ย้อนมองปริศนาเขตการปกครองพิเศษ ?

หากพิจารณาการขับเคลื่อนเรื่อง เขตการปกครองพิเศษ ที่เริ่มขึ้น อย่างเป็นทางการโดยผ่านองค์ความรู้ทางด้านงานวิจัย ของ ศรีสมภพ จิตภิรมณ์ศรี ที่เสนอรูปแบบเขตการปกครองพิเศษ หลังจากนั้นทำให้เกิดเวทีทางวิชาการ และถือว่าเป็น “วาทกรรม” ที่มักถูกนำเสนอมาอย่างต่อเนื่อง และทำให้พื้นที่ของการพูดคุยเรื่องเหล่านี้เปิดมากขึ้นอย่างกว้างขวางยังไม่เคยมีมาก่อนในพื้นที่ปาตานี       

หากจะกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว เรื่องของ เขตการปกครองพิเศษ ยังคงไม่มีคำตอบที่แน่นอนที่แจ่มชัดมาก (สำหรับฝ่ายอนุรักษ์นิยม) ที่ออกมาเป็นโครงสร้างการบริหารการจัดการพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ทว่าก็มีข้อเสนอทางงานวิจัยของ ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และสุกรี หลังปูเต๊ะ ในงานวิจัยชื่อว่า “การปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้” รายงานโครงการวิจัยปกครองท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความหลากหลายชาติพันธุ์ ที่เสนอต่อ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ผ่านการวิจัยและสัมภาษณ์ผู้คนหลากหลายในท้องถิ่น ทั้งจัดทำอภิปรายกลุ่ม สัมภาษณ์เจาะลึกรายบุคคลตั้งแต่ระดับผู้นำจนถึงชาวบ้าน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามีข้อเสนออื่นๆ ที่มาจากส่วนภาคส่วนต่างๆ ก็นับว่าความเข้มข้นหรือการวิเคราะห์ข้อมูลก็จะน้อยนัก หากเปรียบเทียบของรายงาน ศรีสมภพและสุกรี ในแง่ของข้อเสนอการพยายามดุลอำนาจฝ่ายต่างๆ ทีมีตัวผู้เล่นมากมายในพื้นที่สนามแห่งอำนาจในจังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อผู้เขียนได้ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็น ทรรศนะกับบุคคลต่างๆและก่อนที่จะลาจากกันไป มักจะมีคำถามสุดท้ายที่สำคัญ ก็คือ “ท่านคิดว่ามีวิธีการใดสามารถแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ได้บ้าง” โดยผู้เขียนมักจะได้รับคำตอบแบบนามธรรมก็คือ เรื่องความยุติธรรม เรื่องของโอกาสทางด้านสังคม แต่เมื่อผู้ศึกษาได้พยายามสอบถามและแลกเปลี่ยนเพื่อให้เสนออย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหลายก็จะกล่าวถึง เรื่องของ “การปกครองตนเอง” แต่ก็มีหลายฝ่ายที่ยังไม่แน่ใจว่าจะออกมาแบบไหน แต่ท้ายที่สุดก็คือ ต้องการที่จะปกครองตนเองในรูปแบบของคนท้องถิ่นมีอำนาจในการดูแลและจัดการตนเองมากขึ้นโดยขับเน้นเรื่อง “อำนาจ” ในการบริหารจัดการท้องถิ่นตนเอง

เงื่อนไขและบริบทของการเก็บข้อมูลเรื่องของความเห็นเกี่ยวกับ “เขตการปกครองพิเศษ” ก็คือในช่วงเวลาตั้งแต่ต้นปี 2553 ถึงปลายปีนั้น ได้มีการพูดถึงเรื่องเขตการปกครองพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมาก และมีการนำเสนอเวทีสาธารณะทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุในพื้นที่ บทความทางหนังสือพิมพ์จำนวนมาก กล่าวได้ว่า เป็นประเด็นร้อนทางสาธารณะ ทำให้เรื่องราว และบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ มีทิศทางเห็นด้วยกับข้อเสนอ เขตการปกครองพิเศษ อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามีแนวโน้มและทิศทางไปค่อนข้างเห็นด้วย แต่มีหลายประเด็นเช่นกันที่เห็นความต่างและเหมือนในเรื่องเขตการปกครองพิเศษ  

สังคมต้องการเปลี่ยนเแปลงทางโครงสร้างอำนาจรัฐ  

“เราก็เรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจมาตั้งนานแล้ว รัฐธรรมนูญก็เขียน แต่รัฐบาลทุกรัฐบาลไม่ทำ ตรงนี้ถ้าจะเรียกร้องในงานวิจัยก็คือว่า เรียกร้องให้ผู้รู้ทั้งหลายเป็นโจทย์ฟ้องรัฐที่ไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ.... คนสามจังหวัดบ้านเราบอกว่าขอกระจายอำนาจเต็มรูปแบบ เช่นเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดเอง รัฐกลับมองว่าแบ่งแยกดินแดน แล้วก็เจอเงื่อนไขการต่อสู้ด้วยอาวุธต่อไป” (อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง, สัมภาษณ์, 6 เมษายน 2553)

“เพราะวันนี้มันมีคำถามที่สำคัญก็คือเราต้องการ “Autonomy” หรือไม่ ? หากว่าต้องการเราต้องขับเคลื่อนต่อไปในภาคประชาชน ส่วนเรื่องการเจรจากับกลุ่มใต้ดิน รัฐบาลมีความจำเป็นต้องทำ ปฎิเสธไม่ได้ แต่วันนี้เราก็สามารถที่เคลื่อนบนดินเรื่องของ Autonomy ได้ซึ่งเราต้องเจรจาทำความเข้ากับคนที่ไม่เห็นด้วย หรือยังสงสัยอยู่” (มันโซร์ สาและ, สัมภาษณ์, 29 พฤษภาคม 2553)

 “วันนี้เห็นว่าเรื่องที่เราไม่มีสิทธิที่จะพูดได้พูดในที่สาธารณะมากขึ้น เรื่องเขตการปกครอง รัฐก็น่าจะฟังและลองปรับเปลี่ยนตามข้อมูลของนักวิชาการที่ศึกษาดู ชาวบ้านไม่รู้เรื่องรายละเอียด แต่ว่าเค้าต้องการความเปลี่ยนแปลง ต้องการสันติภาพ ก็น่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ เพื่อที่บ้านเราจะได้สงบ” (ซอและ ตาและ, สัมภาษณ์, 10 พฤษภาคม 2553)

 “อยากเห็นผู้ว่าราชการที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะสามจังหวัด มีการใช้ศาลชารีอะฮฺอย่างจริงจัง มีสภาศาสนาที่ชัดเจนมากกว่านี้ อยากเห็นการไต่สวนตามกระบวนการศาสนา การใช้กฎหมายที่ไม่ขัดแย้งกับหลักการอิสลาม” (เยาวชนปัตตานี, สัมภาษณ์กลุ่ม, 25 กรกฎาคม 2553)

สิ่งที่ทำให้เราเห็นได้ก็คือ เรื่องของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แม้ว่าจะไม่ได้ลงรายละเอียด แต่ทว่า คนส่วนใหญ่อยากได้อำนาจสูงสุดของท้องถิ่นก็คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง 

การปรับ ”ดุลอำนาจ”ของฝ่ายต่างๆ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งคำตอบส่วนใหญ่ก็จะเห็นว่าอำนาจที่จะได้มาก็คือ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด  

และประการต่อมา ก็คือ การเพิ่มอำนาจทางศาสนาอิสลาม บรรจุห่อหีบไปอยูในสถาบันหลักต่างๆของสังคม หากจะกล่าวอย่างกระชับก็คือ การลงทะเบียนอำนาจของฝ่ายศาสนาให้อยู่ในระบบเพื่อที่จะทำหน้าที่ทางสังคมตามจินตนาการของผู้ให้สัมภาษณ์ 

ที่น่าสนใจก็คือ ผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่มองว่า การมอบอำนาจให้ฝ่ายศาสนาก็จะสามารถที่จะพิทักษ์ ปกป้อง อัตลักษณ์ความเป็นมลายูปาตานีได้ และสามารถที่จะเอื้ออำนวยความยุติธรรมทางสังคมได้ อย่างไรก็ตาม หากพิจาณาจากพื้นที่ก็จะเห็นได้ว่า กลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการกระทำของรัฐไม่ได้จากกลุ่มเคลื่อนไหวทางด้านศาสนา หากแต่ทว่า การเคลื่อนไหวต่างๆได้มาจากกลุ่มที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม และฐานความคิด เครื่องมือการต่อสู้ก็ใช้หลักสิทธิมนุษยชนสากล

หากพิจารณาบทสัมภาษณ์ข้างต้น ก็สามารถเห็นมองได้ว่า วันนี้เรื่องของการปัญหาระดับมหาภาคเฉพาะหน้าวันนี้ก็คือ การต่อสู้ทางด้านความคิดกับสังคมไทยและรัฐไทย ที่ผูกติดกับโครงสร้างทางด้านอำนาจแบบเดิม กล่าวคือ การไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงท่ามกลางเงื่อนไขบริบทและข้อเรียกร้องจากท้องถิ่นที่ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หรือจัดสัมพันธภาพทางอำนาจใหม่ เพื่อให้คลี่คลายความรู้สึกและปัญหาเรื่องของความชอบธรรมในการปกครองปาตานี