

แต่ในฝั่งรัฐไทย กลับไม่พอใจอีก กลับเพิ่มเงื่อนไขให้เข้มข้นกว่าเดิมอีก ด้วยการให้หยุดความรุนแรงให้เป็นรูปธรรมในเดือนรอมฎอนของพี่น้องมุสลิมในปาตานี ในวงพูดคุยครั้งล่าสุด

 

ท่าทีของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงของประเทศไทย หลังจากการพูดคุยครั้งล่าสุด ต่างมีเสียงเดียวกันที่สนับสนุนให้บีอาร์เอ็นหยุดความรุนแรงในเดือนรอมฎอน เพื่อเป็นการประกันความสันติสุขในพื้นที่

 

พลางๆที่รอคำตอบจากประเทศมาเลย์เซียที่เป็นตัวกลางในการรอคำตอบจากขบวนการบีอาร์เอ็น เนื่องจากการติดต่อกันต้องผ่านบุคคลของประเทศมาเลย์เสียเท่านั้น รัฐไทยต้องตระหนกอีกครั้งกับการถ่ายทอดคลิปผ่านยูทูปของฮาซัน ตอยยิบ ตัวแทนของขบวนการบีอาร์เอ็น ด้วยประเด็นที่ร้อนแรงดึงความสนใจทั้งคนในประเทศและต่างประเทศ

 

ในส่วนของประชาชนเองมีการคุยกันในเงื่อนไข 7 ข้อและอีก 4 ข้อย่อยเพิ่มเติมของฮาซัน ตอยยิบ ผ่านช่องทางต่างๆ ที่ตัวเองสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นวงสนทนาทั่วไป ในสื่อสังคม (social media) รวมถึงการโฟนอินเข้ารายการวิทยุในพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น

 

 

หลังจากได้ติดตามฟังรายการวิทยุในพื้นที่อยู่พักหนึ่ง รู้สึกไม่แปลกใจเลยกับกระแสเสียงจากชาวบ้านที่ถือว่าเป็นชนชั้นรากหญ้าในพื้นที่ เกือบทุกความเห็นที่แสดงความเห็นต้องการให้รัฐบาลรับเงื่อนไขของบีอาร์เอ็น ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย ส่วนหนึ่งก็คือสิ่งที่บีอาร์เอ็นเสนอมานั้น เป็นเสียงของพวกตนมาก่อนแล้ว

.....